แฟ้มภาพประชาไท
Posted: 25 Mar 2018 11:56 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
อดีต กกต. สัมชัย ระบุการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ชี้มีช่องที่จะทำให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ ด้านวีระ สมความคิด เผย คสช. อยากสืบทอดอำนาจ อยากอยู่นาน และอยากเอาเปรียบการเลือกตั้ง ขณะที่ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ย้ำยุคนี้คือ ยุคศาสตราธิปไตย อำนาจมาจากปลายกระบอกปืน
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2561 สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุถึงคำทำนายลำดับที่ 7 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีคำทายในฐานะ กกต. ไปแล้ว 6 เรื่องเป็นจริงตามที่ทำนายทั้งหมด 5 เรื่อง โดยเรื่องที่ 6 คือการคาดการณ์ว่าก็ยื่นส่ง พ.ร.ป. การได้มาซึ่ง ส.ว. อาจจะส่งผลให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกำหนด(ก.พ. 2562) หรืออาจจะช้าออกไปได้มากที่สุด 6 เดือน
โดย สมชัย เปิดเผยคำทำนายที่ 7 ว่า หลังจากนี้อาเกิดปัญหาการตีความรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตราที่ 268 ซึ่งกำหนดให้หลังจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งประกาศใช้ครบแล้ว อันได้แก่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง , พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประกาศใช้แล้วทั้งสองฉบับ) , พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. (วาระกระบวนการพิจารณาโดย สนช.) เมื่อกฎหมายทั้งหมดมีผลบังคับใช้ให้มีการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภาย 150 วัน
มาตรา 102 และ มาตรา 103 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้รัฐบาลเป็นผู้ประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส่วน กกต.เป็นคนกำหนดวันเลือกตั้งภายในกรอบเวลา 45 วัน หรือ 60 วัน โดย กกต.ต้องดำเนินการประกาศวันเลือกตั้งภายใน 5 วันหลังจากรัฐบาลประกาศกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง
ข้อ 8 ของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 กำหนดให้ ครม. หารือ กกต. กรธ. ประธานสนช. และอาจเชิญพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเข้ารือกัน เพื่อให้มีข้อสรุปแจ้ง คสช.ให้แก้ไข คำสั่ง คสช.ทั้งหลายที่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง และ กำหนดแผนขั้นตอนไปสู่การเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
สมชัย ระบุว่า หากพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทำให้เห็นว่า มีประเด็นที่อาจเป็นปัญหาในอนาคตอย่างน้อยสองประการคือ 1) ใครเป็นผู้ประกาศวันเลือกตั้ง และ 2) วันเลือกตั้งควรใช้เต็มกรอบ 150 วัน หรือ จะเผื่อการประกาศผล เนื่องจากไม่ชัดเจนในคำว่า “การจัดการเลือกตั้งที่แล้วเสร็จ” คืออะไร
ใครเป็นผู้ประกาศวันเลือกตั้ง
สมชัย เชื่อว่าในทางนิตินัย ครม.และ คสช.คงยอมถอย ให้ กกต.เป็นผู้ประกาศตาม กม. เพราะรัฐธรรมนูญย่อมใหญ่กว่าคำสั่ง คสช. แต่ในทางพฤตินัย คสช.คงใช้อำนาจเพื่อให้ กกต.ประกาศตามที่ตนต้องการ โดยอาศัยฉันทามติของการประชุมปรึกษาหารือตามข้อ 8 ของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 แต่การตัดสินใจที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ วันเลือกตั้งวันใด แม้ในทางพฤตินัยมาจากความเห็นชอบร่วมทุกฝ่าย แต่ในทางนิตินัย หากเกิดความผิดพลาดจนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.จะเป็นผู้รับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
การจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน หมายถึงประกาศผลด้วยหรือไม่
สมชัยชี้ว่า ในกรณีนี้ พรรคการเมืองที่มีความพร้อมน้อยกว่า ต้องการเวลาในการเตรียมพรรคและการหาเสียง สนง.กกต.ที่ต้องการเวลาที่มากที่สุดในการเตรียมการทางธุรการ รวมทั้งเจตนาในการเลือกตั้งของ ครม. คสช. และ สนช. ย่อมเป็นแรงผลักดันให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้กรอบเวลา 150 วัน เพื่อการลงบัตรอย่างเดียว ไม่หมายรวมถึงการประกาศผลด้วย แต่หาก กกต.ต้องการความปลอดภัยในผลการตัดสินใจ กกต.อาจกำหนดวันเลือกตั้งใน เวลาประมาณ 90-100 วัน และเหลือเวลา 50-60 วันไว้เพื่อประกาศผลให้ได้ร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด
คนแพ้ ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนคนแพ้ที่แท้คือ กกต.
สมชัย ระบุว่า หากกำหนดเลือกตั้งยืดตามกรอบ 15 วันเต็ม คนชนะเลือกตั้งคงไม่ทำอะไร แต่หากเป็นแพ้เป็นผู้มีอำนาจอิทธิพล ฟ้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลบอกไม่ผิดก็แล้วไป แต่หากศาลพิจารณาว่า การเลือกตั้งให้แล้วเสร็จคือต้องรวมประกาศผล การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะเป็นโมฆะ เงินจัดการเลือกตั้งเกือบ 5,000 ล้านบาทต้องสูญเปล่า กกต.คงไม่อาจอ้างผลการปรึกษาหารือกับใครได้ เพราะการตัดสินประกาศวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญ ทางอาญา คือ การตัดสินใจโดยประมาท ปราศจากความรอบคอบ ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย ทางแพ่ง คือ ค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง เกือบ ๕,๐๐๐ ล้านที่ กกต. 4 หรือ 7 คนที่ร่วมกันชดใช้
ด้าน วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาสาธารณะ เรื่อง มาตรา 44 เพื่อชาติ หรือเพื่อใคร เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ถึงกรณีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลด สมชัย ศรีสุทธิยากร ออกจากตำแหน่ง กกต. โดยระบุว่า การกระทำดังกล่าว คสช. มีเจตนาว่าต้องการสืบทอดอำนาจ อยากจะอยู่ยาว แล้วต้องการออกเปรียบการเลือกตั้ง เมื่อได้ยินใครที่พูดจาไม่เข้าหู หรือขัดขวางการเข้ามาสืบทอดอำนาจก็ดำเนินการจัดการทั้งหมด และการปลดสมชัยเอง ก็ถือเป็นภาพสะท้อนว่า คสช. กำลังก้าวก่ายการทำงานของ องค์กรอิสระ
“อยากสืบทอดอำนาจ อยากอยู่นานๆ ก็ลงเลือกตั้ง ไม่มีใครว่า มันเป็นสิทธิของคุณ แต่คุณต้องมาตามกรอบกติกา” วีระ กล่าว
ด้าน พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวในงานเสวนาเดียวกันว่า การใช้มาตรา 44 ของ คสช. มี 2 ครั้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง คือการขยายบท เฉพาะกาลใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และการปลดสมชัยออกจาก กกต. ทำให้สงสัยว่าการใช้มาตรา 44 ด้วยเหตุผลอะไรกันแน่ คิดว่าครั้งนี้เป็นการใช้อำนาจและอารมณ์นำเหตุผลที่แท้จริง ผู้มีอำนาจต้องการเสียงแห่งความเงียบ เสียงแห่งความเชื่อฟัง กลบความเห็นที่ไม่เห็นด้วย สะท้อนการแสดงอำนาจที่ขาดความยั้งคิด เป็นอำนาจของระบอบศาสตราธิปไตย เป็นระบอบที่อำนาจมาจากกำลังอาวุธ มาตรา 44 เป็นผลพวงการสถาปนาของผู้กุมอาวุธเอง จากกรณีนี้อาจทำให้องค์กรอื่นทำงานภายใต้ความกดดัน ไม่กล้าตัดสินใจประเด็นที่กระทบผู้มีอำนาจ ถ้ายังหวาดระแวงเช่นนี้อยู่ จะกลายเป็นความล่มสลายของการตรวจสอบ ประชาชนจะเสื่อมศรัทธา จะมีผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย อำนาจตามมาตรา 44 ไม่ถูกต้องในระบอบประชาธิปไตย ถ้าจะนำพาประเทศไปสู่การเป็นประชาธิปไตย ต้องลดการใช้อำนาจมาตรา 44 โดยใช้กลไกปกติ
แสดงความคิดเห็น