Posted: 31 Aug 2018 09:29 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-08-31 23:29


จักรพล ผลละออ

จริงๆ ต้องขอออกตัวก่อนเลยว่าผมไม่ได้มีความตั้งใจจะเขียนกระทู้นี้ขึ้นมา แต่ตัดสินใจเขียนเพราะคิดว่าต้องรับผิดชอบต่อการเขียนกระทู้สั้นๆ ก่อนหน้า (ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ ‘บ่นลอยลม’ มากกว่าจะเป็น ‘กระทู้’) ซึ่งเป็นการตั้งคำถามต่อกรณีที่คุณเฌอปรางถูกดึงตัวไปทำงานรับใช้รัฐบาลเผด็จการ ในรายการ “เดินหน้าประเทศไทย วัยทีน” (หรือดาราคนดังคนอื่นๆ ที่ไปทำงานรับใช้รัฐบาลเผด็จการ – แต่ในที่นี้ผมขอยกแค่กรณีของคุณเฌอปรางขึ้นมาเพราะเห็นว่าเป็นกรณีที่มีคนพูดถึงกันเยอะ) ซึ่งผมคิดว่ามันมีประเด็นที่สมควรต้องนำมาอภิปรายต่อเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกระทู้ก่อนหน้าที่ผมเขียนไว้เมื่อคืน

ในกระทู้นี้ผมเตรียมลำดับของการอภิปรายเอาไว้ทั้งหมด 3 ขั้นใหญ่ๆ ว่าด้วย “กรณีเปรียบเทียบคุณเฌอปราง กับ ดร.ป๋วย”, “ภาพความเป็นไอดอลนักประชาธิปไตยของคุณเฌอปราง”, “ปัญหาของปัญญาชนประชาธิปไตยในการอภิปรายถึงกรณีของคุณเฌอปราง”

ผมขอเริ่มต้นด้วยหัวข้อแรกตามลำดับ อันที่จริงผมเห็นข้อเขียนในการ “ชู” คุณเฌอปรางขึ้นมามีสถานะเป็นตัวแทน เป็นไอดอล (Idol – ใจจริงผมอยากใช้คำแปลไทยโดยตรงมากกว่าคำทับศัพท์ที่แปลว่า “เทวรูป” หรือ “รูปบูชา” อะไรทำนองนี้ด้วยซ้ำในกรณีนี้) ของคนรุ่นใหม่ที่มีลักษณะ “ก้าวหน้า” หรือ “โอนเอียงมาทางฝ่ายประชาธิปไตย” มาสักระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งภาพนี้ถูกชูและผลิตซ้ำต่อๆ กันมาในหมู่แฟนคลับของคุณเฌอปราง ที่เรียกว่า “โอตะ” ซึ่งการชูภาพอะไรแบบนี้เป็นเรื่องที่มีปัญหาแน่ๆ และส่งผลต่อปัญหาข้อถกเถียงที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย ซึ่งผมจะยกไปอภิปรายในลำดับถัดไป

ทีนี้กลับมามองเฉพาะกรณีของกระทู้ของผมเมื่อวานที่ผมเสนอเรื่อง “ความเหมือนของคุณเฌอปรางกับกรณี อ.ป๋วย ที่ไปรับใช้สฤษดิ์” ผมต้องยกเรื่องนี้มาอภิปรายอีกอย่างละเอียดเพราะเห็นว่าในความเป็นจริงแล้วมันมีทั้ง “ความเหมือน” และ “ความต่าง” ของทั้งสองกรณีอยู่ ผมขอเท้าความไปถึงกรณีของ อ.ป๋วย สั้นๆ นิดเดียว คือกรณีอ.ป๋วยเนี่ยเคยเข้าไปรับตำแหน่งข้าราชการในช่วงยุคที่สฤษดิ์ซึ่งเป็นเผด็จการกำลังครองอำนาจอยู่ รวมถึงในช่วงที่สฤษดิ์มีการออกคำสั่งให้ประหารชีวิตคุณครอง จันดาวงศ์ และ ทองพันธุ์ สุทธิมาศ โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 17 เนี่ย อ.ป๋วยก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมการประชุมเพื่อลงมติให้มีการสั่งประหารชีวิตคนด้วย ยังไม่นับรวมเรื่องอื่นๆ ที่เกิดในระหว่างที่สฤษดิ์กำลังครองอำนาจและ อ.ป๋วย ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐบาลเผด็จการ ทีนี้กลับมาสู่เรื่องที่ผมเสนอว่ามันเป็น “ความเหมือน” และ “ความต่าง” ของกรณีคุณเฌอปราง กับ อ.ป๋วย ผมตามอ่านข้อเขียนถึงกรณีคุณเฌอปรางอยู่นานตั้งแต่เมื่อวานก่อน แล้วก็พยายามจับการอ้างเหตุผลโต้แย้ง (argument) อยู่นานพอสมควร (แต่แน่นอนว่าการตามอ่านนี้ยังไม่ครอบคลุมข้อเขียนทั้งหมดแน่ๆ ) แต่เรื่องหนึ่งที่มีการยกขึ้นมาเป็นเรื่องหลักคือการให้เหตุผลว่า คุณเฌอปรางไม่มีอำนาจมากพอที่จะปฏิเสธคำเชื้อเชิญ (คำสั่ง) ของเผด็จการได้ ซึ่งเป็นกรณีที่อาจจะคล้ายกันกับเรื่องการอ้างว่า อ.ป๋วย นั้นจำเป็นต้องกลับมาทำงานทดแทนเงินภาษีแผ่นดิน อะไรทำนองนั้น ประเด็นสำคัญคือผมไม่คิดว่าคุณเฌอปราง “ในทางส่วนตัว” แล้วไม่สามารถปฏิเสธได้ (กรุณาดูที่ผมเน้นย้ำคำว่า “ในทางส่วนตัว” เพราะมันมีปัญหาอื่นตามมาอีกที่ผมจะอภิปรายในส่วนท้ายสุดของกระทู้นี้) ในกรณีร่วมสมัยกันผมขอยกกรณีตัวอย่างของคุณสฤณี อาชวานันทกุล ที่ประกาศไม่ยอมรับตำแหน่งที่รัฐบาลเผด็จการยื่นให้ แล้วก็ไม่ได้มีผลเสียหายอะไรตามมา คือเรื่องนี้ในทางหนึ่งต้องบอกว่าเป็นบรรดาแฟนคลับของคุณเฌอปรางเองที่ “กลัว” ไปเองแล้วสร้างความหวาดกลัวซ้ำๆ ในการกดเพดานความคิดของตัวเองลง (เช่นเดียวกันกับที่มีการสร้างความเชื่อในเรื่องกรณี 112 ว่าห้ามเสนอหรือห้ามแตะต้องมาตรา 112 ในช่วงหลังนี้ – แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ อ.สมศักดิ์อภิปรายเอาไว้นานแล้ว และไม่มีความเกี่ยวข้องในที่นี้เพราะฉะนั้นถือว่าตกไป) กรณีของคุณสฤณีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า “ในทางส่วนตัว” คุณเฌอปรางสามารถปฏิเสธคำเชิญนี้ได้โดยไม่มีผลเสียอะไรต่อตัวเองเลยสักนิด การให้เหตุผลโต้แย้งว่าถ้าปฏิเสธคำสั่งรัฐบาลเผด็จการแล้วจะมีอันตราย “ในเรื่องเล็กน้อย” เท่านี้เป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริงอย่างยิ่ง

อันที่จริงผมยกกรณีของ อ.ป๋วย มาเปรียบเทียบกับกรณี คุณเฌอปรางในที่นี้เป็นเพียงการเปรียบเทียบอย่างผิวเผินเท่านั้น แต่เป็นการเปรียบเทียบอย่างผิวเผินที่มีนัยสำคัญบางประการ คือในแง่หนึ่งผมคิดว่าเราต้องสามารถวิจารณ์ได้ว่าคนกลุ่มนี้(ดารา, คนดัง, นักวิชาการ, อาจารย์, ฯลฯ) ไม่มีความจำเป็น และไม่ควรไปทำงานรับใช้รัฐบาลเผด็จการอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะยกเหตุผลอะไรมาอ้างก็ตาม เพราะไม่อย่างนั้นถ้าเรายกว่าคุณเฌอปรางต้องไปทำงานเพราะไม่สามารถปฏิเสธคำสั่งของเผด็จการได้ “ในทางส่วนตัว” ภายใต้มาตรฐานเดียวกันเนี่ยเราก็ไม่สามารถวิจารณ์ใครได้เลย วิจารณ์ สมาชิก สนช. ก็ไม่ได้ วิจารณ์ คณะรัฐมนตรี ก็ไม่ได้ วิจารณ์เจ้าหน้าที่ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ก็ไม่ได้ เพราะเขาอ้างได้หมดแหละว่าปฏิเสธคำสั่งเผด็จการไม่ได้ ต้องจนใจทำตามคำสั่ง

อย่างไรก็ตามประเด็นของผมคือผมเสนอว่าเราต้องวิจารณ์คนเหล่านี้ได้ แต่ขณะเดียวกันผมไม่ได้เรียกร้องว่าต้องให้คนกลุ่มนี้ “แตกหัก” (break) กับรัฐบาลเผด็จการโดยตรง หรือออกมาเป็นแกนนำต่อต้านรัฐบาลอะไรทำนองนั้นในทันที ต้องละทิ้งหน้าที่การงานอะไรทำนองนั้นแน่ๆ ในสถานการณ์เช่นนี้ผมคงไม่คิดไปเรียกร้องให้ใครออกไปทำอะไรแบบนั้น (แต่ถ้าคุณเฌอปรางยินดีทำเองโดยส่วนตัว อันนี้ผมไม่ห้ามและพร้อมสนับสนุน แฮร่!)

ถัดมาคือปมปัญหาเรื่องที่สองที่ผมอยากอภิปรายต่อคือเรื่อง “ภาพความเป็นไอดอลนักประชาธิปไตยของคุณเฌอปราง” อย่างที่ผมอภิปรายไปก่อนหน้านี้ว่าเรื่องนี้มีปัญหาอย่างมาก และส่งผลต่อการอภิปรายกรณีที่คุณเฌอปรางไปทำงานรับใช้เผด็จการ ผมเข้าใจว่าคนในแวดวงปัญญาชน-นักกิจกรรมประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งยกเรื่องคุณเฌอปรางหรือวง BNK ขึ้นมาในฐานะของ “ภาพตัวแทน” หรือ “สัญลักษณ์” บางอย่างที่ค่อนข้างโน้มเอียงมาหาเรื่องประชาธิปไตย อย่างกรณีของ อ.เจษฎา, คุณเนติวิทย์ หรือในระดับปัญญาชนทั่วๆ ไปที่เป็นฐานแฟนคลับของวงหรือคุณเฌอปรางเอง ก็มีการยกและผลิตซ้ำเรื่องนี้ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม จริงๆ กระทู้ของ คุณรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ ที่เขียนเรื่องคุณเฌอปรางไว้ค่อนข้างน่าสนใจมาก

คือคุณรักษ์ชาติเสนอคำถามอย่างง่ายว่า “ทำไมเราต้องคาดหวังว่าคุณเฌอปรางจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตย?” พูดอย่างจริงจังเลยว่าผมเห็นด้วยกับการตั้งคำถามนี้อย่างยิ่ง แต่ประเด็นถัดมาก็คือแล้วเราจะทำอย่างไรกับกรณีแบบนี้?

ผมขอย้อนกลับไปหากรณี อ.ป๋วย อีกสักนิด คือถ้าใครเคยอ่านหรือได้ฟังข้อวิจารณ์ของ อ.สมศักดิ์ ที่มีต่อ อ.ป๋วย จะเห็นว่า อ.สมศักดิ์ โจมตี “ความไม่คงเส้นคงวา” หรือ “ความไร้ความกล้าหาญทางศีลธรรม” ของ อ.ป๋วย ที่ไปทำงานรับใช้สฤษดิ์และไม่กล้ากระทั่งจะวิจารณ์รัฐบาลเผด็จการ ซึ่งการวิจารณ์นี้อยู่บนรากฐานของความคิดที่ว่า อ.ป๋วย เป็นนักเสรีนิยม (Liberal) กลับมาที่ ข้อเขียนของคุณรักษ์ชาติต่อกรณีคุณเฌอปราง คุณรักษ์ชาติเสนอในทิศทางคล้ายๆ กันว่า “การจะวิจารณ์คุณเฌอปรางเรื่องไปรับใช้เผด็จการควรจะต้องพิจารณาก่อนหรือไม่ว่าคนที่เราวิจารณ์เขามีจุดยืนแบบไหน” (ผมสรุปเนื้อหามาคร่าวๆ ประมาณนี้) อันที่จริงผมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยไปพร้อมๆ กันในข้อเสนอนี้ ผมมีคำถามง่ายๆ ว่า อ.ป๋วย นี่เคยประกาศตัวเองว่าเป็นเสรีนิยมหรือเปล่า? อันนี้เป็นเรื่องสำคัญนะครับเพราะเท่าที่ผมทราบ อ.ป๋วย น่าจะไม่เคยประกาศโดยตรงด้วยซ้ำว่าแกเป็นเสรีนิยม โอเคในช่วงชีวิตของแกมีการเสนอเรื่องสิทธิ เสรีภาพ เกลียดคอมมิวนิสต์ อะไรทำนองนั้น แต่ถ้าเรายึดเรื่อง “การประกาศ” จุดยืนจริงๆ เนี่ย ไม่เฉพาะแค่ อ.ป๋วย หรือ คุณเฌอปราง เท่านั้นแต่ผมคิดว่าเราอาจจะไม่สามารถวิจารณ์ใครสักคนนึงได้เลยด้วยซ้ำ นี่เป็นสิ่งที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยนัก และผมคิดว่าเราสามารถวิจารณ์ใครสักคนนึงได้โดยไม่จำเป็นต้องรอจุดยืนของเขา – กรณี อ.ป๋วย ผมเข้าใจว่าเป็นคนแวดล้อม หรือลูกศิษย์ของแกเองที่ประกาศว่า อ.ป๋วย เป็นเสรีนิยม – เช่น อ.จอน อึ๊งภากรณ์ ที่ประกาศว่าจุดยืนของ อ.ป๋วย เป็นนักเสรีนิยมประชาธิปไตย

อันที่จริงปัญหาเรื่อง “ภาพแสดงตัวแทน” ที่ถูกสร้างขึ้นมานี้เป็นปัญหาใหญ่ ที่ส่งผลต่อความคลาดเคลื่อนในข้อถกเถียงไปอย่างมาก ในที่นี้ผมขอสรุปอย่างกระชับเพื่อจะไปต่อว่า คุณเฌอปรางอาจจะมีจุดยืนที่เป็น/หรือไม่เป็น ฝ่ายประชาธิปไตยก็ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถวิจารณ์คุณเฌอปราง (หรือคนอื่นๆ) อันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนทางจุดยืนนี้ได้ ขณะเดียวกันการสร้างภาพแสดงตัวแทนแบบที่เป็นอยู่ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามท้ายที่สุดแล้วมันส่งผลโดยตรงต่อความเข้าใจที่เรามีต่อปัญหา

ถัดมาในประเด็นสุดท้ายที่ผมยกไว้ ซึ่งเข้าใจว่าเนื้อหาตอนนี้ค่อนข้างยาวมากแล้วดังนั้นผมจะพยายามอภิปรายอย่างกระชับที่สุด คือเรื่อง “ปัญหาของปัญญาชนประชาธิปไตยในการอภิปรายถึงกรณีของคุณเฌอปราง” อย่างที่บอกไปข้างต้นผมตามอ่านข้อถกเถียงเรื่องนี้อยู่สักพักตั้งแต่เมื่อวาน และขอสารภาพตามตรงว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่การอภิปรายโต้แย้งกันวนอยู่แค่เรื่อง “ตัวบุคคล” ของคุณเฌอปราง มีน้อยมากที่จะอภิปรายไปถึงปมปัญหาที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องนี้ คือปัญหาเรื่อง “อำนาจเผด็จการ” และ “ระบบทุนนิยม” (เห็นคำนี้แล้วอย่าพึ่งเบื่อกันว่า จักรพลมันมาเสนอเรื่องทุนนิยมอีกแล้วนะครับ เพราะเรื่องนี้มีปัญหาและเป็นปัญหาจริงๆ ) เท่าที่สังเกตผมเห็นว่ามีไม่กี่คนที่ยกสองเรื่องนี้ขึ้นมาพูด และอย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้นในหัวข้ออภิปรายแรกที่ผมเสนอว่า “ในทางส่วนตัว” แล้วคุณเฌอปรางสามารถปฏิเสธคำเชิญของเผด็จการได้ แต่ปัญหาที่ผมจะยกมาอภิปรายคือสถานะของคุณเฌอปรางไม่ได้เป็นแค่เรื่อง “ในทางส่วนตัว” อีกต่อไปแล้ว หรือหากจะพูดให้ถึงที่สุดคือ “คุณเฌอปรางอยู่ภายใต้สัญญาจ้างที่มีต่อบริษัทซึ่งทำให้คุณเฌอปรางไม่มีอำนาจในการตัดสินของตนเองอย่างแท้จริง” การตัดสินใจว่าจะตอบรับหรือปฏิเสธจึงไม่ใช่เรื่องของคุณเฌอปรางเพียงคนเดียวในทางส่วนตัวอีกต่อไป – ต้องอธิบายเพิ่มเติมอีกนิด ผมเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาในฐานะที่พยายาม “เข้าใจ” ต่อสถานะของคุณเฌอปราง และชี้ว่าปัญหาของเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับทุน แต่ไม่ได้แปลว่าเราห้ามวิจารณ์คุณเฌอปราง

ปมปัญหาถัดมาที่ปัญญาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดถึงกันเท่าไหร่และเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมากคือไม่มีการพูดถึงเรื่องที่รัฐนำเงินจำนวนมหาศาลมาผลิตรายการโฆษณาชวนเชื่อ อย่างรายการเดินหน้าประเทศไทย รายการเดินหน้าประเทศไทยวัยทีน ฯลฯ แล้วบังคับให้เราต้องดู ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับและพูดให้ถึงที่สุดแล้วกรณีคุณเฌอปรางหรือดาราคนอื่นๆ จะไม่เกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำถ้ามันไม่มีรายการไร้สาระแบบนี้ขึ้นมาตั้งแต่แรก

น่าเสียดายที่ข้อถกเถียงจำนวนมากจำกัดวงอยู่แต่เรื่องของสิทธิ หรือความคิด หรือจุดยืน หรือเรื่องความเสี่ยงของคุณเฌอปราง (ที่ผมเสนอไปแล้วว่าในทางส่วนตัวคุณเฌอปรางสามารถปฏิเสธได้โดยไม่มีอันตรายเลยสักนิด) แต่มีน้อยมากๆ ที่จะย้อนกลับมาพูดกันเรื่องอำนาจรัฐที่พยายามแทรกตัวเองเข้ามาควบคุมและกล่อมเกลาประชาชนผ่านการบังคับเราให้ต้องดูรายการโฆษณาชวนเชื่อของเผด็จการ.



ปล. ผมขออธิบายเพิ่มเติมในกรณีเรื่องกระทู้ของคุณรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ ที่ผมอาจจะเขียนนำเสนอโดยสรุปความเห็นของคุณรักษ์ชาติคลาดเคลื่อนไป คือคุณรักษ์ชาติเสนอว่าเราสามารถที่จะวิจารณ์คุณเฌอปราง หรือคนอื่นๆ ได้ และการอภิปรายของคุณรักษ์ชาตินั้นไม่ใช่การเสนอว่าเราห้ามวิจารณ์ตัวบุคคล แต่คุณรักษ์ชาติพยายามเสนอแง่มุมในการมองอีกบริบทหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในกระทู้นี้การสรุปของผมอาจจะทำให้ข้อความที่คุณรักษ์ชาติต้องการสื่อสารผิดเพี้ยนไป ผมจึงเขียน footnote นี้เพื่อขยายความเพิ่มเติมและยอมรับต่อข้อผิดพลาดในข้อเขียนนี้ของตัวเอง



อ้างอิง

ดูกระทู้สั้นๆ ที่ผมเขียนเรื่องคุณเฌอปรางกับอาจารย์ป๋วยได้ที่นี่ : https://www.facebook.com/gungun.okc/posts/1931990840156770?notif_id=1535468445112434&notif_t=feedback_reaction_generic

คำสัมภาษณ์บางส่วนเรื่องทัศนคติ มุมมองของสมาชิก BNK ต่อสังคมไทย - มีการพูดถึงเรื่องการเลือกตั้ง, ประชาธิปไตยอยู่บ้างแต่คนที่พูดไม่ใช่คุณเฌอปราง :https://gmlive.com/wild-life-election-hiv-social-issue-bnk48

กระทู้ของคุณรักษ์ชาติ ที่ผมอ้างถึงในกระทู้นี้ : https://www.facebook.com/ohkub/posts/10156809314178939

กรณีคุณสฤณี อาชวานันทกุล ปฏิเสธคำสั่งแต่งตั้งของ คสช. : https://www.matichon.co.th/politics/news_821123

ตัวอย่างบทสัมภาษณ์ของคุณเนติวิทย์ ที่มีการเอ่ยถึงชื่อคุณเฌอปราง ซึ่งผมอภิปรายว่าเป็นการสร้างภาพตัวแทนของความเป็นฝ่ายประชาธิปไตย โดยไม่ตั้งใจให้เกิดขึ้นในหมู่แฟนคลับคุณเฌอปราง : https://thematter.co/.../power-relation-in-thai.../53626

ดูข่าวเรื่องคุณเฌอปรางถูกดึงตัวไปจัดรายการ ‘เดินหน้าประเทศไทย วัยทีน’ ได้ที่นี่ : https://voicetv.co.th/read/Hyhz8_MDQ

หมายเหตุ: แก้ไขเพิ่มเติมจาก Facebook Jakkapon
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.