จากซ้ายไปขวา อนุชาติ พวงสำลี, ธนากร เสรีบุรี, วัชระ สินธุประมา, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

Posted: 28 Mar 2018 07:34 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ชี้ การศึกษาไทยเน้น ‘เพาะช่าง’ ไม่เน้น ‘ทำคนให้เป็นคน’ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์- ฝึกทักษะการสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ มีวิจารณญาณ การเข้าใจมนุษย์ รับมือชุดความรู้ใหม่ในศตวรรษที่ 21 นักประวัติศาสตร์ แนะต้องปรับตัว มอง ‘มนุษยศาสตร์ดิจิทัล’ ช่วยประสาน 2 ศาสตร์ เข้ากับวิทยาศาสตร์

26 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานศิลป์เสวนาในหัวข้อ “มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่ชาติ(ไม่)ต้องการ” ที่ห้อง 107 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากรคือ วัชระ สินธุประมา สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) และเครือเจียไต๋, อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วัชระกล่าวถึงที่มาของการจัดเสวนานี้ว่า เนื่องด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ พาดพิงถึงนโยบายการศึกษาโดยเน้นการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีเป็นพิเศษ ส่วนสาขาที่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์ควรลดบ้าง ล่าสุดที่ประชุม คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) อธิการบดีนโยบายหลักสูตรการศึกษากล่าวว่าจะเน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ เพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานในภาคธุรกิจที่ต้องการอย่างมากในอนาคต แล้วมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์หายไปไหนในนโยบายการศึกษานี้
การศึกษาไม่ต้องไปตอบโจทย์อะไรทั้งสิ้นได้ไหม

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ”คำถามว่า “เรียนวรรณคดีไปทำไม” มักจะมีนักศึกษาถามอยู่เสมอ ผมมักตอบว่าผิดตั้งแต่คำถาม เพราะวิชาวรรณคดีมันไม่ได้เรียนไปทำอะไรทั้งสิ้น เป็นวิชาอดีตที่คนชนชั้นสูงเขาเรียนกัน ไม่ใช่วิชาทำมาหากิน วรรณคดีไม่ได้มีเป้าหมายแบบนั้น”

สำหรับความคิดของวิทยากรคนอื่นมราว่าการผลิตนักศึกษาโดยมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่ตลาดแรงงาน ตอบสนองโจทย์ของอุตสาหกรรม ของชาติ นั้น ชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ได้เถียง ตนคิดว่าในความเป็นจริงของชีวิตมันก็ต้องทำกัน แต่ตนอยากเป็นตัวแทนที่พูดถึงความเป็นอุดมคติของการศึกษาว่า มันเป็นไปได้ไหมที่เราจะคิดถึงการศึกษาในแง่ที่ไม่ต้องตอบโจทย์ของการทำงาน ไม่ต้องตอบโจทย์ของประเทศชาติ แต่เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาตัวของคนที่มาเรียน แม้ในความเป็นจริงเขาต้องทำงาน ต้องไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกประเทศชาติ แต่ในฐานะนักการศึกษาเราควรผลักดัน ให้คนมาเรียนเขารู้สึกค้นพบอะไรบางอย่างที่ไม่ต้องไปตอบโจทย์อะไรทั้งสิ้นได้ไหม ไม่งั้นการศึกษามันก็จะเป็นแค่โรงงานการผลิตอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งตนคิดว่ามันคงน่าเศร้ามาก ทั้งผู้ที่อยู่ในส่วนผู้ผลิตและผู้ที่เป็นผลผลิต

ชี้การศึกษาไทยเน้น ‘เพาะช่าง’ แต่ไม่เน้น ‘ทำคนให้เป็นคน’

ชูศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่เป็นปรัชญาพื้นฐานในสังคมไทยที่ไม่รู้จะแก้ได้อย่างไร ถ้าดูจากประวัติความเป็นมาของระบบการศึกษาไทย มันอาจเป็นการศึกษาที่เรียกได้ว่าเป็น ‘โรงเรียนเพาะช่าง’ ทั้งหมดที่ระบบการศึกษาไทยทำคือการเพาะช่าง ถ้าเราย้อนดูประวัติการตั้งโรงเรียน ซึ่งเริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ตอนตั้งโรงเรียนทุกโรงเรียนไม่ว่าจะเป็น แพทย์ ทหาร วิศวะ ศิลปะ กฎหมายมันมีเป้าหมายเพื่อวิชาชีพทั้งสิ้น มันคือการเพาะช่าง แม้แต่แพทย์ก็เป็นช่างอย่างหนึ่ง แม้ระบบการศึกษาจะเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ฐานคิดเดิมเกี่ยวกับระบบการศึกษาคือการเพาะช่างก็ยังอยู่ เวลาพูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี 4.0 นั้นเมื่อไปดูจะพบว่ามันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่เป็นแบบประยุกต์ทั้งนั้น ก็คือเป็นช่าง คือวิศวกรขันน็อตขันสกรู เราไม่มีนักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ เรามีแต่ช่าง ช่างทำฟัน ช่างรักษาโรค

อุดมคติหรือวิธีการศึกษาแบบศิลปศาสตร์มีเป้าหมายที่ว่า ขอยืมประโยคที่ว่า “กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำคนให้เป็นคน” “ทำคนให้เป็นคน” มันเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่เป็นอุดมคติของการศึกษาแต่สังคมไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับตรงนี้เท่าไหร่ เราจะเพาะช่างอย่างเดียว เราไม่ได้ต้องการทำคนให้เป็นคน

นักวิชาการสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ กล่าวว่า ถ้ามองประวัติความเป็นมา อุดมคติของการศึกษาแบบศิลปศาสตร์ของโลกตะวันตก มาจากอุดมคติแบบ “ทำคนให้เป็นคน” ต้องการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้เป็นอิสรชน ‘liberal arts’ คือศิลปะของคนที่เป็นเสรีชน ซึ่งก็คือชนชั้นสูง วรรณคดีไม่ได้มีเพื่อการทำงาน เป็นวิชาที่ทำให้คุณเป็นคนขึ้นมามากขึ้น ในยุคกลาง liberal arts ประกอบไปด้วย ภาษา ปรัชญา ตรรกะ วาทศิลป์ เลขคณิต เรขาคณิต ดนตรี ดาราศาสตร์ มีฐานคิดมาจากการศึกษาตั้งแต่กรีกโรมัน มองว่ามนุษย์ต้องพัฒนาด้านสติปัญญา เข้าใจตัวเอง เข้าใจภาษา เข้าใจโลก เข้าถึงความรู้ผ่านตรรกะ สื่อสาร เข้าใจโลกผ่านวิชาคณิตศาสตร์ เข้าใจตัวเลขในมิติของพื้นที่ ดนตรีก็เป็นการเข้าใจตัวเลขในมิติของเวลา ดาราศาสตร์ก็เป็นการเข้าใจตัวเลขในมิติของพื้นที่และเวลา ทุกศาสตร์เชื่อมโยงกันหมด

แต่โลกปัจจุบัน พื้นฐานวิชาที่เรียนไม่ใช่เพื่อไปทำมาหากินมันเป็นปัญหา จากวิธีการประเมินคือนักศึกษาจบไปทำงานกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วถ้าคนที่รวยอยู่แล้วเรียนคณะนี้จบไปไม่ต้องทำงาน แต่เขาเรียนแล้วมีความสุข อันนี้ถือว่าหลักสูตรล้มเหลวไหม วิธีกำหนดคุณภาพการศึกษาตั้งอยู่บนฐานการเพาะช่างเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ปรัชญาของการศึกษาในสายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์เหล่านี้เป็นไปเพื่อการพัฒนาตนเองเป็นหลัก มากกว่าการตอบโจทย์อุตสาหกรรม ธุรกิจ หรือประเทศชาติ

สร้างสมดุลระหว่างโลกของวิชาชีพและโลกของวิชาการ

ชูศักดิ์ กล่าวว่า ความเป็นจริงของชีวิตเราทุกคนต้องทำมาหากิน ต้องมีเงิน กับการที่เราจะเรียนรู้ให้ระบบการศึกษามาช่วยพัฒนาตัวเอง ศักยภาพตัวเอง ให้เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต จนถึงความสุนทรีย์ของชีวิต มนุษย์เราไม่ได้อยู่ด้วยการกิน การทำงานอย่างเดียว มีมิติอื่นอีกมากมาย มันมีบางสิ่งบางอย่างที่มูลค่าวัดไม่ได้ด้วยตัวเลข วัดไม่ได้ด้วยประสิทธิภาพของมัน คนเราต้องการบางอย่างที่มากกว่าประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือความสำเร็จ นั้นคือสิ่งที่เราเรียกกว้างๆ ว่าความเป็นสุนทรียะของชีวิต หรือความงามบางอย่างของชีวิต ระบบการศึกษาก็เช่นกัน ถ้าไทยเราพึงพอใจแต่การผลิตคนเพื่อป้อนตลาดแรงงาน ตนว่าประเทศเราก็ย่ำมา 50 ปี 100 ปี ก็ยังเป็นอย่างนี้ เราไม่มีทางเป็นอย่างจีนได้ เพราะเราคิดแต่ว่าเราจะผลิตคนเพื่อไปป้อนตลาดแรงงาน แต่เราไม่คิดที่จะผลิตคนเพื่อเป็นผู้นำ สร้างบริษัท ทำไมเราพึงพอใจแต่สร้างช่างอย่างเดียวเพื่อรับใช้ระบบอุตสาหกรรมข้างนอก นี่เป็นเสียงบ่นของคนที่ไม่ต้องทำมาหากิน เป็นอาจารย์สอนหนังสือซึ่งห่างไกลจากโลกแห่งความเป็นจริงมาก

ชูศักดิ์ กล่าวต่อว่าถ้าเราจะประสานกับโลกความเป็นจริงที่ต้องทำมาหากิน ระบบการศึกษามนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ถูกสังคมและรัฐบาลคาดคั้นว่าจะตอบโจทย์เขา เพราะเงินส่วนหนึ่ง ภาษีอากรส่วนหนึ่งก็มาจากเขา เราจะทำอย่างไร ตนคิดว่าถ้าจะให้สมดุลระหว่างโลกของวิชาชีพและโลกของ อย่างที่วิทยากรคนอื่นระบุว่าทิศทางของโลกข้างนอกก็สนใจในทางศิลปศาตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มาก ในอเมริกาเขาก็ตระหนักว่าการเรียนทางด้านเหล่านี้มีความจำเป็นต่อโลกธุรกิจ ต่อการพัฒนาประเทศของเขา มีแต่ประเทศไทยเรานี่แหละที่ลุกขึ้นมาบอกว่าจะไม่เอาการเรียนด้านเหล่านี้

ประเทศไทยเรามีลักษณะพิเศษคือชอบย้อนยุคตลอด ส่วนกระแสสังคมโลกตลอด สิบปีที่แล้วนั้นได้ เพราะโลกตะวันตกเขาก็บ้าคอมพิวเตอร์ บ้าเทคโนโลยีกันเยอะมาก แต่พอถึงตอนนี้โลกภายนอกเขาสนใจ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ เพราะเขาตระหนักว่ามันมีความจำเป็นต่อการผลักความรู้ ผลักประเทศนั้นให้เจริญไป แต่เราก็เพิ่งย้อนกลับไปพูดเรื่องเทคโนโลยี สเต็มเซลล์ เป็นลักษณะที่อยู่หลังเขาตลอดเวลา ไม่รู้เพราะถูกเพาะช่างมายาวนานร้อยกว่าปีรึเปล่า วิธีคิดของเราจึงยังแคบอยู่แบบนี้

ข้อเสนอที่เป็นการประนีประนอมประสานทั้งความเข้มแข้งของการเรียนรู้ด้าน มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ กับโลกของความเป็นจริงในศตวรรษที่ 21 ซึ่งไม่เหมือนกับศตวรรษที่ผ่านมา ลักษณะของธุรกิจ เศรษฐกิจสมัยใหม่ ไม่ได้มีลักษณะแบบเดิม แต่ทุกวันนี้คนจะพูดถึง ‘knowledge economy’ ‘creative economy’ ‘เศรษฐกิจความรู้’ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ หรือ ‘global competition’ ทุกวันนี้ไม่ได้แค่ผลิตพลเมืองชาติ แต่ผลิตพลเมืองโลก เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมมีลักษณะเป็นระดับโลกมากขึ้น

มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ช่วยให้คนปรับตัวตอบสนองต่อเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง

ชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หากพูดในเชิงเศรษฐกิจสิ่งที่เขาต้องการคือการมีความคิดสร้างสรรค์ มีวิจารณญาณ มีไหวพริบเชาน์ปัญญาที่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ตลอดเวลา เพราะความรู้ไม่อยู่กับที่ ต้องปรับตัวกับความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น การฝึกฝนในสายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ช่วยให้คนเหล่านี้มีทักษะที่จะปรับตัวเองให้ตอบสนองต่อเศรษฐกิจเหล่านี้ได้ ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถจะรับมือกับโลกในศตวรรษที่ 21 ได้ ในมิตินี้การเรียนภาษา ปรัชญา วรรณคดี โดยตัวความรู้มันอาจจะไม่เอาไปทำอะไรได้ แต่เป็นการฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ วิจารณญาณ การเข้าใจมนุษย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานของเขา

โมเดลศิลปศาสตร์แบบใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นศิลปศาสตร์ที่ชาติไม่ได้ต้องการเท่าไหร่ เช่น การพัฒนาศักยภาพของคน พัฒนาสติปัญญาตนเอง ฝึกความรับผิดชอบต่อสังคมและความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย กับอีกมิติในเชิงวิชาการ พัฒนาให้เป็นสหวิทยาการ ข้ามศาสตร์ เน้นการศึกษาในเชิงประเด็น เชิงคำถามใหญ่ๆ ในสังคม เพื่อให้เข้าใจสังคม วิถีชีวิตมนุษย์ ซึ่งต่างจากวิธีการเรียนแบบเดิมที่แยกสาย ซึ่งต้องใช้ความพยายามและคนในวงการเองก็ต้องพัฒนาตนเองเพื่อรับมือกับชุดความรู้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ในศตวรรษที่ 21

ความสำคัญที่สุดของ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชูศักดิ์ กล่าวว่า คือมันทำให้ผู้เรียนพัฒนาศักยภาพในอารมณ์ความรู้สึก เอาใจเขามาใส่ใจเราได้ เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตมนุษย์ กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ผ่านการศึกษาทางด้านศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์

ชูศักดิ์ ยกคำพูดของนักเขียนชื่อดัง ออสการ์ ไวลด์ เกี่ยวกับศาสตร์ในด้านศิลปศาสตร์ในที่นี้คือดนตรีว่า “หลังจากเล่นเพลงของโชแปง ผมรู้สึกราวกับว่าผมได้ร้องไห้เสียใจในความผิดบาปที่ผมไม่ได้เป็นผู้ก่อ และเศร้าสลดในโศกนาฎกรรมที่ไม่ใช่ของผมเอง” ซึ่งตนคิดว่าอันนี้คือพลังของศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ในการให้เราสามารถคิดถึงผู้อื่นได้ เอาใจเราไปใส่ใจเขาได้ นึกได้ว่าในความผิดบาปที่เราไม่ได้เป็นผู้ก่อมันจะกัดกินจิตใจคนได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมเราในตอนนี้ขาดไป

ชี้อิทธิพลแบบอเมริกัน

วัชระ สินธุประมา สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทำไมการศึกษาไทยถึงเป็นอย่างที่เราเห็น ทำไมเราถึงมีอาชีวะน้อย เพราะอิทธิพลแบบอเมริกัน อุดมศึกษาในนิยามของฝรั่งไม่ใช่เรื่องการฝึกอาชีพ แต่เป็นเรื่องของชนชั้นปัญญาชนหรือ อีลีท (ชนชั้นนำ) เป็นแบบนั้นมาตลอดจนถึงสมัยรัชกาล 5 มีการปฏิรูปการศึกษา ส่งคนไปเรียนเมืองนอกก็ไปเรียนแบบอีลีท ส่งไปเรียนที่ดีๆ ยิ่งทำให้ลักษณะการศึกษาเป็นอีลีท

แต่พอความคิดแบบอเมริกาแผ่เข้ามาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีปรัชญาหรืออุดมคติทางสังคมอีกแบบ เน้นประชาธิปไตย ความเท่าเทียม เสรีภาพ อเมริกามีมหาลัยเยอะมาก ไอเดียคือทุกคนต้องได้เรียนมหาวิทยาลัยกันหมด พอเรารับความคิดแบบนี้เข้ามา ก็ยิ่งชัดเจนว่าเราพยายามเอาคนเข้ามาหาลัยให้ได้ ขยายให้คนเข้าเรียนมหาลัย ในที่สุดก็ลงเอยที่มีคนเข้ามาอยู่ในระบบอุดมศึกษาเยอะแยะไปหมด แต่ก่อนมหาลัยก็มีอยู่ไม่กี่ที่ แต่พอเราไปขยายเชิงปริมาณ ให้อุดมศึกษาขยายไปมาก จุดหนึ่งที่โดนหนักอย่างเช่น รัฐธรรมนูญปี 40 ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี เหมือนไปสร้างเป้าว่าการเป็นมนุษย์ด้องจบปริญญาตรี แต่ก่อนคนจบศิลปศาสตร์ สังคมศาสตร์ไม่เท่าไหร่ คนไม่ค่อยล้นงาน เลยไม่มีใครไปถาม แต่ตอนนี้ก็เกิดภาวะคนล้นงาน

บทบาทหน้าที่ของการศึกษา ตกลงสังคมสร้าง/กำหนดการศึกษา หรือการศึกษาสร้าง/กำหนดสังคม นั้น นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า มันเหมือนคำถามไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน อันหนึ่งที่เห็นชัดเจน บทบาทของการชี้นำ เป็นผู้นำสังคม น่าจะต้องอยู่ในกลุ่มสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ส่วนวิทยาศาสตร์อาจกำหนดวิถีของโลกด้วยตัวเองได้จาก AI หรืออะไรก็ตาม แต่เราอยากให้สังคมเป็นอย่างไร เราต้องใช้คนเป็นตัวกำหนด คนก็มาจากการศึกษาในฐานะที่เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เราเชื่อเรื่องการสั่งสมความรู้ประสบการณ์

สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ต้องปรับตัว

ในกระบวนการเปลี่ยนแปลง เช่นในช่วงหนึ่งที่เป็น Modernization หรือกระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่ นั้น วัชระ กล่าวว่า ต้องอาศัยวิศวกร เพราะเราอยู่ในโลกวัตถุ เราต้องสู้หรือเอาชนะธรรมชาติ เช่น การนั่งในห้องแอร์ เราก็ต้องสู้กับธรรมชาติ ในภาวะอย่างนั้นต้องมีบุคคลกรที่จะไปเอาชนะธรรมชาติ เพราะฉะนั้นช่างจึงถูกสร้างขึ้น แต่พอมาถึงจุดหนึ่งที่อะไรก็สามารถให้เครื่องจักรทำได้หมด คนพวกนี้ก็กลับมานั่งคิดเรื่องสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์

ไทยเราจะนำได้อย่างไรถ้าเราจะเน้นแต่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ต้นทุนเราอย่างไรก็ไม่มีทางสู้ประเทศอื่นได้ ถึงเราจะเริ่มจากวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เพื่อจะพัฒนาต่อยอด เราก็ตามประเทศอื่นไม่ได้ทัน แล้วเราจะแข่งขันกับเขาได้อย่างไร ถ้าเราไม่มองไปทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ก็คงเป็นไปได้ยาก

นักวิชาการด้วยประวัติศาสตร์ กล่าวว่า เบื้องต้นในสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เราก็ต้องปรับตัว อาจเป็นว่าเราไม่ได้ทำให้สังคม ผู้นำ ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของศาสตร์ที่เราทำ อย่างตนในเชิงประวัติศาสตร์ ตนคิดว่าสังคมไม่ได้เข้าใจประวัติศาสตร์อย่างที่เราเข้าใจ สังคมแค่คิดว่าประวัติศาสตร์ก็แค่ไปหาความจริงในอดีต ทำอะไรย้อนยุค ทำอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่เกี่ยวกับสังคม แต่จริงๆ มันเกี่ยวกับสังคมทั้งนั้น ปัญหาคือเราไม่สามารถสื่อสารสิ่งเหล่านี้ไปสู่สังคมได้เท่าที่มันควรเป็น

Digital humanity ประสานสายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ กับวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน

วัชระ กล่าวว่า Digital humanity หรือมนุษยศาสตร์ดิจิทัล มีความสำคัญในแง่ที่เป็นเครื่องมือในการที่มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ จะไปสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์ เป็นเครื่องมือในแง่ของการสื่อสาร การทำความเข้าใจ เพราะการรับรู้ของมนุษย์ในแง่พื้นที่ เวลา นั้นถูกจำกัด ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นตัวขยายการรับรู้และการเรียนรู้ของมนุษย์ เช่น ประวัติศาสตร์ เรามักเน้นแต่ประวัติศาสตร์ชาติ แต่ขณะที่แวดวงวิชาการมันขยายไปถึงประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์จักรวาล ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ส่วนตัว (personal history) เช่นไทม์ไลน์ในเฟสบุ๊ค แต่ละคนมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง ไปจนถึงประวัติศาสตร์ที่นอกเหนือมนุษย์ เช่น สิ่งแวดล้อม สัตว์ มันขยายวงแบบนี้เราไม่สามารถใช้เครื่องมือเดิมได้ ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรงนี้

หรือวรรณคดีก็ได้รับอิทธิพลจากดิจิทัลเทคโนโลยีด้วย วรรณกรรมเดี๋ยวนี้ผู้แต่งไม่ได้มีคนเดียว ผู้แต่งไม่ได้เป็นผู้กุมอำนาจเหนือเรื่องเพียงผู้เดียว มีวรรณกรรมถามคนอ่าน คนอ่านอยากได้อย่างไร มีตอนจบหลายแบบ ผู้อ่านมีส่วนร่วมเข้ามาเขียนวรรณกรรม คือโลกของเจนใหม่ ถ้าวรรณคดีจะตอบสนองสุนทรียะของคนรุ่นใหม่ๆ สื่อดิจิทัลตัวนี้ก็มีความจำเป็นอย่างสูงที่สายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ต้องปรับตัว

คำถามสุดท้ายคือแล้วมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์มีข้อจำกัด หรือทำอะไรได้ไม่ได้แค่ไหน มีคำถามเสมอว่า จริยธรรม สอนกันได้หรือ สอนให้คนซื่อสัตย์ได้ไหม กระบวนการศึกษาทำได้หรือเปล่า แต่ในความเข้าใจของตนมันสอนได้ในระดับหนึ่ง เราสอนให้คนคิดได้ว่า เราลองมาคุยกันว่าความถูกผิดดีงามในโลกนี้มีไหม ถ้ามีมันตั้งอยู่บนพื้นฐานอะไร สิ่งเหล่านี้เป็นคุณูปการของวิชาที่สอนให้คนคิด เราจะทำอย่างไรให้เนื้อหาสาระเหล่านี้เข้าไปอยู่ในเนื้อหามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ที่ชาติต้องการได้

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.