Posted: 07 Sep 2018 05:09 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-09-07 19:09
เครือข่ายผู้บริโภค 6 ภูมิภาค แถลงข่าวต้าน พ.ร.บ.ยา ระบุเป็นฉบับทำร้ายประชาชน ชี้ อย.กำลังสร้างความแตกแยกให้กับวิชาชีพ ผู้บริโภคถูกจับเป็นตัวประกัน พร้อมเปิด 13 ข้อเสนอ
7 ก.ย.2561 วันนี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภูมิภาคแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนประเด็น อย. แก้ไข พ.ร.บ.ยา ระบุชัด แก้ไขกฎหมายทำร้ายประชาชน ถอยหลังเข้าคลอง ลดทอนการคุ้มครองผู้บริโภค สร้างปัญหากับวิชาชีพ ก่อปัญหาใช้ยาเกินจำเป็น และเปิดช่องนายทุนแสวงหาประโยชน์
จุฑา สังขชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวว่า ปัญหาหลักของ พ.ร.บ.ยา ฉบับแก้ไขนี้คือมีการลดความเข้มข้นของการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่ได้แก้ปัญหาที่มีต่อผู้บริโภคในหลายประการ ได้แก่ ไม่มีมาตรการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาอัตโนมัติ ในตำรับยาที่เป็นอันตรายและถูกถอนทะเบียนในต่างประเทศหรือในบริษัทแม่แล้ว, เปิดโอกาสให้เภสัชกรไม่ต้องอยู่ประจำร้านยาตลอดเวลา ทำให้ส่งผลกระทบต่อการแพทย์ปฐมภูมิ และทำให้ปัญหาการแขวนป้ายรุนแรงเพิ่มยิ่งขึ้น รวมถึงการแขวนป้ายโดยวิชาชีพอื่นด้วย, ลดมาตรการการควบคุมการโฆษณาจากการขออนุญาตให้สามารถดำเนินการแค่เพียงการจดแจ้งได้ และขาดมาตรการควบคุมการโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต ตลอดจน ไม่มีมาตรการใด ๆ ในการควบคุมการขายยาในสื่อใหม่ (ขายยาออนไลน์) ทั้งที่เป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุดในปัจจุบันและจะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้นในอนาคต
ปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ให้ข้อมูลเพิ่มว่า นอกจากที่คุณจุฑา กล่าวมาแล้ว พ.ร.บ.ยาฉบับแก้ไขนี้ ยังขยายอายุทะเบียนตำรับยาจากร่างเดิม 5 ปี เป็น 7 ปี โดยที่ไม่มีกระบวนการทบทวนทะเบียนตำรับยา, เปิดโอกาสให้มีการดำเนินการส่งเสริมการขายยาผ่านผู้ประกอบวิชาชีพ (โดยเฉพาะเรื่องการแถมพก ชิงรางวัล ออกรางวัลหรือวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน จากผู้ประกอบวิชาชีพ ถือว่าไม่มีความผิด) ลดทอนการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาในคลินิกเพราะเปิดให้วิชาชีพอื่นขายยาที่ถูกแบ่งประเภทอย่างไม่เป็นสากล, และไม่แก้ปัญหาเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุผลในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งทำให้เป็นปัญหา โรคเชื้อดื้อยา ที่สำคัญ, และเปิดช่องให้มีการจดแจ้งเภสัชชีววัตถุทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีการควบคุมคุณภาพอย่างมาก
- ส่องไทม์ไลน์ 'พ.ร.บ.ยา' พร้อมข้อถกเถียงจากฝั่งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่าง กม.ใหม่
- เภสัชกรอีสานยืนยันค้านร่าง พ.ร.บ.ยา เพื่อ ปชช.ใช้ยาปลอดภัย ไม่ได้ปกป้องวิชาชีพ
พวงทอง ว่องไว ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ ขาดมาตรการการจัดการกับผู้ประกอบการที่กระทำความผิดซ้ำซาก เช่น การโฆษณาโอ้อวด หลอกลวง เป็นเท็จ ผิดกฎหมาย, ขาดกลไกและอำนาจหน้าที่ที่อนุญาตให้ อย. สามารถตรวจสอบและจัดการโครงการวิจัยทดลองยา ที่จะคุ้มครองอาสาสมัครในการวิจัยฯ หากเกิดความเสียหายหรือผิดพลาดร้ายแรง, ไม่มีมาตรการสนับสนุนการใช้ยาที่สมเหตุสมผล (การแบ่งประเภทยาออกเป็น 4 ประเภท (ตามมาตรา 4) จะส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผล เกิดปัญหาการใช้ยาเกินความจำเป็น เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจยาทั้งในปัจจุบันและอนาคต), และทำให้เกิดการเข้าไม่ถึงยาจำเป็นเพราะราคาแพงเนื่องจากไม่มีช้อกำหนดที่จะต้องยื่นโครงสร้างราคาเมื่อขอขึ้นทะเบียนยา กับ ไม่มีคณะกรรมการยาที่มีอำนาจหน้าที่กำกับหรือควบคุม หรือออกมาตรการควบคุมราคายาได้ (ในขณะที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้เพียงห้ามจำหน่ายเกินราคาในฉลากข้างกล่อง รวมทั้งยังสามารถติดราคาข้างกล่องเท่าใดก็ได้)
สุภาวดี วิเวก ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออก “จากปัญหาทั้งหลายที่ทั้งสามท่านกล่าวมา เครือข่ายผู้บริโภคมีข้อเสนอแก่ อย. ในการแก้ไข พ.ร.บ.ยา คือ ต้อง กำหนดให้มีกลไกเพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่เป็นอันตรายโดยอัตโนมัติ เมื่อมีการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาในต่างประเทศหรือในบริษัทแม่, กำหนดให้ต้องมีเภสัชกรประจำอยู่ที่ร้านตลอดเวลาเปิดทำการ, การโฆษณายาจะต้องขออนุญาตจาก อย. ก่อน ซึ่งรวมถึงโฆษณาทางอินเตอร์เน็ตและ social media ต่างๆ หากพบว่าไม่ได้รับอนุญาต หรือทำผิดจากที่ได้รับอนุญาต ต้องถูกเพิกถอนทันที, ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาและการส่งเสริมการขายที่กระทำผ่านผู้ประกอบวิชาชีพ ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ, แก้ไขให้ทะเบียนตำรับยามีอายุ 5 ปีและต้องทบทวนทะเบียนตำรับยาก่อนต่ออายุ, อีกทั้งกำหนดให้การแบ่งประเภทยาเป็นไปตามหลักสากล (Prescription Only Medicines, Pharmacy Only Medicines และ Over-the-counter Medicines) และให้คงวิชาชีพที่จะจ่ายยาได้มีเพียงแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์เหมือนเดิม
สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “พ.ร.บ.ยาที่แก้ไขนี้จะต้อง กำหนดให้การผลิตหรือผสมยาที่ใช้รักษาสัตว์ทั้งฟาร์มจะต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อน, กำหนดให้มีการขออนุญาตสำหรับการผลิตและการนำเข้าเภสัชชีววัตถุ, ต้องกำหนดโทษทางปกครอง เพื่อระงับเหตุที่กระทำผิดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค, กำหนดให้ อย. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลและตรวจสอบโครงการวิจัยทดลองยาในมนุษย์ เพื่อคุ้มครองอาสาสมัครที่เข้าร่วมงานวิจัย, กำหนดให้การแบ่งประเภทยาเป็นไปตามหลักสากล และให้คงวิชาชีพที่จะจ่ายยาได้มีเพียงแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์เหมือนเดิม, กำหนดให้ต้องยื่นโครงสร้างราคายาเมื่อขอขึ้นทะเบียนตำรับยา ตลอดจนกำหนดให้คณะกรรมการยามีอำนาจในการออกมาตรการควบคุมราคายา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน”
บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค “เรารู้มาว่า อย. กำลังจะเอา พ.ร.บ.ยาฉบับแก้ไขนี้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. จึงขอเตือน อย. ว่า อย่าเพิ่งเอาเข้า ครม. จนกว่าจะมีการแก้ไขให้มีสาระตามที่พวกเราได้เสนอไป ไม่เช่นนั้นจะถือว่า แก้ไขกฎหมายไม่คุ้มครองผู้บริโภค”
สำหรับ ข้อเสนอจากสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภูมิภาค ต่อ ร่าง พ.ร.บ. ยา (ฉบับแก้ไข) มีรายละเอียดดังนี้
ข้อเสนอจากสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภูมิภาค ต่อร่าง พ.ร.บ. ยา (ฉบับแก้ไข)
ประเด็นปัญหาในร่าง พ.ร.บ. ยา (ฉบับแก้ไข) ที่เสนอโดย อย.
ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้อ้างหลักการและเหตุผลเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแต่เนื้อหาในตัว พ.ร.บ. กลับลดความเข้มข้นของการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่ได้แก้ปัญหาที่มีต่อผู้บริโภค
ไม่มีมาตรการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาอัตโนมัติ ในตำรับยาที่เป็นอันตรายและถูกถอนทะเบียนในต่างประเทศหรือในบริษัทแม่แล้ว (กลไกอัตโนมัติในการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่เป็นอันตราย )
เปิดโอกาสให้เภสัชกรไม่ต้องอยู่ประจำร้านยาตลอดเวลา ทำให้ส่งผลกระทบต่อการแพทย์ปฐมภูมิ (ร้านยาเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์ปฐมภูมิที่สำคัญ) และทำให้ปัญหาการแขวนป้ายรุนแรงเพิ่มยิ่งขึ้น รวมถึงการแขวนป้ายโดยวิชาชีพอื่นด้วย
ลดมาตรการการควบคุมการโฆษณาจากการขออนุญาตให้สามารถดำเนินการแค่เพียงการจดแจ้งได้ และขาดมาตรการควบคุมการโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต
ไม่มีมาตรการใดๆ ในการควบคุมการขายยาในสื่อใหม่ (ขายยาออนไลน์) ทั้งที่เป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุดในปัจจุบันและจะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้นในอนาคต
มีการขยายอายุทะเบียนตำรับยาจากร่างเดิม 5 ปี เป็น 7 ปี โดยที่ไม่มีกระบวนการทบทวนทะเบียนตำรับยา
เปิดโอกาสให้มีการดำเนินการส่งเสริมการขายยาผ่านผู้ประกอบวิชาชีพในมาตรา 139 วรรค 2 โดยเฉพาะเรื่องการแถมพก ชิงรางวัล ออกรางวัลหรือวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน จากผู้ประกอบวิชาชีพ ถือว่าไม่มีความผิด
ลดทอนการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาในคลินิกเพราะเปิดให้วิชาชีพอื่นขายยาที่ถูกแบ่งประเภทอย่างไม่เป็นสากล (มาตรา 22 (5) และการแบ่งประเภทยาตามมาตรา 4 โดยเฉพาะยาสามัญประจำบ้านที่ถูกขยายนิยามอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมยาหลายประเภท)
ไม่แก้ปัญหาเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุผลในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งทำให้เป็นปัญหา โรคเชื้อดื้อยา ที่สำคัญ
เปิดช่องให้มีการจดแจ้งเภสัชชีววัตถุแม้ว่าจะเป็นวัตถุดิบแต่ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน ต้องมีการควบคุมคุณภาพอย่างมาก และต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่ใช้วิธีการจดแจ้งเท่านั้น (มาตรา 95)
ขาดมาตรการการจัดการกับผู้ประกอบการที่กระทำความผิดซ้ำซาก เช่น การโฆษณาโอ้อวด หลอกลวง เป็นเท็จ ผิดกฎหมาย
ขาดกลไกและอำนาจหน้าที่ที่อนุญาตให้ อย. สามารถตรวจสอบและจัดการโครงการวิจัยทดลองยา ที่จะคุ้มครองอาสาสมัครในการวิจัยฯ หากเกิดความเสียหายหรือผิดพลาดร้ายแรง
ด้านการใช้ยาที่สมเหตุสมผล
ไม่มีมาตรการสนับสนุนการใช้ยาที่สมเหตุสมผล และการแบ่งประเภทยาออกเป็น 4 ประเภท (ตามมาตรา 4) จะส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผล เกิดปัญหาการใช้ยาเกินความจำเป็น เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจยาทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ด้านการเข้าไม่ถึงยาจำเป็นเพราะราคาแพง
ไม่มีช้อกำหนดที่จะต้องยื่นโครงสร้างราคาเมื่อขอขึ้นทะเบียนยา
ไม่มีคณะกรรมการยาที่มีอำนาจหน้าที่กำกับหรือควบคุม หรือออกมาตรการควบคุมราคายาได้ ในขณะที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้เพียงห้ามจำหน่ายเกินราคาในฉลากข้างกล่อง รวมทั้งยังสามารถติดราคาข้างกล่องเท่าใดก็ได้
ข้อเสนอในการแก้ไข พ.ร.บ.ยา
การคุ้มครองผู้บริโภค
กำหนดให้มีกลไกเพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่เป็นอันตรายโดยอัตโนมัติ เมื่อมีการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาในต่างประเทศหรือในบริษัทแม่
กำหนดให้ต้องมีเภสัชกรประจำอยู่ที่ร้านตลอดเวลาเปิดทำการ (ยกเลิก ม.115 ในร่าง พรบ.ฯ ให้กลับไปใช้ ม.14 ของ พรบ ยา พ.ศ. 2510 “ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการต้องอยู่ประจำสถานที่ผลิตยา สถานที่ขายยา หรือสถานที่นำเข้า หรือสั่งยา เข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรได้เพียงแห่งเดียว”) โดยจะต้องมีแต่ร้านขายยาประเภท ขย.1 เท่านั้น
การโฆษณายาจะต้องขออนุญาตจาก อย. ก่อน ซึ่งรวมถึงโฆษณาทางอินเตอร์เน็ตและ social media ต่างๆ หากพบว่าไม่ได้รับอนุญาต หรือทำผิดจากที่ได้รับอนุญาต ต้องถูกเพิกถอนทันที
ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาและการส่งเสริมการขายที่กระทำผ่านผู้ประกอบวิชาชีพ ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ
แก้ไขให้ทะเบียนตำรับยามีอายุ 5 ปีและต้องทบทวนทะเบียนตำรับยาก่อนต่ออายุ
กำหนดให้การแบ่งประเภทยาเป็นไปตามหลักสากล (Prescription Only Medicines, Pharmacy Only Medicines และ Over-the-counter Medicines) และให้คงวิชาชีพที่จะจ่ายยาได้มีเพียงแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์เหมือนเดิม
กำหนดให้การผลิตหรือผสมยาที่ใช้รักษาสัตว์ทั้งฟาร์มจะต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อน
กำหนดให้มีการขออนุญาตสำหรับการผลิตและการนำเข้าเภสัชชีววัตถุ
ต้องกำหนดโทษทางปกครอง เพื่อระงับเหตุที่กระทำผิดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค (ต้องมีการกระบวนการตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน จำกัดการประกอบการ เพิกถอนใบอนุญาต ปรับทางปกครอง)
กำหนดให้ อย. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลและตรวจสอบโครงการวิจัยทดลองยาในมนุษย์ เพื่อคุ้มครองอาสาสมัครที่เข้าร่วมงานวิจัย
การใช้ยาที่สมเหตุสมผล
กำหนดให้การแบ่งประเภทยาเป็นไปตามหลักสากล (Prescription Only Medicines, Pharmacy Only Medicines และ Over-the-counter Medicines) และให้คงวิชาชีพที่จะจ่ายยาได้มีเพียงแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์เหมือนเดิม
การเข้าไม่ถึงยาเพราะราคาแพง
กำหนดให้ต้องยื่นโครงสร้างราคายาเมื่อขอขึ้นทะเบียนตำรับยา (ม. 44 : ร่างฉบับก่อนหน้านี้มี ม.44 (11) โครงสร้างราคายา ให้นำกลับมาใส่ไว้ในร่าง พรบ. ฉบับนี้)
กำหนดให้คณะกรรมการยามีอำนาจในการออกมาตรการควบคุมราคายา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน[full-post]
แสดงความคิดเห็น