Posted: 22 Mar 2017 04:35 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน นัดเปิดตลาดสีเขียวสัญจรใน 23 มี.ค. นี้ หน้าสํานักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมติดตามผลพิจารณา EHIA ที่กลุ่มทุนยื่นเป็นรอบที่ 4
แฟ้มภาพประชาไท
22 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 มี.ค.60) เวลาประมาณ 15.00 น. เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน (คตฟ.) จ.ฉะเชิงเทรา ประกาศนัดติดตามการพิจารณาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ครั้งที่ 4 ซึ่งกลุ่มดังกล่าวยืนยันว่าโรงไฟฟ้านี้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคกลาง ทำให้เกิดวิกฤติในลุ่มน้ำคลองท่าลาดซึ่งเป็นต้นน้ำบางปะกง พร้อมทั้งตั้งคำถามด้วยว่า ประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองเหลือเฟือ ไม่มีเหตุผลต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีก
คตฟ. ประกาศว่า ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจทุกท่าน ชมนิทรรศการชีวิตจริง 10 ปี บนเส้นทางการต่อสู้หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน-ฉะเชิงเทรา และช็อปตลาดสีเขียวสัญจร ที่จะนำอาหาร ผัก และผลไม้อินทรีย์มาจำหน่าย และร่วมติดตามการพิจารณาโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ณ สํานักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในวันที่ 23 มี.ค. 60 ตั้งแต่เวลา 10.30 น. เป็นต้นไป ด้วยคำถามที่สำคัญ ที่ว่า "ระหว่าง “อู่ข้าวอู่น้ำ” กับ “ถ่านหิน” คชก. จะเลือกปกป้องอะไร ?"
ทั้งนี้ คตฟ. ระบุว่า หลังจากตามคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ไม่ผ่านความเห็นชอบ EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เขาหินซ้อน-ฉะเชิงเทรา ของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ในเครือดั๊บเบิ้ลเอ มาแล้ว 3 ครั้ง แต่บริษัทยังเดินหน้าแก้รายงานและส่งให้ คชก. พิจารณาอีกเป็นครั้งที่ 4 ในวันที่ 23 มี.ค. 60 ชาวบ้านจึงต้องออกมาแสดงจุดยืนว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เหมาะสมกับพื้นที่ เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่นี้จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลางและกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตข้าว ผัก ผลไม้ และผลผลิตเกษตรอินทรีย์กว่า 200 ชนิด โดยผลกระทบจะไม่จำกัดเฉพาะกับเกษตรกรเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากรชีวภาพ ฐานการเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ และจะกระทบไปถึงผู้บริโภคจำนวนมาก นอกจากนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินยังต้องใช้น้ำและมีน้ำทิ้งมากซึ่งจะทำให้สถานการณ์ขาดแคลนน้ำและคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าลาดซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกงวิกฤติยิ่งขึ้นไปอีก และโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ไม่มีความจำเป็น เพราะประเทศไทยยังคงมีไฟฟ้าพอใช้ และหากผนวกแผนการอนุรักษ์พลังงานร่วมกันแผนพัฒนาพลังงานทางเลือก ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าเกินเกณฑ์ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอีกมาก
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา นันทวรรณ หาญดี ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา เคยให้สัมภาษณ์ว่า จากเดิมที่ คชก. แจ้งไว้จะมีการพิจารณา EHIA ของกลุ่มทุนที่ยื่นเป็นรอบที่ 4 ในวันที่ 16 มี.ค. 60 เวลา 13.30 น. ทาง สผ. ขอเลื่อนกระทันหัน เนื่องจากคณะกรรมการได้ประชุมหารือกรณีที่ชาวบ้านยื่นหนังสือขอรับฟังผลพิจารณาร่วมด้วยประมาณ 100 คน แต่ตนได้รับการติดต่อจาก สผ. เมื่อวันที่ 14 มี.ค.60 ว่า ขอเลื่อนวันพิจารณามาเป็นวันที่ 23 มี.ค.นี้
แสดงความคิดเห็น