Posted: 23 Mar 2018 01:25 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ออกจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ เสนอ 7 ความเห็นต่อนโยบายบริหารแรงงานข้ามชาติ

23 มี.ค.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ออกจดหมายเปิดผนึก ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมสำเนาถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

จดหมายระบุว่า นับแต่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเร่งด่วนในการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อพัฒนาสถานะของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านทุกคนให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเริ่มให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อถือเอกสารการทำงานและอาศัยอยู่ชั่วคราว มาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อให้แรงงานเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ผ่านมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีแรงงานที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติรวมทั้งกลุ่มที่ต้องขยายระยะเวลาการทำงานและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย ประมาณ 1.9 ล้านคน

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้ติดตามนโยบายการบริหารจัดการกับแรงงานกลุ่มดังกล่าว พบว่า มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ฉบับวันที่ 16 ม.ค. 2561 กำหนดให้ แรงงานข้ามชาติที่ถือบัตรอนุญาตให้ทำงานชั่วคราว (บัตรชมพู) กลุ่มจับคู่ และแรงงานประมง ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานและอาศัยอยู่ถึง 31 มีนาคม 2561 ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ รวมทั้งการยื่นขอขยายระยะเวลาการอยู่และทำงานชั่วคราว ระหว่างที่รอการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จ ถึง 30 มิ.ย. 2561 โดยปัจจุบัน คาดว่ายังมีแรงงานทั้งสามกลุ่มที่ยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามนโยบายของรัฐบาลอีกประมาณ 9 แสนคน และรัฐบาลมีเพียงมาตรการเดียวคือ การเปิดให้บริการที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จของรัฐบางแห่ง เป็น 24 ชั่วโมง ซึ่งหากพิจารณาจากระยะเวลาที่เหลือขณะนี้

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เห็นว่า


"1.รัฐบาลควรทบทวนมาตรการการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่เหลืออยู่ โดยการพิจารณาขยายระยะเวลาในการดำเนินการของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จของรัฐและศูนย์พิสูจน์สัญชาติออกไป ไม่น้อยกว่า 3 เดือนโดยเฉพาะในศูนย์ฯ ที่ยังคงมีตัวเลขของแรงงานรอการดำเนินการอยู่เป็นจำนวนมาก

2. ปรับลดขั้นตอนด้านการดำเนินการ เอกสารต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ควรมีการแยกการจัดการจากกลุ่มที่ยังพิสูจน์สัญชาติไม่แล้วเสร็จ เพื่อให้กระบวนการดำเนินงานของรัฐเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น

3. จัดให้มีอาสาสมัครของแต่ละศูนย์บริการ เพื่อช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐในการให้บริการด้านการเตรียมเอกสารของแรงงานข้ามชาติและนายจ้าง เพื่อทำให้กระบวนการดำเนินการของรัฐและศูนย์พิสูจน์สัญชาติมีความรวดเร็วขึ้น และเพื่อแก้ปัญหาการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากกลุ่มนายหน้า

4. มาตรการรองรับ หรือคุ้มครองชั่วคราวของรัฐกรณีที่แรงงานบางส่วนไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นคนชาติของประเทศต้นทาง เช่น แรงงานมุสลิมที่อ้างว่ามาจากประเทศเมียนมา

5.เร่งประสานกับรัฐบาลประเทศต้นทาง โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา และลาว เพื่อสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ ได้ทันตามนโยบายที่รัฐกำหนดไว้

6. ขอให้รัฐเปิดนโยบายให้มีการจดทะเบียนผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้ครอบคลุมกลุ่มที่ออกตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 16 มกราคม 2561

7. เร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ โดยคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อรองรับกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ หลังจากที่มีการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 16 มกราคม 2561 ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว"

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.