Posted: 10 Sep 2018 06:53 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-09-10 20:53


วิดีโอจากเวทีอภิปรายสาธารณะ "โซตัสกับการพัฒนาสังคมไทย สร้างชาติหรือถ่วงความเจริญ?“ โดยตัวแทนนักการเมืองรุ่นใหม่ จากหลากหลายพรรคการเมือง ประกอบด้วย นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ หรือหมอเอ้ก ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ พรรณิการ์ วานิช ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ และ ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ดำเนินรายการโดย ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย อดีตประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ผู้ผลักดันปฏิรูปการรับน้อง โดยเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมใหญ่ประจำปี 2561 เครือข่ายปฏิรูปรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ANTI SOTUS) วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2561 ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยตอนหนึ่งผู้ร่วมฟังการเสวนาได้ตั้งคำถามว่า ตัวแทนพรรคการเมืองบางคนตั้งต้นด้วยความคิดว่า ระบบ SOTUS เป็นคุณค่าที่ดี แต่การประยุกต์ใช้ที่ผ่านมาอ้างจะเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิและเกินเลยไป จึงต้องการถามว่า เราจะทำอย่างไรที่จะการันตีว่าผลที่เกิดจากระบบ SOTUS จะไม่กลายพันธุ์ไปเป็นอย่างอื่น

สาธิต เทพวงศ์ศิริรัตน์ อดีต ส.ส. จังหวัดสุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า ระบบ SOTUS โดยหลักการแล้วเป็นสิ่งที่ดีแต่การประยุกต์ใช้จะดีหรือไม่ และจะสามารถการันตีได้อย่างไรนั้นเห็นว่า นักศึกษาควรมีการดำเนินการจัดการพูดคุยกันเองในคณะ ยังไม่ต้องไปคิดถึงขั้นของการออกกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องที่ใหญ่ และไม่จำเป็นที่จะต้องไปถึงขั้นนั้น แต่นักศึกษาสามารถจัดการกันเองได้ เพราะเป็นปัญญาชนแล้ว

“คุยกันในคณะ รุ่นพี่ กับรุ่นน้อง พูดถึงกันก่อนว่าสิ่งที่ทำอยู่บางเรื่องมันผิด มันละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แล้วจะปรับเปลี่ยนการรับน้องอย่างไรเพื่อให้มีประโยชน์ขึ้น กิจกรรมมันต้องมีอยู่ ในมหา’ลัยมันต้องมีกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกันให้สนุกสนาน คือจะไปยกเลิกเลย มาเรียนเสร็จกลับบ้านมันไม่ใช่ มหา’ลัยมันมีสิ่งให้เรียนรู้เยอะแยะ ผมเนี่ยเป็นเด็กต่างจังหวัด พอเข้ามหา’ลัยเป็นอะไรที่ตื่นตาตื่นใจมาก เกรดปีหนึ่งนี่ร่วงระนาว” สาธิต กล่าว

สาธิต กล่าวต่อว่าการมีกิจกรรมรับน้อง หรือกิจกรรมอื่นๆ ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เขายกตัวอย่างว่าการจะทำกิจกรรมรับน้องขึ้นมาได้รุ่นพี่ก็จะต้องทำกิจกรรมระดมทุน ขายสมุด ขายเสื้อ เพื่อเก็บเงินมาทำกิจกรรม นัยหนึ่งมันเป็นการสอนเรื่องการหาทุนให้กับนักศึกษา แต่เรื่องใดที่เป็นการละเมิดสิทธิก็ต้องมีการพูดคุยกันภายในว่าจะวางกรอบของกิจกรรมอย่างไร

ด้าน นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ การรับน้อง หรือกิจกรรมในมหาวิทยาลัยสามารถทำให้ดีได้โดยยอมรับเงื่อนไขทั้ง 3 อย่างคือ 1.ผู้เข้าร่วมเข้าร่วมโดยความสมัครใจ 2.ต้องไม่มีการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีการทำร้ายร่างกาย ต้องไม่เกิดความสูญเสียไม่ว่าจะด้านร่างกาย หรือจิตใจก็ตาม และ 3.การไม่ตีตราคนที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรม

“รุ่นพี่บางมหาวิทยาลัย หรือคนที่ออกแบบกิจกรรมอย่างห้องเชียร์ ถ้าเกิดเจอว่ามีคนไม่เข้า คนที่เข้าต้องทำเพิ่มเข้าแทนคนที่ไม่อยู่ คนอยู่ก็ต้องมาคิดว่า ทำไมไอ้คนนั้นไม่มาว่ะ เห็นแก่ตัวฉิบหาย นี่คือการตีตราอย่างที่ผมบอก นักศึกษาต้องคิดใหม่ แม่งไอ้รุ่นพี่เนี่ยทำไมมันคิดอย่างนี้ว่ะ คนที่ไม่เข้ามันเป็นสิทธิของเขาที่ไม่อยากจะเข้า ทำไมคุณมาสั่งให้พวกผมทำเพิ่มได้อย่างไร คุณต้องสร้างวิธีคิดแบบนี้ให้เกิดขึ้น” นพ.คณวัฒน์ กล่าว

เขากล่าวต่อว่า ระบบ SOTUS เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น จะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับการเอาไปใช้ ฉะนั้นไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปเปลี่ยนคุณค่าของ SOTUS เพราะเป็นเรื่องที่แยกออกจากการรับน้อง สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเป็นการละเมิดสิทธิคือการแอบอ้างเอา SOTUS มาใช้แล้วนำไปใช้ในทางที่ผิดเท่านั้น

ขณะที่ พรรณิการ์ วานิช ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ เห็นต่างออกไปโดยเธอชี้ให้เห็นว่า SOTUS ไม่คอนเซปที่ดี หรือเป็นคอนเซปที่เป็นกลาง แต่เป็นคอนเซปของระบอบเผด็จการ และตราบใดที่งาช้างไม่งอกออกจากปากสุนัข ประชาธิปไตยไม่งอกออกจากปลายกระบอกปืน ก็ไม่มีอะไรที่เป็นประชาธิปไตยงอกออกมาจากระบบ SOTUS ได้ และระบบ SOTUS กับการรับน้องเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกัน เราจะบอกว่ามันเป็นคอนเซปที่สร้างสรรค์ไม่ได้ เพียงแค่คำว่า รับน้อง มันก็แสดงให้เห็นว่ามีวัฒนธรรมของการแบ่งชั้น ความสูง ความต่ำอยู่

ด้านตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ตัวแทนพรคเพื่อไทย เห็นว่า การจะการันตีได้ว่าระบบ SOTUS จะไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยจะต้องออกประกาศว่าการรับน้องจะต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ ส่วนการเรียนที่โรงเรียนมัธยมก็ควรจะมีการปลูกฝังเรื่องสิทธิ และประชาธิปไตย เพื่อที่จะทำให้เมื่อได้เป็นนักศึกษาจะรู้ว่าภายใต้กิจกรรมรับน้อง เขาสามารถที่จะไม่เข้าร่วมกิจกรรม หรือเดินออกไปได้

นอกจากนี้เขายังเห็นว่าระบบ SOTUS ที่มีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นไม่ใช่เครื่องมือที่จะสร้างคนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการสอนให้คนทำตามคำสั่ง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบ SOTUS ให้เป็นไปตามยุคสมัย

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.