แถลง 'มารา ปาตานี' ที่มา Thapanee Ietsrichai

Posted: 23 Mar 2018 12:46 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

มาราปาตานี แถลง 'พื้นที่ปลอดภัย' และ 'โครงการพาคนกลับบ้าน' ไม่มีส่วนสัมพันธ์กับกระบวนการพูดคุยสันติสุข ด้าน โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เผยกับบีบีซีไทย ยันไม่เคยอ้างว่าโครงการทั้ง 2 เกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติสุข

23 มี.ค.2561 บีบีซีไทย รายงานว่า บีบีซีไทย ได้รับการประสานงานให้เดินทางไปยังเมืองโกตาบารู เมืองหลวงของรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เมื่อเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (เวลา 09.00 น. ตามเวลาไทย) เพื่อร่วมรับฟังการแถลงข่าวของตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เรียกตัวเองว่า "มารา ปาตานี" (Mara Patani) ที่บ้านพักหลังหนึ่ง ห่างจากใจกลางเมืองไปราว 20 นาที โดยมีสื่อมวลชนไทยอีก 2 สำนัก และสื่อท้องถิ่น 3 สำนัก ร่วมด้วย

สุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากฝ่ายมารา ปาตานี อ่านแถลงการณ์เป็นภาษามลายู โดยมี อาบูฮาฟิส อัลฮากิม โฆษกกลุ่มฯ ทำหน้าที่ล่ามแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยเรียกร้องให้รัฐไทยหยุดสร้างความสับสนและความเข้าใจผิด มีสาระสำคัญ 4 ข้อคือ

"1. การพูดคุยที่ดำเนินไปอยู่ในขณะนี้ ระหว่าง มาราปาตานี และรัฐบาลไทย ยังคงเป็นระดับทางเทคนิค ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะทำงานร่วมการพูดคุยสันติสุข (JWG-PDP) ดังนั้นข้อตกลงที่บรรลุก่อนหน้านี้จึงไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้าย

2. มารา ปาตานีนั้นเปิดกว้างต่อความคิดเห็นและข้อแนะนำจากประชาชนภายใต้สิทธิกำหนดการปกครองด้วยตนเอง

3. เรามีความเชื่อมั่นในทีมพูดคุยสันติสุขของไทย ซึ่งได้รับมอบอำนาจมาจากนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา และเราก็เชื่อด้วยว่ามันเป็นกระบวนการทางการที่ถูกพัฒนาให้เป็นวาระแห่งชาติ อย่างไรก็ตามเราเป็นกังวลต่อคำแถลงการณ์และการกระทำบางประการของแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งขัดแย้งกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

4. มารา ปาตานีให้คำมั่นที่จะแก้ไขข้อขัดแย้งโดยการพูดุคยสันติสุขในปัจจุบัน (JWG-PDP) และเราต้องการที่จะเน้นย้ำว่า: 4.1 โครงการ "พาคนกลับบ้าน" 4.2 พื้นที่ปลอดภัย 14 แห่ง ซึ่งทางแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ประกาศออกมาแล้ว โครงการทั้งสองที่กล่าวมาข้างต้นไม่มีส่วนสัมพันธ์กับกระบวนการพูดคุยสันติสุขระหว่างมารา ปาตานีและรัฐบาลไทยแต่อย่างใด"


อย่างไรก็ตามหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายมารา ปาตานี กล่าวยืนยันว่าการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยจะเดินหน้าต่อไป ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าร้อยละ 80-90 คาดว่าต้องหารือในชั้นคณะทำงานฝ่ายเทคนิคอีก 1-2 ครั้งก่อนนำเข้าสู่คณะทำงานพูดคุยสันติสุขฯ ชุดใหญ่ต่อไป ซึ่งแนวทางในการดำเนินการเป็นไปตามที่ฝ่ายไทยออกมาระบุ แต่สำหรับเงื่อนไขต้องไม่มีเหตุร้ายรุนแรงในพื้นที่ปลอดภัยเกิน 3 ครั้ง ซึ่งทางโฆษกกลุ่มมารา ปาตานี ระบุว่า "เป็นเพียงข้อเสนอ แต่ถ้าเกิดเหตุใหญ่ครั้งเดียวแล้วพิสูจน์ทราบผู้ก่อเหตุไม่ได้ ก็เกินพอ"

กลุ่มมารา ปาตานี ยังตั้งคำถามกรณีที่ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ออกมาระบุว่าได้จัดทำพื้นที่ปลอดภัยไป 14 เขตแล้ว โดยได้สะท้อนข้อกังวลใจนี้ในวงหารือคณะทำงานด้านเทคนิค ช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา และตั้งคำถามไปว่า "ในเมื่อคุณมีพื้นที่ปลอดภัย 14 เขตแล้ว ยังมีความจำเป็นหรือไม่ที่เราจะคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัยกันต่อ ในเมื่อทำแล้วไม่สำเร็จ"

เช่นเดียวกับโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ที่แม่ทัพภาคที่ 4 อ้างว่ามีผู้เข้าร่วม 2 พันคน ซึ่งโฆษกกลุ่มมารา ปาตานี บอกว่า "เขาบอกว่าเป็นแนวร่วมพูโล 2 พันคน แต่จะจริงหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ทางเราคิดว่าเป็นการจัดฉากมากกว่า"

"หลายกรณีเราเห็นว่าการกระทำของท่านสวนทางกับสิ่งที่ตกลงกันบนโต๊ะพูดคุย ทำให้เกิดความระส่ำระสายในพื้นที่ ทำให้ประชาชนมองว่าไม่มีเอกภาพในฝ่ายรัฐ ในขณะที่ฝ่ายนโยบายและคณะทำงานพูดคุยสันติสุขไปอีกทางหนึ่ง ฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่กลับไปอีกทางหนึ่ง ทำให้เกิดการสวนทางของกระบวนการสร้างสันติภาพ" สุกรีกล่าว

บีบีซีไทย ยังรายงานฝั่ง พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ซึ่งกล่าวกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ว่า ทั้งโครงการพาคนกลับบ้าน และพื้นที่ปลอดภัย 14 แห่งที่ทางกองทัพภาคที่ 4 ดำเนินการอยู่นั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติสุขแม้แต่น้อย และทั้งทางทัพภาค 4 และกอ.รมน. ภาค 4 สน. ก็ไม่เคยอ้างว่าโครงการทั้งสองเกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติสุข

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.