Posted: 08 Sep 2018 06:46 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-09-08 20:46
8 ก.ย. 2561 ที่โรงแรมทีคการ์เดน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 8 ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและชุมชน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 ก.ย. โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับ Forest Peoples Programme และองค์กรอื่นๆ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน จากประเทศต่างในภูมิภาคอาเซียนและอื่นๆ อาทิ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินเดีย เนปาล โดยมี วัส ติงสมิตร ประธานกสม. ไทยเป็นประธานเปิด
ทั้งนี้ในช่วงเช้า ทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียงของ ได้กล่าวเปิดงานว่า ตนเป็นนายอำเภอที่นี่ พบว่าน้ำในแม่น้ำโขงแล้งมาตลอด 3 ปี แต่ปีนี้มีระดับน้ำโขงขึ้นสูงสุดในรอบหลายปี ขณะนี้อำเภอเชียงของจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางในการพัฒนา และมีโครงการพัฒนาหลายกิจกรรม ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชน และตนเองในนามนายอำเภอต้องทำหน้าที่ปกครองให้เกิดความสมดุลในสัมพันธภาพต่างๆ และในหน้าที่ของพี่น้องประชาชนก็มีสิทธิที่จะรักษาอะไรบ้าง และรัฐก็มีสิทธิที่จะดำเนินการอะไรบางอย่าง และในพื้นที่ไม่มีอำนาจและสิทธิที่จะไกล่เกลี่ย
เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียน ที่ผ่านมีการประชุมมาแล้ว 7 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเรื่องผลกระทบจากอุตสาหกรรมเกษตร การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่นยางพาราและปาล์มน้ำมัน ในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย และเป็นประเด็นที่ชุมชนได้มีการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง ครั้งนี้เป็นการประชุมปีที่ 8 โดยเน้นประเด็นว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนภาคธุรกิจ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากอุตสาหกรรมน้ำตาลในกัมพูชา โรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา เป็นต้น ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้เจ้าของกิจการรับผิดชอบในการลงทุนข้ามพรมแดน และให้ภาครัฐ หลายหน่วยงานร่วมกันการกำกับดูแลภาคธุรกิจ รัฐบาลจะต้องมีการจัดทำแผนการปฏิบัติการแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชน และภาคธุรกิจต้องทำหน้าที่และทำความเข้าใจต่อหลักการสิทธิมนุษยชน ตลอดจนต้องมีการะบวนการติดตามประเมินผลและความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิในภาคธุรกิจในประเทศไทยแล้ว
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวในเวทีว่า เราเห็นว่ามีการละเมิดสิทธิของชุมชนจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ข้ามพรมแดน ทั้งเขื่อน และโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ทำให้คนท้องถิ่นได้รับผลกระทบ สิทธิชุมชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียนต้องให้ความสำคัญ
ในการพัฒนาแบบนี้ เห็นได้ชัดว่าผลประโยชน์อยู่ในมือของสองกลุ่ม คือ รัฐ และกลุ่มทุนหรือภาคธุรกิจ แต่สิทธิของชุมชนที่อยู่ตามริมน้ำโขงถูกละเลยไป แม่น้ำโขงถูกการพัฒนาเพื่อพลังงานไฟฟ้า เพื่อเศรษฐกิจอย่างเดียวเท่านั้น กลไกและโครงสร้างที่มีอยู่ไม่สามารถทำหน้าที่เพื่อการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนได้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ที่มีมานาน แต่เขื่อนกลับเกิดขึ้น โครงการระเบิดแก่งเกิดขึ้น MRC คือ หน่วยงานระหว่างประเทศ หน่วยงานนี้ยังไม่เห็นถึงคนข้างล่าง เหมือนเงาที่ทาบทับประชาชน เหมือนรัฐบาลทำให้เอง ประชาชนไม่ต้อง กระบวนการนี้ไม่ต้องถูกแก้ไข เราต้องการสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงอาเซียน ประชาชนเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญมากในการจัดการร่วม
เชีย สวี ตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาเลเซีย (Suhakam) กล่าวว่า ประสบการณ์ร่วมมือในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ กรณีของบริษัทมาเลเซียที่ไปลงทุนในประเทศพม่า กรณีโครงการปลูกปาล์มในเมืองมะริด ภาคใต้ของพม่า ซึ่งมีกลุ่มเยาวชนกะเหรี่ยงยื่นคำร้อง พบว่าการใช้พื้นที่ในการปลูกโครงการปาล์มน้ำมัน ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านใน 4 หมู่บ้าน พื้นที่กว่า 6,000 เอเคอร์ และจะทำให้ชาวบ้านต้องได้รับผลกระทบวิถีชิต มีข้อกังวลต่อผลกระทบจากการใช้สารเคมี และยาฆ่าแมลง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้าน โดย กสม. มาเลเซียประสานงานกับ กสม. พม่า เพื่อติดตามตรวจสอบในโครงการนี้
เชีย สวี กล่าวว่า ยังมีการร้องเรียนของชาวบ้านลุ่มน้ำโขง ต่อกรณีโครงการเขื่อนดอนสะโฮง บนแม่น้ำโขงที่ลาวตอนใต้ โดยมีผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัทเมกะเฟิรก์ส ของมาเลเซีย ต่อผลกระทบข้ามพรมแดน อย่างไรก็ตาม กสม. มาเลเซียพบว่าคำร้องที่ได้ส่งไปคือ การไม่มีข้อมูลที่เพียงพอและไม่มีกระบวนปรึกษาหารือที่เพียงพอ และโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการประมงและวีถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ประเทศไทยและประชาชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในโครงการอนุมัติโครงการ ซึ่งถือว่าโครงการดังกล่าวละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพและวิถีชีวติของชาวบ้าน อย่างไรก็ตามตัวแทนกสม. มาเลเซีย ไม่ได้ไปลงพื้นที่ในลาว แต่ได้พบกับตัวแทนบริษัทเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม และใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและมีเสนอให้มีการประชุมร่วมกับบริษัทเมกะเฟิร์ส แต่ได้รับการปฎิเสธ และกฎหมายในมาเลเซีย กสม. ไม่มีอำนาจตรวจสอบโครงการที่อยู่นอกอาณาเขตได้
Roganda Parulian Simanjuntak ตัวแทนกลุ่ม AMAN เครือข่ายชนพื้นเมืองของประเทศอินโดนีเซีย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า ปัญหาในอินโดนีเซียคือ รัฐบาลยึดพื้นที่ของชนพื้นเมืองไป และประกาศว่าเป็นพื้นที่ของรัฐ และรัฐให้สัมปทานแก่รัฐบาลโดยไม่ได้แจ้งแก่ชนพื้นเมือง เมื่อได้รับสัมปทานบริษัทก็ทำลายป่าตามวัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้าน (customary land) และชาวบ้านก็ถูกละเมิด ฟ้องจากการที่จะหยุดบริษัท และหลายคนต้องตายและติดคุก ปัจจุบันชนพื้นเมืองพยายามที่จะผลักดัน และมีการเสนอให้นโยบายท้องถิ่น 4 ด้านเพื่อปกป้องสิทธิของคนพื้นเมือง และมีนโยบายมากมายที่เกิดขึ้นเพื่อปัจจุบันมีท้องถิ่นกว่า 36 เมืองที่ได้ออกกฎหมายและข้อบัญญัติของท้องถิ่นปกป้องสิทธิชนพื้นเมือง ขณะนี้ทางองค์กรพยายามเสนอให้รัฐมีกฎหมายประเพณีของชุมชน และปีนี้กฎหมายดังกล่าวคาดว่าจะประกาศใช้ ตามที่ประธานาธิบดี โจโควี ได้ให้สัญญาไว้ พวกเราองก็กังวลว่า กฎหมายจะไม่ประกาศใช้ตามสัญญา จึงต้องติดตามดังกล่าว[full-post]
แสดงความคิดเห็น