เมื่อคุณค่าความเป็นครูถูกผูกขาด
Posted: 23 Mar 2017 01:44 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
การศึกษาเป็นงานด้านหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งของสังคม หน้าที่ของมันคือการถ่ายทอดชุดความคิดต่างๆ ในสังคมให้มีผู้สืบทอดต่อไป ปราศจากความสามารถด้านนี้สังคมก็คงจะต้องเจอปัญหาหลายอย่าง ดังนั้นแล้วก็คงไม่แปลกอะไรที่ในสังคมแบบที่มีการแบ่งงานกันทำที่จะต้องทุ่มเททรัพยากรจำนวนหนึ่งสำหรับการศึกษาเพื่อจะได้มั่นใจว่าคนรุ่นต่อไปมีความรู้ที่จำเป็นแก่การดำรงชีพ ยิ่งไปกว่านั้นคือเท่ากับว่าสังคมมีความสามารถในการกำหนดทัศนคติประชากรของมันเองได้ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองท่านหนึ่งจึงเคยกล่าวไว้ว่าการแต่งแบบเรียนนั้นจะเสียเงินเสียทองเพียงใดก็ไม่ว่า แต่ถ้าได้ตกแต่งนิสัยใจคอของนักเรียนให้เป็นไปในทางที่ต้องการแล้วก็ไม่ถือว่าแพงเลย
ครูซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ในการให้การศึกษาแก่อนุชนของสังคมโดยตรงจะได้มาอย่างไร คนประเภทไหนที่จะมาเป็นครูได้บ้างก็แล้วแต่แต่ละคนให้จะการกำหนดนิยาม ปัญหาคือครูเขาก็มีความเป็นสถาบันของเขาเองเหมือนกัน นั่นหมายความว่ามีวิธีในการถ่ายทอดชุดความคิดของตัวเองหนำซ้ำยังผูกขาดความสามารถในการนิยามตัวตนของพวกเขาเองอีกด้วย เมื่อคนที่ไม่ได้เรียนมาในสถาบันการผลิตครูริอ่านจะมาทำอาชีพครู (และได้รับการอนุญาตจากทางการเสียด้วย) คนที่อยู่ในระบบมาแต่ก่อนจึงย่อมไม่พอใจเป็นธรรมดา
วิชาชีพครูนั้นเป็นวิชาชีพที่สำคัญดังที่ได้กล่าวมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะในกรณีของรัฐไทยซึ่งอำนาจรัฐแทรกตัวเข้าไปครอบงำสังคม รัฐส่วนกลางสมัยใหม่จำเป็นจะต้องควบคุมความคิดของประชากรภายในรัฐนั้นๆ ยิ่งคนที่ทำหน้าที่สอนสั่งมาแต่เดิมเป็นพระเสียด้วย ภารกิจครูจึงไม่สามารถแยกออกจากหน้าที่ในการให้ความรู้และถ่ายทอดศีลธรรมแบบที่รัฐต้องการ วงการนี้มี “โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์” มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทำเลเก่าของโรงเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จฯ ในปัจจุบันก่อนที่จะยุบรวมเข้าอยู่ในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในเวลาต่อมา
การนิพนธ์แบบเรียนก็มีกรมตำราทำหน้าที่นี้อยู่ โรงเรียนเอกชนก็มีอยู่บ้างแต่คงไม่มากและคงไม่ได้ทรงอิทธิพลต่อความคิดในการจัดการศึกษาในภาพใหญ่แต่อย่างใด แม้บางโรงเรียนอย่างอัสสัมชัญจะมีเจษฎาจารย์ฮีแลร์และตำราดรุณศึกษาซึ่งได้รับคำยกย่องมาถึงทุกวันนี้ แต่เท่าที่ทราบก็หาได้มีความพยายามจะดัดแปลงตำราดังกล่าวไปใช้สอนในโรงเรียนของราชการแต่อย่างใด
วงการครูเอกชนกับครูรัฐบาลนั้นแยกกันต่างหากตั้งแต่แรก ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีพัฒนาการผ่านร้อนผ่านหนาวมาแตกต่างกัน ถ้ามองเผินๆ จะเห็นว่าไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ความต่างระหว่างโรงเรียนทั้งสองแบบก็คงจะอยู่ที่การแต่งกายกับหนังสือแบบเรียนบางเล่มอย่างดรุณศึกษา แต่ถ้ามีหลักสูตรประเทศแล้วดรุณศึกษาคงจะเป็นตำราหลักอย่างสมัยฮีแลร์ต่อไปไม่ได้ ในเมื่อครูเอกชนและครูรัฐไม่ได้สอนต่างกันเท่าใดแล้ว หัวใจคนเป็นครูในสถาบันทั้งสองแบบก็ไม่ควรจะต่างกันใช่หรือไม่?
คั่นตรงนี้ไว้ก่อน แต่หากท่านพอได้ยินข่าวมาบ้าง จะเห็นว่าในหลายปีที่ผ่านมาที่วงการครูเกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นครูก็จะมีประเด็นวุ่นวายกันขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อถกเถียงซึ่งเป็นความสนใจหลักของบทความนี้ คือ คนที่จบการศึกษาระดับสูงมาจากสถาบันผลิตครูมักมีท่าทางไม่พอใจต่อการ “ข้ามสาย” ของคนที่เรียนจบวิชาเอกมาโดยตรง เป็นต้นว่าวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ พวกเขาอธิบายว่าคนกลุ่มอื่นๆ ไม่มีทางที่จะมีความเข้าใจในศาสตร์การสอนหรือสามารถทำงานครูได้ดีกว่าพวกตน
ข้อน่าสังเกตที่ต้องการจะนำเสนอก็คือหากมองลึกลงไปแล้วจะเห็นว่านี่เป็นปัญหาของการเป็นครูในระบบราชการ ครูโรงเรียนเอกชนไม่ได้ยศฐาบรรดาศักดิ์อย่างครูโรงเรียนรัฐแต่ก็อาจจะได้อัตราเงินเดือนดีกว่าพอเป็นการถัวเฉลี่ย ถึงกระนั้นก็เทียบไม่ได้กับสวัสดิการข้าราชการที่มั่นคงและเอื้อเฟื้อกว่ามาก ดังนั้นการแข่งขันเพื่อแย่งกันเป็นข้าราชการจึงเป็นเรื่องจริงจังมาก คนอยากเป็นครูมีจำนวนมาก บางคนเลือกจะไปเป็นครูอัตราจ้างรอการบรรจุและแต่งตั้งไปพลางแต่ก็สอบไม่ได้หลายปีติดต่อกัน ความไม่พอใจที่ผู้มีอำนาจทำให้คู่แข่งมีเพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
แต่สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องให้สงวนการมีใบประกอบวิชาชีพให้อยู่แต่ในแวดวงของตนเองนั้นบางครั้งก็มีปัญหา แต่มันเป็นปัญหาเดียวกันกับที่คนเป็นครูจะรู้ลึกไปทำไมในเมื่อรู้มากก็ไม่ได้ใช้กับนักเรียน (โดยเฉพาะในระดับเล็กๆ) มันเป็นเรื่องจริงที่ความรู้ชั้นสูงมากๆ ไม่ได้ใช้ในโรงเรียนหากแต่ทำให้มนุษย์มีท่าทีต่อความรู้ที่ถูกต้อง เพียงแต่ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องศึกษาให้ลึกซึ้งอะไรแล้ว ศีลธรรมจรรยาความเป็นครูและศาสตร์การสอนก็น่าจะเป็นจุดเด่นที่คนเรียนครูจะชนะคนกลุ่มอื่นอย่างขาดลอย จนแล้วจนรอดก็เท่ากับต้องการให้ผูกขาดความเป็นครูไม่ให้เผื่อแผ่ไปยังคนกลุ่มอื่นนั่นเอง
ไม่ว่าในการศึกษาระดับใด ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าครูจำนวนมากที่มีวุฒิทางด้านศึกษาศาสตร์ก็ไม่ได้มีวิธีการสอนที่ดี ครูที่ไม่มีวุฒิอย่างว่าบางคนก็อาจจะสอนเก่งในระดับดีเลิศด้วยซ้ำไป แม้แต่ครูที่เคยสอนผู้เขียนมาก็ตาม หากผู้อ่านท่านอื่นมีประสบการณ์ที่แตกต่างไปก็อาจแลกเปลี่ยนกันได้ ก็ในเมื่อวุฒิก็ไม่ใช่เครื่องรับประกันความรู้และจิตวิญญาณก็น่าจะปล่อยให้มีการแข่งขันช่วยคัดกรองคนเก่งๆ มาเป็น “ข้าราชการครู” บ้าง แต่ในเมื่ออะไรอะไรยังเป็นอย่างนี้ก็คงจะทำได้แต่เพียงอุทานในใจว่าการผูกขาดในตลาดวิชาชีพครูนี้อาจเป็นความเคยชินจากสมัยจารีตกระมัง
แสดงความคิดเห็น