Posted: 07 Jul 2018 04:15 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) ออกแถลงการณ์รับรองคณะทำงานจำนวน 18 คน ชี้ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน เกิดขึ้นจากความร่วมมือของชาวบ้านไม่มีใครมีสิทธิ์ผูกขาดเป็นเจ้าของ หรือกีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้ามาใช้พื้นที่ ระบุเคารพมติที่ประชุมพ่อครัวใหญ่ของสมัชชาคนจนที่ไม่มีการชี้นำทางการเมือง ยืนยันว่าเรื่องพรรคการเมืองเป็นสิทธิของชาวบ้าน

7 ก.ค. 2561 คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) ได้ออกแถลงการณ์โดยระบุว่าคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) ได้จัดประชุมใหญ่ ตามกำหนดการที่ได้นัดหมายในวันที่ 2 ก.ค. 2561 ณ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน โดยมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมจำนวน 1,907 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและฟื้นฟูศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน และติดตามสถานการณ์การแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ซึ่งได้ประชุมเสร็จสิ้นไปแล้วนั้น จึงขอชี้แจงสรุปผลการประชุมและรายงานเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

1. ที่ประชุมคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.)ได้มีมติที่ประชุมรับรองคณะทำงานจำนวน 18 คน ให้ทำหน้าที่ประสานงานกับแกนนำตัวแทนชาวบ้านอีกบ้านละ 1 คน (43 หมู่บ้าน)เพื่อวางแผนพัฒนาและฟื้นฟูศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน เนื่องจากที่ผ่านมาขาดการดูแลบำรุงรักษาจนอาคารศูนย์ฯและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ มีสภาพทรุดโทรมผุพัง

2. ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน เกิดขึ้นจากความร่วมมือของชาวบ้านโดยได้รับการสนับสนุน งบประมาณจากกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล และใช้เป็นสถานที่ทำงานขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ โดยชาวบ้านทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่มีใครมีสิทธิ์ผูกขาดเป็นเจ้าของ หรือกีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้ามาใช้พื้นที่นี้ได้

3. ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน บริหารจัดการโดยคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) มีสมาชิกผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล จำนวน 3,000 กว่าครอบครัว จาก 3 อำเภอ 56 หมู่บ้าน และเป็นคนละส่วนกันกับสหกรณ์การเกษตรปากมูล จำกัด ซึ่งมีปัญหาคาราคาซังและไม่ได้ดำเนินงานมาหลายปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรปากมูล จำกัด มีสมาชิกคงเหลืออยู่ประมาณ 300 คน

4. นายกฤษกร ศิลารักษ์ (หรือ นายไพจิตร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ) ที่อ้างตัวเองเป็นผู้จัดการสหกรณ์ฯ เป็นผู้ดูแลสถานที่และต้องขออนุญาตใช้ก่อนนั้น ถือเป็นเรื่องเข้าใจผิด และสำคัญตัวเองผิดคิดเอาเอง เพราะว่านายกฤษกร ศิลารักษ์ ไม่มีสิทธิ์อะไรทั้งสิ้น ในการใช้พื้นที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน หากจะอ้างตัวว่าเป็นพนักงานสหกรณ์ฯ ก็ต้องดูว่าสมาชิกสหกรณ์ฯ คิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ เพราะยังไม่ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ชี้แจงต่อสมาชิก ในการแต่งตั้งตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์อย่างเป็นทางการ เพียงหารือกับแกนนำกรรมการสหกรณ์ฯไม่กี่คน ก็ตั้งตนขึ้นมาควบคุมการดำเนินงานแนวทางกิจกรรมของสหกรณ์ฯ โดยที่สภาพที่แท้จริงของสหกรณ์การเกษตรปากมูล จำกัด ไม่ได้ดำเนินกิจการใดๆ มาเป็นเวลานานแล้ว จึงมีสมาชิกร้องเรียนไปยังสหกรณ์จังหวัด ให้ออกมาตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรปากมูล จำกัด

5. สืบเนื่องจากการกระทำของนายกฤษกร ศิลารักษ์ ที่มีพฤติกรรมอวดอ้างตัวเองเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจนฯพยายามครอบงำความคิดแกนนำชาวบ้านและประพฤติตนกล่าวอ้างอยู่เหนือองค์กรชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา นำพาชาวบ้านไปสู่ความขัดแย้งแตกแยก สร้างความร้าวฉานภายใน จนชาวบ้านอึดอัดใจและห่วงกังวลว่าปัญหาจะบานปลายจนยากจะเยียวยา คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) จึงมีข้อสรุปให้ นายกฤษกร ศิลารักษ์ ยุติบทบาทการทำงานที่ใดๆเกี่ยวข้องกับชาวบ้านปากมูน และชวนเชิญให้กลับไปยังที่ที่เคยจากมา และขอยืนยันว่านายกฤษกร ศิลารักษ์ ไม่ได้เป็นที่ปรึกษาของสมัชชาคนจน ที่เป็นองค์กรของชาวบ้านตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

6. ช่วงเวลา 8.00 น.ชาวบ้านจำนวน 1,907 คน มีความจำเป็นต้อง สะเดาะแม่กุญแจเพื่อเปิดประตูรั้วเข้าไปใช้อาคารศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน เพื่อใช้เป็นสถานที่ประชุมใหญ่สมาชิก เพื่อติดตามแนวทางในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนปากมูล การที่นายกฤษกร ศิลารักษ์ โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัวและแชร์ต่อในที่สาธารณะกล่าวให้ร้าย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าเสมือนเป็นผู้กระทำการทุบกุญแจเข้าไปนั้นถือว่าเป็นการตั้งใจของนายกฤษกร ศิลารักษ์ ที่ต้องการทำลายชื่อเสียงและเบี่ยงเบนประเด็นให้กลายไปเป็นเรื่องการเมืองตามสถานการณ์นั้น ถือเป็นการกระทำที่น่าละอายอย่างยิ่งและหมิ่นต่อการกระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่กล่าวละเมิดต่อผู้อื่นพร้อมเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนไม่ถูกต้อง หากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจจะฟ้องร้องก็สามารถกระทำได้ ทั้งนี้คงเป็นเรื่องส่วนตัว

7. นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจและครอบครัว เดินทางมาถึงศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน เวลา 9.20 น. เพื่อมาแวะเยี่ยมเยียนกลุ่มชาวบ้านปากมูนที่กำลังประชุมกันตามปกติ ในฐานะลูกหลานที่เคยลงพื้นที่และร่วมต่อสู้กับชาวบ้านปากมูนตั้งแต่สมัยอดีตเป็นนักศึกษาและทำงาน สนนท. ชาวบ้านก็รักเหมือนลูกหลานคนหนึ่งเหมือนกับนักศึกษาคนรุ่นใหม่อีกหลายๆคน พอรู้ข่าวการมาเยี่ยมเยียนของเอก ธนาธร ชาวบ้านจึงตระเตรียมผูกข้อมือข้อบายศรีสู่ขวัญถือเป็นพิธีกรรมตามธรรมเนียมของคนอีสานที่แสดงความรักต้อนรับแขกผู้มาเยือน และพอทราบว่า เอก ธนาธร จะลงมือทำงานด้านพรรคการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ชาวบ้านก็แสดงความยินดีด้วยและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

8. คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) เคารพมติที่ประชุมพ่อครัวใหญ่ของสมัชชาคนจน ที่ไม่มีการชี้นำทางการเมือง ยืนยันว่าเรื่องพรรคการเมืองเป็นสิทธิของชาวบ้าน และมีจุดยืนชัดเจนว่าพวกเราไม่ฝักใฝ่เผด็จการและสนับสนุนระบอบการปกครองประชาธิปไตยอย่างเต็มที่
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.