ผู้ตรวจการแผ่นดินเผย 'พล.ต.ท.ศานิตย์' แจงไม่ได้เป็นที่ปรึกษา ส่วนไทยเบฟฯ แจงไม่ได้จ้าง
Posted: 28 Feb 2017 11:59 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 

เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน เผย พล.ต.ท.ศานิตย์ แจงไม่ได้เป็นที่ปรึกษา ชี้ส่วนที่แจ้งการรับเงินเดือนในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. อาจจะมีความผิดพลาด ขณะที่ บริษัท ไทยเบฟฯ แจง ไม่ได้จ้าง พล.ต.ท.ศานิตย์ เป็นที่ปรึกษาของบริษัทฯ เช่นกัน

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

28 ก.พ. 2560  จากเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2559 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางไปที่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน อาคาร B ศูนย์ราชการฯ เพื่อร้องเรียนกล่าวโทษต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อไต่สวน ตรวจสอบกรณี พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  รับเงินเดือนที่ปรึกษาจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เดือนละ 50,000 บาท มีความผิดต่อจริยธรรมและกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 (4) และมาตรา 103 ด้วยหรือไม่อย่างไร โดยระบุว่า อาจเข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อประมวลจริยธรรมของข้าราชการตำรวจและประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2550 เพราะอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดวันนี้ (28 ก.พ.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว ภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน วันนี้  (28 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหนังสือชี้แจงของ พล.ต.ท.ศานิตย์ กรณีถูกกล่าวหาว่ารับเงินเดือนที่ปรึกษา จากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เดือนละ 50,000 บาท เข้าข่ายความผิดต่อจริยธรรม และกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  พร้อมกับหนังสือชี้แจงของบริษัท ไทยเบฟฯ
รักษเกชา กล่าวว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ ชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นที่ปรึกษา จึงไม่มีการรับเงินในตำแหน่งดังกล่าว ส่วนที่มีการแจ้งการรับเงินเดือนดังกล่าวไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. อาจจะมีความผิดพลาด เพราะได้ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเตรียมเอกสารและยื่นให้ โดยไม่ได้ทำด้วยตัวเอง จึงอาจมีความเข้าใจผิด ขณะที่ บริษัท ไทยเบฟฯ  ชี้แจงว่า ไม่ได้จ้าง พล.ต.ท.ศานิตย์ เป็นที่ปรึกษาของบริษัทฯ
 
อย่างไรก็ตาม รักษเกชา กล่าวว่า ป.ป.ช.ยังไม่ได้ส่งสำเนาหนังสือรายละเอียดชี้แจงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.ต.ท.ศานิตย์ ที่ ผู้ตรวจการแผ่นดินขอไป   ทราบว่า  ป.ป.ช.จะมีการนำเข้าที่ประชุมในวันที่ 2 มี.ค.นี้ ก่อนที่จะมีการส่งมาให้  หากผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับหนังสือดังกล่าว ก็จะนำเข้าที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินโดยเร็ว ก่อนที่รัฐธรรมนูญใหม่จะประกาศใช้
 
“แม้ก่อนหน้านี้จะมีหนังสือรายละเอียดชี้แจงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.ต.ท.ศานิตย์ ในรายการรับเงินที่ปรึกษาบริษัทไทยเบฟฯ ปรากฏทางสื่อ แต่ผู้ตรวจการฯ ก็ต้องรอดูเอกสารจากหน่วยงานที่เป็นเจ้าของเอกสาร คือ ป.ป.ช. ซึ่งจะมีการเซ็นรับรองเอกสาร ดังนั้น ขณะนี้จึงบอกไม่ได้ว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ผิดหรือถูก เพราะถ้าเอกสารของ ป.ป.ช. ยืนยันว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ มีการแจ้งรับเงินที่ปรึกษาดังกล่าว ผู้ตรวจการฯ ก็ต้องถาม พล.ต.ท.ศานิตย์ อีกรอบ เพื่อให้ยืนยันว่า ได้มีการตรวจสอบ ก่อนที่จะเซ็นรับรองการแจ้งบัญชีทรัพย์สินก่อนหรือไม่ เพราะผู้ที่เซ็นรับรองถือว่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบ” รักษเกชา กล่าว
 
รักษเกชา กล่าวว่า ส่วนจะเป็นการตกลงกันระหว่าง พล.ต.ท.ศานิตย์ กับบริษัท ไทยเบฟฯ หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และการระบุไม่ตรงข้อเท็จจริง จะเป็นการให้ข้อมูลเท็จกับ ป.ป.ช.หรือไม่ เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.ต้องพิสูจน์ เราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.