Posted: 01 Sep 2018 02:10 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-09-01 16:10
สุมนมาลย์ สิงหะ
กระแสการพัฒนารูปแบบเรือนจำธรรมาภิบาลเกิดขึ้นช่วงราว 1990 มุ่งเน้นปฏิรูปภาพลักษณ์การควบคุมกีดกันผู้ต้องขังให้ออกจากความเป็นพลเรือนที่มีอิสรภาพ (civil liberties) ให้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้วต่างมุ่งการปรับแก้ไขระดับโครงสร้างและระบบงานเรือนจำ ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและอังกฤษ มีรายงานวิจัยจำนวนมากระบุถึงบทบาทหน้าที่ของเรือนจำ ที่มีกฎเหล็กการลงโทษด้วยวิธีการกักกันนักโทษมีข้อบ่งชี้ว่าไร้ประสิทธิภาพในการปรับปรุงพฤติกรรมผู้ต้องขัง นอกจากนี้ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติและการคอร์รัปชั่นตามมา (DiIulio, 1987)
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์หลายประเทศเสนอข้อค้นพบว่า ผู้ต้องขังถูกทำร้ายภายใต้ร่มเงาบ้านหลังใหญ่ (Big House Era) (Austin & Irwin, 2011) ในบางเรือนจำเกิดกรณีการคุกคามทำร้ายผู้ต้องขังอย่างเป็นระบบ และมีความพยายามทำให้ผู้ต้องขังเป็นเหยื่อต้องขึ้นโรงขึ้นศาลซ้ำๆ ซึ่งท้าทายเงื่อนไขการคุมขังของเรือนจำ ในประเทศตะวันตกออสเตรเลีย และสหรัฐนั้น สถาบันศาลยุติธรรมมีอำนาจสั่งการโดยตรงต่อการบริหารจัดการเรือนจำให้ ผู้คุม และ เจ้าหน้าที่เรือนจำย้ายออกจากเรือนจำทันทีเมื่อละเมิดข้อบังคับ เพราะระบบสายบังคับบัญชาเรือนจำต้องได้รับการยินยอมจากศาลในหลายกรณี (Marquart & Crouch,1985, หน้า 557; Schlanger, 2006) นับเป็นกลไกถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรมระหว่างศาล ราชทัณฑ์และปัญหาอาชญากรรมที่มีการสั่งสมความรู้ของประเทศประชาธิปไตย
คล้าก โจน และ เรย์มอนด์ นารัง ผู้เขียนหนังสือ “Inmate Radicalisation
and Recruitment in Prisons” (Routledge, 2018)
ด้วยมูลเหตุข้างต้น ผู้เขียนต้องการชวนผู้อ่านร่วมกันสำรวจกระแสการปฏิรูปเรือนจำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งรู้จักกันดีในหมู่คนราชทัณฑ์ไทยและนานาชาติ ที่เรียกว่าการสร้าง “ระบบนุ่มนวล” (Building Tender System : BTS) (งานวิจัยเกี่ยวกับระบบนุ่มนวลอ่านได้ที่ Fong, 1990;Marquart & Crouch, 1985 ) ผ่านงานศึกษาและบทสัมภาษณ์ของสองนักอาชญาวิทยา คล้าก โจน มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และ เรย์มอนด์ นารัง มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จากผลงานล่าสุดในชื่อ Inmate Radicalisation and Recruitment in Prisons (Routledge, 2018) ซึ่งทำงานลงภาคสนามเรือนจำเพื่อศึกษาพลวัตของกลุ่มผู้ต้องขังเปรียบเทียบเรือนจำประเทศตะวันตกและเอเชีย จีน อินเดีย โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ที่มีบริบทเฉพาะตัว ความคิดเห็นและแก่นของหนังสือเล่มนี้เจาะลึกชีวิตภายนอกและภายในของกลุ่มผู้ต้องขังในคดีอาชญากรรม การสร้างชุมชนย่อยๆ ในบ้านหลังใหญ่ นอกจากนี้ยังนำเสนอทางเลือกแก่สังคมให้ทบทวนการยกเครื่องระบบยุติธรรมเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเรือนจำระบบเปิด
ข้อเสนอนี้เปลี่ยนกระบวนทัศน์การบริหารจัดการเรือนจำ 2018 แตกต่างจากเรือนจำก่อนหน้า 1990 อย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนี้ยังเปลี่ยนมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ของผู้คนในสังคมที่มีผู้ต้องขัง ระหว่างเจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้ต้องขังซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้ พวกเขาต่างเป็นผู้กระทำและถูกกระทำไปพร้อมๆ กัน แนวทางการบริหารจัดการเรือนจำทางเลือกนี้สร้างความตื่นตัวให้กรมราชทัณฑ์หลายประเทศเปิดรับการสนับสนุนจากสังคม กรมราชทัณฑ์อนุญาตให้เรือนจำเปิดรับโครงการสุขภาพ การศึกษาทางเลือก การพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็น เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การจัดกลุ่มปรึกษาหลังบำบัดยาเสพติด โครงการสุขภาวะในลักษณะแผนงานร่วมและรายกิจกรรมให้เข้าไปทำงานในเรือนจำ โดยหน่วยบริการสังคมภายนอกอาจมีเป้าหมายการเปลี่ยนวิธีคิดของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เรือนจำให้ยึดหลักมาตรฐานชีวิตผู้ต้องขังและคำถึงสิทธิมนุษยชนตามพันธะกรณีสากล เช่น สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีโครงการและกิจกรรมต่างๆ เข้าไปทำงานในเรือนจำเพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการเรือนจำจะตอบสนองและปรับตัวอย่างไร
เนื่องจากผู้เขียนเป็นน้องใหม่ที่หมุนเวียนเข้าไปทำงานในเรือนจำ ภายใต้กระแสธารการสร้างระบบนุ่มนวลภายในเรือนจำ ด้วยบทบาทนักวิจัยภายนอกเพื่อพัฒนาข่ายงานภาคีโครงการทางสุขภาพ ภายใต้ความร่วมมือของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและกรมราชทัณฑ์ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้ส่งเรือนจำที่สมัครใจเข้ามารับการพัฒนารูปแบบเรือนจำชาย 2 แห่งในปีที่แล้ว ทั้งนี้ ผู้เขียนขอยกเรื่องราว “เรือนจำไทยแลนด์ ก็อท ทาเลนท์” ไปเล่าอย่างกระชับในตอนต่อไป ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการชี้จุดแตกต่างของโครงการสร้างระบบนุ่มนวล คือ การสนับสนุนให้ผู้ต้องขังต้องไปทำงานกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ เป็นเครือข่ายแนวราบตัดขวางภายในเรือนจำ แปลความได้ว่าพวกเขาอาจต้องแย่งชิงอำนาจและทรัพยากรอันจำกัดภายในกลุ่มชุมชนผู้ต้องขัง ซึ่งสร้างความท้าทายแก่เจ้าหน้าที่เรือนจำ และ การเข้าใจกระบวนการกล่อมเกลาชุมชนในเรือนจำที่มีพลวัต ซึ่งอาจส่งเสริม หรือ ย้อนแย้งต่อเป้าหมายของการปฏิรูปเรือนจำ
จากประสบการณ์ทำงานในเรือนจำระยะเวลาสั้นๆ ของผู้เขียน สะท้อนว่าผู้ปฏิบัติงานที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงและสร้างระบบนุ่มนวลภายในเรือนจำจำต้องปะทะ หรือ หาทางเลือกทางลงให้กับหลักการสมมาตรของเรือนจำ 3 หลักการ หนึ่ง การลงโทษกัดกีดจากสังคม (deprived) สอง การฟื้นฟูชีวิตทั้งสภาพกายและจิตใจ (rehabilitation)และ สาม ลดอัตราการหวนกลับสู่เรือนจำ (recidivism) ซึ่งแต่ละส่วนมีกลไกทำงานกับกลุ่มต่างๆ ภายในและนอกเรือนจำ บทความนี้ผู้เขียนต้องการทบทวนงานปฏิรูปเรือนจำจากประเทศที่ฟิลิปปินส์ดังเกริ่นนำข้างต้น ในแง่มุมประเด็นเรียนรู้ที่น่าสนใจ ผู้เขียนตั้งประเด็นไว้ 3 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 คลายกฎเหล็ก เพื่อพัฒนาทักษะและ การกลายเป็นอื่นๆ ของผู้ต้องขัง
ประเด็นที่ 2 การกล่อมเกลาภายในเรือนจำสัมพันธ์การฟื้นฟูชีวิต
ประเด็นที่ 3 ความท้าทายที่ควรนำมาพิจารณาปรับปรุงเรือนจำ
ประเด็นที่ 1 คลายกฎเหล็ก เพื่อพัฒนาทักษะและ การกลายเป็นอื่นๆ ของผู้ต้องขัง
หนังสือที่ผู้เขียนอยากแปลเป็นภาษาไทยเสียใหม่ว่า ระเบิดจากภายในเรือนจำฟิลิปปินส์ ของ คล้าก โจน และ เรย์มอนด์ อี นารัง เสนอความคิดและข้อเสนอแนะที่มีต่อภาพเสมือนจริง (stereotype) ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ทำราวกับว่ากำลังทำงานหนักเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรม คล้ากปูพื้นว่าปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกของฟิลิปปินส์เป็นปัญหาเฉกเช่นเดียวกับรัฐบาลออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกาและอังกฤษกำลังเผชิญ กรณีฟิลิปปินส์มีบริบททางนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของประธานาธิบดีดูเตอเต้ ขณะเดียวกับที่รัฐบาลใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ก่อการร้ายทางภาคใต้ แต่ภาคกลางมีผู้ต้องขังคดียาเสพติดเกิดขึ้น 700,000 คนในช่วงเวลาหกเดือน ความหนาแน่นแออัดเช่นนี้คล้ากเปรียบเปรยว่าในพื้นที่ 20 ตารางวา มีผู้ต้องขังอยู่ 100 คนจากนั้นผู้ต้องขังหนึ่งคนแบ่งเซลล์ออกเป็น 4 คนอย่ารวดเร็ว เท่ากับว่าในพื้นที่ขนาดเดิมมีผู้ต้องขัง 400 คน ยังไม่แจกแจงถึงนโยบายส่งเสริมการวิสามัญผู้ต้องสงสัยหลายหมื่นคน จากตำรวจ ทหารและสมาชิกแก็งตัดตอนกันเอง คดียาเสพติดต้องใช้ทนายความประมาณ 1,400–1,500 คนเพื่อขั้นศาล แก้ต่าง ฟ้องตำรวจและรัฐบาลกลับ
คำถามในทางอาชญาวิทยา (criminology ) คือ การมองหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับปัญหายาเสพติด ไม่ว่าจะรัฐบาลทหาร หรือ รัฐบาลพลเรือน รวมทั้งสหสัมพันธ์ระหว่างตำรวจ ภาวะช่องว่างทางเศรษฐกิจ แก็งค้ายา ตลาดยาเสพติด ว่าเพราะเหตุใดคนจึงหันเข้าหายาเสพติดมากขึ้นในแต่ละปี
เบื้องหลังของการทำงานลงภาคสนามเลาะรั้วเรือนจำต่างๆ ของ คล้าก โจน และ เรย์มอนด์ อี นารังใช้เวลามากกว่าสิบปีในการทำงานชาติพันธุ์วรรณนาเพื่อทำความเข้าใจบริบทสังคมและวัฒนธรรมของฟิลิปปินส์ ด้วยวิธีการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึก คลุกคลีกับผู้ต้องขัง อดีตหัวหน้าแก็งค้ายาและผู้ต้องสงสัยการก่อการร้ายในเรือนจำ และ ทัณฑสถานในช่วงเวลากลางวัน คล้ากและเรย์มอนด์ใช้เวลากลางคืนสำรวจสภาพแวดล้อมของแก็งมิจฉาชีพในเมืองมนิลา ร้านรวงขายของชำ ภัตตาคาร ร้านฟาร์ดฟูด ร้านแฮมเบอเกอร์ ร้านศิลปะและงานจักสาน ร้านขายเครื่องมือเครื่องใช้ในครัว ร้านตัดผม
เรื่องราวของชาวแก็งผู้ต้องขังที่เมืองบาตังถูกผลิตหนังต้นทุนต่ำ ทำให้คล้าก และ เรย์มอนด์สนใจแกะร่องรอย เขาทั้งคู่มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนร้านอาหาร และรับประทานอาหารเย็นที่ปรุงและเสริฟจากมืออดีตผู้ต้องขังคดีก่อการร้าย “สลัดปลาทูดำ ” (blackened tuna) มีนัยล้อเลียนที่หมายถึง อาหารจากคนโหดเหี้ยม อดีตผู้ต้องขังคนนี้ เขาได้เรียนรู้ทักษะการทำงานอาหารจากการเป็นผู้ช่วยพ่อครัวในเรือนจำ เมื่อออกจากเรือนจำแล้วเขาจึงเปิดร้านอาหารจากการสนับสนุนของเพื่อนผู้ต้องขัง โดยที่ร้านอาหารของเขาไม่ได้ทำอาหารส่งเรือนจำ แต่อาหารนี้สำหรับส่งสมาชิกแก็งที่ต้องโทษอยู่ในเรือนจำเท่านั้น
(เครดิตภาพ : คล้าก โจน และ เรย์มอนด์ อี นารัง 2018)
การทำงานร่วมกับอดีตผู้ต้องขังทำให้คล้ากได้ข้อมูลเชิงลึก จากหนังสือได้แสดงข้อเสนอเชิงเปรียบเทียบว่า สิ่งที่เรือนจำฟิลิปปินส์คล้ายคลึงกับเรือนจำแถบประเทศสแกนดิเนเวีย การคุมขังและกีดกันมี sense ของ “ทักษะ” และ “ อัตลักษณ์” ผู้ต้องขังอาชญากรรมทั่วไป ไม่ได้สูญเสียสองสิ่งนี้ไประหว่างอยู่ในเรือนจำ ย่อมส่งผลดีต่อการดำเนินงานเพื่อปรับพฤติกรรมฟื้นฟูชีวิตทางกายและสภาพจิตใจ ทั้งนี้ การที่ยังคงติดต่อกับครอบครัวได้ ทำให้พวกเขายังคงอัตลักษณ์และกลายเป็นอื่นๆ ภายในเรือนจำด้วย การที่พวกเขายังได้ใช้ทักษะทำให้พวกเขารู้สึกมีศักดิ์ศรี และทำให้เขามีทัศนคติที่ดีต่อการปรับพฤติกรรม เขาย่อมไม่ต่อต้านตรรกะที่ว่าเรือนจำเป็นสถาบันปรับปรุงพฤติกรรมผู้ต้องขังกระทำผิดร้ายแรงและผิดกฎหมาย
เรือนจำฟิลิปปินส์หลายแห่งนั้น ผู้ต้องขังยังคงสามารถติดต่อครอบครัว และ รับอาหารจากฝีมือคนครอบครัวเข้ามารับประทานในเรือนจำได้ ภายในเรือนจำจัดวางให้มีสวนสัตว์ขนาดย่อมไว้หย่อนใจ และสนามเด็กเล่นที่สร้างสรรค์จากกลุ่มผู้ต้องขังทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับลูกๆ และครอบครัว ผู้ต้องขังที่เป็นหมอก็ได้มาช่วยงานเรือนพยาบาล คนเป็นวิศวกรก็ช่วยงานซ่อมบำรุง ผู้กำกับหนังก็มาช่วยงานสื่อสารในเรือนจำ คล้ากยกตัวอย่าง อดีตผู้ต้องขังและอดีตผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายเปิดร้านร้านคาเฟ่ใกล้เรือนจำด้วยการสนับสนุนจากผู้ต้องขังด้วยกัน จากนั้นเขาไปอบรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์และขออนุญาตเจ้าหน้าที่เรือนจำเพื่อเข้าไปอบรมคอมพิวเตอร์ให้เพื่อนผู้ต้องขัง กิจกรรมทั้งหมดนี้มาจากการสนับสนุนของเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันเอง หากมองในแง่ดีการพัฒนาทักษะอาชีพเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่เป็นการจัดข่ายงานภาคีเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้ต้องขังสอดคล้องกับการบริหารเรือนจำแบบธรรมาภิบาล (Share Governance) แต่ในแง่ลบมันคือ กระบวนการกล่อมเกลาของแก็งค้ายาเพื่อบริหารทรัพยากร และกระจายสู่สมาชิกแก็ง โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ยาบ้า หรือ แอมเฟตามีน ซึ่งเป็นระบาดหนักในเรือนจำฟิลิปปินส์
ประเด็นที่ 2 กระบวนการกล่อมเกลาของชุมชนเรือนจำ (Prisonization)
การทำความเข้าใจกระบวนการกล่อมเกลาชุมชนเรือนจำ ประตูบานแรกที่ต้องมองทะลุเข้าไปคือ กระบวนการเลือกผู้นำลักษณะต่างๆ และการกีดกันในบ้านหลังใหญ่ ผู้ต้องขังก็มีการเลือกตั้งหัวหน้า และตำแหน่งหัวหน้ามีแนวโน้มซ้อนทับกับแกนนำที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ หรือ กิจกรรมสร้างระบบนุ่มนวลในเรือนจำ นั่นเอง กรณีเรือนจำฟิลิปปินส์ การก้าวสู่การเป็นหัวหน้าแก็ง และบริหารอำนาจของหัวหน้าแก็งไม่ได้อยู่ในกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ หรือ การต่อสู้เก่งตามกฎแบบไฟต์ คลับ หากแต่เพราะเขาสามารถเข้าใจการควบคุมและบริหารจัดการข้างในเรือนจำเป็นอย่างดี ส่งผลให้เขาสามารถจัดการ กระจายทรัพยากร และเงินทุนแก่สมาชิกแก็งทั้งในและนอกเรือนจำ
การกล่อมเกลาชุมชนเรือนจำมองอีกนัยยะ ผู้ต้องขังรู้สึกถึงการเป็นสถาบัน การที่พวกเขาผ่านประตูเรือนจำเข้าไปพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันเรือนจำ ว่าแต่พวกเขาจะจัดการที่ทางให้ตัวเองอยู่ตรงไหน คนส่วนใหญ่ตั้งคำถามต่อเรือนจำที่สร้างระบบการกีดกัน (deprived) ของจากสังคมอิสรภาพ แต่คล้ากชี้ว่าจุดที่น่าสนใจมากกว่าคือ โอกาสของการฟื้นฟูชีวิต การยืนหยัดสภาพกายและจิตใจจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ค่อยๆ แง้มเปิดออกมา น่าเป็นประเด็นถกเถียงมากกว่า เพราะว่าไม่ใช่ทุกโครงการ และ กิจกรรมที่สร้างระบบนุ่มนวลจะฟื้นฟูสภาพกายและจิตใจผู้ต้องขังดีขึ้นได้
อย่างไรก็ดี อัตราผู้ต้องขังที่หวนกลับมาสู่เรือนจำของฟิลิปปินส์อยู่ในอัตราต่ำ ใกล้เคียงกับประเทศสแกนดิเนเวียน จากสมมุติฐานข้างต้นที่ผู้ต้องขังสามารถคงอัตลักษณ์ทักษะไว้ แล้วยังสามารถสะสมเรียนรู้ทักษะมาใช้ประโยชน์เมื่อพ้นออกจากเรือนจำแล้ว เป็นบริบททางวัฒนธรรมของเรือนจำฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นข้อดี แม้ว่าจะมีการคอรัปชั่นและการแก่งแย่งข้างในเรือนจำ
19 ผู้ค้ายาจากอาคาร 14
เรื่องราวของเรือนจำนิวบิลิบิด (New Bilibid Prison) ตั้งอยู่ที่เมืองมันทันลูปา เป็นเรือนจำเก่าแก่ก่อตั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2483 ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เรือนจำนี้เป็นแหล่งรวมของผู้ต้องขังค้ายา อาชญากรรม ฆาตกรรมต่อเนื่อง ลักพาตัวและข่มขืน จากข้อมูลระบุว่าประชากรเรือนจำที่ต้องโทษคุมขังมาจากจังหวัดคาราบาซอน ทางตอนใต้และตอนกลางของมนิลา เพราะเป็นเรือนจำที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่ทำให้ผู้ต้องขังคดีอาชญากรรมระดับครอบครัวถูกส่งมาที่นี่ ระบบการบริหารจัดการราชทัณฑ์ประจำภูมิภาคใต้จำลองคุณค่าและโครงสร้างมรดกของระบอบอาณานิคม ส่งผลต่อพัฒนากลไกควบคุมผู้ต้องขังอย่างเข้มงวด เรือนจำนิวบิลิบิดสะท้อนการควบคุมเพิ่มมากขึ้นกว่าการฟื้นฟูในปัจจุบัน ส่งผลต่อการบ่มเพาะความรุนแรงจากข้างในเรือนจำ สิ่งที่น่าสนใจคือสัดส่วนของผู้ต้องขังชาวต่างประเทศในคดียาเสพติดเป็นชาวจีนมากที่สุดถือเป็นสัดส่วน 3 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังทั้งหมด จากการสืบสวนยังพบว่าผู้ต้องขังชาวจีนพัวพันกับตลาดค้ายาเสพติดที่มีเส้นสายเป็นนายตำรวจใหญ่ในมินดาเนา (อ้างอิงข้อมูลนี้จากสำนักข่าว RAPPLER ฟิลิปปินส์ ในข่าวออนไลน์ The inmates of New Bilibid Prison 16 พฤษภาคม 2561)
คล้าก ต้องการอธิบายว่าฉากชีวิตการต่อสู้ภายในเรือนจำนิวบิลิบิดนั้นสื่อสารอะไรแก่เราได้บ้าง ผู้ต้องขังมีอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นนักธุรกิจจากมินดาเนา ชาวประมงฟาร์มไข่มุกและพ่อค้าเทปผีซีดีเถื่อน ส่วนอีกกลุ่มทำอาชีพแตกต่างไป แต่จุดร่วมทั้งสองคือประกอบอาชญากรรมและสงสัยว่าก่อการร้าย คดีก่อการร้ายของมุสลิมเป็นประเด็นเปราะบางมากในรัฐบาลฟิลิปปินส์ คล้ากชี้โพรงว่า เมื่อไหร่ที่คนทำงานในเรือนจำเริ่มเข้าใจสเกลเพื่อรับมือกับแก็งสองกลุ่มนี้ คุณจะเริ่มปะติดปะต่อภาพความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มที่ลากเอาประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและวัฒนธรรมมาชนกัน คร่อมกัน และกดทับกัน คุณเองจะได้รับผลข้างเคียงของความขัดแย้งระหว่างหัวหน้าแก็งหลายกลุ่มด้วย และเมื่อนั้นความกังวลใจใหม่ๆ จะถูกสร้างขึ้นบนชุดความสัมพันธ์ภายในเรือนจำ
ประเด็นที่ 3 ข้อท้าทายที่ควรนำมาพิจารณาปรับปรุงเรือนจำ
การปฏิรูปเรือนจำธรรมาภิบาลส่งผลต่อทฤษฎีจัดการความเสี่ยงในแง่ปรัชญาความรู้อาชญาวิทยา การเปลี่ยนแปลงเพื่อออกแบบการเรียนการสอนใหม่ กรมราชทัณฑ์ต้องการเสริมสมรรถนะเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้เป็นวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถ และการรับเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนพอๆ กับผู้ต้องขังมีความจำเป็นที่จะทำให้การควบคุมยังคงทำงานได้ ยกตัวอย่าง เรือนจำมีผู้ต้องขัง 2,000 คนผู้บัญชาการเรือนจำต้องรับเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานไม่ต่ำกว่า 30 คนในอัตราการกำกับเจ้าหน้าที่ 1 คน ต่อผู้ต้องขัง 80 คน ซึ่งยังต้องการพึ่งพาผู้ต้องขังในการไปทำงานกับเพื่อนผู้ต้องขังอีกชั้น
ผู้เขียนไม่แปลกใจที่เจ้าหน้าที่เรือนจำต่างขวนขวายออกมาเรียนรู้เพิ่มเติม การยกระดับความเชี่ยวชาญในสาขาวิชา จิตวิทยาครอบครัว อาชญาวิทยา นิติจิตเวช ฯล ส่งผลดีต่อภาพรวมการบริหารเรือนจำหรือไม่ ผู้เขียนยังไม่อาจทราบได้ เพราะการจัดการในเรือนจำล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับนิยามอัตลักษณ์ การจำแนกแยกแยะ และการแยกบ้าน หรือแดน เพื่อรับมือเพื่อการกักกันได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นแก็งผู้ต้องขังใหม่ และ กลุ่มพ่อบ้านอยู่นาน ด้วยเทคโนโลยีเช่น CCTV เพื่อติดตามผู้ต้องขังและอนุญาตให้ผู้คุมปฏิบัติการทำงานในระบอบสอดส่อง “ไม่หยุดหย่อน ทำให้เข็ดหลาบ และก้าวร้าว” ซึ่งโดยค่าเฉลี่ยเรือนจำในประเทศที่พัฒนาแล้วแตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนา โดยทั่วไป ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่จะมีแง่มุมการทำงานจัดการในเรือนจำอย่างไร
กรณีเรือนจำสังกัดกรมราชทัณฑ์ของฟิลิปปินส์นั้น มีความเชื่อมั่นต่อการจัดการควบคุมย่อมต้องการงบประมาณสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลงทุนกับสมรรถนะเจ้าหน้าที่และเทคโนโลยี รัฐบาลต้องการสร้างองค์ความรู้ในการจัดการเรือนจำและปรับตัวตอบสนองทรัพยากรที่หลั่งไหลมาจากภายนอก แม้ว่าการรับรู้ของสาธารณชนต่อปัญหาอาชญากรรมจะเพิ่มมากขึ้นทำให้เป็นพลังสนับสนุนการทำงานของกรมราชทัณฑ์ที่เรียกว่า รัฐบาลกำลังอุทิศตนทำงานหนักบนอาชญากรรม ซึ่งเป็นความจริงของงบประมาณที่จมลงมากกับมวลมหาผู้ต้องขังที่ล้นท่วมเรือนจำ ประเด็นที่สำคัญคือไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมที่ตัดสินผู้คนเหล่านี้มาจากหลักกฎหมาย หลักศีลธรรมที่เที่ยงธรรมเพียงพอหรือไม่
เรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการเรือนจำ
1) การสร้างสภาพแวดล้อมชุมชนผู้ต้องขังที่ยอมรับการปรับพฤติกรรม พวกเขาจะไม่ต่อต้านตรรกะ ที่เขาต้องปรับพฤติกรรมเพราะเขาเคยทำร้ายคนอื่น รวมทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต หากแต่ในเรือนจำส่วนหมากแม้แต่เรือนจำออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกาเองกลับเน้นควบคุมพฤติกรรม การใช้ความรุนแรง การคอรัปชั่นยิ่งบ่มเพาะความรุนแรงจากข้างในเรือนจำ ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากชี้ว่าครอบครัวมีความสำคัญแม้ถูกกักกันเข้มงวด พวกเขาก็จะยอมรับมองการฟื้นฟูชีวิตในแง่ดีมากกว่า
2) การสนับสนุนทางสังคม (Social support) ไม่มีระบบ หรือ ขาดกลไกที่จะรับมือกับชีวิตข้างนอกและชีวิตข้างในเรือนจำ คือบริการต่างๆ ที่เข้าไปทำหน้าที่ในเรือนจำ อาหารครบถ้วนมีคุณภาพ การบริการสุขภาพ การส่งเสริมอาชีพ การศึกษา หน่วยบริการเหล่านี้มีส่วนช่วย ชีวิตข้างนอก และ ชีวิตข้างในเรือนจำ ไม่ให้แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว แตกต่างเพียงถูกจำกัดเสรีภาพจากมูลเหตุ
ประเด็นสุดท้าย ความสมดุลในการสร้างธรรมาภิบาลภายในกลุ่มหลากหลายของผู้ต้องขังเอง ขณะเดียวกันการทำงานมุ่งเป้าต้องเข้าไปจัดการกับโครงสร้างและระบบงานเรือนจำให้ลดการลงโทษทางสังคมเพื่อลดอิทธิพลของแก็ง และลดการลงโทษกีดกันลง
คล้ากผูกพันกับประเทศฟิลิปปินส์ และอดีตผู้ต้องขังแก็งค้ายา อดีตผู้ต้องขังบางคนเป็นเพื่อนร่วมงานตลอดสิบปีที่คล้ากลงสนามศึกษาเรือนจำที่ฟิลิปปินส์ ในแง่มุมของวิธีการเชิงชาติพันธุ์วรรณนาที่ศึกษาชีวิตผู้คนเคารพในผู้คน คล้ากข้ามเส้นแบ่ง (cross the line) ที่ขีดไว้ได้อย่างอัศจรรย์ใจ ทั้งในแง่วิธีการเอาตัวเข้าไปในสนาม จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรือนจำอย่างยาวนาน เราสามารถถอดบทเรียนเครื่องมือการเรียนรู้และจริยธรรมของนักวิชาการในสนามความเสี่ยงได้
ประเด็นสุดท้ายที่หนังสือเล่มนี้จะยังประโยชน์ให้แก่แวดวงคนทำงานเรือนจำศึกษา คือ บทเรียนของประเทศฟิลิปปินส์มาถึงจุดสำคัญ ที่คนในสังคมเริ่มมองหาทางเลือกในการทำงานกับอาชญากรรมด้วยตนเอง แทนที่การฟังคำสัญญาเลื่อนลอยของประธานาธิบดี ยืนยันคำถามแรกที่ควรถาม สังคมที่มีการพัฒนาตลาดยาเสพติดขึ้นมาช้าๆ เป็นสิ่งเดียวกับการเกิดขึ้นอาชญากรรมใช่หรือไม่ ถ้าเราไม่มองไปที่ทางตอนใต้ที่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความสัมพันธ์ระหว่างทหารและการก่อการร้าย หนังสือเล่มนี้พูดถึงอาชญากรรมคดียาเสพติด และตั้งคำถามชวนใคร่ครวญว่าทำไมคนจึงหันไปหายาเสพติดมากขึ้นทุกปี ที่หนักหนาสาหัสคือการคนหนึ่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มันเหมือนลื่นไถลจากถนนลาดชัน เพราะความเชื่องช้าของกระบวนการยุติธรรมและขาดการสนับสนุนจากสังคมที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตในเรือนจำ การทำงานหนักที่เกี่ยวกับอาชญากรามไม่ใช่เพียงปรับปรุงระบบเรือนจำเท่านั้น แต่เชื่อมโยงกับระบบยุติธรรมซึ่งยากที่จะยกเครื่องใหม่ให้ทันต่อสถานการณ์ ในความเห็นของคล้ากมองว่าระบบยุติธรรมของฟิลิปปินส์พังพาบไปแล้ว
(สัปดาห์หน้าอ่าน เรือนจำไทยแลนด์ ก็อท ทาเลนท์ ในกระแสการปฏิรูปเรือนจำ)
อ้างอิง
Austin, J., & Irwin, J. (2011). It’s about time. Belmont, CA: Wadsworth.
DiIulio, J. J. (1987). Governing prisons. New York, NY: Free Press.
Fong, R. S. (1990). Organizational structure of prison gangs. Federal Probation, 54,36-43.
Irwin, J., & Cressey, D. R. (1962). Thieves, convicts and the inmate culture. Social Problems, 10, 142-
155.
Clarke Jones & Raymond E Narag, (2018). “Inmate Radicalisation and Recruitment in
Prisons”.Routledge.
Marquart, J. W., & Crouch, B. M. (1985). Judicial reform and prisoner control: The impact of Ruiz v.
Estelle on a Texas penitentiary. Law and Society Review, 19,557-586.
Raymund E. Narag1 and Clarke R. Jones (2017).Understanding Prison Management in the
Philippines: A Case forShared Governance The Prison Journal2017, Vol. 97(1) 3–26
Schlanger, M. (2006). Civil rights injunctions over time: A case study of jail and prison court orders. New York University Law Review, 81, 550-630.
เกี่ยวกับผู้เขียน: สุมนมาลย์ สิงหะ เป็นนักเรียนมานุษยวิทยาการแพทย์ มีโอกาสไปประชุม อบรมร่วมกับเอ็นจีโอและลงพื้นที่กลุ่มเกษตรกรประเทศฟิลิปปินส์ในช่วงปี 2549-2553 ปัจจุบันเป็นนักวิจัยนโยบายสุขภาพและสังคม การเขียนบทความสั้นนี้ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและไม่ได้รับเงินสนับสนุนใดๆ จากกรมราชทัณฑ์
แสดงความคิดเห็น