ภาคปชช.ค้าน ใช้ ม.44 เร่งออกสิทธิบัตรหวั่นปล่อยผีสิทธิบัตร-ยาแพงเพิ่ม กว่า 8,000 ล้าน
Posted: 28 Feb 2017 09:02 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 
ภาคประชาชน ค้านใช้ ม.44 เร่งออกสิทธิบัตรหวั่นปล่อยผีสิทธิบัตร-ยาแพงเพิ่ม กว่า 8,000 ล้าน ที่คำขอฯ ค้างมากเพราะเล่ห์บริษัทยาข้ามชาติ แนะปฏิรูปต้องใช้ความรู้ ขณะที่ โฆษกสำนักนายกฯ เผยประยุทธ์งัด ม.44 แก้ ปัญหาจดสิทธิบัตร แล้ว
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา รายงานข่าวแจ้งว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมากล่าวถึงปัญหาความล่าช้าในการขอจดสิทธิบัตรของต่างประเทศที่ล่าช้า กว่า 12,000 รายโดยจะใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหานั้น
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เข้าถึงการรักษามูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การเร่งออกสิทธิบัตรฯ นั้นจะเกิดประโยชน์อย่างไร แล้วใครได้ประโยชน์ อย่างในกรณีการขอจดสิทธิบัตรยา กระบวนการพิจารณาการจดสิทธิบัตรที่ล่าช้าส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการทำงานล่าช้าของเจ้าหน้าที่สำนักสิทธิบัตรเท่านั้น แต่เกิดจากการใช้กลวิธีของบริษัทยาที่ขอจดฯ ด้วย โดย  พ.ร.บ. สิทธิบัตรกำหนดให้ผู้ยื่นขอสิทธิบัตรต้องยื่นแจ้งการตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์หลังจากวันที่ประกาศโฆษณาภายใน 5 ปี ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานเกินไป ซึ่งผู้ขอสิทธิบัตรส่วนใหญ่ถ่วงเวลามาขอยื่นตรวจสอบใน 10 วันสุดท้ายก่อนครบ 5 ปี
เฉลิมศักดิ์ กล่าวด้วยว่าในกรณีของคำขอสิทธิบัตรทางยา บริษัทยาส่วนใหญ่จะยื่นแจ้งการตรวจสอบฯ เมื่อใกล้หมดกำหนดแจ้งการตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์เพียงไม่นาน เพราะการคุ้มครองเริ่มขึ้นแล้วนับตั้งแต่วันที่ยื่นขอจดสิทธิบัตร แม้ว่าคำขอฯ ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา แต่บริษัทอื่นก็จะไม่กล้าผลิตยาออกมาแข่ง เพราะเสี่ยงต่อการถูกข่มขู่คุกคามโดยใช้กฎหมาย อาจแพ้คดีและต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนมากย้อนไปตั้งแต่วันที่ยื่นขอจดสิทธิบัตร ถ้าผลการพิจารณาออกมาว่าให้สิทธิบัตรกับยานั้นในภายหลัง
“ดังนั้น หากรัฐบาลคสช.มีความจริงใจในการปฏิรูปเรื่องสิทธิบัตรจริง ควรเริ่มต้นจากการศึกษาหาข้อมูลให้ชัดเจนก่อน  ไม่ใช่เพียงดูแค่เร่งให้ออกสิทธิบัตรเร็วๆ มากๆ ได้เท่านั้น แต่ต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในเรื่องยารักษาโรคที่จะผูกขาดอย่างไม่เป็นธรรมด้วย โดยกรมทรัพย์สินฯ จะต้องนำคู่มือตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรยามาใช้อย่างเคร่งครัด และต้องปรับคู่มือฯ ให้เป็นสากลตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และต้องแก้ไขกฎหมายให้สามารถนำมาตราการยืดหยุ่นต่างๆ เช่น การคัดค้านก่อนได้รับสิทธิบัตร การใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ ฯลฯ มาใช้ได้จริงและไม่มีอุปสรรรค รวมถึงการแก้ไขความล่าช้าในการพิจารณา เพราะไม่มีกำหนดระยะเวลาในการประกาศโฆษณาและให้ระยะเวลาการยื่นตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์ที่ไม่สมเหตุผล” เจ้าหน้าที่รณรงค์เข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) มองว่า การพิจารณาให้หรือไม่ให้สิทธิบัตร โดยเฉพาะยา จะต้องมีความละเอียดรอบคอบและดูข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ประกอบ ไม่ใช่อาศัยคำกล่าวอ้างตามเอกสารของผู้ขอยื่นจดแต่เพียงอย่างเดียว และไม่ควรใช้มาตรา 44 มาแก้ปัญหาแบบไม่ถูกต้อง เพราะจะยิ่งสร้างปัญหาเพิ่ม
“จากงานวิจัย “คำขอรับสิทธิบัตรยาที่จัดเป็น evergreening patent ในประเทศไทยและการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น”  ของสถาบัยวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่ามีการขอรับสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุด ที่จะทำให้ผู้ได้รับสิทธิบัตรได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่องเกิน 20 ปีหรืออาจชั่วชีวิตของยานั้น ซึ่งการขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวถือว่าไม่มีความใหม่ ไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น โดยระหว่างปี 2543-2553 หรือช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีสิทธิบัตรไม่มีวันตายมากถึงร้อยละ 84 จากคำขอทั้งหมด 2,188 ฉบับ ถ้ามีการใช้มาตรา 44 เร่งอนุญาตคำขอสิทธิบัตร เป็นไปได้ว่า คำขอสิทธิบัตรในลักษณะดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการบริโภคยาและตลาดของประเทศ จากงานวิจัยซึ่งดูรายการยาจำนวน 59 รายการที่มียอดการใช้สูงสุด เมื่อนำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านยา พบว่าเป็นคำขอที่จะมีการผูกขาดตลาดตั้งแต่ปี 2539-2571 คิดเป็นมูลค่าสะสมประมาณ 8,477.7 ล้านบาท” กรรณิการ์ กล่าว 

ประยุทธ์งัด ม.44 แก้ ปัญหาจดสิทธิบัตร 

ขณะที่ล่าสุดวันนี้  (28 ก.พ.60) มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 15.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบออกคำสั่งตามมาตรา 44 ตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เสนอแก้ไขปัญหาการออกสิทธิบัตร ซึ่งค้างกว่า 20,000 รายการ โดยไม่กำหนดเกณฑ์เข้มงวดสำหรับผู้ที่ผ่านการขอสิทธิบัตรจากต่างประเทศมาแล้ว แต่จะตรวจสอบเรื่องของการลอกเลียนแบบ คาดว่าจะสามารถออกสิทธิบัตรให้ได้กว่า 12,000 รายการภายใน 3 เดือน นอกจากนี้ยังจะมีมาตรการพิเศษควบคุมเรื่องการจดสิทธิบัตรยา ซึ่งมีกว่า 3,000 รายการ เพื่อป้องกันยาราคาแพงด้วย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.