Posted: 27 Jun 2018 12:14 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา สัมภาษณ์และเรียบเรียง

คุยกับสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถึงก้าวต่อไปของเขาและกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ระบุ มุ่งผลักดันประเด็นเศรษฐกิจ ในด้านการเมืองยึดตามหลัก 6 ประการคณะราษฎร สร้างประชาธิปไตย ต้านรัฐประหาร ส่วนตัวยังสนใจร่วมชุมนุมการเมือง ชี้ คสช. ยึดอำนาจครั้งดึงทุกองคาพยพมาร่วมสังฆกรรม เดิมพันสูงถึงขั้นพังทั้งระบบ

เป็นเวลาเกือบสองเดือนแล้วหลังสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ นักต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน และหนึ่งในแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่เขาถูกจองจำยาวนานถึง 7 ปี จากคดีหมิ่นประมาทพระกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร

หากทิ้งประเด็นเรื่องความเคยชินกับชีวิตประจำวันทั่วไปที่กรงขังและกาลเวลาได้พรากไปจากมือเขา จะพบว่านักกิจกรรมคนนี้ได้เริ่มใส่เกียร์เดินหน้าต่อและปรากฏตัวบนหน้าสื่ออีกครั้งอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากเมื่อ 8 มิ.ย. ที่เขาและกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ไปยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้แก้ปัญหาเรื่องปากท้องประชาชนในประเด็นราคาน้ำมันแพง ค้านการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มและเรียกร้องให้รัฐบาลลดรายจ่ายที่ไม่ส่งผลดีกับเศรษฐกิจ

สมยศยังได้ไปปรากฏตัวอีกครั้งในฐานะวิทยากรบนเวทีเสวนาเรื่องดอกผลและกิ่งก้านของการอภิวัฒน์สยาม เมื่อ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมาที่มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ การมาของเขาถูกต้อนรับด้วยเสียงปรบมือที่ยาวนาน กึกก้อง และจบลงด้วยการรับมอบดอกไม้และม้วนโปสเตอร์รูปสมยศขนาดใหญ่ เขาเล่าว่าเวทีดังกล่าวเป็นเวทีเสวนา ‘อย่างเป็นทางการ’ เวทีแรกหลังได้รับอิสรภาพ แม้สมยศเล่าว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่กำชับก่อนจะมาถึงเวทีให้เพลาๆ เรื่องการพูดถึงหมุดคณะราษฎรที่หายไปเมื่อปีที่แล้ว โดยตำรวจบอกว่ามี ‘ผู้ใหญ่’ ท่านฝากมาก็ตาม

หลังลงเวที ประชาไทมีโอกาสพูดคุยเรื่องเป้าหมายต่อไปในการเดินหน้าในประเด็นการเมืองของสมยศและกลุ่ม 24 มิถุนาฯ รวมถึงความเห็นเรื่องบทเรียนการปฏิวัติ 2475 ในมุมมองของเขา คำตอบของสมยศเป็นสัญญาณว่านี่คือการกลับมาของเสียงของผู้สนับสนุนประชาธิปไตยภายใต้บรรยากาศทางการเมืองสไตล์รัฐบาลทหารอย่างน้อยอีกหนึ่งคน

“แล้วแต่ คนลง (บทสัมภาษณ์) รับผิดชอบ ไอ้คนพูดมันติดคุกจนชินแล้ว เดินเข้าคุกปิดตาเดินก็ไม่หลง แต่ว่าคนลงนี่ยังใหม่” เป็นคำพูดทิ้งท้ายของสมยศในการสัมภาษณ์ครั้งนี้
เริ่มจากประเด็นเศรษฐกิจ น้ำมันแพง ลด VAT ไม่ใช่งบแผ่นดินฟุ่มเฟือย

เมื่อ มิ.ย. 2550 สมยศเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้งกลุ่ม 24 มิถุนาฯ เป็นการรวมตัวกันของประชาชนรากหญ้า ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านการรัฐประหารของ คมช. ที่เกิดขึ้นเมื่อ 19 ก.ย. 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา เผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูลเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกประชาธิปไตยให้กับประชาชนและสาธารณชน รวมกลุ่มประชาชนทุกสาขาอาชีพในการเข้าร่วมและสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ และประสานความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย ความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม


รายงาน: 5 ปีที่ไม่เปลี่ยนแปลงของ ‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’

แม้เวลาล่วงเลยไปเกือบ 11 ปี ที่ซ้อนทับกับเวลาที่สมยศในฐานะหนึ่งในแกนนำกลุ่มถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ แต่การดำเนินการตามวัตถุประสงค์แรกเริ่มของกลุ่มยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระและต่อเนื่องของกลุ่มในการทำงาน

“เมื่อเราถูกดำเนินคดีก็ไปอยู่ในเรือนจำ กลุ่มก็ได้ดำเนินการด้วยกิจกรรมที่จะให้ปล่อยตัว มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องซึ่งหมายความว่ากลุ่มมีการดำเนินการอย่างอิสระและมีความต่อเนื่องแม้ว่าจะจับตัวผู้นำกลุ่มไป ผู้บริหารงานทั่วไปก็สามารถดำเนินงานต่อได้ เมื่อออกมากลุ่มนี้ก็ยังดำเนินการและสานต่อภารกิจเดิม คือสร้างประชาธิปไตยเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎร” สมยศกล่าว

สมยศกล่าวเพิ่มเติมว่า โฟกัสของกลุ่มตอนนี้อยู่ที่ประเด็นเศรษฐกิจที่ประชาชนเดือดร้อนกันอยู่ โดยเริ่มจากการยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา

“ตอนนี้ในแง่ของกลุ่ม 24 มิถุนาฯ เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจและความเดือนร้อนของประชาชนเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งเราก็วิเคราะห์แล้วว่าปัญหาในด้านเศรษฐกิจคือภาษีน้ำมันซึ่งส่งผลให้น้ำมันมีราคาแพง เมื่อน้ำมันมีราคาแพงก็ทำให้สินค้าอุปโภค บริโภคมีราคาแพงทำให้ประชาชนเดือดร้อน เงินเฟ้อในอัตราสูงก็ทำให้คนที่มีรายได้ประจำเสียหาย สมมุติว่าเคยซื้อเสื้อ 100 บาทเมื่อเดือนที่แล้วแต่เดือนนี้ต้องซื้อ 120 จะทำยังไงถ้ามีรายได้แค่ 100 บาท เราจึงเห็นว่าจะต้องควบคุมไปที่ราคาน้ำมันให้คงที่แล้วก็แก๊สหุงต้มที่ครัวเรือนใช้ ส่วนเรื่องที่สองที่เราคัดค้านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ทางเราคาดว่ารัฐบาลจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 9% ในเดือนตุลาคมนี้ กลุ่มเราก็จะเดินหน้าคัดค้านกันต่อไป”

“แต่ที่สำคัญคือเราเห็นว่าปัจจุบันนี้เรามีงบประมาณเพียงพอ ปัญหาอยู่ที่ว่ารัฐบาลเอาเงินไปใช้ในส่วนที่ไม่เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจ เช่น เรื่องไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เหมือนเราไปซื้อ GT200 (อุปกรณ์ตรวจจับระเบิดที่หน่วยงานรัฐของไทยหลายแห่งซื้อใช้ตั้งแต่ปี 2547 และมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพจนถูกปลดประจำการในที่สุด) ไปซื้อเรือเหาะราคา 350 ล้านเอามาจอดเฉยๆ อย่างนี้มันเป็นการผลาญงบประมาณ กินเงินเดือนสองตำแหน่งกลายเป็นอภิสิทธิ์ชน ทำงานเหมือนสมาชิกนิติบัญญัติกินเงินเดือนสองตำแหน่งแบบนี้ต้องเลิก หรืออัตรานายพลล้นเกิน มีมากไป มีหลายตำแหน่ง ซึ่งประเด็นนี้มันก็สามารถลดจำนวนนายพลลงได้ แบบนี้คือการใช้งบประมาณของรัฐในทางที่ไม่ถูกต้อง เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย”

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะการเคลื่อนไหวของกลุ่ม 24 มิถุนาฯ หรือไม่ เพราะเมื่อ 13 มิ.ย. หลังจากที่สมยศและพวกได้ไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลได้ห้าวัน ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบแนวทางลดภาระค่าครองชีพประชาชนในส่วนแก๊สหุงต้ม (แอลพีจี) ไทยรัฐรายงานว่า การตรึงราคาแก๊สแอลพีจีที่ไว้ที่ 363 บาทสำหรับครัวเรือน และ 325 บาทสำหรับกลุ่มหาบเร่แผงลอย ร้านขายอาหารขนาดเล็กและกลางได้เริ่มแล้วเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา ต้นทุนการทำอาหารที่ถูกลงย่อมหมายความว่าผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายมากขึ้นเพื่อกินข้าวกระเพราหมูกรอบพิเศษ+ไข่ดาวไม่ค่อยสุกจานเดิม แม้ไม่มีใครบอกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการตอบสนองต่อหนังสือที่ยื่นไปหรือไม่ แต่สมยศก็ยังเห็นว่าเป็นการยิงลูกบอลเข้าประตูเดียวกัน คือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเป้าหมายของคณะราษฎรในอดีต และกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ในปัจจุบัน
เป้าหมายทางการเมืองยึดตามคณะราษฎร-ต้านรัฐประหาร

สมยศยืนยันว่าอุดมการณ์และเป้าหมายทางการเมืองของกลุ่มยังคงเป็นการต่อต้านการรัฐประหาร ที่ได้ทำมาในเรื่องการจัดเวทีเสวนาให้ความรู้ก็ยังทำอยู่ อย่างที่ไปยื่นข้อเสนอเรื่องเศรษฐกิจเมื่อครั้งที่แล้วก็เป็นข้อเสนอที่ตกลงกันในวงสัมมนาเรื่องราคาน้ำมัน ปัจจุบันกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยได้ร่วมมือกับกลุ่มผลักดันประเด็นทางการเมืองที่มีอยู่ในสังคมตอนนี้บ้างแล้ว

“เราถือว่าเป็นการใช้อำนาจกับการเมืองโดยมิชอบธรรมทางเราจึงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แล้วก็ยังเดินหน้าอยู่ทั้งการสนับสนุนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เดินหน้าให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เรื่องการที่จะร่วมมือกับ iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) ในการรณรงค์ลงนามยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.

แม้สมยศไม่ได้ออกมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อ 21-22 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่เขายืนยันว่าถ้ามีการชุมนุมในลักษณะเดียวกันอีกก็พร้อมจะเข้าร่วม แม้มีความเสี่ยงจะถูกคดีความเพิ่มเติมในลักษณะเดียวกันกับที่ผู้ชุมนุมทางการเมืองได้รับเป็นดอกผลเมื่อมีน้ำเสียงฮึดฮัดกับ คสช. แต่สมยศกล่าวว่าพร้อมโดนคดีความเพิ่มเติมให้เป็นเกียรติประวัติไม่ให้น้อยหน้ากับนักกิจกรรมรุ่นหลัง

คำตอบของสมยศสะท้อนถึงที่มาของการมองสถิติคดีความว่า เป็นเรื่องเดียวกันกับการได้รับเข็มกลัดบริจาคเลือดที่ยิ่งเยอะยิ่งดูมีเกียรติประวัติ ด้วยการมองว่าการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในช่วงที่สถานการณ์งวดเข้านั้นต้องใช้อิสรภาพเป็นเดิมพัน และทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นบนเวทีแห่งสันติวิธี

“จะออกมาชุมนุมอย่างแน่นอน และยินดีด้วยที่จะขึ้นไปพูดจาปราศรัย เพราะน้องๆ มีคดีกันหมดแล้ว เราก็ต้องมีบ้างเป็นเกียรติประวัติ ซึ่งมันเหมือนกับสังคมช่วงเปลี่ยนผ่านมันจำเป็น”

“จำเป็นในแง่ที่ว่าเรามีเสรีภาพแต่เขาไม่ให้ มันก็ต้องแลกกันกับอิสรภาพ ในเมื่อเรายืนยันที่จะใช้สิทธิเสรีภาพแต่รัฐบาลที่เป็นเผด็จการไม่ให้ คุณก็ต้องเลือกขอใช้สิทธิแม้ว่าจะต้องถูกจับหรือดำเนินคดี เมื่อมันเป็นหนทางที่สันติวิธี เราเป็นฝ่ายที่ได้รับความทรมาน แต่เพราะว่าเราต้องการการต่อสู้หรือไม่เราก็ต้องยอมจำนน ถ้ายอมจำนน สังคมก็หยุดนิ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเขาก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่เสียสละ เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่พยายามต่อสู้ แล้วเราจะอยู่เฉยได้ยังไง เราก็ต้องไปเข้าร่วมเพราะมันเป็นอุดมการณ์”
เดิมพันสูงลิบ เมื่อการเมืองรัฐประหารเป็นเรื่องของทุกคน กับบทเรียนจาก 2475 ที่ประชาชนต้องไปต่อ

จากสายตาของหนึ่งในสมาชิกกลุ่มต่อต้านรัฐประหารที่มีช่วงชีวิตขององค์กรคาบเกี่ยวรัฐบาลทหารถึงสองรัฐบาล สมยศเปรียบเทียบว่า การรัฐประหารในปี 2557 มีตัวละครเยอะกว่าการรัฐประหารเมื่อปี 2549 หลายองค์กรแบไพ่ให้เห็นชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายใด ใครสนับสนุนการรัฐประหารบ้าง ดังนั้นการต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้จึงมีเดิมพันที่สูงอันอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่

“งานนี้คณะรัฐประหารได้ไปดึงสถาบันต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก เช่น ศาล ข้าราชการทั้งหลายหรือตำรวจก็ถูกดึงมาใช้งาน ซึ่งมันทำให้เห็นโครงสร้างใหญ่ๆ ในสังคมว่า ปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองนี้อยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่มีลักษณะพิเศษ บางทีเราต้านคณะรัฐประหาร มันไม่ได้หมายความว่าเราต้านแค่ทหาร”

“แบบนี้อันตรายมาก อัตราเสี่ยงสูงมาก เดิมพันก็สูง ถ้าพังก็พังทั้งระบบ เช่นระบบเศรษฐกิจ ระบบยุติธรรม ประเพณีโบราณ...มันไม่ใช่รัฐประหารธรรมดาหรือทำโดยคณะรัฐประหารแล้วกลายเป็นเผด็จการล้วนๆ แต่มันเป็นการดึงหน่วยงานทุกหน่วยงานมาใช้ มันก็จะเสียหายไปด้วยกันเหมือนลากศาลมาร่วมด้วย มันก็จะเสียหายไปตามๆ กัน...สมัยก่อนเราอาจจะแค่รัฐประหาร แต่ทุกวันนี้เราเห็นอะไรหลายๆอย่าง สังคมก็เลือกข้างอย่างชัดเจน คนนี้เผด็จการ คนนี้ประชาธิปไตย องค์กรหรือพรรคการเมืองอยู่ข้างไหน ทุกอย่างมันเห็นภาพอย่างชัดเจนซึ่งรวมไปถึงโครงสร้างด้วย”

สมยศยังเล่าถึงบทเรียนการปฏิวัติปี 2475 ว่า การเปลี่ยนระบอบการปกครองยังไม่พอ ถ้าอุดมการณ์ความคิดของประชาชนยังไม่ถูกรื้อในขณะที่อำนาจถูกเปลี่ยนมือ ซึ่งตรงนี้สมยศถือเป็นความจำเป็นในการที่จะสานต่อการปฏิวัติปี 2475 ที่หมุดหมายประชาธิปไตยถูกปักลงด้วยคนไม่กี่คน แต่คนที่จะตอกหมุดให้มั่นคือประชาชนทั้งประเทศ

“ถ้าเราดูการเปลี่ยนแปลง 2475 มันเปลี่ยนแปลงจากพระมหากษัตริย์มาหาขุนนางจนถึงคณะราษฎร ประชาชนไม่มีส่วนร่วมมาก แต่ว่า 2475 มันให้กำเนิดธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์มันให้กำเนิด 14 ตุลาคม 2516 มีบทบาทในการต่อสู้ 14 ตุลาคม ทำให้การเมืองเป็นเรื่องของประชาชน เพราะฉะนั้นคำว่า อำนาจรัฐสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลายมันเกิดขึ้นหลัง 14 ตุลาคม พอมาถึงวันนี้ก็คือว่า ทำอย่างไรการสานต่อภารกิจของคณะราษฎรจะแล้วเสร็จตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎร อยู่ที่ประชาชนเป็นผู้กระทำ ในเรื่องหลัก 6 ประการ (หลักหกประการของคณะราษฎร: เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา/ ที่มาจากวิกิพีเดีย) รวมทั้งเรื่องเจตนาจะเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไม่แล้วเสร็จ หมายถึงว่าเขาเปลี่ยนได้แค่กลไกรัฐแต่เขาไม่ได้เปลี่ยนอุดมการณ์ทางสังคม สังคมก็ยังเป็นระบบไพร่ฟ้าอยู่ ยังมีระบบอุปถัมภ์ มีความเชื่อเรื่องเจ้านายลูกน้อง มีความเชื่อเรื่องฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ถ้าเกิดว่าคุณไม่ปฏิวัติความเชื่อเหล่านี้ ความเสมอภาคก็จะไม่เกิด เจตนารมณ์ของคณะราษฎรก็ไม่เกิด เรื่องความเสมอภาค รื้ออุดมการณ์เก่าเพื่อให้ได้อุดมการณ์ประชาธิปไตย อุดมการณ์ประชาธิปไตยมันไม่ใช่แค่เปลี่ยนรัฐบาล แต่มันต้องเปลี่ยนความคิดของคนในสังคม เลิกขึ้นต่อเลิกพึ่งพา” สมยศกล่าวสรุป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.