Posted: 26 Mar 2018 01:52 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
รังสิมันต์ โรม
หลายคนคงทราบกันบ้างแล้วว่าข้อเสนอของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้น มีทั้งหมดด้วยกัน 3 ข้อ นั้นคือ
1. เลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนปีนี้
2. ยุบ คสช. ให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเพียงแค่เป็นรัฐบาลรักษาการ ที่ทำหน้าที่หลักๆคือการจัดการเลือกตั้ง
3. กองทัพต้องยกเลิกสนับสนุน คสช. เพื่อสร้างบรรยากาศการเลือกตั้ง
จากทั้งหมด 3 ข้อนี้ ผมขออธิบายทีละข้อเพื่อให้เกิดความกระจ่างว่าทำไมเราจึงเสนอเช่นนี้ อะไรคือฐานความคิดสนับสนุนถึงข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งต้องย้ำไว้ตรงนี้ว่า ทั้ง 3 ข้อที่เสนอไม่ใช่ข้อเสนอลอยๆที่ปราศจากหลักการรองรับ
1. เลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน
ข้อนี้ง่ายมาก เนื่องจากเป็นการทวงสัญญาที่ คสช. ให้ไว้ คสช. ได้สัญญาเอาไว้ในหลายครั้งหลายคราไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายนอย่างแน่นอน ครั้งสำคัญที่เชื่อว่าหลายคนคงจำได้แน่ๆว่า คสช. เคยสัญญาเอาไว้ คือ เมื่อไปเยือนทำเนียบขาว ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง คสช. พูดออกมาเองว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้
.
หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่า กับแค่ คสช. เลื่อนออกไปอีก 3 เดือนเป็นเดือนกุมภาพันธ์จะไปมีปัญหาอะไร แค่ 90 วันเท่านั้นเอง คงต้องเรียนอย่างนี้ว่า ปัญหามันไม่ใช่ คสช. จะเลื่อนการเลือกตั้งไปเมื่อไหร่ ปัญหาคือ ขนาด คสช. สัญญาอย่างจริงจังว่าการเลือกตั้งจะมีแน่ๆในเดือนพฤศจิกายน ปรากฎว่าเข้าปีใหม่มาไม่นาน ก็เป็นที่แน่ชัดว่าการเลือกตั้งกลับไม่มี ถูกเลื่อนออกไป โดยกลุ่มคนที่เป็นเพียงลูกกระจ๊อกของ คสช. อย่าง สนช. (ใครมาบอกว่า คสช. ไม่รู้เรื่อง คุณต้อง Innocent เอามากๆ)ดังนั้นอะไรคือหลักประกันว่าการเลือกตั้งจะไม่ถูกเลื่อนอีก กลุ่มคนที่ออกมาทวงถามการเลือกตั้งจาก คสช. จึงเป็นกลุ่มคนที่หมดความอดทนกับการเลื่อนออกไปอย่างไร้เหตุผล พวกเราไม่เชื่ออีกแล้วว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นหากผ่านพ้นเดือนพฤศจิกายน ถ้า คสช. สามารถใช้เหตุผลกระจอกๆ เช่นนี้ในการเลื่อนการเลือกตั้งไปได้ อีกหน่อยเราคงได้เห็นเหตุผลประเภท ประชาชนยังไม่พร้อม ยังต้องรับการศึกษาอีกมากถึงจะเลือกตั้งได้มาใช้เป็นข้ออ้างในการเลื่อนเป็นแน่
2. ยุบ คสช. ให้รัฐบาลประยุทธ์เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการที่ทำหน้าที่หลักๆในการจัดการเลือกตั้ง
(ผมขอไม่ลงรายละเอียดตรงนี้ว่ารัฐบาลรักษาการมีหน้าที่อะไรบ้าง แต่หากใครสนใจสามารถไปดูได้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 169) คอนเซปของข้อเสนอนี้เป็นเรื่องของการที่หากรัฐบาลประยุทธมีความจริงใจที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งจริงๆ สิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องทำคือ การยุบ คสช. เพราะ การดำรงอยู่ของ คสช. คือ การคงไว้ซึ่งสถานการณ์พิเศษ ถามว่าในสถานการณ์บ้านเมืองนี้มีอะไรที่เราจำเป็นต้องมีคณะรัฐประหารนี้เอาไว้ ผมคิดว่าเวลาเกือบๆ 4 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าบ้านนี้เมืองนี้สงบราบคาบดีแล้ว ความจำเป็นในการมี คสช. จึงไม่มีอีกต่อไป (หากจะมีความจำเป็นใดๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ในเรื่องของเงินเดือนหรือเปล่า?) ดังนั้น เพื่อให้ระบบการเมืองเปิด ประชาชนได้ถกเถียงอย่างเสรี พรรคการเมืองสามารถเสนอนโยบายต่างๆได้ ไม่ต้องมาแอ๊บเป็นความเห็นส่วนตัว ดังนั้นถ้า คสช. มีความจริงใจต่อประเทศชาติ ก็ต้องยุบ คสช. เสีย ผมขอย้ำอีกครั้งว่า การเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัว ที่มี คสช. ถือปืนควบคุมการเลือกตั้งจะเป็นการทำให้ประเทศชาติบอบช้ำไปมากกว่านี้ และความขัดแย้ง ความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุก็มาจาก คสช. นั่นแหละ
ถามว่า แล้วจะไปจุดนั้นได้ยังไง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ให้ คสช. อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตาม ม.265 เรื่องนี้สามารถทำได้ 2 วิธี คือ หนึ่ง คสช. แสดงสปิริตเลยครับ ลาออกยกชุด ซึ่งเมื่อลาออกแล้ว คสช. จะแต่งตั้งใครไม่ได้อีก เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดเอาไว้ว่าให้เฉพาะชุดที่มีมาก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น สอง คือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งวิธีการนี้ก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพราะลูกกระจ๊อก คสช. สามารถจัดให้ตามใบสั่งอยู่แล้ว
3. กองทัพต้องเลิกสนับสนุน คสช.
ถึงแม้หลายครั้งผมจะกล่าวโจมตีกองทัพหลายครั้ง แต่ก็คงต้องเรียนตามตรงว่าที่กล่าวไปนั้นก็เพราะหวังให้กองทัพทำหน้าที่ตนเองเสียที ให้สมกับเป็นลูกหลานคนไทยที่พึงทำหน้าที่ปกป้อง ไม่ใช่ปกครอง ดังนั้นหาก กองทัพตระหนักถึงการที่คนไม่กี่คนใช้สถาบันของกองทัพในการแสวงหาผลประโยชน์ ก็พึงหยุดการสนับสนุนนั้น และออกไปจากการเมืองเสีย ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น คสช. ก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะกองทัพนั้นเปรียบเหมือนกองหนุนกองสุดท้ายของ คสช. ที่ยังมีอยู่ ก็ได้แต่หวังว่า กองทัพจะตัดสินใจถูกต้องเสียที
สุดท้ายนี้ ข้อเสนอของคนอยากเลือกตั้ง ก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ สิ่งที่เราเสนอล้วนเกี่ยวพันกับชาวไทยทุกคน อย่าบิดเบือน หรือใส่ร้ายข้อเสนอของคนอยากเลือกตั้งไปมากกว่านี้เลย อย่างน้อยๆ ให้เห็นถึงอนาคตของคนรุ่นใหม่ ที่เขาไม่ใช้สิทธินี้มานมนานแล้ว
เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Rangsiman Rome
[full-post]
แสดงความคิดเห็น