Posted: 28 Mar 2018 03:13 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
อดีตนักโทษการเมืองและประธานสภา 'วินมิ้น' ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแทน "ถิ่นจ่อ" อย่างไรก็ตามหัวหน้ารัฐบาลตัวจริงยังคงเป็น "อองซานซูจี" ขณะที่มีเสียงวิจารณ์หนักเมื่อเอ็นแอลดีไม่เสนอชื่อสมาชิกพรรค แต่กลับชง "ขุนเมียด" อดีตผู้นำกลุ่ม อส. ติดอาวุธในรัฐฉาน ซึ่งใกล้ชิดกับกองทัพพม่าและมีข่าวพัวพันยาเสพติดมาเป็นประธานสภาคนใหม่ แม้จะอ้างว่าเพื่อความปรองดอง แต่กลับเป็นการลดเสียงต่อรองของรัฐบาลเอ็นแอลดีใน "สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ" ที่สามารถรวบอำนาจในช่วงประกาศภาวะฉุกเฉินอีกด้วย
(ซ้าย) วินมิ้น ว่าที่ประธานาธิบพีพม่าคนใหม่ (ขวา) บรรยากาศการนับคะแนนการลงมติเลือกประธานาธิบดีในรัฐสภาพม่า ที่เนปิดอว์ เมื่อ 28 มี.ค. 2561 (ที่มา: Wikipedia/ YouTube Myanmar Union Parliament) (ชมบรรยากาศการลงมติที่นี่)
บรรยากาศการลงมติเลือกประธานาธิบดีในรัฐสภาพม่า ที่เนปิดอว์ เมื่อ 28 มี.ค. 2561 ทั้งนี้ในรัฐสภาพม่ายังคงมีทหารพม่าเป็นสมาชิก ตามโควตา 1 ใน 4 ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ที่มา: Wikipedia/ YouTube Myanmar Union Parliament)
เลือก 'วินมิ้น' เป็นประธานาธิบดีคนใหม่
แต่หัวหน้ารัฐบาลตัวจริงยังเป็น 'อองซานซูจี'
ตามที่ในวันนี้ (28 มี.ค.) ในรัฐสภาของพม่า มีการลงมติเพื่อเลือกประธานาธิบดีพม่าคนใหม่แทนถิ่นจ่อ วัย 71 ปี ที่แจ้งลาออกเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังจากที่ในระยะหลังมีปัญหาด้านสุขภาพนั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)
โดยผลการลงมติ วินมิ้น จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่ง และได้รับเลือกเป็นรองประธานาธิบดีพม่าเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เป็นประธานาธิบดีต่อจากถิ่นจ่อ
ขณะที่มิตส่วย อดีตมุขมนตรีภาคย่างกุ้งและผู้บัญชาการกองทัพภาคย่างกุ้ง ซึ่งมาจากสายกองทัพพม่า ยังคงได้รับเลือกเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 1 ส่วนเฮนรี บันทียู สมาชิกสภาชนชาติ จากรัฐชิน ได้รับเลือกเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 2 ตามเดิม
สำหรับบทบาทของประธานาธิบดีพม่านั้นจะเน้นหนักไปที่งานรัฐพิธี ในขณะที่อองซานซูจี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ มักมีบทบาทเสมือนเป็นประธานาธิบดีในทางปฏิบัติมากกว่า
ข้อมูลจากเว็บไซต์อิระวดี สำหรับวินมิ้น ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของพม่า อายุ 66 ปี เกิดที่มีดานุบยู ภาคอิระวดี เมื่อปี 2494 จบการศึกษาด้านธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ก่อนที่จะหันไปเรียนกฎหมายในช่วงปี 2520s เขาทำงานเป็นทนายความช่วง 2531 ปีที่พม่ามีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วประเทศ ซึ่งนำไปสู่การตั้งพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งวินมิ้นได้เข้าร่วมนั่นเอง
วินมิ้นชนะการเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง คือการเลือกตั้งปี 2533 ที่รัฐบาลทหารพม่าประกาศเป็นโมฆะ การเลือกตั้งซ่อมปี 2555 และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 8 พฤศจิกายน ปี 2558
ทั้งนี้เช่นเดียวกับนักกิจกรรมทางการเมืองและนักการเมืองคนอื่นๆ ในพม่า วินมิ้นถูกจับหลายครั้งในช่วงรัฐบาลทหารพม่า มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ลูกชายของเขาป่วยหนัก ฝ่ายข่าวกรองทหารพม่ายื่นข้อเสนอให้เขาได้ออกไปเยี่ยมลูกชายที่โรงพยาบาลเพื่อดูใจเป็นครั้งสุดท้าย แลกกับการเลิกยุ่งการเมือง แต่เขาปฏิเสธ นอกจากนี้เขายังไม่มีโอกาสไปร่วมงานศพของลูกชายด้วย
"ผมไม่สามารถยอมรับได้ เพราะว่าฐานเสียงเชื่อมั่นในตัวผมและลงคะแนนเลือกผม" เขากล่าวครั้งหนึ่งกับสื่อท้องถิ่นกะมะยุด ภายหลังจากจากที่ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับวินมิ้นมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการบริหารกลางของพรรคเอ็นแอลดีมาตั้งแต่ปี 2553 หลังการเลือกตั้งซ่อมปี 2555 เขายังเป็นเลขานุการของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรพม่าด้านหลักนิติธรรม สันติภาพ และความสงบ ที่มีอองซานซูจีเป็นประธาน
ทั้งนี้สำนักข่าวอิระวดี คาดหมายว่าเนื่องจากประสบการณ์ของวินมิ้นในด้านกฎหมายและการเมือง เขาจึงถูกคาดหมายว่าจะเป็นผู้นำที่ตื่นตัวกว่าประธานาธิบดีคนก่อน ในช่วงที่เขาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรพม่าเขายังแสดงความกระตือรือร้นต่อเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน หลักนิติธรรม และเรื่องข้อพิพาทที่ดิน และนอกจากนี้ในงานแต่งงานลูกสาวของเขาเมื่อปีที่แล้ว เขายังแจ้งแก่แขกเหรื่อที่จะมาร่วมงานว่าให้เลิกธรรมเนียมมอบของขวัญงานแต่งงานอีกด้วย
วิจารณ์หนักเลือกอดีตขุนศึก
'ขุนเมียด' เป็นประธานสภาคนใหม่
ขณะเดียวกันมีการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรพม่าคนใหม่ด้วยเมื่อวันพฤหัสบดีสัปดาห์ก่อน (22 มี.ค.) โดย ส.ส. พรรคเอ็นแอลดีที่ครองเสียงข้างมากอยู่ในสภาได้พากันเลือก "ขุนเมียด" ส.ส. ไม่สังกัดพรรค ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น จากอำเภอก๊ดขาย ทางตอนเหนือของรัฐฉาน อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ให้รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
ในขณะที่ทุนทุนเฮง ส.ส.พรรคเอ็นแอดี จากอำเภอหนองเขียว จังหวัดจ๊อกแม รัฐฉาน ซึ่งเดิมถูกคาดหมายว่าจะได้รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรพม่า ก็ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาแทน
ทั้งนี้ในหมู่ ส.ส.พรรคเอ็นแอลดี มีเสียงวิจารณ์วิปรัฐบาลที่เสนอให้เลือก "ขุนเมียด" เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่พอสมควร เนื่องจากมาจากความใกล้ชิดกับกองทัพพม่าของขุนเมียด
สำหรับประวัติของเขานั้น อิระวดี รายงานว่า ในช่วงปี 2530-2550 เขาเคยเป็นผู้อำนวยการของสำนักงานอัยการสูงสุด และในเวลาเดียวกันยังเป็นหัวหน้ากองกำลัง อส. ของอำเภอก๊ดขาย ซึ่งขึ้นตรงกับกองทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกองทัพพม่า และกองกำลัง อส. นี้ปัจจุบันยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในรัฐฉาน
นอกจากนี้เขายังเป็นสมาชิกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2551 และยังเป็นคณะกรรมการจัดการลงประชามติรัฐธรรมนูญพม่าปี 2551 อีกด้วย
โดยในการเลือกตั้งปี 2553 ขุนเมียดได้รับเลือกเป็น ส.ส. ในสังกัดพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือยูเอสดีพี พรรคที่ตั้งขึ้นมาโดยรัฐบาลพม่า นอกจากนี้เขายังเคยเป็นประธานของคณะกรรมาธิการด้านกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรพม่า ซึ่งทำหน้าที่ร่างและแก้ไขกฎหมายที่ไม่ทันสมัย โดยถือเป็นผู้ช่วยของอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรพม่าในเวลานั้นคือฉ่วยมาน หรือ สุระฉ่วยมาน
อนึ่งมีเสียงวิจารณ์ขุนเมียดด้วยในเรื่องยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดในพื้นที่ซึ่งกองกำลัง อส. ของเขาควบคุม ตามรายงานของ "Shan Drugs Watch" ในปี 2011 นอกจากนี้เขายังถูกวิจารณ์ว่าเป็นพ่อค้ายาเสพติดยุคใหม่ที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง ทั้งนี้เขายังเคยถือหุ้นอยู่ในธนาคาร Mayflower (MMB) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าฟอกเงิน และถูกรัฐบาลทหารปิดไปในปี 2548 และยังมีข้อครหาว่ากองกำลัง อส. ของเขาบังคับให้ประชาชนในพื้นที่เลือกเขาในการเลือกตั้งปี 2553 อีกด้วย
อย่างไรก็ตามเส้นทางการเมืองของขุนเมียด พลิกผันหลังการเลือกตั้งปี 2558 เมื่อผู้อุปถัมภ์ทางการเมืองของเขานั่นคือฉ่วยมาน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรพม่า กลายมาเป็นคู่แข่งของเต็งเส่ง อดีตประธานาธิบดีพม่า
โดยภายหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปี 2558 ที่พรรคยูเอสดีพีปราชัย และพรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งนั้น ก่อนที่ฉ่วยมานจะลงจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ในเดือมกราคม 2559 เขาให้สัมภาษณ์ระบุว่าได้ช่วยให้อองซานซูจีได้เจรจากับอดีตผู้นำรัฐบาลทหารพม่า "ตานฉ่วย" เมื่อเดือนธันวาคมปี 2558 นอกจากนี้เขายังเสนอให้พรรคเอ็นแอลดีเสนอชื่อขุนเมียดเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ โดยระบุว่าขุนเมียดมีประสบการณ์ด้านการทำงานในรัฐสภา และทำงานในสำนักงานอัยการสูงสุดมาหลายปี
ส่วนกรณีที่ขุนเมียดได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานั้น แหล่งข่าวที่เป็นสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีระดับสูงกล่าวกับอิระวดีว่าไม่ใช่การผลักดันของฉ่วยมาน แต่เป็นความพยายามของอองซานซูจีเพื่อการปรองดองแห่งชาติและกระบวนการสันติภาพ
เอ็นแอลดียอมลดอำนาจต่อรองในสภากลาโหม
อย่างไรก็ตาม การเลือกขุนเมียดเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรพม่า อาจทำให้อำนาจของรัฐบาลเอ็นแอลดีใน "สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ" หรือ NDSC ลดลง
โดยโครงสร้างของ NDSC ประกอบด้วยคณะบุคคล 11 คน และสามารรวบอำนาจอธิปไตยได้เมื่อมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยสมาชิก 6 คนเป็นฝ่ายกองทัพ ได้แก่ (1) ว่าที่รองประธานาธิบดีคนที่ 1 (มิตส่วย) (2) ผู้บัญชาการกองทัพพม่า (3) รองผู้บัญชาการกองทัพพม่า (4) รมว.กระทรวงกลาโหม (5) รมว.กระทรวงมหาดไทย และ (6) รมว.กระทรวงกิจการชายแดน
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพลเรือนเดิมมี 5 คนในสภาดังกล่าวคือ (1) ประธานาธิบดี (2) รองประธานาธิบดีคนที่ 2 (3) ประธานสภาผู้แทนราษฎร (4) ประธานสภาชนชาติ และ (5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามหากประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ เป็น ส.ส.ไม่สังกัดพรรคเอ็นแอลดี นอกจากนี้ยังเคยมีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพพม่าและพรรครัฐบาลเดิมคือยูเอสดีพี ก็อาจทำให้อำนาจต่อรองของรัฐบาลเอ็นแอลดีใน "สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ" ลดลงไปอีก
ทั้งนี้กองทัพพม่ายังคงมีอำนาจขนานไปกับรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยพรรคเอ็นแอลดี ผ่านตามรัฐธรรมนูญ 2551 ที่กำหนดให้สมาชิกสภาทุกระดับต้องมาจากกองทัพ ร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกในสภา นอกจากนี้ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า ยังมีอำนาจตั้งรัฐมนตรี 3 กระทรวงสำคัญได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกิจการชายแดน ซึ่งกระทรวงเหล่านี้ยังคุมองคาพยพบริหารราชการในภูมิภาคและท้องถิ่นของพม่าด้วย
แสดงความคิดเห็น