Posted: 28 Mar 2018 07:30 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

เปิดประสบการณ์การผลักดันยกเลิกความผิดฐานทำแท้งในต่างประเทศ ข้อมูลระบุมีผู้หญิงทั่วโลกเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยถึง 70,000 คนต่อปี อังกฤษหลังจากยกเลิกกฎหมาย อัตราการทำแท้งลดลง ในเนปาลประชาชนสนับสนุนเพราะช่วยให้ผู้หญิงไม่ต้องเสียชีวิต แต่ไทยยังไม่ยอมยกเลิกโทษอาญา

ตัวเลขจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ในแต่ละปีมีการทำแท้งทั่วโลกประมาณ 46 ล้านคน แต่เกือบครึ่งหรือประมาณ 20 ล้านคนเป็นการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เป็นสาเหตุให้ผู้หญิงต้องเสียชีวิตปีละประมาณ 70,000 คน โดยร้อยละ 95 เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศไทยก็คือหนึ่งในนั้น

เหตุใดจึงต้องทำแท้งโดยไม่ปลอดภัย? นอกจากค่านิยม ความเชื่อในสังคม ที่ประทับตราบาปให้แก่ผู้หญิง โดยไม่มีการเอ่ยถึงผู้ชายแล้ว กฎหมายยังเป็นปัจจัยหลักประการหนึ่งที่บังคับให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงบริการที่ปลอดภัยได้ เนื่องจากกฎหมายระบุให้การทำแท้งเป็นอาชญากรรมและผู้หญิงที่ทำแท้งเป็นอาชญากร อีกเช่นกัน กฎหมายไม่กล่าวถึงผู้ชายในเรื่องนี้

มาตรา 301 ในประมวลกฎหมายอาญาระบุว่า หญิงใดทําให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทําให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ขณะที่ในมาตรา 302 ก็มีเนื้อหาลงโทษบุคคลที่ให้บริการทำแท้ง แม้ว่าผู้หญิงจะยินยอม ต้องมีโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ด้วยกฎหมายลักษณะเช่นนี้ ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการจึงไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัว ต้องหลบๆ ซ่อนๆ หากฝ่ายหญิงไม่มีข้อมูลการทำแท้งอย่างปลอดภัย ก็มักจะซื้อยากินเองหรือเดินเข้าคลินิกทำแท้งเถื่อน

ปัจจุบัน คณะกรรมการกฤษฎีกามีความพยายามปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอาญา ซึ่งประเด็นการทำแท้งเป็นหนึ่งในมาตราที่อยู่ในรายการที่กำลังพิจารณา อย่างไรก็ตาม ยังไม่ไปถึงขั้นการยกเลิกโทษอาญา เพียงแต่เพิ่มเติมเนื้อหาให้ครอบคลุมสุขภาพของผู้หญิงทั้งร่างกายและจิตใจ สุขภาพของทารกในครรภ์ และเปิดข้อยกเว้นให้ไม่เป็นความผิดเอาไว้ ซึ่งก็ยังต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อนจะได้ข้อสรุป

ปัญหาคือการปรับปรุงแก้ไขที่ว่า เป็นการพิจารณากันเองของนักกฎหมายภาครัฐ โดยที่ไม่มีภาคประชาชนหรือผู้หญิงที่เกี่ยวพันกับปัญหานี้เข้าร่วมในการแก้ไข

กฎหมายว่าด้วยการทำแท้งเป็นกฎหมายที่นำแนวคิดศีลธรรมทางศาสนาเข้ามาใส่ โดยละเลยประเด็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง จนสร้างภาระ ความไม่เท่าเทียม และความไม่ปลอดภัยต่อตัวผู้หญิง การยกเลิกกฎหมาย ไม่ให้การทำแท้งเป็นอาชญากรรมจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาเช่นในหลายประเทศ

กลุ่มทำทางและเครือข่ายได้จัดเสวนา ‘ผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร ทำแท้งปลอดภัยต้องถูกกฎหมาย’ ขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 26 ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยยกประสบการณ์การยกเลิกความผิดทางอาญาของประเทศต่างๆ

อังกฤษ

Kaitlyn Mccoy ตัวแทนกลุ่มทำทาง กล่าวว่า ประเทศอังกฤษยกเลิกความผิดในการทำแท้งเมื่อปี 2510 โดยผู้ที่ต้องการทำแท้งต้องได้รับการรับรองจากแพทย์ 2 คนในกรณีมีสุขภาพไม่พร้อม และต้องทำแท้งภายใน 24 สัปดาห์แรก สิ่งผลักดันให้เกิดการยกเลิกความผิดทางอาญา เนื่องจากมีผู้หญิง 30 ถึง 50 คนต่อปีต้องตายจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย อีกทั้งอังกฤษเป็นประเทศที่มีการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมากที่สุดในยุโรป นำไปสู่การเรียนไม่จบ รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และยังนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมที่มากขึ้น


“(ในอังกฤษ) บริการการทำแท้งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันสุขภาพ ประชาชนสามารถรับบริการฟรี เนชั่นแนล เฮลท์ เซอร์วิส จะให้ข้อมูลสุขภาพและข้อมูลว่าจะเข้าถึงการทำแท้งได้อย่างไร บอกรายชื่อคลินิกที่ให้บริการ ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะทำมั้ย สามารถไปรับคำปรึกษาก่อนได้"


ตั้งแต่กฎหมายยกเลิกโทษการทำแท้งถึงปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่ามีประชาชนออกมาต่อต้าน ทั้งยังพบว่าในปี 2560 ประชาชนร้อยละ 93 สนับสนุน ถ้าการตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อผู้หญิง

“บริการการทำแท้งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันสุขภาพ ประชาชนสามารถรับบริการฟรี เนชั่นแนล เฮลท์ เซอร์วิส จะให้ข้อมูลสุขภาพและข้อมูลว่าจะเข้าถึงการทำแท้งได้อย่างไร บอกรายชื่อคลินิกที่ให้บริการ ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะทำมั้ย สามารถไปรับคำปรึกษาก่อนได้ มีการให้ข้อมูลว่าระหว่างการทำแท้งว่ามีความเสี่ยงอย่างไร ทั้งยังมีการให้บริการเพศศึกษาอย่างรอบด้านในระบบโรงเรียน”

ในสังคมไทยวิตกกังวลไปว่า หากยกเลิกกฎหมายทำแท้งแล้ว ผู้หญิงจะแห่กันไปทำแท้งมากขึ้น แต่จากประสบการณ์ในอังกฤษพบว่า หลังยกเลิกความผิดในการทำแท้งแล้ว การทำแท้งกลับลดลง นั่นเพราะมีการให้ข้อมูลเพศศึกษาอย่างรอบด้าน

Kaitlyn กล่าวอีกว่าแม้จะเปิดให้เข้าถึงบริการทำแท้งอย่างปลอดภัยได้ แต่ก็ยังเกิดปัญหา เนื่องจากผู้หญิงบางรายต้องแสดงหลักฐานด้านสุขภาพเท็จเพื่อเข้าถึงบริการทำแท้งอย่างปลอดภัย อังกฤษจึงกำลังแก้ไขกฎหมายนี้อีกครั้ง เพื่อให้ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งไม่จำเป็นต้องแสดงหลักฐานด้านสุขภาพเพื่อขอบริการ

เนปาล


ในเนปาลยกเลิกความผิดทางอาญาจากการทำแท้งเมื่อปี 2545 เพื่อให้ผู้หญิงมีทางเลือกว่าจะตั้งครรภ์ต่อหรือไม่ แต่ต้องทำแท้งในช่วง 12 สัปดาห์แรก โดยมีค่าใช้จ่ายเพียง 500 บาท และหากมีฐานะยากจนก็สามารถรับบริการฟรีได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

“แรงผลักดันในการยกเลิกโทษอาญา เป็นเพราะเนปาลมีอัตราการเสียชีวิตของแม่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ครึ่งหนึ่งเป็นเพราะทำแท้งผิดกฎหมาย พอการทำแท้งถูกกฎหมายก็พบว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของแม่ลงครึ่งหนึ่ง จาก 500 กว่ารายต่อปี เหลือแค่ประมาณ 250 ราย” Kaitlyn กล่าว

สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเนปาล เป็นผลจากการขับเคลื่อนขององค์กรที่ทำงานด้านสิทธิ ที่สามารถนำเสนอข้อมูลการเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยให้สังคมรับรู้ได้อย่างชัดเจน ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ไม่เกิดการประท้วง เพราะสังคมรับรู้ว่าการให้บริการทำแท้งถูกกฎหมายเป็นการช่วยชีวิตผู้หญิง และรัฐบาลเนปาลกำลังพยายามช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการทำแท้งอย่างปลอดภัยมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

“ตัวผลักดันหลักที่ทำให้เกิดการแก้กฎหมายคือการมีข้อมูลเพื่อบอกว่ามีผู้หญิงเสียชีวิตในแต่ละปีเท่าไหร่” Kaitlyn อธิบาย “อีกอย่างคือในสหราชอาณาจักร การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้าน การให้ความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การใช้ยาคุมอย่างปลอดภัย ให้ข้อมูลอย่างแพร่หลาย เข้าถึงได้โดยไม่ยุ่งยาก เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไป”

เบลเยี่ยม

ในเบลเยี่ยม กระบวนการแก้ไขกฎหมายทำแท้งแตกต่างออกไป Lot Debruye ตัวแทนจากสถานทูตเบลเยี่ยม กล่าวว่า มีการต่อสู้อย่างยาวนานกว่าการทำแท้งจะเป็นสิ่งถูกกฎหมาย Lot เล่าว่า ปี 2513 มีการจับกุมแพทย์ที่ทำแท้งให้ผู้หญิง จุดประเด็นการโต้เถียงขึ้นในสังคมเบลเยี่ยม และเกิดกระแสอีกครั้งในปี 2520 เมื่อนักกิจกรรมหญิงถูกจับกุมเพราะตำรวจค้นรถเจอใบปลิวที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการทำแท้ง และเพราะการทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงบีบบังคับให้ผู้หญิงเบลเยี่ยมต้องข้ามพรมแดนไปใช้บริการทำแท้งที่ปลอดภัยในอังกฤษหรือเนเธอแลนด์

“แรงผลักดันในการยกเลิกโทษอาญา เป็นเพราะเนปาลมีอัตราการเสียชีวิตของแม่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ครึ่งหนึ่งเป็นเพราะทำแท้งผิดกฎหมาย พอการทำแท้งถูกกฎหมายก็พบว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของแม่ลงครึ่งหนึ่ง"

ทศวรรษ 2520 มีการพยายามเสนอกฎหมายยุติโทษทางอาญาจากการทำแท้งทั้งในส่วนของผู้ให้และผู้รับบริการ แต่กฎหมายไม่ผ่าน แต่การต่อสู้ในประเด็นนี้ยังคงดำเนินต่อไป จนกระทั่งวันที่ 3 เมษายน 2533 กฎหมายดังกล่าวจึงผ่านสภาท่ามกลางการถกเถียงอย่างกว้างขวาง มีปฏิกิริยาจากคริสตจักรคาทอลิกและกษัตริย์เบลเยี่ยมก็ปฏิเสธการลงนาม อย่างไรก็ตาม สภายังคงยืนยันการตัดสินใจทำให้กฎหมายผ่านได้ในที่สุด

Lot อธิบายว่า เงื่อนไขในการทำแท้งของเบลเยี่ยมระบุว่า ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ภายในระยะเวลา 12 สัปดาห์แรก ถ้าผู้หญิงคนนั้นต้องทุกข์ทรมานจากความเครียดที่เกิดขึ้น ซึ่งกฎหมายไม่ได้นิยามชัดเจนแต่อย่างใด เป็นเพียงกรอบกว้างๆ เท่านั้น สอง-ผู้หญิงต้องเป็นผู้ตัดสินใจเองทั้งหมดและไม่มีผู้ใดสามารถขัดขวางการตัดสินใจได้ สาม-การแท้งต้องดำเนินการโดยแพทย์ และก่อนทำ ผู้หญิงต้องรับทราบทางเลือก คำชี้แจง ขั้นตอนต่างๆ และผลที่จะตามมา โดยหลังรับคำปรึกษาแล้วจะเว้นระยะ 6 วัน เพื่อให้ผู้หญิงตัดสินใจอีกครั้งก่อนทำแท้ง สี่-การทำแท้งหลังระยะเวลา 12 สัปดาห์แรกสามารถทำได้ ถ้าแพทย์ 2 คนรับรองตรงกันว่าการตั้งครรภ์ต่อจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิง และห้า-ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ถ้ารู้แน่ชัดว่าเด็กที่เกิดมาจะมีความผิดปกติหรือพิการอย่างรุนแรง

“กฎหมายบอกว่าแพทย์มีสิทธิปฏิเสธได้ เรียกว่าเป็นการเอาใจคริสตจักรนิดหนึ่ง แต่แพทย์ต้องแจ้งเหตุผลแก่ผู้ขอรับบริการว่าทำไมจึงปฏิเสธ ซึ่งผู้รับบริการก็สามารถไปหาแพทย์คนใหม่ได้ และบุคลากรทางการแพทย์จะต้องรักษาความลับของผู้รับบริการอย่างเคร่งครัดด้วย” Lot กล่าว

ไทย

ด้านนิสารัตน์ จงวิศาล ตัวแทนผู้หญิงที่เคยทำแท้งจากกลุ่มทำทาง สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อการทำแท้งเป็นอาชญากรรมว่า กฎหมายส่งผลกับผู้หญิงมากกว่าที่คิด

“ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าท้อง จะทำยังไงดี คิดว่าจะได้ยินคำแนะยังไงบ้าง เราจะไม่เคยได้ยินถามว่าพร้อมมั้ย อยากได้รับบริการหรือเปล่า เพราะทุกคนรู้ว่าการทำแท้งมีโทษในทางกฎหมาย ผู้หญิงจึงไม่มีทางเลือก เมื่อผู้หญิงไม่รู้ทางเลือก เขาก็จะไปหาเอง


“ผู้หญิงทุกที่ในโลกสามารถตัดสินใจว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับร่างกาย ชีวิต และอนาคตของเธอ”

“ถ้าผู้หญิงคนนี้ไม่เจอข้อมูลที่เชื่อถือได้ แล้วเข้าสู่เส้นทางเสี่ยง เช่น ซื้อยาผิด เข้าคลินิกเถื่อน ถ้าแท้งแต่ไม่สมบูรณ์ เธอไปหาหมอ หมอจะถามมั้ย หมอถามด้วยสายตาแบบไหน ถ้าไม่ไป รอให้ใครมาเจอ นั่นก็เสี่ยงถึงชีวิตอีก”

จากข้อมูลของกลุ่มทำทางพบว่า กลุ่มเสี่ยงที่สุดที่มีโอกาสทำแท้งไม่ปลอดภัยและเป็นอันตรายต่อชีวิตคือกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงข้อมูลการให้บริการการทำแท้งปลอดภัย เมื่อตั้งครรภ์จึงหาทางออกด้วยการค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตหรือถามเพื่อน ซึ่งมักนำไปสู่การซื้อยาทานเองหรือใช้บริการคลินิกทำแท้งเถื่อน แม้ว่าปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะขึ้นทะเบียนยายุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยไว้ในชุดสิทธิประโยชน์แล้วก็ตาม

กลุ่มทำทางย้ำว่า การทำแท้งอย่างปลอดภัยต้องถูกกฎหมายและผู้หญิงที่ทำแท้งไม่ใช่อาชญากร

“ผู้หญิงทุกที่ในโลกสามารถตัดสินใจว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับร่างกาย ชีวิต และอนาคตของเธอ” Lot กล่าวประโยคนี้ก่อนจบการนำเสนอ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.