Posted: 27 Mar 2018 12:02 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
ธัชพงศ์ แกดำ
กลุ่ม T’Challa พิทักษ์เสือดำ
“วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า ฉันเจอเสือตัวหนึ่ง มันถามฉันว่าจะไปไหน ฉันจึง…?...ปัง! ปัง! ปัง!”
เพียงแค่ชั่วข้ามคืน หลังวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ เข้าจับกุม นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด(มหาชน) พร้อมพวกรวม 4 คน เพราะเข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก พร้อมกับซากเสือดำ ไก่ฟ้าหลังเทา และเก้ง โดยเฉพาะ เสือดำ ที่ถูกกระทำอย่างเหี้ยมโหด หลังจากถูกยิงให้ตายหลายนัด แล้วยังถูกนำมาถลกหนัง และส่วนหางเสือดำก็ถูกต้มอยู่ในหม้อ
นอกเหนือจากนี้ ก็ยังมีหลักฐานอีกมากมายรัดตัวแน่นหนาจนถูกตั้งข้อหา 9 ข้อ ประกอบด้วย
1.ร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
2.ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
3.ร่วมกันพยายามล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
4.ร่วมกันมีไว้ในครอบครอง ซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
5.ร่วมกันช่วยซ่อนเร้นช่วยพากันเอาไปเสีย หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
6.ร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่า โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
7.ร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมิได้รับอนุญาต จากพนักงานเจ้าหน้าที่
8.ร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และ
9.ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควร
จนสังคมมีการตั้งคำถามถึงการเข้าไปในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ของนายเปรมชัยและพวกว่า เข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้อย่างไร?
แน่นอน! ไม่มีใครเชื่อว่า เป็นครั้งแรก ของเหตุการณ์เข้าป่าล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ที่ผ่านมาเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อสัตว์ป่าชนิดอื่นๆมากมาย แต่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปล่อยผ่านเหตุการณ์แบบนี้ไปได้อย่างไร? หรือ มีอำนาจอะไรบ้างอย่างที่ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในการดูแลปกป้องรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องกล่ำกลืนฝืนทนจนทนไม่ไหวต่อพฤติกรรมอันไร้ความเป็นมนุษย์ปรกติชนเช่นนี้
นี่คือหอกดาบอันแหลมคมที่ทิ่มแทงจิตใจคนอนุรักษ์รักษาพันธุ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงจิตใจของคนที่รักสัตว์และต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ หรือ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้
แต่ก็ยังไม่เจ็บและทิ่มแทงความรู้สึกของคนในสังคมไทยที่ทะลุไปถึงความเป็นจริงอันขื่นขม และเก็บสะสมมาอย่างยาวนาน เสมือนแรงเก็บกดที่รอวันระเบิดออกมา นั่นคือ “มาตรฐานที่ต่างกันระหว่างคนจนและคนรวย ในกระบวนการยุติธรรม” อันเป็นความเหลื่อมล้ำและปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่สะสมมายาวนานและคนในสังคมไทยรับรู้มาโดยตลอด แต่ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดออกมาได้
อันสืบเนื่องมาจาก ความไม่ไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะพฤติกรรมของเจ้าพนักงานตำรวจที่ทำให้สังคมไทยเกิดข้อกังขาต่อกระบวนการยุติธรรมว่า “ตาชั่งแห่งความยุติธรรมจะเที่ยงตรงหรือไม่? ศรัทธาได้ไหม?” เพราะด้วย อำนาจเงิน อำนาจบารมี ของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้น ยิ่งใหญ่คับฟ้า จนสังคมไทยเริ่มเห็นแววการทำงานของเจ้าพนักงานสอบสวนว่า ไม่เป็นอิสระ ถูกแทรกแซง และมีแนวโน้มสูงว่า ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจะไม่ได้รับโทษ หลุดจากคดี เกิดการยกฟ้อง หรือเต็มที่ก็ได้แค่ รอลงอาญา อันเป็นปรกติธรรมดาของคนมีอำนาจเงิน อำนาจบารมีที่มักจะหลุดพ้นจากตาชั่งแห่งความเที่ยงธรรมเสมอ ต่างจากคนจน คนต้อยต่ำกว่า หรือ สามัญชนทั่วไปก็มักจะต้องเดินเข้าคุกเข้าตะรางอยู่ร่ำไป
ความเจ็บปวดครั้งนี้ก่อให้เกิดการปะทุระเบิดออกมากลายเป็น ปรากฏการณ์ลงโทษทางสังคมต่อผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด หรือ Social Sanction ผ่านออกมาในรูปแบบกิจกรรมศิลปะต่างๆ อาทิเช่น ศิลปะกราฟฟิตี้ บทเพลง บทกวี และศิลปะภาพวาด คลิปวิดีโอหนังสั้น ละครสั้น ฯลฯ ที่เกี่ยวกับการเข่นฆ่าเสือดำและความไม่เที่ยงตรงของกระบวนการยุติธรรม
เสมือน “เสือดำคำราม” ผ่านเส้นเสียงผลงานศิลปะสะท้อนสังคม ที่เบ่งบานไปทั่วประเทศภายในชั่วระยะเวลาไม่กี่ข้ามคืน จนก่อเกิดขบวนการเคลื่อนไหวกิจกรรมในรูปแบบของการแสดงเชิงสัญลักษณ์ในหลากหลายรูปแบบและในสถานที่ต่างๆ เช่น การแจกหน้ากากเสือดำ แจกเสื้อเสือดำ การเดินสายแสดงดนตรี ละครสั้น เกี่ยวกับเสือดำ การพ่นกราฟฟิตี้บนผนังกำแพงในสถานที่ต่างๆ ของหลากหลายองค์กรทั้ง นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นักสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหว ศิลปินเพื่อชีวิต ดารา นักแสดง และนักศึกษา ปัญญาชน คนหนุ่ม-สาว และประชาชนทั่วไปทั้งประเทศ เพื่อเรียกร้องให้มีการลงโทษทางสังคมต่อผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในการเข่นฆ่าเสือดำและล่าสัตว์
คำถามที่สำคัญ คือ ทำไมประชาชนเหล่านี้จึงไม่คาดหวัง หรือ เชื่อถือศรัทธากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย แต่กลับรวมตัวแสดงพลังออกมาในพื้นที่สาธารณะเพื่อเชิญชวนให้คนในสังคมไทยลงโทษทางสังคม เช่น ไม่ร่วม ไม่สังฆกรรมต่อองค์กร หรือ เครือข่ายของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ฯลฯ
จนล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2561 นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด โพสต์เฟสบุ๊ค ชี้แจงถึงกรณีที่เคยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ คดีล่าเสือดำ ของนายเปรมชัย กรรณสูต กับพวกที่ตกเป็นผู้ต้องหา โดยตั้งคำถามว่า
คดีนี้ใครเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ? และ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เข้าไปทำอะไร? และนี่อาจเป็นจุดอ่อนในการทำคดีเปรมชัย หรือ คดีฆ่าเสือดำ เรื่องอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่อาจส่งผลให้ศาลยกฟ้อง
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างจริงจัง โดยแยกงานสอบสวน ให้มีความเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจเงิน อำนาจการเมือง อำนาจบารมีของผู้ทรงอิทธิพลต่างๆ เพื่อให้คนไทยคาดหวังเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรม
โดยสร้างหลักประกันความสุจริตและประสิทธิภาพของงานสอบสวนด้วยการแยกเป็นสายงานเฉพาะจากตำรวจ สร้างความชำนาญและประกันความเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงและสั่งการจากผู้บังคับบัญชาตามชั้นยศ
ให้พนักงานอัยการเข้ามาควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญ หรือ เมื่อมีการร้องเรียนตั้งแต่เหตุการณ์เกิดขึ้น ทั้งนี้ต้องกำหนดให้การสอบสวนกระทำในห้องที่จัดเฉพาะ มีระบบบันทึกภาพและเสียงเพื่อเป็นหลักฐานเก็บไว้ให้อัยการและศาลสามารถตรวจสอบได้ทุกเมื่อทุกครั้งที่จำเป็นต่อทุกคดี
และถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พันธุสัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า อย่างจริงจังโดยไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ คนจน คนรวย
เหตุการณ์ “เสือดำคำราม ยุติธรรมอับปาง” จะไม่ใช่แค่กระแสคลื่นขึ้นๆลงๆ แต่เมื่อถึงวันแตกหักของความสุดทนต่อกระบวนการยุติธรรมที่เอาผิดผู้เข่นฆ่าเสือดำไม่ได้เมื่อไหร่ วันนั้นการเคลื่อนไหวที่มากว่าการแสดงสัญลักษณ์ในพื้นที่จะไม่หยุดนิ่งอีกต่อไป เพราะ “เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การฆ่าเสือดำ แต่มันเป็นการฆ่ากฎหมาย”
การปฏิรูปแก้ไขกระบวนการยุติธรรมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพันธุ์สัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในระยะเฉพาะหน้านี้ เพื่อเป็นหลักประกันในอนาคตว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยอีก.
[full-post]
แสดงความคิดเห็น