อรอนงค์ ทิพย์พิมล: TU101 ประวัติศาสตร์ร่วมอาเซียนและปมประวัติศาสตร์บาดแผล

Posted: 23 Mar 2017 08:11 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

อรอนงค์ ทิพย์พิมล บรรยายวิชา TU101 อธิบายลักษณะร่วมของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประวัติศาสตร์บาดแผล-ความขัดแย้งร่วมสมัย ตั้งแต่พิพาทดินแดน จนถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างโขนหรือผ้าบาติก แนะควรสร้างสรรค์ประวัติศาสตร์ใหม่อาเซียนร่วมกัน ลดความเป็นรัฐ เพิ่มความเป็นประชาคมภูมิภาค แทนที่การเขียนประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม

กดติดตามรับชมคลิปใหม่ๆ ที่

15 มี.ค. 2560 วิชา มธ 101 โลก อาเซียน และไทย เปิดบรรยายในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ร่วมของอาเซียน“ ณ ห้อง SC 1059 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต โดยมีอรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์เป็นผู้บรรยาย


ประวัติศาสตร์ร่วม ประวัติศาสตร์เลือด: มายาคติระหว่างรัฐบนเส้นเวลาเดียวกัน

อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายถึงประวัติศาสตร์ที่ภูมิภาคอาเซียนมีร่วมกัน เริ่มต้นตั้งแต่สมัยเป็นรัฐอาณาจักร ไม่มีเขตแดนพรมแดนแน่นอนต่างจากรัฐสมัยใหม่ อำนาจอาณาจักรไม่คงที่ ประเทศราชไม่ได้เป็นของใครซักคน การส่งบรรณาการเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองก็ทำกับหลายฝ่าย เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน สิ่งที่มีร่วมกันคือการค้าภายในภูมิภาคและนอกภูมิภาค

ภายหลังการปลดแอกตนเองจากการเป็นอาณานิคม ประเทศทั้งหลายในภูมิภาคเลือกสร้างประวัติศาสตร์เพื่อสร้างนิยามตัวตนแห่งชาติร่วมกัน โดยอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เป็นช่วงที่ประวัติศาสตร์สร้างความวุ่นวายและรอยร้าวในภูมิภาคมากที่สุด เกิดการสร้างกระแสรักชาติด้วยการสร้างศัตรูร่วมกันเพื่อให้คนในชาติรักกัน สร้างมายาคติต่อประเทศในภูมิภาค

“แต่ละประเทศมีศัตรูในประวัติศาสตร์ไม่เหมือนกัน พม่ามีอังกฤษ ไทยก็มีพม่า กัมพูชามีไทยกับฝรั่งเศส ตำราเรียนฉบับกัมพูชามองสยามว่าเป็นมหาโจร โจรสยาม ส่วนตำราเรียนไทยก็มองกัมพูชาว่าเลี้ยงไม่เชื่อง ไว้ใจไม่ได้ ไทยมองลาวเป็นบ้านพี่เมืองน้อง มองลาวด้อยกว่า แต่ลาวเองก็เห็นไทยเป็นศักดินาสยาม”


นาม “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แพร่หลายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แท้จริงมีหลายชื่อเรียกมาแต่โบราณ

อรอนงค์ บรรยายว่า พื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นการนิยามกลุ่มรัฐสมัยใหม่ในรูปแบบหนึ่งที่เริ่มแพร่หลายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง แท้ที่จริงภูมิภาคนี้เป็นที่รู้จักมานานแล้ว อินเดีย เรียกว่า สุวรรณภูมิ ตั้งแต่สมัยพุทธกาลในตำราพุทธศาสนา แปลว่า แผ่นดินแห่งทอง หมายถึงสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ มีพ่อค้า,พราหมณ์ที่เดินทางมาค้าขาย เผยแพร่ศาสนา จีน เรียกว่า นานยาง (Southern Sea) มีประวัติศาสตร์การค้า การทูตมายาวนาน อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ พ่อค้ามลายู เรียก ดินแดนที่อยู่ใต้ลม (Land Below the Wind) เพราะว่าต้องอาศัยลมมรสุมในการเดินทางเข้ามา ส่วนญี่ปุ่นนั้นเรียกว่านามโป

ในยุคอาณานิคม อินโดจีน เป็นนิยามของรัฐอาณานิคมฝรั่งเศส เวียดนาม ลาว กัมพูชา หมายถึงดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดียและจีน รวมไปถึง ทฤษฎีโดย ยอร์จ เซเดส์ (George Coedes) ที่เรียกภูมิภาคนี้ว่า รัฐแบบฮินดู หรือ อินเดียไกล (Greater/ Further India)เพราะเชื่อว่าแถบนี้ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม การเมืองระบบจารีต

แนวคิดเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยใหม่นั้น แต่เดิมเป็นศูนย์บัญชาการของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันก็มีกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหราชอาณาจักรที่ต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น ต่อมาในช่วงสงครามเย็นได้มีการก่อตั้ง Southeast Asia Treaty Organization (SEATO) ใน พ.ศ. 2497 เป็นองค์กรด้านความมั่นคงในภูมิภาคเพื่อต่อต้านการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ส่วนอาเซียนนั้นตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2510 มีอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และไทยเป็นสมาชิกก่อตั้ง เพื่อต่อต้านการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ และมีผลงานชิ้นโบว์แดงก็คือการร่วมกันแสดงจุดยืนหยุดยั้งการรุกรานของเวียดนามในกัมพูชาเมื่อช่วงทศวรรษที่ 2530 โดยมีไทยเป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งหลังจากสงครามเย็น อาเซียนมีพัฒนาการทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมเรื่อยมาจนปัจจุบัน โดยเปรียบเทียบกับเสาหลักอีกสองเสา ได้แก่ เสาความมั่นคง การเมือง และเสาด้านสังคมวัฒนธรรม


สร้างชาติจากบาดแผล: เจ็บปวดตั้งแต่รบพุ่งกันจนถึงแย่งกันเป็นเจ้าของตำรับ ‘ท่าจีบ’

“เหตุการณ์ที่กระแทกกระทั้นอารมณ์และจิตใจอย่างลึกซึ้ง และยังคงส่งผลสะเทือนยาวนานต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งต่อกลุ่มคนที่รับรู้และต่อสังคม ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่ได้รับการชำระสะสางให้กระจ่างเสียที เพราะมักเป็นโศกนาฏกรรมที่เหนือความคาดหมายหรือเกินกว่าจะอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลภายใต้ชุดวัฒนธรรมหรือศีลธรรมหนึ่งๆ ตราบใดที่ยังไม่สามารถหาคำอธิบายได้อย่าง “ลงตัว” อดีตอันเกิดจากความรุนแรงเหล่านี้ก็จะคาราคาซัง รบกวนจิตใจผู้คนต่อไป และมีอิทธิพลต่อความทรงจำของบุคคลและสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อการหล่อหลอมอัตลักษณ์ของสังคมนั้นๆ อย่างมาก”
ธงชัย วินิจจะกูล (2539), “ความทรงจำกับประวัติศาสตร์บาดแผล : กรณีการปราบปรามนองเลือด 6 ตุลา 19” ใน รัฐศาสตร์สาร (19:3)

อรอนงค์ ให้ความหมายของประวัติศาสตร์บาดแผล โดยอธิบายจากคำบรรยายของธงชัย วินิจจะกูลว่า เป็นความทรงจำที่มีความรุนแรง โศกเศร้าเกินกว่าที่จะเข้าใจได้ง่ายๆตามกรอบเหตุผลและศีลธรรมจรรยาชุดหนึ่งๆ เป็นภาวะลักลั่นว่า จะเผชิญหน้าอย่างไร คลี่คลายอย่างไร จะจำอย่างไรและจะลืมอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น กรณีเจ้าอนุวงศ์ ที่ประเทศลาวมองเป็นวีรบุรุษผู้ตั้งใจนำชาวลาวกลับจากสยามสู่บ้านเกิด ในขณะที่ไทยมองว่าเป็นกบฎ โดยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้นสร้างความเจ็บปวดให้กับประเทศลาว เพราะสมัยนั้นสยามได้ปราบเจ้าอนุวงศ์และนำมาขังประจานจนสิ้นพระชนม์ในฐานะของกบฎ นอกจากนี้ เหตุการณ์เผาสถานทูตไทยในกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2546 ที่ลุกลามบานปลายจากข่าวลือว่า กบ - สุวนันท์ คงยิ่ง กล่าวว่านครวัดเป็นของไทย แสดงให้เห็นถึงความบาดหมางที่ร้าวลึกในประวัติศาสตร์เรื่องความขัดแย้งเชิงพรมแดน

แม้แต่ในไทยเอง กรณีของไทย – ปาตานี ก็มีการต่อสู้เพื่อนิยามตัวตน ปาตานีถูกยึดเป็นอาณานิคมในรัฐสยาม และด้วยนโยบายชาตินิยมจากกรุงเทพฯ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปตีความวิถีชีวิตของชาวมุสลิมภาคใต้ว่าไม่อารยะ ในปี พ.ศ. 2490 หะยีสุหลง ผู้นำและปัญญาชนในพื้นที่ ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ความว่า
1.ขอให้แต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มมาปกครองใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ให้มีอำนาจที่จะปลด ระงับ หรือโยกย้ายข้าราชการได้ บุคคลผู้นี้จักต้องถือกำเนิดในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของ 4 จังหวัด และจักต้องได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนใน 4 จังหวัดนั้น
2.ข้าราชการใน 4 จังหวัดจักต้องเป็นมุสลิมจำนวน 80 %
3.ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการของ 4 จังหวัด
4.ให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา
5.ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลศาสนา แยกออกไปจากศาลจังหวัด โดยมีผู้พิพากษามุสลิม (KATH) นั่งพิจารณาร่วมด้วย
6.ภาษีเงินได้และภาษีทั้งปวงที่เก็บจากประชาชนใน 4 จังหวัดจักต้องใช้จ่ายเฉพาะใน 4 จังหวัดเท่านั้น
7.ให้จัดตั้งคณะกรรมการมุสลิมมีอำนาจเต็มในการดำเนินการเกี่ยวกับคนมุสลิมทุกเรื่อง โดยให้อยู่ในอำนาจสูงสุดของผู้นำตามข้อ 1

ผลที่ตามมาคือ รัฐบาลไทยสมัยนั้นไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง มีการจับหะยีสุหลงไปคุมขัง หลังจากพ้นโทษแล้ว หะยีสุหลงได้หายสาบสูญไป นอกจากนี้ ยังมีการแย่งชิงมรดกทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแย่งกันเป็นเจ้าของโขนและท่านาฏศิลป์ ‘จีบ’ ระหว่างไทยกับกัมพูชา การช่วงชิงความเป็นเจ้าของของผ้าบาติก การทำกริช การฟ้อนรำ แกงเนื้อ อังกะลุง ฯลฯ ระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซีย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสของการรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน


ชำระประวัติศาสตร์ร่วมอย่างสร้างสรรค์ ทดแทนชาตินิยมด้วยประวัติศาสตร์ภูมิภาค

อรอนงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีหลากหลายความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ร่วมกันในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการชำระประวัติศาสตร์ร่วมกัน โดยบรรจุมุมมองประวัติศาสตร์ของทุกประเทศไว้ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ที่ศึกษารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในภูมิภาค “สมัยนี้มองเพื่อให้รู้ว่าเกิดอะไร เราไม่ใช่คนในยุคนั้น ใส่ทุกความจำเข้าไปเพื่อให้ประวัติศาสตร์บาดแผลที่หลอกหลอนนั้นได้รับการชำระ” ให้มีการจัดการพื้นที่พิพาทร่วมกัน ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกันแทนที่จะแย่งกันเป็นเจ้าของ เนื่องจากภูมิภาคนี้มีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมอยู่แล้ว

อีกความเห็นหนึ่งคือ การเปลี่ยนเนื้อหาประวัติศาสตร์การสร้างชาติของแต่ละประเทศเป็นประวัติศาสตร์อาเซียน โดยไม่เน้นการต่อสู้ทางการเมือง ลดการดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของอาณาจักร/รัฐ และเปลี่ยนเป็นประวัติศาสตร์ของคนเล็กคนน้อยในพื้นที่ต่างๆ เช่น วิถีชีวิตของคนรอบนครวัด


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.