สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 19-25 มี.ค. 2560
Posted: 25 Mar 2017 05:45 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
 
ก.แรงงาน วอนสถานประกอบกิจการ ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ HIV
 
กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน วอนสถานประกอบกิจการปฏิบัติต่อลูกจ้างผู้ติดเชื้อเอชไอวี อย่างถูกต้องไม่เลือกปฏิบัติและพร้อมให้ความช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้าง
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กสร.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาลูกจ้างผู้ติดเชื้อเอชไอวีในสถานประกอบกิจการ ที่ส่งถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของตัวลูกจ้างและผลประกอบการของสถานประกอบกิจการ รวมถึงส่งผลต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศด้วย ซึ่งปัญหาที่ประสบคือ ลูกจ้างมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ลูกจ้างที่ติดเชื้อเอชไอวีถูกรังเกียจและไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างถูกต้อง กสร. จึงขอความร่วมมือสถานประกอบกิจการทำความเข้าใจกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม นายจ้างต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างถูกต้องและพร้อมให้ความช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้าง ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันให้กับสถานประกอบกิจการได้มีกลไกการป้องกันและการจัดการ ที่จะลดผลกระทบ เรื่องเอดส์อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของสากลบนพื้นฐานกรอบการทำงานที่มีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีในการทำงาน
 
อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ลูกจ้างผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะอยู่ร่วมกันในสถานประกอบกิจการ ได้อย่างเหมาะสมนั้น นายจ้างควรส่งเสริมและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับลูกจ้างทุกคน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี ตามหลักวิทยาศาสตร์และระบายวิทยา รวมถึงให้ลูกจ้างได้ทำงานตามปกติในตำแหน่งงานและลักษณะงานที่เหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อที่ยังทำงานได้ และส่งเสริมสิทธิในการรักษาความลับส่วนบุคคล เพื่อสถานประกอบกิจการจะไม่สูญเสียบุคลากรที่มีคุณภาพ ทักษะและประสบการณ์ในการทำงาน และก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของสถานประกอบกิจการที่มีต่อสังคมในการส่งเสริมให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีศักยภาพเพียงพอที่จะสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 19/3/2560
 
ขสมก.ระบุจะทยอยเลิกจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสาร หลังนำระบบอี-ทิคเก็ตมาให้บริการ
 
ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ระบุ ขสมก.อยู่ระหว่างการประมูลติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-ทิคเก็ตบนรถโดยสารประจำทาง 2,600 คัน วงเงิน 1.7 พันล้านบาท คาดว่าจะลงนามสัญญาในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยระยะแรกจะใช้ระบบอี-ทิคเก็ตควบคู่กับพนักงานเก็บค่าโดยสาร หลังจากนั้นจะทยอยเลิกจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสารที่มีอยู่กว่า 4 พันคนที่ผ่านมา ขสมก.มีนโยบายยกระดับพนักงานเก็บค่าโดยสารเป็นพนักงานขับรถให้มากที่สุดเพื่อลดผลกระทบ ปัจจุบันมีพนักงานเก็บค่าโดยสารเปลี่ยนมาเป็นพนักงานขับรถเฉลี่ยเดือนละประมาณ 20 คน คาดว่าจะมีพนักงานเก็บค่าโดยสารเปลี่ยนมาเป็นพนักงานขับรถได้ประมาณ 1 พันคน จากที่มีอยู่ 4 พันคน
 
 
ลอยแพพนักงานสหรัตนนคร 37 คน บากหน้าพึ่งศาลขอบริษัทจ่ายชดเชย
 
สืบเนื่องจากกรณีศาลปกครองกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บริษัท สหรัตนนคร จำกัด ในฐานะผู้บริหารและพัฒนา นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2559 และในเดือนกรกฎาคม 2559 ศาลมีคำสั่งให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้าไปมีอำนาจในการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางและสิ่งอำนวยความ สะดวก พื้นที่ 536 ไร่ จากพื้นที่พัฒนาทั้งหมดของเฟสแรก 1,441 ไร่ นั้น
 
ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานจากศาลแรงงาน จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 ได้มีอดีตพนักงานของบริษัทสหรัตนนคร จำนวน 37 คน ซึ่งได้ถูกยกเลิกสัญญาจ้างนับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2559 หลังจากบริษัทสหรัตนนครหมดอำนาจในการบริหารลง ได้เข้ายื่นหนังสือและเขียนคำร้องต่อศาลแรงงาน ภาคที่ 1 จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อขอให้บริษัทจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน นอกเหนือการจ่ายเพียงสวัสดิการ 6 เดือนของเงินเดือน ซึ่งศาลรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา และศาลจะเรียกบริษัทสหรัตนนคร
 
และ จพท. เข้ามาหารือเพื่อพิจารณาและไกล่เกลี่ยปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ระหว่างทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม หากทางบริษัทยังไม่ชดเชยใด ๆ ฝ่ายพนักงานเตรียมจะยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรม เพื่อขอความเป็นธรรม หรือให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยต่อไป จนกว่าจะได้รับเงินชดเชยและช่วยเหลือที่ควรจะได้
 
ก่อนหน้านี้พนักงานได้ไปยื่นคำร้องกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อขอความช่วยเหลือมาแล้ว ดังนั้น ทางสำนักงานสวัสดิการฯ ได้ประสานไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) กรมบังคับคดีดำเนินการช่วยเหลือ แต่ทางบริษัทได้แจ้งต่อ จพท.ว่า ไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยได้ เนื่องจากไม่มีเงินเหลือแล้ว
 
"ส่วนใหญ่พนักงานทำงานกับบริษัทนานกว่า 20 ปี พนักงานได้รับเพียงสวัสดิการ เช่น บางคนระดับหัวหน้าควรได้รับชดเชยประมาณ 300,000 บาท/คน ในระดับพนักงานทั่วไปอีกคนละประมาณ 100,000 บาท ซึ่งรวมทั้งหมด 37 คน ประมาณ 5.7 ล้านบาท แต่บริษัทอ้างว่าเมื่อถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ทรัพย์สินของบริษัทไม่สามารถขายทอดตลาดได้จึงไม่มีเงินมาจ่าย และอำนาจจึงถูกโยนไปให้ จพท. พิจารณาทั้งหมด"
 
นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า หลังจากที่ กนอ.เข้าไปบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคตามคำสั่งศาลตั้งแต่ปีที่แล้ว กนอ.ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้าไปบริหารระบบสาธารณูปโภคฯ เพื่ออำนวยความสะดวก และให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับผู้ประกอบการที่ตั้งโรงงานผลิตอยู่ในพื้นที่ ส่วนเรื่องของพนักงานที่ถูกเลิกจ้างต้องเจรจากับทางบริษัทสหรัตนนครเอง
 
นางธีรนาฏ โชควัฒนา ผู้อำนวยการ บริษัท สหรัตนนคร จำกัด เปิดเผยว่า เนื่องจากบริษัทยังคงอยู่ระหว่างการเจรจาประนอมหนี้กับทางเจ้าหนี้รายใหญ่ ซึ่งทางบริษัทไม่ได้มีเจตนาไม่จ่ายเงินชดเชย แต่เป็นเพราะถูกพิทักษ์ทรัพย์ไป จึงไม่สามารถจ่ายพนักงานได้ และยังคงยืนยันว่าหากการประนอมหนี้สามารถตกลงกันได้ บริษัทจะกลับมารับผิดชอบเงินชดเชยส่วนนี้
 
"ที่ผ่านมา เราพยายามเจรจากับทางพนักงานถึงเหตุผลและสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ถูกปฏิเสธจึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดและขัดแย้งกันเรื่อยมา อดีตพนักงานจึงต้องหาคนมาช่วย ส่วนความคืบหน้าในการสร้างเขื่อนถาวรรอบนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ตามแผนที่ กนอ.กล่าวไว้นั้น ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เนื่องจากทาง กนอ.อ้างว่าต้องได้รับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากทางเราก่อน จึงจะอนุมัติงบฯก่อสร้างได้ ซึ่งเรามองว่าการฮุบนิคมจากเราครั้งนี้มันยืดยาวเกินไปทำให้นักลงทุนขาดความ เชื่อมั่น พื้นที่และโรงงานขายไม่ออก ไม่มีคนเช่าเพิ่ม"
 
 
ก.ค.ศ. เห็นชอบคนเก่งไร้ตั๋ว สอบครูผู้ช่วยได้ ประกาศรับสมัคร 21-29 มี.ค.นี้
 
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานก.ค.ศ.เสนอ เกี่ยวกับการสรรหาบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ดังนี้ คือ 1. อนุมัติให้ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย จากเดิมที่กำหนดว่า “มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพ ครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน” กำหนดใหม่เป็น “มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน ก่อนการบรรจุและแต่ตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานการศึกษาสามารถสรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถเหมาะสม ตามความจำเป็นในการใช้ครูของส่วนราชการ
 
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งจะใช้สำหรับสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุแต่งตั้งครูผู้ช่วย ทั่วไป ครั้งที่ 1/2560 ที่จะประกาศรับสมัครวันที่ 21-29 มีนาคม โดยปรับปรุงในประเด็นที่ เกี่ยวข้องจากการปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่ง ดังนี้ 1 กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบแข่งขัน จากเดิม ที่กำหนดว่า” ผู้มีสิทธิ์สมัครสอบต้องมีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30 และต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ตามาตรฐานตำแหน่งครบถ้วนในวันที่สมัคร” กำหนดใหม่เป็น “ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30 และต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ตามาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย” รวมถึงกำหนด การเรียกตัวผู้สอบแข่งขันได้เพื่อบรรจุแต่งตั้งครั้งแรก ให้ใช้ประกาศขึ้นบัญชีสอบแข่งขันได้เป็นการเรียกตัวผู้มีสิทธิ์ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ที่ประกาศผลการสอบแข่งขันไว้ โดยกำหนดวันรายงานตัวไม่น้อยกว่า 7 วันแต่ไม่เกิน 10 วัน นับแต่วันประกาศผลการสอบแข่งขัน
 
“มตินี้สำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการปรับแก้หลักเกณฑ์การรับสมัคร ให้คนที่ยังไม่มีใบอนุญาตฯ หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ที่คุรุสภาออกให้ สามารถสมัครสอบแข่งขันจากเดิมที่ต้องมีใบอนุญาตฯ จึงจะสามารถสมัครได้ ซึ่งจะเริ่มประกาศรับสมัครในวันที่ 21 มีนาคม โดยสาขาที่ยังมีความต้องการจำนวนมากคือ สาขาด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ดังนั้นหากใครมีความรู้ความสามารถก็ขอให้มาสมัคร เพราะเราอยากได้คนเก่งมาเป็นครู เมื่อสอบแล้ว ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการเพื่อให้ได้ใบอนุญาตฯ ที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนคุรุสภา”รัฐมนตรีว่าการศธ. กล่าว
 
 
ครม.มติอนุมัติหลักการลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง-ผู้ประกันตน ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ 12 จังหวัดภาคใต้
 
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ รวมถึงให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอครม.ตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวงแรงงานฉบับนี้ได้กำหนดให้นายจ้างและผู้ประกันตนในจ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง กรณีวาตภัย และอุทกภัย ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือน ม.ค.2560 ถึงงวดเดือน มี.ค.2560 โดยส่งเงินสมทบในอัตราฝ่ายละร้อยละ 3 ของค่าจ้างของผู้ประกันตน
 
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ให้กำหนดให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสภาพการจ้างงานซึ่งมีทะเบียนผู้ประกันตนในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรงในท้องที่ดังกล่าวได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือน ม.ค.2560 ถึงงวดเดือน มี.ค.2560 โดยส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 288 บาท กำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นไป
 
 
เปิดแผนดูแล “กระเป๋ารถเมล์” กว่า 4 พันคน จ่อถูก ขสมก.โละ เล็งใช้ E-Ticket แทน
 
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษก ก.แรงงาน กล่าวถึงกรณีองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ระหว่างการประมูลติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) บนรถโดยสารประจำทาง 2,600 คัน และจะทยอยเลิกจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสารที่มีอยู่กว่า 4,000 คน ในปี 2560 ว่า จากแผนของ ขสมก. นั้น กระทรวงแรงงานมีแนวทางช่วยเหลือพนักงานที่จะถูกเลิกจ้าง ดังนี้ 1. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้เตรียมแนวทางเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหาร ขสมก. ในการดูแลและช่วยเหลือพนักงานเก็บค่าโดยสารที่อยู่ในข่ายการเลิกจ้าง โดยการนำโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลี รีไทร์) และได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
 
นายอนันต์ชัย กล่าวว่า 2. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จะเข้าไปเสริมทักษะการขับรถสาธารณะให้พนักงานที่ปรับไปเป็นพนักงานขับรถ รวมถึงเสริมทักษะอาชีพอื่นให้กลุ่มที่ถูกเลิกจ้างหากต้องการปรับเปลี่ยนงานด้วย เพื่อให้มีทักษะที่ตรงกับความต้องการ และ 3. กรมการจัดหางาน จะเข้าไปหาตำแหน่งงานใหม่รองรับและสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะดูแลเรื่องเงินทดแทนกรณีว่างงาน
 
“สำหรับสิทธิประโยชน์กรณีเออร์ลี รีไทร์ ตามกฎหมายของพนักงานรัฐวิสาหกิจ คือ ลูกจ้าง/พนักงาน ผู้ได้ปฏิบัติในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 5 ปีขึ้นไป ให้ได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน และปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกัน 15 ปีขึ้นไป ให้ได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ทั้งนี้ ในกรณีที่นายจ้างมีข้อบังคับ ข้อกำหนดระเบียบ หรือคำสั่งในการจ่ายค่าชดเชยกรณีพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุ ให้ถือว่าเงินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของเงินเพื่อตอบแทนความชอบ” นายอนันต์ชัย กล่าว
 
นายอนันต์ชัย กล่าวว่า ขณะที่พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมาย คือ ทำงาน 3 เดือนแต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน / ทำงาน 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปีได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน / ทำงาน 3 ปี ไม่ครบ 6 ปี ค่าชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน /ทำงาน 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ค่าชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน และทำงาน 10 ปีขึ้นไป ค่าชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน
 
 
กนอ. จับมือพันธมิตรแก้ปัญหาขาดแรงงาน รับนิคมฯสงขลา
 
กนอ. เตรียมจับมือ สำนักงานแรงงานจังหวัดสงขลา และสถาบันการศึกษาต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ร่วมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ให้มีความพร้อมรองรับการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดสงขลาอย่างเพียงพอทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยในระยะสั้น มุ่งเน้นการจัดหาแรงงานที่มีอยู่แล้วในตลาด ส่วนระยะกลาง-ระยะยาว มุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตร เพื่อผลิตแรงงานให้สอดรับกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
 
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ กนอ. เปิดตัวโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) จังหวัดสงขลา ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในการเพิ่มอุปสงค์การใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมขั้นกลางน้ำและปลายน้ำที่สำคัญ ตลอดจนมุ่งเน้นนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ยางพารา ส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหายางพาราอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนนั้น ขณะนี้ กนอ. อยู่ระหว่างเดินหน้างานด้านการตลาด เพื่อหาผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับยางพาราที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในโครงการ ขณะเดียวกัน ก็ให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงของลูกค้า/นักลงทุน (Voice Of Customer : VOC) เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุง/แก้ไขปัญหา และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญและมีผลต่อการตัดสินใจเป็นอย่างมาก คือ ความพร้อมทางด้านแรงงาน ดังนั้น กนอ. จึงได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออก ในเรื่องดังกล่าว
 
“ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรม ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ สวนทางกับสภาวะการจ้างงานในภาคการผลิตที่มีแนวโน้มการขยายตัวสูงขึ้น จึงเป็นประเด็นข้อกังวลใจของผู้ประกอบการในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) จังหวัดสงขลา กนอ. จึงได้ดำเนินการใน 2 เรื่องหลัก คือ 1. การพัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานแรงงานจังหวัดสงขลา ด้านการจัดหาแรงงานให้เพียงพอสำหรับสถานประกอบการ ในนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งครอบคลุมทั้งแรงงานมีฝีมือ แรงงานทั่วไป และแรงงานต่างด้าว 2. การพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะสถาบันอาชีวศึกษา ด้านการพัฒนาและเตรียมความพร้อม ของแรงงานในอนาคตให้มีความเหมาะสม/สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยคาดว่า จะมีการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOC) ระหว่าง กนอ. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2560”
 
ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวต่อไปว่า การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น จะมุ่งเน้นการจัดหาแรงงานที่มีอยู่แล้วในตลาด ส่วนในระยะกลาง-ระยะยาว จะมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตร เพื่อผลิตแรงงานให้สอดรับกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งของนิคมอุตสาหกรรมยางพารา นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ และนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ สงขลา ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ นอกจากจะเป็นแหล่งการจ้างงานที่มั่นคงให้กับชาวสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ยังเป็นแหล่ง ฝึกประสบการณ์ในการทำงานที่ดี ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่แรงงาน และนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้แก่ภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตอีกด้วย
 
 
ซีพีเอฟร่วมกับภาครัฐ สร้าง “สังคมพึ่งตน” จ้างงานคนพิการ ยกระดับคุณภาพชีวิตดีขึ้น
 
ซีพีเอฟ สนับสนุนการจ้างงานคนพิการทั่วประเทศเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ ล่าสุดร่วมกับอำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี คัดเลือกคนพิการ 6 คน ร่วมทำงานในชุมชน เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางไปทำงานไกลบ้าน ยกระดับคุณภาพชีวิต นำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างมั่นคง
 
ปัจจุบัน “โครงการจ้างงานคนพิการ” ของซีพีเอฟ มีการจ้างงานคนพิการรวมทั้งสิ้น 723 คน ในจำนวนนี้เป็นพนักงานประจำสำนักงานของบริษัท 270 คน อีก 242 คน เป็นการจ้างงานให้ทำงานใกล้บ้านเป็นงานบริการสาธารณะในชุมชน ส่วนที่เหลือ 211 คน เป็นการจ้างงานในลักษณะสนับสนุนองค์กร-มูลนิธิเพื่อจ้างคนพิการ
 
นายศราวุธ สุวรรณจูฑะ นายอำเภอวังม่วง จ.สระบุรี เปิดเผยว่า โครงการจ้างงานคนพิการ ของ ซีพีเอฟ สอดคล้องกับนโยบายของอำเภอวังม่วง สังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลการอยู่ดีกินดีของประชาชนไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อำเภอวังม่วง ได้ร่วมมือกับ ซีพีเอฟ คัดเลือกคนพิการจำนวน 6 คนในอำเภอที่มีฐานะยากจน และเป็นคนดี มาเป็นพนักงานซีพีเอฟ เพื่อทำงานสาธารณะประโยชน์ให้แก่ชุมชนตนเองตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2559 เป็นต้นมา โดยรับผิดชอบทำงานแตกต่างกัน เช่น ช่วยงานโรงเรียน วัด สถานที่ราชการ หรือฟาร์มไก่และฟาร์มสุกรที่อยู่ใกล้บ้าน จากการติดตามประเมินผลจากคนพิการที่เข้าร่วมโครงการฯ พบว่าทุกคนพึ่งพาตัวเองได้ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จากที่มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว และได้ทำประโยชน์กับชุมชน โดย ซีพีเอฟ เป็นคนรับผิดชอบค่าจ้างแรงงาน
“คนพิการที่ร่วมโครงการฯกับซีพีเอฟเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพของชุมชน เป็นการช่วยให้คนพิการที่มีความประพฤติดีแต่ด้อยโอกาส มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมได้ ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้คนพิการได้ทำประโยชน์ให้กับชุมชนของตนเองด้วย” นายศราวุธกล่าว
 
นายอับดุลเหล๊าะ เลิศอริยะพงษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตตามแนวทาง “สังคมพึ่งตน” ซึ่งเป็น 1 ในสามเสาหลักสู่ความยั่งยืนของบริษัท ประกอบด้วย อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่ เพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โครงการจ้างแรงงานคนพิการนี้ เป็นการดำเนินโครงการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
 
ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2559 ที่ผ่านมา ซีพีเอฟ ได้ร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น วัด และโรงเรียน จัดจ้างคนพิการได้ทำงานใกล้บ้าน 2 รูปแบบ รูปแบบแรก จัดจ้างให้ทำงานสาธารณประโยชน์ ช่วยเหลือวัด โรงเรียน สำนักงานเทศบาล ในชุมชน รูปแบบที่สอง จัดจ้างคนพิการให้ ทำงานช่วยดูแล “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ในโรงเรียนที่ ซีพีเอฟ ให้การสนับสนุนอยู่กว่า 660 แห่งทั่วประเทศ
 
ภายใต้โครงการจัดจ้างคนพิการ ซีพีเอฟ มีการจ้างคนพิการให้ทำงานใน 3 รูปแบบ คือ เป็นพนักงานบริษัท รูปแบบให้การสนับสนุนองค์กรหรือมูลนิธิเพื่อคนพิการ โดยเปิดพื้นที่ให้คนพิการเข้ามาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในโรงงาน หรือฟาร์มทุกเดือน และรูปแบบการจ้างคนพิการให้ทำงานบริการชุมชน เช่น ที่อำเภอวังม่วง เป็นต้น
 
นายอับดุลหล๊าะกล่าวว่า คนพิการ 6 คน ของอำเภอวังม่วง ทำงานในชุมชนตนทั้งในโรงเรียน และวัดใกล้บ้าน มีหน้าที่รับผิดชอบช่วยงานทำความสะอาดสถานที่ ตัดหญ้า หรืองานทั่วๆ ไปตามที่เจ้าอาวาสและผู้อำนวยการโรงเรียนมอบหมาย ทำงานทุกวันจันทร์-วันศุกร์ ได้รับค่าจ้างรายเดือนตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ โดยบริษัทฯ ร่วมกับองค์กรท้องถิ่นในการดูแลติดตามประเมินผลการดำเนินงานและคุณภาพชีวิตของคนพิการอย่างใกล้ชิด
 
“อำเภอวังม่วงเป็นอีกตัวอย่างของความสำเร็จของความร่วมมือกันของรัฐและเอกชน ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการในสังคมไทย ไม่เพียงช่วยให้คนพิการมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ แต่ยังช่วยให้คนพิการมีความภูมิใจในคุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเอง” นายอับดุลเหล๊าะกล่าว
 
ซีพีเอฟจะมีการประเมินผลโครงการจัดจ้างคนพิการทำงานใกล้บ้านทั่วประเทศอย่างสม่ำเสมอ และมีแผนจะร่วมมือกับภาครัฐในท้องถิ่นจ้างคนพิการทำงานช่วยชุมชนเพิ่มขึ้น จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนบุคลากรตามแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในอนาคต เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมได้มีโอกาสพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
 
 
กระทรวงแรงงาน จัดหลักสูตรการตลาดห้องพักออนไลน์ เสริมการท่องเที่ยวอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปี 2560 กพร.มีนโยบายด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับทิศทางของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ด้านการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ เพียงใช้สื่ออินเตอร์เน็ตให้เป็นธุรกิจ และการประกอบธุรกิจด้านการท่องที่ยว อย่างเช่น การจองห้องพักผ่านออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปสำรวจหรือดูที่พักในสถานที่จริงได้ การจองห้องพักผ่านเว็บไซต์จึงเป็นทางเลือกที่สะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย
 
ดังนั้น กพร. เห็นความสำคัญและการพัฒนาที่ต้องทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง จึงจัดฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจด้านการท่องเที่ยวให้สูงขึ้น ด้วยการจัดอบรมหลักสูตร การบริหารจัดการด้านการตลาด E – Commerce สร้างรายได้จากการให้เช่าที่พักออนไลน์ เพื่อพัฒนาทักษะให้เยาวชนที่จะเป็นแรงงานใหม่ ให้มีความพร้อมสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และกลุ่มผู้ประกอบการเกี่ยวกับห้องพัก ให้มีความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจผ่านออนไลน์ เป็นการเพิ่มช่องทางการดำเนินธุรกิจอีกช่องทางหนึ่งโดย ผู้เข้าอบรมจะได้ฝึกปฏิบัติการจำลองสถานการณ์จริง ทั้งในส่วนของผู้ให้เช่าที่พัก และผู้เข้าพัก ได้เรียนรู้การประกอบธุรกิจ Start Up เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้จริงหลังจากจบฝึก และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป
 
 
งานวิจัยชี้บัณฑิตจบ ป.ตรี ปี’59 ตกงานเฉียดเกือบ 1.8 แสนคน เหตุตลาดต้องการแรงงาน ‘ปวช.-ปวส.-ม.6’
 
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวในการนำเสนอผลวิจัย “การปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพแก่เยาวชน” จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธุรกิจบันฑิตย์ ว่า ข้อมูลจากการวิจัยสถานการณ์ตลาดแรงงานในกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม พบว่า ตลาดแรงงานไทยในวันนี้ต้องการแรงงานในสายวิชาชีพที่จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และ ม.6 ที่มีทักษะอาชีพพอที่จะไปทำงานได้ ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้จะเป็นกำลังในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ยุค 4.0 โดยข้อมูล Human Capital Report 2016 พบว่า สัดส่วนแรงงานฝีมือของประเทศสวีเดน เยอรมณี สิงค์โปร์ และฟินแลนด์ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 48 ส่วนไทยมีเพียงร้อยละ 14.4 ถือว่าแตกต่างค่อนข้างมาก
 
“โครงสร้างแรงงานที่จะช่วยให้ไทยก้าวไปสู่ยุค 4.0 ได้ คือต้องมีแรงงานฝีมือเพิ่มขึ้น 40-50% แต่ปัจจุบันมีเพียง 20% ขณะที่ผู้เรียนจบปริญญาตรีในปี 2559 ว่างงานถึง 1.79 แสนคน ซึ่งหลายๆ จังหวัดของไทยยังเป็นเศรษฐกิจในยุค 2.0 การจะเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 3.0 และ 4.0 นั้นต้องถูกขับเคลื่อนด้วยแรงงานในสายวิชาชีพ ถ้ายังผลิตคนป้อนไม่ได้ จะมีบางจังหวัดที่พร้อมไปสู่ 4.0 แต่อีกหลายจังหวัดยังอยู่ที่ 2.0 หรือ 3.0 จะยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำมากกว่าเดิม ทั้งนี้ การผลิตคนในสายอาชีพไม่จำเป็นจะต้องผลิตผู้เรียนที่จบอาชีวะอย่างเดียว แต่ขยายสู่โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา ให้นักเรียนได้เรียนวิชาชีพที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานในพื้นที่เป็นวิชาเสริมในการเรียนได้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือกระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องร่วมกันฝึกทักษะวิชาชีพให้นักเรียน รวมถึง คนที่อยู่ในวัยทำงานตอนต้นให้มีทักษะวิชาชีพที่ดีขึ้นด้วย เชื่อว่าภายใน 5 ปี จะเริ่มเห็นภาพการขับเคลื่อนที่การพัฒนากำลังคน และเป้าหมายที่ชัดเจน คาดว่าไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้เต็มตัวในอีก 15 ปีข้างหน้า หรือปี 2575” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว
 
 
ช่วยลูกจ้างสหรัตนนคร พายื่นฟ้องศาลแรงงาน ให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจฯ
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง ๓๗ คน ของบริษัท สหรัตนนคร จำกัด ที่ถูกเลิกจ้างว่ากรณีสืบเนื่องมาจากบริษัท สหรัตนนคร จำกัด ประกอบกิจการจัดสรรที่ดินและบริการสาธารณูปโภคสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ ๖๑๑/๔๐ ถนนเจริญกรุง บางคอแหลม กทม. และมีสาขาอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายจ้างขาดสภาพคล่องทางการเงินและศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการและให้เลิกจ้างพนักงานของบริษัทฯโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ เป็นต้นมา พนักงานตรวจแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับคำร้องของลูกจ้างทั้ง ๓๗ คน และได้มีคำสั่งให้บริษัท สหรัตนนคร จำกัดโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท สหรัตนนคร จำกัด นายจ้าง จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้าง ซึ่งทางนายจ้างได้รับคำสั่งแล้วและไม่ได้นำคดีไปสู่ศาลคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุด นอกจากนี้กสร.ได้ให้ลูกจ้างมาใช้สิทธิขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนฯ
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๐ พนักงานตรวจแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ประสานให้ลูกจ้างยื่นคำฟ้องต่อศาลแรงงานภาค ๑ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อบังคับให้บริษัท สหรัตนนคร จำกัด โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของ บริษัท สหรัตนนคร จำกัด นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งศาลแรงงานภาค ๑ นัดพิจารณาและไกล่เกลี่ยในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๐
 
 
เจ้าของโรงงานผลิตซองบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ชลบุรีถูกไฟไหม้ ให้คำสัญญาจะไม่ทอดทิ้งคนงานกว่า 100 ชีวิต พร้อมจ่ายค่าแรงตามปกติ
 
วันนี้ (23มี.ค.60) นายชัยวุฒิ โชติพุฒศิลป์ เจ้าของโรงงานผลิตซองบรรจุภัณฑ์พลาสติก บริษัท เอสพีซี อินเตอร์พรินท์ จำกัด ที่ถูกเพลิงไหม้ได้ให้คำสัญญากับพนักงาน กว่า 100 คน ว่าจะไม่ทอดทิ้ง ไม่ปลด หรือ ไล่ออก โดยเรื่องค่าจ้างจะให้เหมือนปกติ ไม่หักค่าอะไร เคยได้เท่าไหร่ ก็ให้เท่านั้น แต่อาจล่าช้าในช่วงแรกเพราะข้อมูลค่าแรงพนักงานถูกไฟไหม้ไปด้วย พร้อมได้ปลุกใจพนักงานว่าจะร่วมสร้างกันมาใหม่
 
สำหรับโรงงานแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทองโกรว์ ถนนบางนา-ตราด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรง ตั้งแต่เวลา 16.00 น.ของเมื่อวานที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ใช้เวลาควบคุมเพลิงนานกว่า 6 ชั่วโมงเพลิงจึงสงบ ส่วนสาเหตุเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเกิดจาก แท่นพิมพ์ที่ทำงานหนัก จนเกิดความร้อนเป็นเปลวไฟ ไปถูกวัตถุซองพลาสติก ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงและสารประเภทส่วนผสมที่เป็นวัตถุไวไฟ ประกับกับลมพัดอย่างรุนแรง ทำให้ไฟไหม้โกดัง 2-5 เสียหายทั้งหลัง มูลค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท
 
ส่วนบริเวณที่เกิดเหตุตลอดทั้งคืนจนถึงช่วงเช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่ยังคงฉีดน้ำเพื่อควบคุมเพลิง ในจุดที่ยังที่ไฟลุกไหม้อยู่ โดยเฉพาะจุดที่มีฟิลม์ซองพลาสติก ทินเนอร์ ซึ่งวัตถุประเภทไวไฟและเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี จึงเกิดเพลิงปะทุเป็นหย่อมๆเจ้าหน้าที่ต้องผลัดเปลี่ยนกันคอยฉีดน้ำเลี้ยงควบคุมให้ไฟดับ ส่วนสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ที่แท้จริงต้องรอให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบและสรุปอีกครั้ง
 
 
สหภาพ กฟน.บุก มท.ยื่นหนังสือถึง "บิ๊กป๊อก" ค้านยกเลิกสวัสดิการขั้นพื้นฐาน กฟน.
 
เมื่อวันที่ 23 มี.ค.60 ที่กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง และตัวแทนพนักงานการไฟฟ้านครหลวง นำโดย นายเพียร ยงหนู อดีตกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจ และผู้นำแรงงานการไฟฟ้านครหลวง ยื่นหนังสือถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้รับแทน เรื่องขอคัดค้านการยกเลิกสวัสดิการขั้นพื้นฐานของการไฟฟ้านครหลวง
 
ทั้งนี้ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ต.ค.59 เห็นชอบปรับปรุงค่าตอบแทนระบบจูงใจและสวัสดิการของรัฐวิสาหกิจนั้น คณะกรรมการสหภาพแรงงาน กฟน.ไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้เกิดความหวั่นไหวต่อพนักงาน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนนำไปสู่ความแตกแยก และมีความน้อยเนื้อต่ำใจ ที่รัฐบาลขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการหลายครั้ง แต่พนักงานรัฐวิสาหกิจได้ไม่เท่าเทียม จึงขอให้ยกเลิกและทบทวนมติดังกล่าว
 
 
เตือนแรงงานไทยบินทำงานเก็บผลไม้ป่าฟินแลนด์อาจไม่คุ้มเงินลงทุน
 
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า เนื่องจากช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.ของทุกปี จะมีแรงงานไทยเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากคาดหวังว่าจะมีรายได้กลับมายังประเทศไทยจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามยังมีแรงงานไทยที่มีรายได้ไม่ตรงตามเป้าหมาย หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเก็บผลไม้ป่า โดยปีที่ผ่านมาแรงงานไทยประสบปัญหาราคาผลไม้ป่าตกต่ำ ส่งผลให้รายได้น้อยกว่าทุกปี อีกทั้งยังมีบางรายถูกร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัทผู้รับซื้อ ดังนั้นในปี 2560 นี้ ทางการฟินแลนด์ได้กำหนดโควตาให้แรงงานต่างชาติเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าไม่เกิน 3,500 คน
 
กรมการจัดการงานเตือนคนไทยที่เตรียมบินไปทำงานเก็บผลไม้ป่าฟินแลนด์ในปีนี้ คิดให้ดีอาจไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุนดังนั้น ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าควรพิจารณาให้รอบครอบก่อนตัดสินใจเดินทางไป เนื่องจากมีรายได้ไม่แน่นอน เพราะจำนวนเงินที่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผลไม้ที่เก็บได้ ประกอบกับราคาผลไม้ไม่คงที่ โดยเฉพาะหากปีใดสภาพอากาศแปรปรวน ผลไม้ป่าก็จะมีผลผลิตน้อย ทำให้เก็บได้น้อย รายได้อาจไม่พอรายจ่าย และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานอื่น ๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าประกัน ค่าตรวจสุขภาพ ค่าที่พัก ค่ารถ เป็นต้น รวมแล้วประมาณ 8 หมื่น -1 แสนบาท ดังนั้นควรคำนวณความคุ้มทุน และความเสี่ยง ที่สำคัญต้องประเมินสุขภาพว่ามีพร้อมต่อการทำงานหนักในสภาพอากาศที่หนาวเย็นและความเป็นอยู่ที่ไม่สะดวกสบายได้หรือไม่ แต่หากประสงค์จะเดินทางทำงาน ก็สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1649 อย่างไรก็ตามขณะนี้หลังจากที่ได้มีการหารือร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ก็ได้ขอให้ทางการฟินแลนด์ยกเลิกโควตากับบริษัทผู้รับซื้อที่เอาเปรียบแรงงานไทย และขอให้ดูแลแรงงานไทยที่จะไปเก็บผลไม้ป่าในเรื่องสภาพการทำงาน ความเป็นอยู่ และรายได้ โดยเน้นนโยบายแรงงานไทยจะต้องมีรายได้คุ้มกับค่าใช้จ่ายและได้รับการคุ้มครองที่ดี รวมทั้งจัดให้มีกลไกการร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานระหว่างการทำงานอีกด้วย
 
 
กระทรวงแรงงาน เพิ่มสถานพยาบาลเอกชน 5 แห่ง บริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรมแก่ผู้ประกันตน
 
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามที่สำนักงานประกันสังคมได้ประกาศรับสมัครสถานพยาบาลเข้าร่วมเพื่อให้บริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรมแก่ผู้ประกันตน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการปิดรับสมัคร นั้น ล่าสุด สำนักงานประกันสังคมขอประกาศรายชื่อสถานพยาบาลที่ทำข้อตกลงในการให้บริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรมแก่ผู้ประกันตนเพิ่มเติม โดยมีสถานพยาบาล/คลินิกที่ประสงค์เข้าร่วม เขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงพยาบาลวิชัยเวช แยกไฟฉาย คลินิกทันตกรรมยูสมาย เดนเท็ล จังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ คลินิกทันตกรรมซียูสไมล์ และจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ โรงพยาบาลเซ็นทรัลเชียงใหม่เมโมเรียล คลินิกหมอสุรจิตรทำฟัน ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรม กรณีถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด โดยผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในอัตราไม่เกิน 900 บาท/ครั้ง/ปี ไม่สามารถยกยอดไปใช้ในปีถัดไปได้ ดังนั้นผู้ประกันตนควรหมั่นดูแลสุขภาพในช่องปาก และเบิกค่ารักษาตามสิทธิภายในรอบปีปฏิทินเท่านั้น เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนต่อไป
 
ส่วนหลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับประโยชน์กรณีทันตกรรม ดังนี้ 1.แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16) 2.ใบรับรองแพทย์ 3.ใบเสร็จรับเงิน 4.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ ในกรณีขอรับเงินทางธนาคารให้แนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)สำหรับผู้ประกันตนที่ไม่สะดวกในการใช้บริการกับสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเข้ารับบริการคลินิกอื่น ๆ ได้เช่นกัน เพียงนำใบเสร็จมาเบิกได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
 
 
ญี่ปุ่นขยายระยะเวลาการฝึกปฏิบัติงานเทคนิคถึง 5 ปี พร้อมเพิ่มสาขาอาชีพการดูแลบริบาล
 
กระทรวงแรงงาน เผยญี่ปุ่นออกกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกงานด้านเทคนิคสำหรับชาวต่างชาติช่วยเปิดโอกาสให้แรงงานไทยสามารถฝึกงานได้ถึง 5 ปี พร้อมเปิดสาขาอาชีพการดูแลบริบาลทักษะฝีมือที่สูงขึ้น ล่าสุดส่งแรงงานไทยไปฝึกแล้วเกือบ 4,000 ราย
 
กระทรวงแรงงาน โดย นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกงานด้านเทคนิคสำหรับชาวต่างชาติให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและการคุ้มครองผู้ฝึกงานด้านเทคนิค ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปี ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จะเป็นโอกาสดีของแรงงานไทยที่จะสามารถขยายระยะเวลาการฝึกงานจาก 3 ปี เป็น 5 ปี ทั้งยังได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือที่สูงขึ้น และเพิ่มสาขาอาชีพ “การดูแลบริบาล (Nursing Care) ในระบบการฝึกงานด้านเทคนิค ตลอดจนมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่คือองค์กรฝึกงานด้านเทคนิคสำหรับชาวต่างชาติ (Organization for Technical Intern Training : OTIT) ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบและสั่งลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองผู้ฝึกงานโดยตรงอีกด้วย
 
“ประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดแรงงานที่น่าสนใจมากประเทศหนึ่งของกลุ่มแรงงานที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้มีความร่วมมือกับองค์กร IM ประเทศญี่ปุ่นจัดส่งแรงงานไทยไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปี 2559 โดยการจัดส่งไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ นอกจากค่าใช้จ่ายส่วนตัวของคนหางาน เช่น ค่าหนังสือเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าตรวจสุขภาพ ค่าตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ค่าสมาชิกกองทุน เป็นต้น มีการจัดส่งไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 3,967 คน มีผู้สำเร็จการฝึกฯ จำนวน 2,729 คน โดยมีเบี้ยเลี้ยงตลอดการฝึกฯ 3 ปี ซึ่งเดือนแรกจะได้รับเบี้ยเลี้ยง 80,000 เยน เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 2 จะได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดคือไม่ต่ำกว่า 120,000 เยน/เดือน หรือประมาณ 36,000 บาทต่อเดือน และยังได้รับเงินสนับสนุนในการประกอบอาชีพเมื่อฝึกครบ 3 ปี เป็นเงินคนละ 600,000 เยน หรือประมาณ 180,000 บาท ผู้ฝึกงานจะได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงาน สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นและเรียนรู้การทำงานแบบญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่อกลับประเทศไทยจะมีโอกาสได้ทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทย ดังนั้น จึงขอให้แรงงานไทยที่สนใจไปฝึกงานที่ญี่ปุ่นเตรียมพร้อมเรื่องภาษาและการบริบาลเบื้องต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน เว็บไซต์ www.overseas.doe.go.th หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694” นายวรานนท์ฯ กล่าว
 
ที่มา: กรมการจัดหางาน, 25/3/2560
 

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.