รายละเอียดดู change.org 

Posted: 25 Mar 2018 10:44 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ปริญญา และทีมงานแคมเปญต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน เปิดภาค 2 รณรงค์ล่ารายชื่อ 20,000 รายชื่อ เพื่อสนับสนุนให้ 'การกักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป'
26 มี.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่แคมเปญ ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน กักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป ผ่าน change.org โดยตั้งเป้ารวบรวม 20,000 รายชื่อ เพื่อสนับสนุนให้ 'การกักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป'


โดยมีคำแถลงประกอบแคมเปญดังนี้


รวมพลัง 20,000 รายชื่อ เพื่อสนับสนุนให้ 'การกักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป'

ปีที่แล้ว #ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน ได้รณรงค์ให้มีการปฏิรูประบบการประกันตัวเพื่อช่วยเหลือคนจนที่ต้องติดคุกระหว่างรอการพิจารณาคดี ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นยังไม่ถูกศาลตัดสินว่าได้กระทำความผิดจริง แต่พวกเขาต้องติดคุก เพียงเพราะ 'ไม่มีเงินประกันตัว'

เราได้นำรายชื่อกว่า 30,000 รายชื่อไปยื่นให้กับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 เพื่อผลักดันให้ 'ระบบประเมินความเสี่ยงว่าจะหนีหรือไม่' มาแทนที่การใช้เงินเป็นหลักประกัน ซึ่งไม่ได้ผล และทำให้คนจนจำนวนกว่า 66,000 คนต่อปีต้องติดคุกก่อนศาลพิพากษา

และในวันนี้ เรามีประเด็นใหม่ที่อยากนำเสนอ และเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน .. ท่านทราบหรือไม่ว่า ถ้าท่านไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ท่านอาจจะต้องติดคุก! นี่คืออีกหนึ่งความไม่เป็นธรรมที่คนจนต้องติดคุกเพราะว่าจน!

ประเทศไทยไม่ควรเอาใครมาขังคุกเพียงเพราะเขาไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ เราจึงขอรณรงค์ให้ ‘การกักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป’ โดยจะผลักดันให้ ‘การทำบริการสาธารณะ’ หรือการทำงานให้รัฐ เป็นทางเลือกของจำเลยที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับตามคำพิพากษาแทนการถูกกักขัง เพราะไม่ควรต้องมีใครติดคุกเพราะจน!

เราลองมาดูเรื่องจริงในปัจจุบันกัน
(อ้างอิงจาก https://www.thairath.co.th/content/104177
จากกรณีที่ นายสุรัตน์ มณีนพรัตนสุดา ตกเป็นจำเลยฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำนำภาพยนตร์ จำพวกแผ่นวีซีดีภาพยนตร์โดยไม่มีใบอนุญาต ซึ่งต่อมาปรากฏว่าถูกศาลพิพากษาให้จ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงินถึง 140,000 บาท แต่ผู้กระทำความผิดเป็นเพียงแค่พนักงานเก็บขยะชั่วคราวไม่ได้มีอาชีพเป็นผู้ประกอบการขายซีดีแต่อย่างใด จึงไม่สามารถนำเงินมาชำระค่าปรับได้ จึงต้องติดคุกเป็นเวลาถึงหนึ่งปี!
ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับแล้วจะต้องทำอย่างไร???

ตามประมวลกฎหมายอาญาแต่เดิมนั้น ถ้าผู้ต้องโทษปรับตามคำพิพากษา ไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าปรับได้ เนื่องจากจำนวนเงินค่าปรับสูงเกินกว่ากำลังทรัพย์ เช่น หลายหมื่นบาท หรือเป็นแสนบาท ผู้ต้องโทษปรับคนนั้นก็ต้องถูกกักขังแทนการจ่ายค่าปรับ ซึ่งขณะนี้คือวันละ 500 บาท* ถ้าค่าปรับเป็นแสนบาทอาจถูกขังถึงหนึ่งปี หรือสองปี อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ.2559 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา โดยให้มีมาตรา 30/1** ให้ผู้ต้องโทษปรับที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอทำงานบริการสังคม หรือบริการสาธารณะได้

แต่ในทางปฏิบัติจริง กลับพบว่าการให้ผู้รับโทษปรับไปบริการสาธารณะแทนนั้นยังมีน้อยมาก และยังไม่เป็นแนวทางปฏิบัติของผู้พิพากษาโดยส่วนใหญ่ และตัวผู้ต้องโทษปรับ โดยเฉพาะผู้ที่ยากจนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ก็ยังไม่ทราบถึงสิทธิของตนในการร้องขอทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณะประโยชน์แทนการติดคุก

ความจริงแล้วประธานศาลฎีกาได้มีคำสั่งในปี 2559*** ขอความร่วมมือจากผู้พิพากษาให้ถามจำเลยเสียก่อนว่าต้องการทำบริการสาธารณะหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ศาลฎีกาก็ได้มีความเห็นแล้วว่าการบริการสาธารณะแทนการกักขังย่อมเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่เกิดการปฏิบัติเป็นการทั่วไป
แล้วท่านจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร?

เนื่องจากศาลเป็นองค์กรที่ยึดถือบรรทัดฐานในการปฏิบัติหน้าที่เป็นสำคัญ ความเห็นจากสาธารณะในเชิงสนับสนุนและสร้างสรรค์ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงในการที่จะทำให้ผู้ต้องโทษปรับได้รับรู้ถึงสิทธิที่จะขอทำงานบริการสังคม หรือบริการสาธารณะแทนการถูกกักขัง และให้ศาลได้ใช้มาตรการนี้อย่างกว้างขวางเป็นการทั่วไป รวมถึงการนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายเรื่องนี้ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป หนึ่งเสียงของท่านจึงมีความหมายเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น พวกเราจึงขอเชิญชวนท่านให้ร่วมลงชื่อใน “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน ภาค 2 : กักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป” โดยจะได้นำทุกรายชื่อยื่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ต่อไป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมของ และทำให้คำกล่าวที่ว่า 'คุกมีไว้ขังคนจน' หมดไปจากประเทศไทย

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.