Posted: 23 Mar 2018 09:46 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
วาด รวี
หนึ่ง ข้อโต้แย้งข้ามศตวรรษ
จากข้อถกเถียงเรื่องรัชกาลที่ 4 เผาเจ้าจอมทับทิมและพระปลัดทั้งเป็น ที่แอนนา เลียวโนเวนส์บันทึกไว้ในหนังสือ นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน ก่อให้เกิดข้อโต้แย้งมากมายจากฝ่ายราชสำนักและผู้สนับสนุน หนึ่งในข้อโต้แย้งที่ถูกยกขึ้นมาอ้างโดยนักวิชาการ เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ เอ บี กริสโวลด์ ในอดีต มาจนถึง อัลเฟร็ด แฮบเบ็กเกอร์ ผู้เขียน Masked ในปัจจุบัน ก็คือ มีบันทึกไว้ว่า เคยมีคนลักพาเจ้าจอมของรัชกาลที่ 4 และถูกลงโทษเพียงปรับเงิน 6 ดอลล่า (1 ชั่ง) เท่านั้น
ต้นกำเนิดของข้อโต้แย้งนี้มีแหล่งที่มาจากปาฐกถาของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชที่สยามสมาคม ตั้งแต่ปี 1949 (พ.ศ. 2492) เมื่อเสนีย์กล่าววิจารณ์โต้แย้งแอนนา เลียวโนเวนส์ และมาร์กาเร็ต แลนดอน เขาอ้างถึงจดหมายที่คิงมงกุฎเขียนถึงจมื่นสรรเพธภักดี อุปทูตที่ไปเยือนลอนดอน ว่า มีผู้ลักพา “นางสนม” ไปจากเรือพระที่นั่ง “แทนที่ชายเจ้าชู้คนนั้นจะถูกนำไปเผาไฟทั้งเป็น ได้ถูกศาลปรับเป็นเงินเพียง 1 ชั่ง”
เอกสารแปลของพี่น้องปราโมช หนังสือ A King of Siam Speaks
จัดพิมพ์โดย The Siam Society ปี 1987
คึกฤทธิ์และเสนีย์ ปราโมช แปล พระราชหัตถเลขาฯ ดังกล่าวข้างต้นไว้ในเล่มนี้ในชื่อ
Letter to Phaya Montri Suriwongse, the King's Ambassador to the
Court of Queen Victoria, and Chao Mun Sarapethbhakdi, Vice-Ambassador. 1857
(สองย่อหน้าสุดท้ายที่นำมาเปรียบเทียบอยู่หน้า 215)
ส่วนนี้ของปาฐกถาซึ่งพูดเป็นภาษาอังกฤษเขาได้แปลกลับเป็นไทยด้วยตัวเองเป็นบทความในชื่อ “คิงมงกุฎในฐานะทรงเป็นนักนิติศาสตร์” มีข้อความดังนี้
...ในลายพระราชหัตถเลขาถึงจมื่นสรรพเพธภักดี อุปทูต ณ กรุงลอนดอน ท่านจะได้อ่านพบข้อความตอนหนึ่ง ซึ่งเป็นการปฏิรูปเรื่องราวในตอนสำคัญนี้เสียทั้งหมด จนไม่มีอะไรดีเหลือ ปรากฏข้อความในลายพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ว่า เมื่อมีผู้ลักพานางสนมไปจากเรือพระที่นั่ง เมื่อจับได้นำไปพิจารณาเป็นสัตย์ แทนที่ชายเจ้าชู้คนนั้นจะถูกนำไปเผาไฟทั้งเป็น ได้ถูกศาลปรับเป็นเงินเพียง 1 ชั่ง คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน เป็นเงินอังกฤษสัก 1 ปอนด์ 10 ชิลลิง หรือเท่ากับเงินเพียง 6 เหรียญดอลล่าร์อเมริกันเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นราคาถูกมากสำหรับการลักพาผู้หญิงของพระเจ้าแผ่นดิน ข้อความในลายพระราชหัตถเลขานี้มีกล่าวไว้ในตอนท้ายว่า
“ส่วนเรื่องที่เมียเจ้าเป็นชู้กับพระอินทรทิตย์นั้น ข้าได้มอบเรื่องให้ตระลาการพิพากษาชี้ขาดเสร็จไปแล้ว ศาลได้ปรับชายชู้เป็นเงินถึง 28 ชั่ง เงินจำนวนนี้ ข้าจะไม่คิดเอาเป็นพินัยหลวง แต่จะให้เป็นสินไหมแก่เจ้า เพราะข้าได้ส่งเจ้าไปไกลบ้าน”
ความที่ข้าพเจ้าจะอ่านต่อไปนี้ ไม่แต่จะเป็นข้อปลอบประโลมน้ำใจอุปทูตในกรุงลอนดอนเท่านั้น ยังเป็นหลักฐานปฏิรูปเรื่องราวในภาพยนตร์ชิ้นเอกที่กล่าวแล้วนั้นด้วย
“ข้าขอบอกให้เจ้ารู้ไว้ด้วยว่า เมื่อนางสนมของข้าเองถูกผู้ชายฉุดเอาไปจากเรือพระที่นั่ง ศาลเขาปรับเป็นเงินเพียงชั่งเดียวเท่านั้น”
เสนีย์ระบุตั้งแต่บรรทัดแรกของบทความว่า หนังสือเรื่อง “คิงมงกุฎในฐานะที่ทรงเป็นนักนิติศาสตร์” นี้ แปลจากปาฐกถา ซึ่งข้าพเจ้าได้แสดงเป็นภาษาอังกฤษที่สยามสมาคม เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2492 และมีหมายเหตุว่าหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ได้อัดเทปไว้และขอให้เขาแปลเป็นไทย เข้าใจว่าบทความแปลชิ้นนี้น่าจะได้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวในเวลาหลังจากปาฐกถาไม่นาน อย่างไรก็ตาม ต้นร่างของบทความนี้ซึ่งเป็นปาฐกถาภาษาอังกฤษได้รับการตีพิมพ์อยู่ในวารสารของสยามสมาคมปีถัดมา
สอง กฎหมายสมัยนั้นกำหนดโทษการเป็นชู้ไว้แค่ถูกปรับจริงหรือ?
กฎหมายที่ใช้อยู่ในช่วงแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ คือกฎหมายที่มาจากการรวบรวมกฎหมายเก่าและพระราชกำหนดใหม่ ปี 1804 (พ.ศ. 2347) สมัยรัชกาลที่ 1 กฎหมายชุดดังกล่าวนี้ได้เขียนใส่สมุดและแยกเก็บไว้ 3 แห่ง คือ ที่ห้องเครื่อง, หอหลวง และศาลาหลวงสำหรับลูกขุน ประทับตราพระราชสีห์, พระคชสีห์ และบัวแก้ว “ประมวลกฎหมาย สมัยรัชกาลที่ 1” นี้จึงเรียกกันในเวลาต่อมาว่า “กฎหมายตราสามดวง”
แม้ว่าสมัยรัชกาลที่ 4 จะถือว่าเป็นสมัยแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ที่กษัตริย์เริ่มใช้อำนาจในการบัญญัติกฎหมาย แต่กฎหมายตราสามดวงก็ยังคงเป็นกฎหมายหลัก และใช้มาจนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนแปลงที่ ร. แลงกาต์เรียกว่า “สมัยประมวลกฎหมาย” คือตั้งแต่ปี 1891 (พ.ศ. 2434) ในรัชกาลที่ 5
กฎหมายของสยามนั้นอ้างอิง “พระธรรมศาสตร์” ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกฎหมายมอญและพม่าและมีเค้ามูลจากกฎหมายฮินดู กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้แยกขาดระหว่างหลักกฎหมายกับศาสนา แต่ถือว่า “กฎหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมะ” กฎหมายมอญพม่าและไทยมีบทลงโทษที่รุนแรงมาก และมีลักษณะของการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมทั้งในเรื่องชนชั้น เช่น บุคคลชั้นเดียวกันทำร้ายร่างกายกันจะมีโทษปรับ แต่ถ้าบุคคลชั้นต่ำกระทำต่อบุคคลที่มีศักดิ์สูงกว่า จะมีการลงโทษทางร่างกาย เป็นต้น กฎหมายเหล่านี้ยังมีลักษณะไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ในความเห็นของแลงกาต์ กฎหมายไทย “ถือว่าภริยาเป็นเสมือนทรัพย์ที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของสามี”
กฎหมายตราสามดวงของไทยที่อ้างอิงพระธรรมศาสตร์นี้ ในแง่ของระเบียบมูลคดี หากมองจากสายตาของกฎหมายสมัยใหม่กล่าวได้ว่า “เป็นการจัดเอาตามใจชอบเสียมากกว่าการจัดโดยอาศัยหลักเกณฑ์” และกฎมณเฑียรบาลก็เป็นหนึ่งในบัญญัติที่มีลักษณะ “พิเศษ” ไม่สามารถจัดอยู่ในมูลคดีใดมูลคดีหนึ่ง
แม้ว่ากฎหมายไทยจะมีลักษณะที่ก้าวหน้า คือมีบัญญัติให้รัฐเข้าแทรกแซงข้อพิพาทเพื่อรักษาความสงบ แต่กฎหมายไทยก็ยังมีข้อยกเว้นให้ใช้ “สิทธิแก้แค้น” หรือตาลิโอ (Lex talionis) ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตอบแทนแบบโบราณได้ในบางกรณี และเรื่องชายชู้ก็เป็นหนึ่งในข้อยกเว้นซึ่งกลับไปสู่แนวคิดโบราณ “อย่างน่าพิศวง” ในความเห็นของแลงกาต์
แต่ในเรื่องชายชู้นี้ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยแสดงตัวอย่างแห่งการกลับสู่แนวคิดในครั้งเก่าแก่โบราณอย่างน่าพิศวงอยู่ คือ ในปีแรกแห่งรัชชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ฯ มีพระราชกำหนดฉะบับหนึ่งซึ่งกลับมารื้อฟื้นสิทธิแก้แค้นของสามีขึ้นอย่างแบบเก่า บทบัญญัติในพระราชกำหนดฉะบับนี้มีว่า ให้ตระลาการส่งตัวชายชู้และหญิงภริยาซึ่งได้ความว่าทำชู้กันนั้น ให้แก่สามีเพื่อสามีจะได้ฆ่าบุคคลทั้งสองนี้เสียด้วยมือของตนเอง ในเมื่อสามีพิเคราะห์เห็นว่าเป็นการควร, กฎหมายห้ามแต่เพียงมิให้สามีทรมานหญิงและชายนี้ และให้ตระลาการอยู่ด้วยในขณะที่สามีจะทำการประหารชีวิต, ตามกฎหมายฉะบับนี้จะมีการเรียกเงินปรับได้ก็ต่อเมื่อสามีได้สละสิทธิไม่ทำการประหารชีวิตชายชู้และภริยา ตามที่กล่าวนี้จะเห็นได้ชัดว่าการที่กฎหมายยอมให้สามีฆ่าชายชู้และภริยาเช่นนั้นเป็นการใช้สิทธิแก้แค้นโดยตรง
ใน “พระไอยการลักษณะผัวเมีย” เมื่อสามีจับได้ขณะที่กำลังมีการทำชู้กันอยู่ แลงกาต์กล่าวโดยสรุปให้ฟังว่า ถ้าจะฆ่าชายชู้ตนจะต้องฆ่าภริยาเสียด้วย หรืออย่างน้อยก็ต้องแสดงให้เห็นว่าตนตั้งใจที่จะฆ่าภริยา แต่ในกรณีที่สามีฆ่าชายชู้คนเดียว กฎหมายบัญญัติแต่เพียงว่าให้เอาภริยาเป็นคนหลวง ซึ่งส่อให้เห็นว่าสามีย่อมไม่มีโทษ ถ้าสามีฆ่าแต่ภริยาคนเดียว ตนจะต้องถูกปรับไหมตามศักดิ์เป็นพินัยหลวง (ผัวเมีย 8, 9 และ 11) ประการที่สุด ถ้าสามีจับภริยาและชายชู้ได้แล้วมิได้ฆ่าในทันที กฎหมายจะให้ตนได้รับเพียงเงินปรับตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยแม้ตนจะเห็นว่าเงินจำนวนนั้นไม่พอเพียงก็ตามที ทั้งนี้ก็เพราะในกรณีเช่นนี้ควรถือว่าตนได้สละสิทธิแก้แค้นโดยเด็ดขาดแล้ว (ผัวเมีย 13)
จะเห็นว่ากฎหมายกำหนดให้ทางเลือกกับสามีว่าจะ “ฆ่า” หรือไม่ก็ได้ แต่ในกรณีที่ฆ่า จะต้องฆ่าผู้หญิงด้วย ถ้าฆ่าแต่ผู้ชายผู้หญิงก็จะถูกริบเป็นคนหลวง ส่วนในกรณีไม่ฆ่าก็จะมีการปรับชายชู้ ส่วน “หญิงร้าย” จะต้องถูกประจาน “ให้เอาเฉลวปะหน้า ทัดดอกฉบาแดงสองหู ร้อยดอกฉะบาเปนมาไลยใส่ศีศะ คอ ให้นายฉะมองตีฆ้องนำหน้าประจานสามวัน” และถ้า “ผัวมันยังรักเมียมัน” ไม่ให้ประจาน ก็ให้เอาสินไหมเข้าพระคลังหลวง ถ้าหญิงคนนั้นยังทำชู้อีกในครั้งที่ 2 ก็ให้ “โกนศีศะเปนตะแลงแกง เอาขึ้นขาหย่างประจาน แล้วให้ทเวนรอบตลาดแล้วให้ทวนด้วยลวดหนัง 20 ที” ถ้าผัวไม่ให้ลงโทษอีกก็เอาสินไหมเข้าพระคลัง แต่ถ้ายังทำชู้อีกเป็นครั้งที่ 3 คราวนี้ไม่ต้องปรับชายชู้ แต่ให้ลงโทษหญิงเหมือนเดิมและสักรูปชายหญิงไว้ที่แก้ม ถ้าผัวไม่ให้ลงโทษก็สักทั้งผัวทั้งเมีย
ในขณะที่กฎหมายอนุญาตให้ฆ่าหญิงหรือไม่ก็ได้และหญิงจะต้องถูกประจานในกรณีที่ไม่ฆ่า กฎหมายกำหนดโทษการข่มขืนไว้เพียงการปรับเท่านั้น โดยมีอัตราโทษที่แตกต่างกันไป ถ้าเป็นหญิงมีสามีก็เสียสินไหมให้สามี ถ้ายังไม่สมรสก็เสียสินไหมให้บิดามารดาหรือผู้ปกครอง ในกรณีที่เป็นหญิงมีสามีจะเสียค่าปรับผิดเมีย “ทวีคูณ” ในกรณีเป็นหญิงยังไม่ได้สมรส หากชายที่เป็นผู้ข่มขืนมีภริยาแล้วก็จะเสียเงินปรับครึ่งเดียวของเงินปรับฐานชายชู้ ถ้าเป็นชายโสดก็จะเสียเงินปรับเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น การข่มขืนมีโทษปรับน้อยกว่าการเป็นชู้!
สาม พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 4 เขียนไว้อย่างที่เสนีย์ ปราโมชอ้างจริงหรือ?
ในบรรดาจดหมายทั้งหมดของคิงมงกุฎที่ตีพิมพ์ออกมาแล้วเท่าที่มีการตรวจสอบรวบรวมในโอกาสครบรอบราชสมภพครบ 200 ปี เมื่อปี 2004 (พ.ศ. 2547) มีจดหมายถึงเจ้าหมื่นสรรเพธภักดีทั้งหมด 12 ฉบับ ไม่มีฉบับใดมีข้อความตรงกับข้อความของเสนีย์ที่ผมขีดเส้นใต้เอาไว้ โดยเฉพาะส่วนสุดท้าย มีเพียงฉบับเดียวที่มีข้อความพาดพิงคือ “ฉบับที่ 33” ในการจัดพิมพ์ชุดที่ 5 - พระราชหัตถเลขาถึงพระยามนตรีสุริยวงศแลเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ปีมะเมีย พ.ศ. 2401
พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 33 ถึงพระยามนตรีสุริยวงศ แลเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ปีมะเมีย
พ.ศ. 2401 จากหนังสือรวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรื่อง พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ 200 ปี วันที่ 18 ตุลาคม พุทธศักราช 2547 โดยคณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึก
นี่คือข้อความต้นฉบับของรัชกาลที่ 4
พระอินทราทิตย์ เผือก ทำชู้กับภรรยาสรรเพธภักดีนั้น ข้าพเจ้าได้ให้ลูกขุนเขาปรึกษา เขาว่าเป็นเงิน 28 ชั่งเศษทั้งสินไหมพินัย แลว่าพินัยก็เป็นหลวงไม่ได้ ด้วยข้าพเจ้าใช้สรรเพธไปไกลต้องให้แก่สรรเพธคนเดียว พินัยหลวงมีเรื่องที่ละเมิดลักคนในเรือข้างในไปจากเรือหลวงนั้น เป็นเงินชั่งเศษ ฯ
จดหมายมาวัน 6 ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 7 ปีเมีย สัมฤทธิศก
ข้อความที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีเพียงเท่านี้ ตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วก็มีเพียงเท่านี้
ปัญหาคือ นี่คือจดหมายฉบับเดียวกันกับที่เสนีย์อ้างหรือไม่? หรือว่าเสนีย์จะอ้างจากจดหมายฉบับอื่นที่ยังไม่เคยตีพิมพ์?? ปัญหานี้คลี่คลายได้โดยง่ายด้วยการตรวจสอบเอกสารแปลของพี่น้องปราโมชที่ส่งให้มอฟแฟ็ทและกริสโวลด์ ซึ่งสยามสมาคมพิมพ์เป็นหนังสือ ในปี 1987 ห่างจากเวลาที่เสนีย์ปาฐกถาถึง 38 ปี!!
ใน A King of Siam Speaks ที่แปลโดยพี่น้องปราโมช มีจดหมายถึงเจ้าหมื่นสรรเพธภักดีทั้งหมดเพียง 2 ฉบับ คือ “Letter to Chao Mun Sarapethbhakdi, Vice-Ambassador to the Court of Queen Victoria” (หน้า 209) และ “Letter to Phya Montri Suriwongse, the King’s Ambassador to the Court of Queen Victoria, and Chao Mun Sarapethbhakdi, Vice-Ambassador” (หน้า 211) ฉบับแรก มีข้อความตรงกับ พระราชหัตถเลขาจัดพิมพ์ชุดที่ 5 ฉบับที่ 29 ถึงเจ้าหมื่นสรรเพธภักดีทุกประการ และไม่มีข้อความใดพาดพึงถึงเรื่องดังกล่าว จดหมายที่เสนีย์ยกมาคือจดหมายฉบับที่ 2 ซึ่งมีข้อความตรงกันกับพระราชหัตถเลขาจัดพิมพ์ชุดที่ 5 “ฉบับที่ 33” ตั้งแต่เริ่มต้นว่า “To Phya Montri Suriwongse and Chao Mun Sarapethbhakdi, Your personal letters to me and your official despatches dated Monday the twelfth of the waning Moon of the second month, written in London after your return from Sheffield and Liverpool, have been recieived by me….” (ข้อความในพระราชหัตถเลขา ฉบับ 33: จดหมายมายัง พระยามนตรีสุริยวงศ์ราชทูต เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี อุปทูต ให้ทราบ ว่าหนังสือใบบอกจำพวกที่ลงวัน 2 แรม 12 ค่ำ เดือน 2 เขียนที่กรุงลอนดอนเมื่อกลับจากเมืองเชบฟิล แลเมืองลิเวอปุล แล้วนั้นพึ่งได้มาถึงมือข้าพเจ้า...) ข้อความต้องตรงกันตลอดเอกสารจนถึง 2 ย่อหน้าสุดท้าย ซึ่งมีข้อความดังนี้
As regards the case of Phra Indradit who committed adultery with your wife, Sarapeth, I have ordered the judges to hold a trial. They have decided on fines and compensations amounting to over 28 catis of money. The fines are not to be paid to the Government, but are to be paid to you as well, since I have sent you far away from home. I should like to bring to your notice the fact that the amount of fines decided by the Law Court in the case of abduction of one of the King’s women from a royal boat, was a little more than one cati (US$ 4.00) of money only.
Letter written Friday the ninth of the waxing moon of the seventh month, in the year of the Horse.
หมายเหตุไว้สำหรับผู้ที่อาจสงสัย การนับวันของไทยแต่ก่อนนั้นนับวันอาทิตย์คือวัน 1 จันทร์ 2 ไล่ไปจนครบ 7 ดังนั้น วัน 6 ก็คือวันศุกร์ (ไม่ใช่วันเสาร์)
หากนำข้อความที่พี่น้องปราโมชแปลไว้ใน A King of Siam Speaks มาเปรียบกับต้นฉบับจะเห็นจุดที่บิดเบือนก็คือ เสนีย์แปลประโยค “พินัยหลวงมีเรื่องที่ละเมิดลักคนในเรือข้างในไปจากเรือหลวงนั้น เป็นเงินชั่งเศษ ฯ” เป็น “I should like to bring to your notice the fact that the amount of fines decided by the Law Court in the case of abduction of one of the King’s women from a royal boat, was a little more than one cati (US$ 4.00) of money only.”
คือนอกจากเสนีย์จะเติม “I should like to bring to your notice the fact that…only” เข้ามาแล้ว เขายังแปลคำว่า “คนในเรือข้างใน” ว่า “the King’s women”
ลำพังเพียงความผิดเพี้ยนในการแปลชั้นนี้ก็ถือว่ามีนัยสำคัญมากแล้ว แต่เมื่อผ่านกระบวนการเล่นแร่แปรธาตุอันซับซ้อนของการ- แปลพระราชหัตถเลขา > เป็นภาษาอังกฤษ > นำภาษาอังกฤษที่แปลไปพูดเป็นสปีช > และแปลสปีชที่ตัวเอง “พูดภาษาอังกฤษ” กลับเป็น “ตัวหนังสือภาษาไทย” อีกครั้ง (แทนที่จะยกข้อความในพระราชหัตถเลขาที่เป็นภาษาไทยอยู่แล้วมาตรง ๆ เหมือนประกาศฉบับอื่นที่ยกมา) สิ่งที่ เสนีย์ ปราโมช ทำก็คือ การแปล(ง) :
พระอินทราทิตย์ เผือก ทำชู้กับภรรยาสรรเพธภักดีนั้น ข้าพเจ้าได้ให้ลูกขุนเขาปรึกษา เขาว่าเป็นเงิน 28 ชั่งเศษทั้งสินไหมพินัย แลว่าพินัยก็เป็นหลวงไม่ได้ ด้วยข้าพเจ้าใช้สรรเพธไปไกลต้องให้แก่สรรเพธคนเดียว พินัยหลวงมีเรื่องที่ละเมิดลักคนในเรือข้างในไปจากเรือหลวงนั้น เป็นเงินชั่งเศษ ฯ
เป็น
“ส่วนเรื่องที่เมียเจ้าเป็นชู้กับพระอินทรทิตย์นั้น ข้าได้มอบเรื่องให้ตระลาการพิพากษาชี้ขาดเสร็จไปแล้ว ศาลได้ปรับชายชู้เป็นเงินถึง 28 ชั่ง เงินจำนวนนี้ ข้าจะไม่คิดเอาเป็นพินัยหลวง แต่จะให้เป็นสินไหมแก่เจ้า เพราะข้าได้ส่งเจ้าไปไกลบ้าน”
[ความที่ข้าพเจ้า…แล้วนั้นด้วย]
“ข้าขอบอกให้เจ้ารู้ไว้ด้วยว่า เมื่อนางสนมของข้าเองถูกผู้ชายฉุดเอาไปจากเรือพระที่นั่ง ศาลเขาปรับเป็นเงินเพียงชั่งเดียวเท่านั้น”
สี่ เป็นชู้กับเจ้าจอมของรัชกาลที่ 4 ถูกลงโทษยังไง เคยมีคนโดนไหม?
ดังที่กล่าวไปแล้วว่ากฎหมายตราสามดวงนั้นเป็นกฎหมายที่ไม่ได้มีการวางหลักเกณฑ์อย่างเป็นระเบียบ เพียงแต่แยกลักษณะโดยกว้างและเรียงบัญญัติตามมูลคดีไปเป็นข้อ ๆ มูลคดีก็คือรายละเอียดข้อเท็จจริงของแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีลักษณะและอากัปกิริยาอย่างไร อาการของการกระทำที่ต่างกันก็มีโทษต่างกัน ชายทำกับหญิง-หญิงทำกับชายก็แตกต่างกัน สถานภาพและบรรดาศักดิ์ของผู้กระทำก็มีส่วนทำให้โทษแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอีกมาก ลำพังเพียงข้อมูลว่า “พินัยหลวงมีเรื่องที่ละเมิดลักคนในเรือข้างในไปจากเรือหลวงนั้น เป็นเงินชั่งเศษ” เท่านี้ไม่สามารถบอกอะไรได้ เพราะทราบแต่ว่า “ลักคนในเรือข้างใน” เรือข้างในอาจจะเป็นเรือใครก็ได้ ฝ่ายในมีคนอยู่เป็นร้อยเป็นพัน นอกจากเจ้าจอมหม่อมห้ามแล้ว ก็ยังมีเจ้าหญิงที่เป็นลูกของกษัตริย์ก่อน ๆ เจ้าจอมนางในท้าวนางของกษัตริย์ก่อน ๆ และโขลนข้าราชการนางกำนัลข้าทาสสาวใช้อีกมาก ซึ่งต่างก็ใช้ “เรือหลวง” ทั้งนั้น (แม้แต่แอนนาก็ยังใช้เรือหลวง)
ประเด็นสำคัญที่คิงมงกุฎยกมาในที่นี้ก็คือเงินส่วน “พินัยหลวง” หมายถึงเงินค่าปรับที่ต้องแบ่งให้รัฐแต่จะยกให้ “ชายเจ้าผัว” ไปพร้อมกับสินไหม (พินัยหลวง+สินไหม) มาเปรียบเทียบให้เจ้าหมื่นสรรเพธภักดีดูเท่านั้น ในกรณีของเจ้าหมื่นสรรเพธภักดีซึ่งรู้มูลคดีแต่เพียงว่า “พระอินทราทิตย์ เผือก ทำชู้กับภรรยาสรรเพธภักดี” ข้อมูลเท่านี้เราก็รู้แค่คู่คดีมีตำแหน่ง “พระ” กับ “จหมื่น” ส่วนคำว่า “ทำชู้” ก็ไม่รู้ว่าแค่ไหน ถึง “ชำเรา” หรือยังไม่ถึง คำว่า “ภรรยา” นี้ก็ไม่ทราบว่าเมียน้อยหรือเมียหลวง เป็น “เมียกลางเมือง,” “เมียกลางนอก” หรือ “เมียกลางทาษี” ซึ่งกฎหมายก็ล้วนแต่กำหนดโทษแตกต่างกันทั้งสิ้น คำว่า “ทำชู้” ที่ใช้ในกฎหมายตราสามดวงเป็นคำที่กว้าง มีแม่สื่อแม่ชักไปหากันก็เรียกว่าทำชู้ได้ ส่งเพลงยาวโคลงกลอนให้กันก็เรียกว่าทำชู้ได้ จับมือถือแขนก็เรียกว่าทำชู้ได้ แต่ละกรณีก็มีรายละเอียดโทษแตกต่างไปตามมูลคดี เราไม่ทราบว่าการ “ทำชู้” ที่เป็นเหตุให้ปรับเงิน 28 ชั่งทั้งพินัยหลวงและสินไหมนั้นคือการกระทำอะไร อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ไม่เข้าข่ายที่จะสามารถใช้สิทธิแก้แค้น ซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะของสามีที่ต้องกระทำต่อหน้า เพราะสรรเพธภักดีอยู่ต่างแดน และคนฟ้องชู้คงเป็นญาติพี่น้อง
ยูล บรินเนอร์ และดิบอราฮ์ เคอร์ แสดงเป็น ร.4 และแอนนา
ในหนัง The King and I ปี 1956
ฉากทับทิม (ลินดา ดาร์แนล) ถูกเผาในหนังสือ Anna and the King of Siam เวอร์ชั่นแรก
แต่ต้องไม่หลงเข้าใจผิดว่ามูลคดีในกฎหมายเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้ได้กับกรณีทำชู้กับพระสนม เป็นไปไม่ได้ที่คนทำชู้กับเจ้าจอมจะแค่ถูกปรับเป็นเงินชั่งเศษในขณะที่ความผิดที่เบากว่านั้นล้วนมีโทษสูงกว่านั้นทั้งสิ้น กฎหมายตราสามดวงแยกหมวดความผิดต่อกษัตริย์ออกมาอย่างชัดเจนอยู่ใน “กฎมณเฑียรบาล” โดยไม่ปะปนกับมูลคดีอื่น ๆ ในกรณีของการทำชู้ (ไม่ว่าจะระดับใด) กับพระสนมนั้น กฎหมายกำหนดไว้สั้น ๆ แต่เฉียบขาดว่า
กฎมณเฑียรบาล 120
อนึ่งผู้ใดทำชู้ด้วยชแม่พระสนมให้ฆ่าผู้นั้นเสีย 3 วันจึ่งให้ตาย ส่วนหญิงนั้นให้ฆ่าเสียด้วย
ขอกล่าวย้ำว่าคำว่า “ทำชู้” นั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องได้เสียกัน หลายที่หลายแห่งของกฎหมายผัวเมีย แสดงให้เห็นทั้งโดยตรงและโดยนัยว่า เป็นคำกว้าง ๆ ที่อาจหมายถึงการ “ผิดภรรยา” ลักษณะต่าง ๆ ก็ได้ ดังที่ปรากฏในบทเกริ่นนำก่อนจะเข้าสู่การไล่เรียงมูลคดีว่า
อันว่าลักษณผิดภรรยาท่านยังมิถึงชำเรามี 5 ประการ ประการหนึ่งชายยุดมือถือนมหยอกเมียท่าน ประการหนึ่งษามีท่านหมิอยู่ขึ้นไปหาเมียท่านถึงในเรือน ประการหนึ่ง ไปหาเมียท่านในที่ลับ ประการหนึ่งชายลักลอบพูดจาด้วยเมียท่าน ประการหนึ่งไปหาเมียท่านถึงในห้องที่นอน 5 ประการนี้ได้ชื่อว่าผิดภรรยาท่านยังมิถึงชำเรา ให้ปรับไหมโดยอันดับ
ถ้ากฎหมายต้องการระบุว่าเป็นการได้เสียกันจะใช้คำว่า “ร่วมประเวณี” (ผัวเมีย 7) ส่วนคำว่า “ถึงชำเรา” ก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน (ผัวเมีย 40, 41) แต่ถ้าใช้คำว่า “ทำชู้” นั้น จะเป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ตามลักษณะ 5 ประการนี้ หรือแม้แต่การแสดงออกซึ่งส่อไปในทางเสน่หาต่อกันนอกเหนือจากนี้ก็ได้ เช่น ส่งจดหมาย, “ให้ข้าวของกันเนือง ๆ แต่ไม่ถึงตัวกัน” หรือใช้แม่สื่อไป “พูดจาแทะโลม” ดังที่ปรากฏในพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า
เรื่องรักใคร่ระหว่างขุนสุวรรณกับเจ้าจอมช้อย
ครั้นมาถึงเดือน 7 นั้น เกิดความเรื่อง [อ้ายเขียน] ขุนสุวรรณ์ บุตรพระยาราชภักดี ให้อีกุลาปภรรยาเข้าไปพูดจาแทะโลมเจ้าจอมช้อย บุตรพระยาบำเรอภักดี มีผู้เก็บหนังสือที่เขียนถึงขุนสุวรรณ์ตกอยู่ในพระมหามณเฑียรองค์ตะวันตก ได้กราบทูลความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดให้ตระลาการชำระได้ความว่า รักใคร่ให้ข้าวของกันเนือง ๆ แต่ไม่ถึงตัวกัน ลูกขุนวางบทจึ่งให้เอาอ้ายเขียน อีกูลาปไปประหารชีวิตเสียที่วัดมักกระสัญ ณ วันจันทร์ เดือน 7 แรม 12 ค่ำ แต่ตัวอีช้อยนั้นให้ลงพระราชอาญาหกสิบแล้วสับเสี่ยงแล้วจำไว้
แล้วมีพระบรมราชโองการดำรัสให้เนรเทศพระโยคาญาณภิรัตเถร ราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดราชสิทธาราม 1 เจ้าอธิการวัดบางประทุน 1 เป็นผู้ให้น้ำมนต์อ้ายเขียน อีกูลาป ให้เนรเทศไปอยู่เมืองสงขลา
เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษมาจนถึงบัดนี้ ที่นักวิชาการไทยและตะวันตกยังอ้างอิงข้อโตแย้งของเสนีย์ ปราโมช และเอกสารแปลของพี่น้องปราโมชในการศึกษาเรื่องแอนนา โดยไม่เคยตรวจดูต้นฉบับของเอกสารชั้นต้นและกฎหมายไทยที่บังคับใช้ในเวลานั้นเลย
[full-post]
แสดงความคิดเห็น