Posted: 23 Mar 2017 10:00 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
นักวิชาการร่วมวงวิพากษ์ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ถามเป็นการใช้ดุลพินิจที่กว้างขวางเกินไปหรือไม่ ด้านผู้วิจัยประเด็นนี้บอกเป็นกฎหมายลักษณะพิเศษที่ให้ศาลเริ่มเอง พิพากษาเอง ไม่ต้องผ่านกระบวนการปกติ และยังไม่สามารถหาหลักเกณฑ์ใดๆ ได้ว่าละเมิดศาลเลยคืออะไร ปิยบุตรระบุการใช้กฎหมายในลักษณะที่ทำให้เสรีภาพไปต่อไม่ได้
งานเสวนา 'คำพิพากศาล' หัวข้อ การละเมิดอำนาจศาล ดูหมิ่นศาล หมิ่นประมาทศาล จากขวาไปซ้าย สรชา สันตติรัตน์, สุดสงวน สุธีสร และภาสกร อินทุมาร
งานเสวนา ‘คำพิพากศาล’จัดโดย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และภาคีเครือข่าย ซึ่งจัดไปเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ประเด็นหนึ่งที่กำลังเป็นที่ถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เกี่ยวกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลที่ขยายแดนออกมาเรื่อยๆ จึงมีการจัดเสวนาในหัวข้อ ‘การละเมิดอำนาจศาล ดูหมิ่นศาล หมิ่นประมาทศาล’ ขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาคือสุดสงวน สุธีสร อดีตอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสรชา สันตติรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สุดสงวนเล่าจากประสบการณ์ตรงที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 1 เดือนฐานละเมิดอำนาจศาล หลังจากพ้นโทษเธอก็กลับไปดูเนื้อหากฎหมายฐานละเมิดอำนาจศาล เธอกล่าวว่า
“ในเรื่องการละเมิดอำนาจศาล ตนเองก็ยังมีประเด็นว่าเป็นการตีความหรือใช้ดุลพินิจที่กว้างขวางเกินไปหรือไม่ ถ้ามองตามหลักวิชา การใช้ดุลพินิจใดๆ ก็ตาม ต้องใช้ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายบัญญัติไว้ ไม่มีสิทธิใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ”
สุดสงวน อธิบายว่า มาตราที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมี 4 มาตรา คือมาตรา 30, 31, 32 และ 33 โดยในมาตรา 30 กฎหมายระบุว่า ให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลที่เห็นจำเป็น เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนการพิจารณาดำเนินไปด้วยความรวดเร็วและเที่ยงธรรม อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึงการสั่งห้ามคู่ความ มิให้ดำเนินการพิจารณาในทางก่อความรำคาญหรือในทางประวิงให้ชักช้า หรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควร
“กฎหมายกำหนดว่าศาลมีอำนาจกำหนดกับใคร เมื่อไหร่ ไม่ใช่กับทุกคน แต่ต้องเป็นคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือกับบุคคลภายนอก ซึ่งเน้นว่าต้องอยู่ต่อหน้าศาลตามที่จำเป็น อาจารย์ถามว่าการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาลหมายถึงอะไร เราก็ต้องกลับไปดู ซึ่งระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 31 ว่าผู้ใดกระทำการใดๆ ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งข้อหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องนี้คือขัดขืนไม่กำหนดตามข้อกำหนดของศาลตามมาตรา 30
“ในเรื่องการละเมิดอำนาจศาล ตนเองก็ยังมีประเด็นว่าเป็นการตีความหรือใช้ดุลพินิจที่กว้างขวางเกินไปหรือไม่ ถ้ามองตามหลักวิชา การใช้ดุลพินิจใดๆ ก็ตาม ต้องใช้ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายบัญญัติไว้ ไม่มีสิทธิใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ”
“แต่จะต้องต่อหน้าศาล ไม่ใช่เข้าไปปุ๊บก็จัดการเลย จึงไม่แน่ใจว่าเป็นดุลพินิจที่กว้างขวางเกินไปหรือไม่ เพราะการละเมิดอำนาจศาลต้องเน้นที่ตัวบุคคลที่ทำบริเวณศาลใช่หรือไม่ ซึ่งหมายถึงอะไร ศาลก็ต้องออกข้อกำหนดมาก่อนว่าอย่าทำบริเวณศาล
“และเมื่อดูจากซีซีทีวีวันนั้น ใครเป็นคนประพฤติตนไม่เรียบร้อย อาจารย์ถูกมองว่าเป็นแกนนำ เป็นคนพาคนไปที่นั่น ซึ่งจริงๆ อาจารย์ไปร่วม ก็อธิบายชัดเจน แล้วทำไมถึงต้องมาลงที่อาจารย์ เพราะถ้าดูซีซีทีวีจะเห็นชัดว่าอาจารย์ไม่ใช่คนที่โห่ร้อง อาจารย์เป็นคนห้ามด้วยซ้ำ”
นอกจากนี้ สุดสงวนยังตั้งข้อสังเกตจากกรณีของเธอที่ใช้วิธีอ่านคำพิพากษาโดยการฉีกจากซองออกมาอ่าน ทำให้เธอไม่รู้ว่าใครคือผู้พิพากษาในคดีของเธอ ซึ่งเธอกล่าวว่าในต่างประเทศ การอ่านคำพิพากษาจะต้องเป็นผู้พิพากษาในคดีนั้นอ่านต่อหน้าโจทกย์และจำเลย เพราะจะทำให้เกิดความรับผิดชอบ เธอตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า
“สิ่งที่อาจารย์ทำ บุคคลต้องอยู่หน้าศาลในห้องพิจารณาคดีหรือเปล่า ต้องทำอะไรจนเป็นการขัดขวางการพิจารณาคดีใช่หรือไม่ แต่อาจารย์อยู่ข้างนอก ไปเป็นเพื่อนประชาชน แล้วอาจารย์ทำตัวไม่เรียบร้อยตรงไหน”
ด้านสรชา ผู้ทำการศึกษาประเด็นนี้ อธิบายว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลปรากฏขึ้นในอังกฤษตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 โดยมีหลักคิดว่าศาลเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์และเป็นประธานในห้องพิจารณาคดี ดังนั้น จึงต้องมีกฎหมายพิเศษหรืออำนาจพิเศษในการจัดการให้ห้องพิจารณาคดีมีความสงบและเป็นไปโดยเรียบร้อย เพื่อที่จะสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้ ดังนั้น ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงเป็นความผิดที่ไม่มีทฤษฎีรองรับที่แน่นอน เป็นความผิดพิเศษที่ให้อำนาจศาลสามารถลงโทษผู้กระทำความผิดโดยไม่จำเป็นต้องมีคนฟ้องร้องและสามารถลงโทษได้ทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ความในคดีเท่านั้น
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมตั้งแต่ ร.ศ.127 ครั้นเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งปี 2478 จึงถูกรวบรวมไว้เป็นความผิดเฉพาะในมาตรา 30-33 และเป็นบทบัญญัติที่ใช้กับคดีทุกประเภท ทุกชั้นศาล
งานชิ้นนี้ทำการศึกษาเหตุผลประกอบคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีละเมิดอำนาจศาล ตั้งแต่ปี 2475-2555 มีทั้งหมด 107 คดีเท่าที่ปรากฏในเว็บศาลฎีกา และได้ศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็มเพียง 16 ฉบับ
“หลักการพื้นฐานของความผิดฐานนี้” สรชา กล่าวเพิ่มเติม “เป็นความผิดที่ให้อำนาจศาลไว้เป็นพิเศษที่ทำให้ผู้พิพากษาไม่ต้องดำเนินตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น ไม่จำเป็นต้องมีทนายความ ไม่จำเป็นต้องมีการฟ้องร้อง ถ้าเป็นความผิดที่เกิดต่อหน้าศาล ศาลสามารถพิจารณาพิพากษา ณ ตอนนั้นได้เลย เพราะถือว่าความผิดละเมิดเป็นความผิดที่ศาลเป็นผู้เสียหาย เป็นความผิดต่อศาลโดยตรง ซึ่งส่งผลต่อวิธีพิจารณาความละเมิดอำนาจศาลทั้งหมด
“ในการไต่สวนคดี ถ้าเป็นการละเมิดที่เกิดขึ้นต่อหน้าศาลจะเป็นวัน สต็อป เซอร์วิส ศาลเห็นเอง พิจารณาเอง พิพากษาเองได้ หากเป็นการกระทำที่ไม่ได้เกิดต่อหน้าศาล ศาลก็สามารถพิจารณาและสามารถค้นหา ไต่สวนข้อเท็จจริงลับหลังจำเลยได้ ทั้งเป็นดุลพินิจของศาลว่าการกระทำใดเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อย”
จากนั้น สรชาได้ยกตัวอย่างหลากหลายกรณี เช่น ในคำพิพากษาฎีกาปี 2549 เป็นคดีที่ฝากขังผู้ต้องหาในห้องคุมขังด้านล่างศาลเพื่อรอการพิจารณา เมื่อผู้พิพากษให้เจ้าหน้าที่ศาลไปตาม ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้อยู่ในห้องขัง แต่นั่งรออยู่ภายนอก สืบพบว่ามีการมอบเงินให้เจ้าหน้าที่เพื่อไม่ต้องเข้าไปอยู่ในห้องขัง ศาลจึงลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลต่อเจ้าหน้าที่เพราะถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เมื่อมีการต่อสู้ว่าตัวจำเลยไม่ได้อยู่ในห้องพิจารณา ศาลก็ให้เหตุผลว่าอยู่ในบริเวณศาล
หรือตัวอย่างการพกพาอาวุธหรือวัตถุที่ไม่เหมาะสมเข้าไปในศาล เท่าที่ปรากฏจะมีฎีกาที่นำอาวุธปืนที่บรรจุกระสุนเข้าไปในบริเวณศาล ในส่วนอาวุธปืนบรรจุกระสุน เริ่มตั้งแต่ปี 2497 ทั้งสามศาลตัดสินเหมือนกันคือให้จำคุก 6 เดือน แม้ว่าจะเป็นปืนที่อยู่ในเสื้อผ้าปกปิด อีกกรณีหนึ่งศาลชั้นต้นให้จำคุก 6 เดือน อุทธรณ์ให้จำคุก 2 เดือน และศาลฎีกาให้จำคุก 2 เดือนโดยไม่รอการลงโทษ ขณะที่อีกคดีหนึ่งพกปืนเข้าไปเช่นกัน แต่มีใบอนุญาต ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ลงโทษจำคุก 3 เดือน ศาลฎีกาปรับ 500 และโทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี สรชาตั้งข้อสังเกตว่าพฤติกรรมแบบเดียวกัน แต่มีการลงโทษไม่เท่ากัน
“ทุกขั้นตอนของการดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณา การไต่สวน การซักถามพยานหลักฐาน หรือการพิพากษาลงโทษ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล เท่าที่ศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาก็ยังไม่สามารถสรุปหลักอะไรได้เลย หากเราเป็นจำเลยในคดีนี้ก็จะคาดเดาค่อนยากว่าจะทำอย่างไร แนวทางการต่อสู้คดีแทบจะวางไม่ได้”
“มาตรา 30 ที่ให้ศาลออกข้อกำหนด กฎหมายบัญญัติไว้ว่าการออกข้อกำหนดจะทำได้ 2 กรณีคือ กรณีที่บุคคลเหล่านั้นอยู่ต่อหน้าศาล หากเป็นกรณีเพื่อรักษาความสงบหรือเพื่อให้กระบวนการพิจารณาดำเนินไปได้ด้วยความรวดเร็ว กรณีที่ 2 คือสั่งห้ามไม่ให้ประพฤติตนไปในทางก่อความรำคาญต่างๆ แต่ที่มักเป็นปัญหา มักมีคนไม่เข้าใจว่า อย่างไรจึงเรียกว่าการประพฤติตนไม่เรียบร้อย
“เท่าที่ศึกษามา ศาลบอกเหตุผลประกอบคำพิพากษาฎีกาว่าเฉพาะการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลเท่านั้นที่ศาลจะต้องออกข้อกำหนด ส่วนการประพฤติตนไม่เรียบร้อย ศาลไม่จำเป็นต้องออกข้อกำหนด หมายความว่าหากเป็นกรณีที่ศาลมองว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อย ศาลสามารถสั่งลงโทษได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการออกข้อกำหนดไว้ก่อน”
สรชา อธิบายว่า การประพฤติตนไม่เรียบร้อยตามคำพิพากษาฎีกาต่างๆ ได้ให้คำนิยามไว้ว่า คือการไม่ปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบตามที่กฎหมยกำหนดไว้หรือโดยจารีตประเพณี ส่วนคำว่าในบริเวณศาล หมายถึงตัวอาคารณ บริเวณพื้นที่ของศาล ตามธรรมดาแล้วน่าจะเป็นภายในรั้วของศาล แต่หากพฤติกรรมไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นทั้งในและนอกบริเวณศาล และเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันมาก็ยังถือว่าเป็นในบริเวณศาล
“การขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดจะมีฎีกาที่บอกว่าพฤติการณ์เหล่านี้ละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ สองฎีกาแรกเป็นกรณีที่ยื่นคำร้องต่อศาลแล้วเขียนไม่โอเค เช่นรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม รู้สึกว่าศาลมีอคติ ศาลก็บอกให้แก้ไขข้อความ หากไม่แก้จะลงโทษละเมิดอำนาจศาล แต่ฎีกาปี 2478 คือยื่นคำร้องต่อผู้พิพากษา ในฎีกาใช้คำว่าข้าหลวงยุติธรรม ใช้คำพูดว่า ผู้พิพากษาจดคำพยานผิดพลาด นั่งพิจารณาไม่ครบองค์คณะ ถ้าจะให้พิจารณาต่อไปจะทำให้ไม่ได้รับความยุติธรรม อันนี้ศาลพิจารณาเห็นว่าไม่ผิดฐานละเมิดอำนาจศาล”
ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่พูดถึงการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล เช่น ใช้รองเท้าตีกันในเวลาที่ศาลเปิดทำการ, การทำร้ายพยานโจทก์บริเวณข้างศาลนอกห้องพิจารณา, การทะเลาะวิวาทกันภายหลังศาลพิจารณา, ผู้คุมนักโทษถือไม้ไผ่เข้าไปในห้องควบคุมตัวผู้ต้องขังด้านล่างศาล แล้วก็ใช้ไม้ทำร้ายผู้ต้องขัง ศาลลงโทษว่าแม้จะเป็นเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่มีอำนาจทำ เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อย, การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนหรือเปลี่ยนตัวจำเลยในขณะที่ศาลพิจารณาอยู่, การเติมข้อความลงไปในคำฟ้องหรือเป็นทนายว่าความในระหว่างที่ถูกพักใบอนุญาตว่าความ, การยื่นคำร้องขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาและเขียนว่าศาลไม่ได้ดำเนินการพิจารณาไปโดยเที่ยงธรรม กลั่นแกล้งโจทก์เพราะมีอคติ เหล่านี้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
ส่วนพฤติการณ์ที่ศาลให้เหตุผลว่าอยู่ในบริเวณศาล โดยหลักมักจะเป็นการเรียกรับเงินกันในบริเวณศาล ตั้งแต่ห้องควบคุมผู้ต้องหา ร้านขายอาหาร โรงอาหาร โต๊ะมานั่งแถวศาล จะถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เพราะถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล แต่มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่บอกว่าไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาลคือเรื่องการปลอมเอกสาร จะเห็นได้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกาตั้งแต่ปี 2542-2548 จะเห็นว่าการนำเอกสารปลอม โดยรู้ว่าปลอมไปยื่นต่อศาลถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล แต่คำพิพากษาศาลฎีกาปี 2546 กลับระบุว่า แม้จำเลยจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการปลอมเอกสาร แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าการปลอมนั้นเกิดขึ้นในบริเวณศาลจึงไม่ผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
เมื่อพิจารณาคำพิพากษาศาลฎีกาฐานละเมิดอำนาจศาลสามารถสรุปหลักเกณฑ์อะไรได้ คำตอบของสรชาคือสรุปหลักเกณฑ์ไม่ได้เลย
“ทุกขั้นตอนของการดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณา การไต่สวน การซักถามพยานหลักฐาน หรือการพิพากษาลงโทษ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล เท่าที่ศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาก็ยังไม่สามารถสรุปหลักอะไรได้เลย หากเราเป็นจำเลยในคดีนี้ก็จะคาดเดาค่อนยากว่าจะทำอย่างไร แนวทางการต่อสู้คดีแทบจะวางไม่ได้”
“เมื่อเกิดความไม่แน่นอน...ทำให้ผู้อยู่ในบังคับของกฎหมายไม่กล้าตัดสินใจดำเนินการใดๆ หรือไม่กล้าเลือกที่จะใช้เสรีภาพใดๆ เพราะไม่แน่ใจว่าใช้เสรีภาพแล้วจะถูกลงโทษหรือไม่...นี่คือการใช้กฎหมายในลักษณะที่ทำให้เสรีภาพไปต่อไม่ได้ เพราะคนที่มีเสรีภาพไม่กล้าใช้”
ด้านปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า
“ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีลักษณะพิเศษ ถ้าดูหมิ่นศาลหรือหมิ่นประมาทศาลต้องใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ แต่พอเป็นละเมิดอำนาจศาล พูดง่ายๆ คือศาลชงเอง กินเอง เริ่มต้นเอง จบเอง ไต่สวนเองหมดเลย ซึ่งกระบวนการยุติธรรมทำนองนี้ควรเป็นข้อยกเว้นอย่างยิ่ง ไม่ควรต้องมี เพราะมีเจตนารมณ์เบื้องหลังของกฎหมายข้อนี้คือ หากกระบวนการยุติธรรมกำลังดำเนินไป แล้วถูกขัดขวาง จนทำให้ศาลพิจารณาต่อไม่ได้ จึงต้องมีกฎหมายนี้เพื่อให้ศาลดำเนินการต่อได้
“แต่ที่อาจารย์สรชารวบรวมมาจะเห็นว่า มีการนำไปใช้กว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหามีอยู่คำหนึ่งคือประพฤติปฏิบัติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล คำว่าประพฤติปฏิบัติตนไม่เรียบร้อยหมายถึงอะไร โวยวายอยู่ในศาล ถ้าจะหมายถึงการชุมนุมก็คือไปบล็อกไม่ให้ศาลเข้ามาตัดสิน หรือปั่นป่วนในศาลจนดำเนินคดีไม่ได้ อย่างนี้น่าจะเข้าข่ายประพฤติปฏิบัติตนไม่เรียบร้อย แต่ที่ผ่านมาตามแนวฎีกามีตั้งแต่เรื่องการให้สินบน การนำยาบ้าเข้ามา มันกระจัดกระจายไปหมด ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ไม่ควรรวมอยู่ในประพฤติปฏิบัติตนไม่เรียบร้อย”
ปิยบุตร กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ศาลยังขยายความคำว่า ในบริเวณศาล ออกไปรวมภายนอกด้วย เขายกตัวอย่างคำพิพากษศาลฎีกาปี 2559 โดยสรุปความว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาลงข้อความในเฟสบุ๊ค โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านของผู้ถูกกล่าวหา แต่เมื่อข้อความส่วนหนึ่งเกิดจากการถ่ายรูปบุคคลในบริเวณศาล เพื่อนำไปประกอบการแสดงข้อความเท็จที่แสดงต่อสาธารณชน ย่อมถือได้เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ในมุมมองของเขาเห็นว่า กรณีนี้ไม่มีทางอยู่ในความหมายของคำว่าภายในบริเวณศาลได้เลย ซึ่งน่าคิดว่าขอบเขตของเรื่องนี้สุดท้ายแล้วจะอยู่ตรงไหน
“การให้สินบน การเอายาเสพติดเข้ามาในบริเวณศาล ถ้าไม่ถูกต้อง มันต้องใช้ช่องทางที่ถูกต้องมาจัดการ เช่น กฎหมายยาเสพติดหรือการให้สินบนเจ้าพนักงาน แต่ทำไมต้องใช้ละเมิดอำนาจศาล ผมก็คิดได้ข้อเดียวเท่านั้นคือเพราะเป็นความผิดลักษณะพิเศษที่ศาลเริ่มต้นเอง จบเองในตัว รวดเร็วทันใจ ถ้าใช้กระบวนการปกติอาจจะช้ากว่า
“เมื่อเกิดความไม่แน่นอน ไม่ชัดเจนในกฎหมายลักษณะนี้จะส่งผลอะไร มันส่งผลในแง่ที่ว่าทำให้ผู้อยู่ในบังคับของกฎหมายไม่กล้าตัดสินใจดำเนินการใดๆ หรือไม่กล้าเลือกที่จะใช้เสรีภาพใดๆ เพราะไม่แน่ใจว่าใช้เสรีภาพแล้วจะถูกลงโทษหรือไม่ เมื่อมีการตีความแบบนี้ เพิ่มบ้าง ลดบ้าง อย่ากระนั้นเลย เพื่อความปลอดภัยของตัวเองก็เซ็นเซอร์ตัวเองตั้งแต่ต้น นี่คือการใช้กฎหมายในลักษณะที่ทำให้เสรีภาพไปต่อไม่ได้ เพราะคนที่มีเสรีภาพไม่กล้าใช้”
ปิยบุตร กล่าวว่า ในสังคมไทยมีการใช้กฎหมายลักษณะคล้ายๆ กันนี้อยู่กลุ่มหนึ่ง คือการใช้กฎหมายลงโทษบุคคลที่ใช้เสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่น ถ้าเป็นกรณีพระมหากษัตริย์ก็มีมาตรา 112 ซึ่งตอนนี้ขยายความไปไกลมาก ถ้าวิจารณ์พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้วิจารณ์อาจโดนมาตรา 116 ถ้าวิจารณ์ศาลก็อาจโดนละเมิดอำนาจศาล นี่ย่อมเท่ากับว่าองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐสำคัญๆ ทั้งหลายมีกฎหมายป้องกันตัวเอง
“ถ้าเราบอกว่าเราเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยจริง องค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งหลายต้องอยู่ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลาอยู่แล้ว มันเป็นเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์”
แสดงความคิดเห็น