โปสเตอร์เกม Far Cry 5 (ที่มา: wikia)


Posted: 29 Mar 2018 10:58 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

Far Cry 5 หนึ่งในซีรีส์เกมแอกชั่น-ผจญภัยชื่อดังชนิดระเบิดภูเขา เผากระท่อม เป็นประเด็นขึ้นมาเพราะเนื้อหาเกี่ยวข้องกับปัญหากลุ่มลัทธิสุดโต่งในสหรัฐฯ แม้การเมืองของสหรัฐฯ และการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อฝ่ายขวาอาจทำให้ตัวร้ายในเกมดูเกี่ยวกับการเมืองน้อยลง แต่บทความของสื่อคนรุ่นใหม่ Mic ระบุว่าเกมยังคงโยงลัทธิฟาสซิสม์อเมริกันได้อยู่ดี

29 มี.ค. 2561 เกมซีรีส์ Far Cry ของทีม Ubisoft Montreal มักจะดำเนินเรื่องโดยมีฉากหลังเป็นดินแดนประเทศโลกที่สามแบบสมมุติที่ห่างไกลจากประเทศตะวันตก และมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มติดอาวุธหรือมีตัวร้ายเป็นผู้นำเผด็จการเช่น ในเกมภาค 4 มีตัวร้ายเป็นเผด็จการราชาธิปไตย พากัน มิน (Pagan Min) จากประเทศสมมุติที่ชื่อคิรัต (Kyrat) ซึ่งมีภูมิประเทศละม้ายคล้ายแถบเทือกเขาหิมาลัย อย่างไรก็ตามในภาค 5 ที่เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา พวกเขาย้ายฉากความขัดแย้งกลับมาอยู่ใกล้บ้านตัวเอง คือเทศมณฑลสมมุติในสหรัฐฯ ที่ชื่อ โฮปเคาน์ตี (Hope County)

แจ็ค สมิธ ที่สี่ ผู้เขียนบทความให้ Mic ตั้งข้อสังเกตว่าวัฒนธรรมร่วมสมัยของสหรัฐฯ มักจะมีการโต้ตอบหรือสอดรับกับสภาพการเมืองในยุคนั้นๆ เสมอ เช่น เมื่อเกิดกรณีเรื่องอื้อฉาวคดีวอเทอร์เกทของอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ก็มีการผลิตเรื่องแต่งเกี่ยวกับความลึกลับซ่อนเงื่อนในวงการการเมืองตามมาหลายเรื่อง ในช่วงยุคหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 สมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็มีภาพยนตร์ที่ออกแนวสนับสนุนการทหารอเมริกันมากขึ้น และในช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สร้างความฮึกเหิมให้กับฝ่ายขวาชาตินิยมที่เกลียดคนนอก ก็มีสื่อบันเทิงหลายแขนงที่นำเสนอโดยหยอดประเด็นความรุนแรงจากพวกชาตินิยมจัดเอาไว้ และเมื่อดูเผินๆ แล้ว Far Cry 5 ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ช่วงที่มีการโฆษณาเกม Far Cry 5 ได้ไม่นาน การเปิดตัวตัวร้ายของภาคนี้เป็นเจ้าลัทธิคริสต์นิกายอิแวนเกลิกในพื้นที่ชนบทของสหรัฐฯ ทำให้คนคาดหวังว่าจะพูดถึงกลุ่มขวาจัดหัวรุนแรงในบ้านตัวเอง จากเดิมที่เล่นบทเป็นฮีโร่คนขาว เข้าไปกอบกู้ดินแดนอื่นจนเคยถูกวิจารณ์เรื่องทัศนคติแบบไม่เห็นอกเห็นใจคนท้องถิ่น ในภาคล่าสุดนี้ทีมสร้างเกมที่กำหนดให้ตัวเอกดำเนินเรื่องโดยใช้สหรัฐฯ เป็นเวที ต้องเจอกับคำวิจารณ์จากคนในประเทศตัวเอง

หนึ่งในผู้วิจารณ์ Far Cry 5 ในเรื่องเนื้อหาตั้งแต่ช่วงที่เกมยังไม่ออกมาคือสื่อขวาจัด Breitbart ที่อ้างว่าเกมนี้หวังที่จะขายให้กลุ่มคนที่ต่อต้านนาซีที่ใฝ่ฝันถึงการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้แค้น (revenge fantasy) มีแฟนเกมบางคนถึงขั้นคาดหวังว่าเกมนี้จะพูดถึงพวกกลุ่มขวาจัดที่เรียกตัวเองว่า "ขวาทางเลือก" (alt-right) โดยตรง




ที่มาภาพ: wikia

แต่เมื่อตัวเกมออกมาแล้ว และเนื้อเรื่องก็ไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างแนวคิดทางการเมืองขนาดนั้น แต่เกมก็ได้สะท้อนด้านหนึ่งของปัญหาในสหรัฐฯ โดยสมิธระบุว่าความหลงใหลในลัทธิของคนอเมริกันทำให้พวกเขามองไม่เห็นปัญหาพวกหัวรุนแรงในบ้านตัวเอง

Far Cry 5 มีเนื้อเรื่องในเกมเกี่ยวกับกลุ่มลัทธิที่เรียกตัวเองว่า "โปรเจกท์แอตอีเดนเกต" มักจะถูกเรียกสั้นๆ ว่า "เพกกี" หรือ "อีเดนเกต" กลุ่มนี้ทำการค้ายาเสพติด ลักพาตัวผู้คน พยายามสร้างฐานทัพบนเกาะของตัวเอง มีผู้นำชื่อโจเซฟ ซีด นักเทศน์ผู้พูดถึงวันสิ้นโลกและอ้างว่าจะใช้โฮปเคาน์ตีเป็นดินแดนหลบภัย ผู้เล่นจะได้เล่นเป็นผู้ช่วยนายอำเภอที่ถูกส่งตัวไปจับกุมซีด

สมิธวิจารณ์ว่า ลักษณะการเล่นของเกมนี้ที่ให้ผู้เล่นเข้าไปปราบกลุ่มลัทธิโดยใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้เพื่อ "ปลดปล่อย" พื้นที่ด้วยการวางธงชาติสหรัฐฯ ชวนให้รู้สึกว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับพวกกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาด้วยกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรง แตกต่างจากความคาดหวังของผู้รอเล่นเกม Far Cry 5 ก่อนหน้านี้ที่คาดหวังว่าจะได้สู้กับตัวร้ายที่เป็นกลุ่มขวาจัด

สมิธตั้งข้อสังเกตอีกว่ากลุ่มคนที่เข้าร่วมกับฝ่ายตัวเอกประกอบด้วยคนจำพวกที่มีแนวคิดฝักใฝ่การเอาตัวรอด (survivalist) พวกเชื่อทฤษฎีสมคบคิดรวมถึงทหารผ่านศึก ทั้งฝ่ายตัวเอกและตัวร้ายมีความขวาแบบอเมริกันเหมือนกันอย่างหนึ่งคือรังเกียจรัฐบาลกลางแต่ใช้ความรังเกียจนั้นมาแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ให้ดูเหมือนเป็น "ชาตินิยม"

มีนักวิจารณ์พูดถึงเกมนี้ว่ามีแนวคิดการเมืองที่ลักลั่นโดดไปโดดมา คนที่หวังว่าจะเห็นการวิพากษ์ฝ่ายขวาจัดก็คงผิดหวัง แต่สมิทธ์มองว่าเกมนี้ยังนำเสนอการเมืองแบบอเมริกันได้โดยแฝงอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่นวิธีการกล่อมเกลาโดยอาศัยวัฒนธรรมร่วมสมัยแบบอเมริกันเป็นเครื่องมือ สร้างเรื่องเล่าลือในชุมชน ทั้งยังสะท้อนว่าวัฒนธรรมกระแสหลักในสหรัฐฯ แบ่งแยกพวกหัวรุนแรงออกเป็น "แบบที่ดี" และ "แบบที่ไม่ดี" อย่างไร

กลุ่มตัวร้ายในเกมนี้ดูเผินๆ เป็นตัวแทนของพวกคริสเตียนชาตินิยมที่แปรสภาพเป็นพวกหัวรุนแรงแบบที่หลุดมาจากยุคประธานาธิบดีบุช

แต่เนื้อหาในเกมก็ทำให้พวก "เพกกี" ดูไม่ขวาไปให้สุดเสียทีเดียว มีตัวละครบางตัวที่เรียกกลุ่มตัวร้ายว่าเป็น "พวกฮิปปี" หรือไม่ก็เป็น " พวกมีวาระสนับสนุนโลกาภิวัฒน์" (globalist agenda) ซึ่งเป็นคำที่พวกฝ่ายขวาสายเชื่อเรื่องสมคบคิดมักจะใช้แปะป้ายให้กับฝ่ายที่ตัวเองไม่ชอบ ทำให้ตัวร้ายในเกมนี้กลายเป็นพวกลัทธิทางสังคมอะไรก็ได้ที่ผู้เล่นไม่ชอบ

สื่อ Bitch Media เคยนำเสนอบทความของ แอนดี เซียสเลอร์ ตั้งข้อสังเกตว่าสื่อวัฒนธรรมของสหรัฐฯ ชอบนำเสนอเรื่องของพวกลัทธิหรือ 'คัลท์' กันมาก ส่วนหนึ่งน่าจะเพื่อตอบสนองต่อความรู้สึกของการได้ถ้ำมองความผิดพลาดจากสังคมที่บ้าความสำเร็จและความต้องการมีพวกพ้องจนสูญเสียความเป็นตัวเองไป อาจจะเป็นการทำให้ผู้ดูหรือผู้เสพย์สื่อแยกตัวเองออกมาในฐานะผู้ที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกล่อมเกลาเพื่อที่จะบอกตัวเองว่า "ฉันจะไม่เป็นอย่างนั้นหรอก" แทนที่จะคิดว่าการกล่อมเกลาของลัทธิทางความคิดพวกนี้อาจจะเกิดกับพวกเขาก็ได้ หรือสุดท้ายแล้วมันอาจจะเป็นแค่ความรู้สึกคุ้นเคยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อโซเชียลมีเดียในสังคมสหรัฐฯ ที่ละม้ายคล้ายความ 'คัลท์' บางอย่างกับพวกลัทธิในเรื่องแต่ง

หนังสือที่ชื่อ "กายวิภาคแห่งฟาสซิสม์" (The Anatomy of Fascism) โดยโรเบิร์ต แพ็กซ์ตัน ระบุว่าคำอธิบายเรื่องฟาสซิสต์ว่าเป็นลัทธิที่มีผู้นำแผ่บารมีและอวดเบ่งความบ้าอำนาจและมักจะใช้ความรุนแรงแทนการใช้เหตุผลหรือการใช้ประชาธิปไตยยังถือว่าไม่เพียงพอ เพราะคำอธิบายดังกล่าวขาดการพูดถึงวัฒนธรรมทางการเมืองที่ทำให้เกิดฟาสซิสม์ขึ้น เสมือนกับการไม่ได้ทำให้คนมองเห็น "อาการ" ที่แท้จริงของโรคเผด็จการ แพ็กซ์ตันเขียนถึงพล็อตเรื่องตัวร้ายแบบเจ้าลัทธิไว้ว่า "มันให้ข้ออ้างสำหรับประเทศที่ยอมรับหรือทนได้กับผู้นำฟาสซิสต์ แล้วเบี่ยงเบนความสนใจจากบุคคล กลุ่มคนและสถาบันที่ช่วยสร้างเผด็จการเหล่านี้"

ทุกวันนี้หลายคนทราบกันอยู่แล้วว่าลัทธิฟาสซิสม์มักจะควานหาทหารผ่านศึกเพื่อสร้างความเป็นผู้อารักขาประเทศ ลัทธิฟาสซิสม์มักวิตกกังวลว่าจะสูญเสียความสามารถในการควบคุม และจะโต้ตอบความกลัวนั้นด้วยความเป็นชายและลัทธิทหาร สมิธระบุว่า เมื่อมองในจุดนี้จะพบว่า ไม่ว่าจะฝ่ายตัวเอกหรือฝ่ายตัวร้ายใน Far Cry 5 ก็ดูมีความเป็นฟาสซิสม์พอๆ กัน

สมิธสรุปว่า พวกอีเดนเกตในเกม Far Cry 5 ทำเรื่องเลวร้าย อย่างการทารุณกรรมและล่วงละเมิดความยินยอมของผู้อื่น ตัวละครแบบซีดก็เป็นตัวร้ายแบบเดิมๆ ในนิทานศีลธรรมแบบเด็กๆ ของอเมริกันที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับความหัวรุนแรงแบบชาตินิยมของตัวเอกที่แค่ดูไม่ 'คัลท์' มากเท่า ทำให้ชวนสงสัยว่าจินตนาการของพวกเขามีขีดจำกัดอยู่แค่สองขั้วคือพวกหัวรุนแรงแบบคัลท์ กับพวกหัวรุนแรงชาตินิยมที่ดูมีความชอบธรรมมากกว่าเท่านั้นหรือ

"เมื่อความโฉ่งฉ่างของชาตินิยมอเมริกันแสดงออกมาให้เห็นกระจ่างแจ้งขนาดนี้ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจ้องมองพวกคลั่งศาสนาด้วยสายตาแบบคนเหนือกว่าอย่างยิ้มเย้ย สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครเลยที่ลอยตัวไร้ความผิดบาป" สมิทธ์สรุปในบทความ

เรียบเรียงจาก

‘Far Cry 5’ tries to avoid politics, but still dives headfirst into the heart of American fascism, Jack Smith IV, Mic, Mar. 28, 2018

'Far Cry 5' can't ignore the real darkness lurking in rural America, Lief Johnson, Mic, Jun. 2, 2017

THE EERIE POP CULTURE APPEAL OF CULTS, Andi Zeisler, Bitchmedia, Feb. 26, 2018 26-02-2016

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Farcry.wikia/ Farcry 5

Farcry.wikia/Pagan Min

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.