จิตวิทยาว่าด้วยเรื่องของความ 'ปกติทั่วไป' ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ในมุมมองผู้คน

Posted: 22 Mar 2017 02:29 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

สิ่งที่ถูกมองว่า 'ปกติ' หรือ 'ไม่ปกติ' นั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นเช่นนั้นแต่แรก แต่เป็นการกำหนดคุณค่าเอาเองของคนในแต่ละสังคม เรื่องเหล่านี้จึงเป็นได้ทั้งเครื่องมือทางการเมือง บางมุมก็กลายเป็นอุปสรรคทางวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนให้คนที่เคยถูกมองว่าเป็นคนนอกของสังคมอย่างคนพิการหรือมีปัญหาทางการเรียนถูกมองเป็นคนเหมือนปกติทั่วไปมากขึ้นได้


ที่มาของภาพประกอบ: Yanping Nora Soong/วิกิพีเดีย/CC BY SA 2.0

22 มี.ค. 2560 ฮิลลารี คลินตัน ผู้เคยลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับโดนัลด์ ทรัมป์ เคยบอกว่าไว่าการรณรงค์หาเสียงของเธอคือการพยายามไม่ปล่อยให้สิ่งที่ทรัมป์กระทำกลายเป็น "สิ่งปกติทั่วไป" คำกล่าวนี้มาจากความวิตกกังวลว่าการแสดงความคิดเห็นเหยียดผู้หญิงหรือท่าทีล่วงละเมิดทางเพศของทรัมป์จะกลายเป็นสิ่งที่ดูปกติสามัญจนคนนำมาทำตามกัน โดยที่หลังจากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งแล้วบรรณาธิการของนิวยอร์กไทม์ก้บอกว่าเขารู้สึกถึงการที่พฤติกรรมแบบของทรัมป์ถูกทำให้กลายเป็นเรื่อง "ปกติทั่วไป"มาสักระยะหนึ่งแล้ว

ในโลกของเราการมองว่าอะไรเป็นเรื่อง "ปกติ" หรือ "ไม่ปกติ" นั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของบุคคลเหล่านั้นเอง และมุมมองเรื่องความ "ปกติ" ก็เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย การที่อะไรๆ ถูกกำหนดให้ "ปกติ" และ "ไม่ปกติ" นั้น ต่างก็กลายเป็นพลังอำนาจในการปั้นแต่งแปรเปลี่ยนโลกได้ โดยที่รายงานเจาะลึกเชิงจิตวิทยาโดยเจสสิกา บราวน์ ในสื่อบีบีซี นำเสนอว่า "การทำให้เป็นสิ่งปกติทั่วไป" (normalisation) ส่งผลต่อสังคมในหลายๆ แง่อย่างไรบ้าง

อดัม แบร์ และ โจชัวร์ โนบ จากมหาวิทยาลัยเยลส์ต่างก็เป็นคนที่ศึกษาเรื่อง "การทำให้เป็นสิ่งปกติทั่วไป" เมื่อไม่นานมานี้พวกเขาเขียนบทความถึงเรื่องนี้ในนิวยอร์กไทม์ว่า ผู้คนมักจะสับสนกันระหว่างสิ่งที่ "พึงปรารถนา" และสิ่งที่เป็นค่าเฉลี่ยทั่วไปกับ "การตัดสินคุณค่าความปกติสามัญแบบถูกต้องหนึ่งเดียว" นั่นหมายความว่าถ้าหากทรัมป์ยังทำสิ่งที่เคยมีคนมองว่า "แปลกประหลาด" ต่อไปเรื่อยๆ ซ้ำๆ ก็มีโอกาสที่คนจะมองว่ามันเป็นเรื่อง "ปกติ" เพราะข้อจำกัดการมองโลกของมนุษย์ไม่แยกแยะระหว่าง "ความปกติ" กับ "สิ่งที่เป็นอุดมคติ"

"การทำให้เป็นสิ่งปกติทั่วไป" ไม่ใช่แค่เพียงในเรื่องการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นส่งที่มีอยู่ในทุกอาณาบริเวณของชีวิตประจำวันตั้งแต่ในที่ทำงานจนถึงที่บ้าน มันเป็นกลไกที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความเชื่อและการตัดสินใจของพวกเราทุกคน บีบีซีระบุว่าคนเรามักจะหวงแหนสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นความปกติในชีวิต เป็นค่าดั้งเดิม (default) ในสังคม เป็นสิ่งที่เรียกว่าอาณาเขตที่ทำให้รู้สึกสบายใจ (comfort zone)

แต่การจะตัดสินว่าอะไร "ปกติ" หรือ "ผิดปกติ" นั้นก็ไม่ได้ตายตัวแต่มักจะขึ้นอยู่กับมุมมองค่านิยมทางสังคม ทางศีลธรรม ที่บางครั้งก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบวกแต่บางครั้งก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางแย่ลงหนักมาก เช่น เคยมีการศึกษาเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีโดยจูลี ลิปป์มัน ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยระบุว่าการที่ผู้ชมได้ชมแต่ภาพยนตร์โรแมนติคคอมเมดีที่ฝ่ายชายมีลักษณะตามตื๊อแบบ "สะกดรอยตาม" หรือที่เรียกว่า "สตอลเกอร์" ทำให้ผู้ชมปล่อยปละละเลยกับพฤติกรรมแบบนี้ได้มากขึ้น ทั้งที่อาจจะเป็นปัญหาสำหรับบางคนที่ถูกติดตามรังควาญ

ในบางมุมของชีวิตการที่คนมอง "ความปกติธรรมดา" แบบยึดติดมากเกินไปก้กลายเป็นปัญหาได้ เช่น เรื่องมาตรฐานความงาม อาจจะกลายเป็นเครื่องมือตัดสินคนได้อย่างไม่เป็นกลาง เช่นที่เครือข่ายบิวตีดีมานด์ซึ่งเป็นกลุ่มนักทฤษฎีทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และนักสังคมวิทยา ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม เคยนำเสนอเอกสารงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องค่านิยมความงามเอาไว้เมื่อปี 2559 ระบุว่าการที่ค่านิยมความงามคับแคบและเคร่งครัดเกินไปกับการให้ความหมายว่าอะไรที่เป็น "ความงามแบบปกติ" ส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นในตนเองของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง

อย่างไรก็ตามมุมมองในเรื่องที่ว่าอะไร "ปกติ" หรืออะไร "ไม่ปกติ" ของคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หรืออาจจะเปลี่ยนไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางภาษาของคนเราด้วยก็ได้ บางครั้งก็เป็นการพยายามเปลี่ยนคำให้เบาลงของพวกกลุ่มขวาจัด เช่นพวกกลุ่มขวาจัดที่เรียตัวเองว่า "กลุ่มขวาทางเลือก" เพื่อทำให้มุมมองสุดโต่งทางการเมืองของพวกเขาถูกมองว่า "ปกติ" ได้

ปรากฎการณ์คล้ายกันนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ช่วงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเมื่อผู้สมัครฝ่ายขวาอย่างเคียร์ต วิลเดอร์ส ที่การแสดงออกในเชิงกีดกันคนนอกของวีลเดอร์สส่งอิทธิพลให้พรรคการเมืองใหญ่อื่นๆ หันมาเล่นเกมการเมืองแบบเอียงขวาตามแม้จะเป็นการแย้มเปรยเล็กๆ น้อยๆ

มีนักรัฐศาสตร์ทฤษฎีอธิบายเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ช่วงยุคคริสตทศวรรษ 90s เขาคือโจเซฟ โอเวอร์ตัน เขาอธิบายเรื่องนี้ไว้ในแนวคิดที่ชื่อว่า "หน้าต่างโอเวอร์ตัน" หรือในบางครั้งก็ถูกเรียกว่า "หน้าต่างแห่งวาทกรรม" (window of discourse) ที่หมายถึงแนวคิดต่างๆ ที่ผู้คนทั่วไปจะยอมรับในช่วงนั้นๆ เป็นสิ่งที่สรุปบรรยากาศทางการเมืองในยุคสมัยนั้นและเป็นสิ่งที่คนลงคะแนนเสียงเลืออกตั้งมองว่าเป็นสิ่งที่รับได้ ซึงอาจจะเป็นการเอียงซ้ายหรือเอียงขวา ขึ้นอยู่บนโยบาย พรรคการเมือง นักการเมืองแต่ละคน และเหตุการณ์ที่ส่งอิทธิพลต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้งด้วย

การให้คุณค่าความหมายว่าอะไร "ปกติ" ของคนเราเปลี่ยนแปลงรวดเร็วแม้กระทั่งภายในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาก็มีการเปลี่ยนแปลงทั้งคำที่เราใช้ วิธีการแต่งตัว บทบาททางเพศในที่ทำงานและในครอบครัว รวมถึงเรื่องทัศนคติต่างๆ เช่นการยอมรับในสิ่งที่ดูแตกต่างจาก "ค่าดั้งเดิม" ของสังคมมากขึ้น เช่นในอังกฤษมีการสำรวจพบว่าผู้คนยอมรับและเข้าใจผู้มีอาการป่วยทางจิตใจมากขึ้น ในสำรวจเกี่ยวกับคำถามที่ว่าพนักงานที่เป็นโรคซึมเศร้าน่าจะมีโอกาสเลื่อนขั้นได้เท่ากับพนักงานอื่นๆ หรือไม่ ผลสำรวจเมื่อปี 2543 ระบุว่าร้อยละ 41 มองวามีโอกาสน้อยกว่าที่จะเลื่อนขั้น แต่ในปี 2558 ผลสำรวจออกระบุว่าคนที่เชื่อเช่นนี้ลดลงเหลือร้อยละ 35

การเปลี่ยนแปลงให้ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติในเชิงวัฒนธรรมก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ซึ่งจะเห็นผลได้ แม้แต่เรื่องทัศนคติต่อการใช้ยาเสพติดต่างๆ เริ่มมีคนมองว่าเป็น "กิจกรรมยามว่าง" มากขึ้น แทนที่จะถูกมองว่าเป็น "การกระทำที่ดูขบถ" แบบแต่ก่อน

การทำให้ดูเป็นเรื่อง "ปกติ" ก็มีการเอามาใช้ผิดๆ ได้เหมือนกัน เช่นในกรณีของการทำอะไรผิดพลาดแล้วไม่มีการเล็งเห็นปัญหาและป้องกันข้อผิดพลาดจากความผิดนั้น แม้แต่การปล่อยปละละเลยที่ดูเหมือนจะเล็กๆ น้อยๆ บางทีก็ก่อให้เกิดหายนะใหญ่อย่างกระสวยอวกาศระเบิดหลังปล่อยขึ้นฟ้าไม่นาน เหตุนี้เกิดในปี 2529 ในกรณีกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ เพราะไม่มีใครฟังคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญที่เตือนว่าสภาพอากาศหนาวเย็นในฟลอริดาเดือน ม.ค. จะสร้างปัญหาให้กับยางรูปวงแหวนที่ใช้ปิดกั้นแก๊สระหว่างรอยต่อในจรวดบูสเตอร์

โดยที่นักฟิสิกส์ทฤษฎี ริชาร์ต ไฟยน์แมน ชี้ว่ามีการทดสอบยานนี้ซ้ำหลายครั้งพบว่าการที่ยางรูปวงแหวนถูกกัดกร่อนจากสภาพอากาศไม่มีปัญหาอะไร เลยเชื่อเอาเองว่ามันไม่มีความเสี่ยง "คนเราลดมาตรฐานของตัวเองลงไปเล็กน้อยเพราะการกระทำครั้งก่อนหน้านี้แล้วรอดจากมันได้" ไฟยน์แมนกล่าว เรื่องนี้จึงมีนักสังคมวิทยาชี้ว่าเป็นเรื่องของความเคยชินกับการทำนอกเหนือหลักเกณฑ์จนทำให้ไม่สนใจหลักเกณฑ์ด้านความปลอดภัย

ขณะเดียวกันการทำให้เป็นเรื่อง "ปกติ" ก็อาจจะทำให้คนเปลี่ยนทัศนคติในทางที่ดีได้ เช่น ทัศนคติต่อคนที่มีปัญหาด้านการเรียน โดยที่หลักการทำให้คนที่มีปัญหาด้านการเรียนเป็น "ปกติ" ร่วมกับสังคมเช่นนี้เริ่มพัฒนาจากในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย อย่างในเดนมาร์กเคยมีการร่างกฎหมายปี 2502 ระบุให้คนที่มีปัญหาด้านการเรียนควรได้รับคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกับคนอื่นๆ ในสังคม ผู้ที่ส่งเสริมในเรื่องนี้คนแรกๆ คือ เบงจต์ นีร์เย จากที่ก่อนหน้านี้สังคมมองว่าคนที่มีปัญหาด้านการเรียนเป็น "คนผิดปกติ" จึงถูกปฏิบัติไม่เหมือนคนอื่น การเปลี่ยนแปลงนี้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องการดูแลสวัสดิการสังคมทั่วโลกด้วย และนำไปสู่การยกเลิกระบบการอยู่โรงพยาบาลในระยะยาวและการอยู่ในสภาพถูกทำให้เป็นสถาบันคล้ายสถานพินิจ และเรื่องนี้ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมุมมองของผู้คนทั่วไปที่มีต่อคนพิการด้วย

แนวคิดเรื่องของคนที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ คนพิการ และผู้ป่วยทางใจ เป็นที่รับรู้ของสหรัฐฯ ทีหลัง โดยในปี 2517 วิลเลียม บรอนสตัน ผู้เรียกร้องสิทธิคนพิการพูดในงานประชุมดาวน์ซินโดรมครั้งที่ 2 ในสหรัฐฯ ว่าในยุคสมัยนั้นคนยังมองผู้ป่วยทางใจว่าเป็นส่งที่อยู่ต่ำกว่ามนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นผัก หรือเป็นสิ่งของ เขาเสนอให้มีการทำให้สิ่งเหล่านี้ดูเป็นปกติในสังคมด้วยการเปลี่ยนคำในเชิงตีตราพวกเขาหรือดูเป็นอื่น ให้กลายเป็นภาษาในเชิงบวกแทน เพราะภาษา คำเรียกและการแปะป้ายต่างๆ เหล่านี้ควรจะทำให้พวกเขามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และทำให้สังคมมีภาพจำหรือมีคาดหวังกับพวกเขาแบบคนทั่วไป

ในแง่ดีที่พยายามจะเอามาใช้กันอีกคือเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่นการพยายามเปลี่ยนทัศนคติให้คนมองว่าการทำตัวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องปกติทั่วไปในกระแสหลักไม่ใช่เรื่องฮิปๆ กิ๊บเก๋ ที่ดูผิดแผกจากชีวิตรอบตัว มีการนำเสนอในเรื่องนี้จากนักวิจัยของวิทยาลัยธุรกิจคิงสตันในปี 2554 ทำให้สื่อบีบีซีระบุว่าไม่น่าแปลกใจที่กระแสการรีไซเคิลและพฤติกรรมเชิงอนุรักษ์เพิ่มมากขึ้นในระดับโลกช่วงสิบปีที่ผ่านมาและมีการพูดถึงมากขึ้นด้วย

"การถูกบอกว่า 'ปกติ' นั้นส่งอิทธิพลถึงพฤติกรรมของพวกเราได้โดยที่ไม่รู้ตัว พวกเรายอมรับความปกติ พวกเราปกป้องมัน พวกเราตกหลุมพรางมัน พวกเราอาจจะกังวลเมื่อีสิ่งหนึ่งเริ่มจะกลายเป็นปกติ ในขณะที่อีกสิ่งหนึ่งกระเด็นเข้ามาหรือออกไปนอกกรอบหน้าต่างของความปกติในระดับที่ใกล้เพียงแค่อยู่ใต้จมูกเราเท่านั้นเอง ความปกติแผ่ซึมไปทั่วโลกของเรา และถึงแม้ว่ามันเป็นส่งที่แพร่หลายทั่วไปก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรจะใส่ใจมัน" บราวน์ระบุในรายงานบีบีซี



เรียบเรียงจาก

The powerful way that 'nomalisation' shapes our world, Susan Brown, BBC, 20-03-2017
เนเธอร์แลนด์ขวาหัน? ลุ้น 'วิลเดอร์ส' จะชนะเลือกตั้ง 15 มี.ค.หรือไม่, 11-03-2017, ประชาไท

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://th.wikipedia.org/wiki/กระสวยอวกาศชาแลนเจอร์

https://en.wikipedia.org/wiki/Overton_window

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.