พิจิตรา สึคาโมโต้: Post-truth โลกที่คนไม่สนความจริง
Posted: 23 Mar 2017 02:21 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
งานวิจัยชี้ข่าวลือในโซเชียลมีเดียไม่มีวันหายไป พิจิตราย้ำโซเชียลมีเดียมีกระบวนการคัดเลือกข้อมูลข่าวสารเพียงแต่เฉพาะที่ผู้คนต้องการเสพ ส่งผลให้รับรู้เพียงแค่ 10% จากทั้งหมด หวั่นเคสตัวอย่างสามารถกระทบต่อโครงสร้างทางการเมืองได้
พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ บรรยายหัวข้อ Post-truth ในงาน CU Talk: Million Ways to GLOW ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาฯ Expo 2017 ที่ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา
พิจิตราอธิบายเกี่ยวกับ Post-truth โดยยกตัวอย่างการโพสต์รูปโปรไฟล์ในปัจจุบันที่เราต่างก็ต้องการเลือกรูปที่สวยที่สุด ดีที่สุด การประกอบสร้างเหล่านี้ที่เราเห็นเกิดขึ้นมาเป็นร้อยปีแล้ว แม้กระทั่งในการทำข่าว ถึงแม้ว่าจะนำเสนอความจริงของข่าว ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็มีเป็นร้อยเป็นพันเหตุการณ์ นักข่าวเป็นคนทำหน้าที่เลือกว่าอันไหนควรจะขึ้นมาอยู่บนหน้าจอ อะไรเป็นประเด็นที่ทุกๆ คนต้องรู้
พิจิตรายกตัวอย่างการนำเสนอภาพข่าวว่า เป็นภาพใหญ่ที่ด้านหนึ่งเป็นภาพของเชลยศึกที่ถูกปืนจ่อหัว อีกด้านเป็นภาพทหารให้น้ำเชลย ซึ่งสามารถเฟรมภาพได้ว่าเราจะเลือกเสนอภาพแบบไหน จะนำเสนอในเชิงมนุษยธรรม หรือจะนำเสนอภาพลบที่เชลยศึกถูกนำตัวไปแล้วถูกปืนจ่อหัวอยู่ นี่ทำให้เห็นได้ว่าแม้ว่าเป็นข้อเท็จจริง ต่อให้เป็นข่าวเหมือนกัน แต่บางทีการตัดต่อร้อยเรียงเรื่องอาจจะไม่เหมือนกัน สิ่งเหล่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชน รวมถึงในยุคปัจจุบันทุกคนมีโทรศัพท์อยู่ในมือ และสามารถผลิตสื่อเองได้ ในโลกออนไลน์ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีข่าวมากมาย ภาพและคำก็สามารถประกอบสร้างได้เช่นกัน
พิจิตรายกตัวอย่างการนำเสนอข่าวให้เห็นภาพการประกอบสร้างของคำที่ชัดเจนขึ้น ในกรณีของสำนักข่าวต่างประเทศอย่างฟอกซ์ลาติโลโน (Fox News Latino) สำหรับคนละตินอเมริกา และฟอกซ์นิวส์ (Fox news) ในข่าวเดียวกัน ขณะที่ฟอกซ์ลาติโลโน รายงานกรณีเด็กที่ได้ทุนการศึกษาว่า การให้ทุนคนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในอเมริกาเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่ฟอกซ์นิวส์ซึ่งนำเสนอในอเมริกากลับใช้คำว่า “money for illegal” เป็นเงินสนับสนุนคนไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในยุค Post-truth คือยุคที่มีความจริงหลายชั้น หลายชุดให้เราเลือก ทำให้เกิดความสับสนกับคนที่เสพข่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเห็นได้ว่าโลกโซเชียลมีเดียประกอบสร้างความจริงมากมายจนกระทั่งหลายๆ เรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เกิดขึ้นแล้ว เช่น การตัดต่อรูปคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไปยืนอยู่บนรันเวย์วิกตอเรียซีเคร็ต หรือเรื่องที่มีการเอาภาพกระเป๋าแบรนด์เนมมาเปรียบเทียบว่าคล้ายกับกระเป๋าประตูน้ำ (กระเป๋ากระสอบ) จนทำให้เกิดเป็นข้อสงสัยว่าดีไซน์เนอร์อาจจะเคยมาเที่ยวเมืองไทยเกิดถูกใจเลยเอากระเป๋าประตูน้ำไปเป็นกระเป๋าดีไซน์เนอร์ กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ที่ทำให้มีบางคนเชื่อ หลายคนอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องขำๆ แต่เนื่องจากตนเองได้ทำงานวิจัยร่วมคณะวิศวกรรมศาสตร์ในด้าน data science ทำให้พบข้อมูลบางอย่าง
โดยการวิจัยนี้ได้ให้โจทย์กับทางวิศวะไปว่า อยากจะรู้ว่าในโลกโซเชียลมีเดียมีข่าวลือ และพูดถึงข่าวลืออย่างไรบ้าง จึงมีการคิดโปรแกรมหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า ‘CU Tweet’ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ใช้แพลตฟอร์มทวิตเตอร์ในการทำงาน ตัวอย่างข้อมูลที่เราได้เช่น กรณีข่าวรัฐประหาร มีกราฟบ่งบอกว่าการรับรู้ข่าวสารของคนไทยนั้น มีแหล่งข่าวน้อยมาก แต่คนรีทวีตเยอะมาก หมายความว่ามีต้นฉบับน้อยมาก แต่เราชอบแชร์
อีกกรณีหนึ่งเป็นกรณีของข่าวลือเรื่องสรยุทธ สุทัศนะจินดา ถูกยิง จากโปรแกรมนี้ เราพบว่ามันมีทวิตเตอร์นิรนามหลายแอคเคาต์ทวีตไปเรื่อยๆ ว่า สรยุทธโดนยิง เต็มหน้าฟีดไปหมดในระดับวินาทีวิ่งไปเรื่อยๆ พร้อมแสดงภาพเส้นกราฟสีแดงที่เคลื่อนไหวตลอดแสดงให้เห็นว่าข่าวลือนั้นวิ่งไปเรื่อยๆ ในโลกโซเชียลมีเดีย และหลังจากกราฟสีแดงวิ่งได้สักระยะหนึ่งจะปรากฏกราฟสีฟ้าซึ่งแสดงถึงข่าวแก้ออกมา สิ่งที่ทำให้ดีใจมากเกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้คือคนที่ออกมาแก้ข่าวลือส่วนใหญ่เป็นนักข่าวและนักสื่อสารมวลชน แต่เราจะพบว่าข่าวลือจะยังคงวิ่งไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีข่าวแก้ออกมาแต่ข่าวลือก็จะไม่หายไปจากโลกโซเชียลมีเดีย
การทำงานวิจัยชิ้นนี้ทำให้พบว่าข่าวลือต่างๆ เหล่านี้ทำให้นักข่าวต้องออกมาตามแก้ข่าวตลอดเวลา อีกทั้งยังไม่ได้เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ เป็นข่าวขยะ อีกทั้งยังพบว่าหากมีข่าวเหล่านี้อยู่ในโลกออนไลน์เยอะยังสามารถทำให้กระทบโครงสร้างทางการเมืองได้ จากตัวอย่างช่วงระยะเวลา 1 เดือนก่อนที่จะมีการเลือกตั้งที่สหรัฐอเมริกา ข่าวไม่จริงพุ่งอยู่ในโลกออนไลน์สูงมากกว่าข่าวที่เป็นข้อเท็จจริง และคนเสพข่าวที่เป็นเท็จเยอะมาก ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเฟซบุ๊กหลายท่านจะทราบว่าเฟซบุ๊กจะมีอัลกอริทึมที่จะซ่อนข้อมูลบางอย่าง และแสดงข้อมูลเฉพาะที่ผู้ใช้สนใจเท่านั้น ทำให้เห็นข้อมูลเพียงแค่ 10% จากทั้งหมด ดังนั้นหากคุณชอบการเมืองแบบไหนคุณจะเห็นแต่แบบที่คุณอยากได้
พิจิตราสรุปทิ้งท้ายไว้ว่าในโลก Post-truth เราจะเจอสิ่งเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เราควรจะต้องตื่นตัวได้แล้วว่าเราอยู่ในโลกที่เป็น Post-truth เราควรจะต้องเรียนรู้ว่าในโลกออนไลน์เหล่านี้มันมีความจริงและไม่จริงอยู่ และในความจริงที่มาจากคนเดียวกัน ก็อาจเป็นความจริงที่ไม่เหมือนกัน
แสดงความคิดเห็น