ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปรับเพดาน


Posted: 21 Mar 2017 03:54 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

21 มี.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอ สภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สำหรับ สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ....ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยกเว้นทรัพย์สินจากการจัดเก็บภาษี ฐานภาษี อัตราภาษี การคำนวณภาษี การลดหรือยกเว้นภาษี โดยยกเลิก พ.ร.บ.โรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 และ พ.ร.บ.กำหนดราคาปานกลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2529 และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างของภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และช่วยกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ซึ่ง ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม. ในวันนี้ว่า สาระสำคัญของร่างดังกล่าวนั้น ได้มีการอัตราเพดานที่ดินรกร้างจากเดิม 5% เป็นเพดานไม่เกิน 2% ของฐานภาษี และจัดเก็บเพิ่มขึ้น 0.5% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 5%

ในส่วนของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 0.2% ของฐานภาษี ซึ่งต้องเป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมนั้น โดยต้องเป็นการทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยร่วมกันประกาศกำหนด ด้านที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัย ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี ด้านที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากดังกล่าวนั้น ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 2% ของฐานภาษี

ส่วนการคำนวณภาษีนั้น ในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 ม.ค. ของปีภาษีนั้น ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณไม่เกิน 50 ล้านบาท

ณัฐพร กล่าวด้วยว่า ยังได้ออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อเป็นช่องทางการขอลดหย่อนภาษีได้ 90% จากอัตราฐานภาษี กรณีที่มีบ้านพักอาศัยอยู่มาเป็นระยะเวลานานแต่ราคาที่ดินปรับเพิ่มสูงขึ้นซึ่งเจ้าของบ้านมีรายได้ไม่มาก รวมทั้งกำหนดข้อบังคับห้ามขายห้ามโอนหากติดหนี้ภาระภาษี ยกเว้นกรณีขายทอดตลาด อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะใช้ระยะเวลาการพิจารณาในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติประมาณ 2-3 เดือน และจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 1 ปี



ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลและกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.