การสอบครูผู้ช่วย โดยไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ว่าด้วยข้อสังเกตบางประการ
Posted: 23 Mar 2017 09:08 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
1. รู้จักตำแหน่ง "ครูผู้ช่วย"
สำหรับคนทั่วไปนั้นอาจไม่คุ้นกับคำว่า "ครูผู้ช่วย" เท่าใดนัก ตามกฎหมายแล้ว ครูผู้ช่วยเป็นตำแหน่งผู้สอนในหน่วยงานการศึกษา ก่อนจะขึ้นไปเป็นครู หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น ครูแรกบรรจุในช่วงทดลองงานในเวลา 2 ปี ซึ่งก็คือการก้าวขาไปเป็นครูในระบบราชการแล้วนั่นเอง ดังนั้น ครูผู้ช่วยจึงเป็นตำแหน่งที่เป็นประตูแห่งโอกาสทั้งในนามผู้ต้องการเป็นครูเอง สถาบันการศึกษาและนักเรียนที่จะได้รับบุคลากรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง
ครูผู้ช่วย เกิดขึ้นจาก พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 เกิดจากการที่ยกเลิกระบบ อาจารย์ 1 อาจารย์ 2 อาจารย์ 3 และให้มีเพียง ครูผู้ช่วย และครู แล้วบวกเพิ่มวิทยฐานะเข้าไป
2. การสร้างครูให้เป็นองค์กรวิชาชีพ
ระบบการศึกษาเป็นที่คาดหวังของคนในสังคมไทยว่าจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้าเทียบทันกับอารยประเทศ ทั้งยังเป็นแพะรับบาปถึงความล้าหลัง เมื่อมีเหตุการณ์เชิงประจักษ์ต่างๆ แสดงออกมา เช่น ผลคะแนนสอบที่ตกต่ำลง ฯลฯ ตัวแทนของระบบการศึกษาที่เลี่ยงไม่พ้นจะกล่าวถึง "ครู" ที่ต้องแบกรับภาระนี้ กระนั้นครูก็ตกเป็นเป้าของการโจมตี เมื่อตกเป็นข่าวต่างๆนานา ทั้งข้อเบาและหนัก ไม่ต่างจากข้าราชการอย่างตำรวจ หรือพระที่เป็นตัวแทนของรัฐที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ปี 2557 จำนวนครูที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีมากถึง 402,412 คน จากจำนวนทั้งหมด 641,793 คน[2] ด้วยจำนวนบุคลากรมหาศาลนั้น จึงนำมาซึ่งปัญหาจากปริมาณที่มากนี้ไปด้วย
บทบาทของครูนั้นค่อนข้างกว้างขวาง และครูก็มีประเภทที่แตกต่างกันไป หากแยกตามการสอน ในโรงเรียนประถมศึกษามีครูปฐมวัย, ครูสังคมศึกษา, ครูคณิตศาสตร์, ครูภาษาไทย, ครูภาษาอังกฤษ, ครูภาษาจีน, ครูศิลปะ, ครูพลศึกษา, ครูเกษตร, ครูงานบ้าน-งานประดิษฐ์, ครูวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ส่วนครูระดับมัธยมศึกษา ก็คล้ายกันแต่อาจเพิ่มเติมครูวิทยาศาสตร์ที่แยกไปตามสาขาเช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ในระดับประถม หรือมัธยมที่ขาดแคลน ครูคนเดียวอาจสอนหลายวิชา และเป็นทั้งครูประจำชั้นพร้อมกับการสอนวิชาอื่น หลายครั้งพบว่าการสอนไม่ตรงกับวุฒิครู เช่น ครูที่จบเกษตรมาต้องมารับภาระสอนวิชาคอมพิวเตอร์และสังคมศึกษา และครูในโรงเรียนนั้นก็มีหลายแบบ ตั้งแต่ครูที่เป็นข้าราชการทั้งครูใหม่อย่างครูผู้ช่วย ครูที่มีวิทยฐานะต่างๆ (สมัยก่อนคือ ตำแหน่งอาจารย์ 1, 2, 3) ผู้บริหาร ขณะที่ครูอัตราจ้างก็เป็นตำแหน่งชั่วคราวที่เป็นสัญญาระยะสั้น
เมื่อเทียบกับข้าราชการในสายอื่นๆอาจนับได้ว่า "หนัก" พอดู ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้อาชีพต่างๆขยายตัวมากขึ้น ทางเลือกของอาชีพจึงมีมากกว่าการเป็นครู ปัญหานี้เป็นที่ตระหนักกันดีมาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ.2488 ที่รัฐบาลเห็นว่า ผู้มีความสามารถไม่ได้ทำอาชีพครูเหมือนเดิมแล้ว จึงตั้ง "คุรุสภา" ขึ้นมามีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เน้นเรื่องนโยบายการศึกษา วิชาการ วินัยครู และการรักษาผลประโยชน์ครู และกำหนดให้ครูต้องเป็นสมาชิกคุรุสภา[3]
แต่เดิมนั้นการดำรงอาชีพครูนั้นมิได้มีความจำเป็นต้องใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2546 ที่รัฐบาลไทยรักไทยผลักดันให้เกิด พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ที่มีผลบังคับวิชาชีพครู เป็นวิชาชีพควบคุมที่ต้องได้รับใบอนุญาตก่อน[4] ตั้งแต่นั้นมาผู้สอบบรรจุครู มีข้อบังคับว่าจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หรือพูดอีกแบบก็คือ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้นเพิ่งเกิดขึ้นไม่ถึง 15 ปีนี่เอง แม้ว่าจะมี พระราชบัญญัติครูมาตั้งแต่ปี 2488 ต่างจากใบประกอบโรคศิลปะของแพทย์ (อย่างช้าในปี 2479 ตาม พรบ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2479) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (พรบ.วิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ.2505), ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม (พรบ.วิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ.2508) ที่เริ่มมาอย่างยาวนาน
ความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องที่สำคัญก็คือ การปรับหลักสูตรให้สายครุศาสตร์ต้องเรียนเป็นเวลา 5 ปี นั่นคือวิชาการ 4 ปี บวกกับการฝึกสอนในโรงเรียนอีก 1 ปี เมื่อปี 2547[5] การออกแบบให้เรียนเช่นนี้ก็อ้างว่าเพื่อเสริมทักษะการสอนให้เข้มข้นมากขึ้น
3. ชนชั้นของวิชาชีพ กับสถานะของครู
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า การสร้างเขตแดนของวิชาชีพครูในนามของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนั้นเริ่มต้นได้ช้ากว่าวิชาชีพอื่นๆ ทั้งที่เป็นอาชีพที่มีบทบาทมาอย่างยาวนาน การเน้นความเป็นครูที่ตัวบุคคล จริยามารยาท และความเป็นครูที่ศักดิ์สิทธิ์ และผู้มีพระคุณจึงถูกตอกย้ำอยู่เสมอ ผ่านพิธีกรรมการไหว้ครูที่สืบเนื่องมาจากพิธีกรรมในสังคมจารีต ตำแหน่งแห่งที่ของครูจึงอยู่ท่ามกลางแนวคิดแบบเก่า และซ้อนทับกับสถานะของวิชาชีพในโลกสมัยใหม่
ภาพของ "แสงเรืองๆ" และ "แม่พิมพ์" ที่เหนื่อยยากตรากตรำทำงานหนัก (เพลงแม่พิมพ์ของชาติ) แต่ภาพในเชิงธุรกิจก็คือ "ครูเป็นเรือจ้าง" (เพลงพระคุณที่สาม) กลับเป็นภาพในแง่ไม่ดีนัก ดังนั้นครูในอุดมคติ อาจนับเป็นคนดีในอุดมคติ อาจเทียบเคียงได้กับพระภิกษุที่เคยเป็นครูในสมัยโรงเรียนวัด
อย่างไรก็ตามสถานะของครู มิได้รับการยกระดับในเชิงนโยบายเท่าที่ควร โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ สถาบันฝึกหัดครู กว่าจะได้รับการยกระดับมาเป็นการเรียนการสอนระดับวิทยาลัยครู ก็ต้องรอจนถึงปี 2518 และหากมองด้วยแว่นของสังคมไทยที่เห็นว่า การเป็นมหาวิทยาลัยนั้นแสดงถึงความสูงส่งกว่าทางด้านระดับทางวิชาการ กว่าวิทยาลัยครูจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ ก็ต้องรอจนถึงปี 2547 (ก่อนหน้านั้น ปี 2538 เป็นเพียงสถาบันราชภัฏ) ทุกวันนี้นับเป็นมหาวิทยาลัยระดับรองที่ไม่ได้อยู่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ การได้รับการจัดสรรงบประมาณที่น้อยยิ่งกว่าน้อย หากเทียบในปี 2560[6] มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับงบประมาณ 13,933,378,100 บาท, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5,572,408,400บาท, ม.ธรรมศาสตร์ 3,790,583,600 บาท, ม.เชียงใหม่ 5,942,550,400 บาท ขณะที่ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ 780,401,900 บาท, ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา 396,126,100 บาท, ม.ราชภัฏนครรราชสีมา 539,805,500 บาท, ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช 603,833,000 บาท ม.ราชภัฏกาญจนบุรี ได้รับงบประมาณเพียง 364,469,100 บาท งบประมาณของ ม.มหิดลนั้นมีมากกว่า ม.ราชภัฏกาญจนบุรีถึงกว่า 38 เท่า
ยังไม่นับว่า ม.ราชภัฏเหล่านี้ติดขัดระเบียบตามพระราชบัญญัติทำให้ไม่สามารถปรับตัวทางด้านธุรกิจได้ดีนัก บางแห่งที่มีความสนใจจะลงทุนก็เจอปัญหาระเบียบราชการ การแข่งขันในแง่นี้จึงยิ่งกลายเป็นปัญหาอีก งบประมาณที่น้อยจึงเป็นปัญหาโดยรากฐานที่สัมพันธ์กับศักยภาพการผลิตบัณฑิต งานวิจัยและองค์ความรู้ด้านการศึกษาให้มีความเป็นไปได้ เช่นเดียวกับวิชาชีพสาขาอื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมหาศาลมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
การเลือกเรียนครูในช่วงหนึ่งแล้วจึงเป็นอาชีพที่ไม่ใช่หมุดหมายของนักเรียนมากนัก เห็นได้ชัดจากระบบสอบคัดเลือกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในยุคก่อน วิชาชีพครูไม่ได้รับความนิยมเมื่อเทียบเท่ากับสายแพทย์ วิศวกร บัญชี เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ จนกระทั่งกลางทศวรรษ 2550 ที่คะแนนสอบเข้าสายศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์กระเตื้องขึ้นอย่างเห็นได้ชัด[7]
มิอาจปฏิเสธได้ว่า วิชาชีพครูที่เป็นข้าราชการนั้นมีมั่นคงสูง ได้รับความเคารพนับถือ มีเครดิตทางการเงิน และยังมีสวัสดิการแบบราชการที่ครอบคลุมถึงครอบครัว พื้นที่แห่งวิชาชีพนี้จึงมีลักษณะเป็นพื้นที่แห่งการแข่งขันโดยตัวของมันเองไปด้วย การปิดระบบด้วยการให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จึงทำให้ระบบดังกล่าวแคบลง โอกาสเข้าสู่งานในการสอบแข่งขันที่มีผู้เข้าแข่งขันน้อยรายจึงมีความเป็นไปได้มากกว่า นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ในระยะหลังที่คะแนนสอบวิชาด้านนี้สูงขึ้น และการเข้าสอบแข่งขันเพื่อเรียนวิชาชีพครูในม.ราชภัฏต่างๆ ก็คึกคักขึ้นด้วย
การเรียน 5 ปี ก็ดี หรือการสอบครูโดยต้องมีใบประกอบวิชาชีพก็ดี เป็นข้อถกเถียงมาระยะหนึ่งในสังคมไทยถึงข้อดี ข้อเสียและการปรับเปลี่ยน ปี 2551 ได้มีผู้เสนอให้ผลิตครูที่มีคุณภาพเช่นในอดีตที่มีสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางในการผลิตครู คือ วิทยาลัยวิชาการศึกษา (College of education) โดยจัดตั้งตามภาคภูมิศาสตร์ ภาคละ 1 แห่ง โดยจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 เปิดสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก[8] ปี 2554 ถึงกับมีการเสนอให้เรียนถึง 6 ปีแล้วได้วุฒิปริญญาโทไปด้วย[9] ข้อเสนอต่างๆ ยังไม่มีข้อยุติ จนกระทั่งเร็วๆนี้ที่รัฐบาลเผด็จการเข้ามาจัดการปฏิรูปการศึกษา
4. ปัญหาในการสอบครูผู้ช่วยเดิม และการแก้ปัญหาใหม่พร้อมกับการกระชับอำนาจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความวิตกเรื่องคุณภาพของครู และปัญหาครูขาดแคลนในบางสาขาวิชา รวมไปถึงปัญหาในการสอบครูผู้ช่วยเดิมนั้นดำรงอยู่จริง พบว่ามีการทุจริตการสอบครูผู้ช่วย เหตุการณ์ใหญ่โตที่รู้กันไปทั่วเกิดขึ้นเมื่อปี 2556[10] ยังพบว่ามีการเปิดสอบ และบรรจุครูที่ไม่สอดคล้องบัญชีผู้สอบได้ที่ขึ้นรอไว้อยู่ ทั้งที่มีกำหนดระยะเวลาที่ขึ้นบัญชีอยู่ราว 2 ปี ข้อมูลในปี 2559 พบว่า มีผู้ขึ้นบัญชีจำนวน 11,333 คน บรรจุได้ 3,854 คน สละสิทธิ์ 115 คนและคงเหลือจำนวน 7,364 คน[11] หรือปัญหาการรับสินบนเพื่อจัดการเรื่องย้ายบัญชีข้ามเขตพื้นที่[12]
หลายฝ่ายเห็นกันว่า เมื่อมีปัญหาเช่นนี้แล้ว ก็นับว่าต้นทางสู่การเป็นครูนั้นไม่สง่างาม โดยเฉพาะเมื่อเจอปัญหาทุจริต การวิ่งเต้น เล่นเส้นสาย จะเห็นได้ว่า หากมองจากสายตาที่ห่วงใย แวดวงการศึกษา บุคลากรครู โดยเฉพาะเรื่องครูผู้ช่วยนั้น มีเรื่องน่าหนักใจและน่าเป็นห่วง เช่นเดียวกับปัญหาทางการเมืองระดับประเทศ ในที่สุดการแก้ไขปัญหาก็มาด้วยอำนาจจากปากกระบอกปืน การปฏิรูปการศึกษามากับรัฐบาลเผด็จการ รัฐบาลชุดนี้เข้ามาควบคุมระบบการศึกษาในหลายต่อหลายเรื่อง แต่ในกรณีครูผู้ช่วยนั้นเห็นได้ชัดจากการเข้ามาพยายามแทรกแซงการจัดสอบครูผู้ช่วย ด้วยการออกประกาศที่มีนัยว่า ผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูก็มีสิทธิ์สอบครูผู้ช่วยได้เช่นกัน[13]
แน่นอนว่า ประกาศนี้สร้างความขัดแย้งกันระหว่างผู้สนับสนุนและคัดค้าน โดยฝ่ายแรกก็ต้องการรักษาผลประโยชน์และสิทธิ์ของตน และเหตุผลทางวิชาชีพ ส่วนฝ่ายหลังก็ให้เหตุผลว่า การแข่งขันอย่างเปิดกว้างน่าจะเปิดโอกาสให้ได้ครูที่มีคุณภาพมากกว่า ซึ่งเป็นฐานความคิดร่วมกันของคนจำนวนมากที่รับทราบปัญหาการศึกษาว่ายากที่จะแก้ไขดังที่กล่าวมาเบื้องต้น ฝ่ายประธานประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ได้ออกมาโต้แย้ง[14] ในวันเดียวกันรัฐบาลก็ประกาศใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2560 เรื่อง การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา[15] มาตรา 44 จึงเป็นการสำแดงอำนาจขึ้นมาเพื่อรวบอำนาจการบริหาร โดยการปลด ก.ค.ศ. เดิมแล้วแต่งตั้งใหม่ ลดจำนวนจาก 31 เหลือ 15 คน ทั้งยังให้อำนาจอีกหลายประการซึ่งคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญในบทความนี้ ซึ่งการบริหารงานบุคคลถือเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งที่สัมพันธ์กับการสอบครูผู้ช่วยนั่นเอง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่คิดว่า นโยบายของตนนั้นประเสริฐที่สุด ทั้งที่เรื่องทั้งหลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ควรถกเถียงกัน ต่อรองกันว่าควรจะตัดสินใจร่วมกันอย่างไร แม้ระบบเดิมจะมีปัญหาเพียงใด ก็พึงจะตัดสินใจกันตามครรลองที่เป็นประชาธิปไตยและบรรยากาศถกเถียงที่เปิดกว้างกว่านี้
5. ข้อเสนอ
หลังจากรัฐบาลนี้หมดอายุไขลง ก็ควรจะเป็นเวลาที่เราควรจะทบทวนถึงประเด็นต่างๆของการศึกษา ในประเด็นว่าด้วยการสอบครูผู้ช่วยนั้น ยิ่งคงต้องถกเถียงกันระหว่างฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านการให้สิทธิ์ผู้สอบที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และนโยบายที่ออกมาก็ควรจะต้องประกาศทิ้งช่วงเวลาให้ยาวนานกว่านี้ เช่น ประกาศเลยว่าอีก 5 ปีข้างหน้า นักศึกษาที่เรียนจบ 4 ปี ก็สามารถสอบครูได้ ใครยังต้องการเรียนครู 5 ปี ก็ยังทำได้อยู่และรัฐบาลอาจจะต้องมีแต้มต่อให้ หรือต้องให้พวกที่เรียน 4 ปีมีเงื่อนไขที่ต้องผ่านประสบการณ์ฝึกสอน หรือกระทั่งการปรับหลักสูตรเหลือ 4 ปีเท่ากัน หรืออาจต้องเป็นการผสมผสานกัน อย่างที่บอก การถกเถียงมันควรเกิดอย่างกว้างขวางและทำให้มันงอกเงยได้มากไปกว่านี้ ในแผ่นดินที่เปิดกว้าง แผ่นดินที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น.
เชิงอรรถ
[1]อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
[2]สำนักงานสถิติแห่งชาติ. "จำนวนครู/อาจารย์ (แบบจัดชั้นเรียน) จำแนกตามสังกัด ทั่วราชอาณาจักร ปีการศึกษา 2549-2557". สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560 จาก http://service.nso.go.th/nso/web/statseries/statseries06.html
[3]คุรุสภา. "ความเป็นมา". สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560 จาก http://www.ksp.or.th/ksp2013/profile/index.php?l=th&tid=2&mid=12&pid=10
[4]"พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546". ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 120 ตอนที่ 52 ก, 11 มิถุนายน 2546, น.15
[5] สุรชัย เทียนขาว. "ทบทวนแนวทางการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน". มติชนรายวัน (8 ธันวาคม 2551) อ้างถึงใน Wasawat Deemarn. "การผลิตครู 5 ปี กับ บทความ "ทบทวนแนวทางการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน" สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560 จาก https://www.gotoknow.org/posts/228764
[6]"พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560". ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 133 ตอนที่ 84 ก, 23 กันยายน 2559, น.
[7] มติชนออนไลน์. "แต้มแอดมิสชั่นส์ครุศาสตร์ พุ่งสูงกว่า"วิทยาศาสตร์-มนุษยศาสตร์" ปธ.คุรุสภาเผยคนเก่งเรียนครูเพิ่ม". สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560 จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1413805399 (20 ตุลาคม 2557)
[8] สุรชัย เทียนขาว. "ทบทวนแนวทางการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน". มติชนรายวัน (8 ธันวาคม 2551) อ้างถึงใน Wasawat Deemarn. "การผลิตครู 5 ปี กับ บทความ "ทบทวนแนวทางการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน" สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560 จาก https://www.gotoknow.org/posts/228764
[9] unigang. "ยกเลิกครูหลักสูตร5ปีในปี56". สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560 จาก http://www.unigang.com/Article/12537
[10] คม ชัด ลึก. "เงินสะพัด200ล้านสอบทุจริตครูผู้ช่วย". สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560 จาก http://www.komchadluek.net/news/edu-health/154966 (29 มีนาคม 2556)
[11] Thai Hot NEWS. "สรุปจำนวนผู้สอบแข่งขันได้ขึ้นบัญชี กศจ.ในการสอบครูผู้ช่วย พ.ศ.2558-2559". สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560 จาก http://www.thai-hotnews.com/news/26663 (3 กุมภาพันธ์ 2560)
[12] กระทรวงศึกษาธิการ. "สพฐ.สั่งบัญชีครูยึดหลักพื้นที่ ถ้าข้ามเขตต้องให้ ก.ค.ศ.เห็นชอบ/หวังแก้ปัญหาเรียกรับเงินเมื่อขอย้าย". สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560 จาก http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=36693&Key=hotnews (28 เมษายน 2557)
[13] กระทรวงศึกษาธิการ. "สพฐ.สั่งบัญชีครูยึดหลักพื้นที่ ถ้าข้ามเขตต้องให้ ก.ค.ศ.เห็นชอบ/หวังแก้ปัญหาเรียกรับเงินเมื่อขอย้าย". สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560 จาก http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=36693&Key=hotnews (28 เมษายน 2557)
[14] มติชนออนไลน์. "ประธาน ส.ค.ศ.ท.ฉะ ศธ.เปิดกว้าง ป.ตรีทุกสาขาสอบครูได้ หวั่น น.ศ.เมินเรียน ‘ครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์’". สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560 จาก http://www.matichon.co.th/news/503357 (21 มีนาคม 2560)
[15] กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. "สั่งม.44ปลดบอร์ดก.ค.ศ.ชุดเดิม รื้อระบบบริหารขรก.ครู". สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560 จาก http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/746411 (21 มีนาคม 2560)
แสดงความคิดเห็น