ภาพประกอบโดย อิศเรศ เทวาหุดี | แฟ้มภาพดัดแปลงจากแหล่งภาพประกอบ: Wikipedia (Public Domain) CEphoto/Uwe Aranas และ Crisco 1492 (CC BY-SA 3.0)
Posted: 05 Sep 2018 06:14 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-09-05 20:14
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดเวทีที่เชียงใหม่รับฟังความเห็นหลังไทยสนใจร่วมความตกลง CPTPP ด้านภาคประชาสังคมแสดงความห่วงใยว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจทางการค้าของบรรษัทข้ามชาติ และมีแต่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะได้รับประโยชน์ นำไปสู่การผูกขาดทางการเกษตร
เมื่อวันที่ 4 กันยายน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยได้แสดงท่าทีให้ความสนใจต่อการเข้าร่วมความตกลง CPTPP
ทั้งนี้ในเวทีของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ กว่า 170 คน โดยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย รวมถึงภาคธุรกิจ และกลุ่มสิทธิผู้หญิง ทั้งจากเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงหลายจังหวัดในภาคเหนือ
สำหรับความตกลง CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ
แต่เดิมความตกลงนี้ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2549 มีชื่อเดิมว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) และมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในตอนนั้นถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2017 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อโดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ปัจจุบัน สมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม โดย 11 ประเทศสมาชิกได้ลงนามความตกลง CPTPP ไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2018 และอยู่ระหว่างออกกฎหมายเพื่อรับรองข้อตกลง (ratification) ขณะที่เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา ไต้หวัน สหราชอาณาจักร รวมทั้งรัฐบาลไทยสนใจที่จะเข้าร่วมความตกลงนี้
โดยประเด็นที่กลุ่มเกษตรกรและองค์กรภาคประชาสังคมตั้งคำถามมากที่สุดในเวทีประชาพิจารณ์ที่ จ.เชียงใหม่ ได้แก่ การเข้าถึงและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช ราคาผลิตผลการเกษตร รวมไปถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบเมื่อเปิดการค้าเสรี
สกนธ์ วรัญญวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดเวทีครั้งนี้ว่า เป็นไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในภาคเหนือ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยอยู่ในระหว่างการศึกษาโอกาสและข้อท้าทายต่อการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้า CPTPP จึงได้จัดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และระบุว่าข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากเวทีนั้นจะนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อประกอบขั้นตอนการการตัดสินใจต่อไป
ดร.รัชดา เจียสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี จำกัด บริษัทที่ปรึกษาเอกชนทางเศรษฐกิจ นำเสนอข้อมูลด้านโอกาสและข้อท้าทายที่ได้รับจากข้อตกลงทางการค้า CPTPP และอ้างถึงผลการศึกษาว่า บริษัทที่ปรึกษาได้ติดตามข้อตกลงเจรจาการค้า TPP มากกว่าสิบปี และมั่นใจว่าประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์มากขึ้นจากการยกมาตรฐานสูงขึ้นภายในประเทศตามข้อตกลงการค้านี้ และจะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
ดร.รัชดายังระบุด้วยว่าเครือข่ายเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ได้ทำการวิจัยผลกระทบจากข้อตกลง CPTPP ในประเทศไทย ในขณะเดียวกัน ยังไม่ปรากฎชัดว่ามีงานวิจัยจากภาครัฐที่วิเคราะห์ผลกระทบต่อประเทศต่อประเด็นการเข้าร่วม CPTPP
ทั้งนี้ ผู้นำเสนอในเวทีดังกล่าวประกอบด้วยภาครัฐและภาคเอกชน โดยไม่มีตัวแทนจากองค์กรภาคประชาชนนำเสนอข้อมูลที่แตกต่างไปจากภาครัฐ
"เป็นที่น่าสังเกตว่า ‘การประเมินผลกระทบข้อตกลง CPTPP’ นั้นมีแต่บรรษัทขนาดใหญ่หรือภาคเอกชนเป็นผู้จัดทำการวิจัย ซึ่งชัดเจนว่า หากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP แน่นอนว่าภาคธุรกิจขนาดใหญ่จะได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลงนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การผูกขาดกลไกตลาดทางการเกษตร และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบคือผู้หญิง ชาวนา เกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ" มัจฉา พรอินทร์ ประธานสมาคมไทย APWLD กล่าว
"เมื่อมองจากสิทธิเกษตรกร สิทธิผู้หญิง แรงงาน และสิทธิการเข้าถึงภาคบริการสาธารณะ เราขอยืนยันว่า เราภาคประชาสังคม ขอยืนยันไม่รับ UPOV 1991 และ CPTPP" มัจฉา กล่าว
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยนำโดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะนำประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงการค้า CPTPP หลังจากได้รับการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยอ้างว่าจะนำไปสู่การเติบโตภาคธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยต่อมากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เริ่มจัดเวทีประชาพิจารณ์ในห้าจังหวัด ซึ่งได้จัดเวทีรับฟังไปแล้วล่าสุดสองแห่ง คือ จังหวัดชลบุรี และเชียงใหม่ และจะจัดขึ้นอีกในสามจังหวัดคือ สงขลา กรุงเทพฯ และขอนแก่น ในวันที่ 13, 16, และ 26 กันยายน ตามลำดับ
กลุ่มเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากจากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ที่เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ CPTPP ต่างแสดงท่าทีเป็นห่วงและกังวลเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์และสิทธิของเกษตรในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์และการใช้ในชุมชน ทั้งนี้ธิดากุล แสนอุดม ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่าเกษตรกรไทยยังคงสิทธิในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ตราบที่เมล็ดพันธุ์นั้นยังไม่ได้ถูกจดสิทธิบัตรจากบริษัท
ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน แสดงความคิดเห็นต่อการจัดเวทีครั้งนี้ว่า "รู้สึกว่าเวทีประชาพิจารณ์ไม่ได้รับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ดูเหมือนเป็นเวทีเพื่อการโฆษณาว่า CPTPP ดีอย่างไรมากกว่า และคิดว่าท้ายที่สุดแล้วข้อตกลงทางการค้านี้จะทำลายกลุ่มเกษตรกรรายย่อย และสนับสนุนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามากดขี่เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานอีกที"
นักกิจกรรมจาก APWLD เดินรณรงค์คัดค้านความตกลง TPP ที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในช่วงการประชุมสุดยอด APEC เมื่อปี 2558 โดยต่อมาสหรัฐอเมริกาในสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากความตกลง TPP นำมาสู่การเจรจาความตกลง CPTPP ดังกล่าว (ที่มา: APWLD/แฟ้มภาพ)
เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก (APWLD) ได้แถลงการณ์ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรนักกิจกรรมสิทธิสตรีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคกว่า 50 องค์กร จาก 10 ประเทศใน 11 ประเทศคู่ค้า CPTPP เพื่อคัดค้านข้อตกลง CPTPP เนื่องจากมองว่าข้อตกลงขนาดใหญ่นี้มุ่งเน้นการให้อำนาจและสิทธิพิเศษแก่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เท่านั้น โดย CPTPP จะให้รัฐต้องปฏิบัติกับบริษัทข้ามชาติเช่นเดียวกับนักลงทุนในชาติ (national treatment) และผลักให้เกษตรกรรายย่อยต้องแข่งขันกับอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเข้มงวดในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา โดยห้ามการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ระหว่างกลุ่มเกษตรกรด้วยกัน ส่งผลกระทบต่อชาวนาผู้หญิงซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ และวิถีชีวิตเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ
สุลักษณ์ หลำอุบล จาก APWLD กล่าวว่า CPTPP โดยแท้จริงแล้ว เป็นเพียงการเพิ่มอำนาจของบริษัทข้ามชาติในการวางกรอบระเบียบทางการค้ารวมถึงการกำหนดกฎหมายและนโยบายภายในประเทศ
“ต่อข้อซักถามเกี่ยวกับการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์พืชของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหาร และการเข้าถึงยา ท่าทีจากผู้แทนรัฐบาลยังกล่าวแต่ว่า ประชาชนยังคงเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้ตราบเท่าที่ทรัพยากรนั้นยังไม่ได้รับการจดสิทธิบัตร ซึ่งนับว่าเป็นคำตอบที่เป็นการตบหน้าประชาชน เนื่องจากเห็นได้ชัดว่า CPTPP เป็นการบังคับใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดขึ้นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์บนชีวิตประชาชนเท่านั้น” สุลักษณ์ กล่าว
APWLD จะยังคงติดตามเวทีประชาพิจารณ์นี้ต่อไปพร้อมกับสนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อสร้างความยุติธรรมทางสังคม และเพื่อคัดค้านการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้า CPTPP ของรัฐบาลไทย
แสดงความคิดเห็น