Posted: 23 Mar 2017 08:55 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ตามประวัติความเป็นมานั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนามาจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยขั้นอุดมศึกษาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2559 ตามปฏิทินแบบเก่าที่ขึ้นปีใหม่ในเดือนเมษายน ดังนั้น วันที่ 26 มีนาคม ปีนี้ จึงจะเป็นโอกาสครบรอบหนึ่งศตวรรษของมหาวิทยาลัย ก็น่าที่จะต้องลองทบทวนบทบาททางสังคมของมหาวิทยาลัยแห่งนี้
ตั้งแต่เริ่มมีการสร้างระบบการศึกษาสมัยใหม่ในประเทศสยาม เป้าหมายสำคัญคือ การผลิตบุคคลเข้ามารับใช้ระบบราชการที่มีการปฏิรูปใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้ระบบขุนนางแบบเก่าผลิตจำนวนคนได้ไม่พอเพียง และยิ่งกว่านั้น ระบบราชการสมัยใหม่ไม่ได้รองรับด้วยความรู้แบบจารีตประเพณีที่ศึกษาพระบาลีหรือศิลปศาสตร์ 18 ประการ แต่ต้องเป็นความรู้วิทยาการแบบตะวันตก จึงนำมาสู่การตั้งโรงเรียนแบบสมัยใหม่จำนวนมากในพระนคร และตามหัวเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางมณฑล โดยระยะแรกรับนักเรียนที่เป็นชาย เพราะผู้หญิงไม่มีสิทธิรับราชการเป็นขุนนาง ต่อมา จึงได้เริ่มมีการตั้งโรงเรียนสตรี เพื่อให้สตรีมีความรู้สมัยใหม่เป็นภรรยาที่เชิดหน้าชูตาของสามีที่เป็นข้าราชการ
จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 6 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี(สนั่น เทพหัสดิน) ที่รับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีบทบาทสำคัญมากในการเสนอให้มีการตั้งสถาบันอุดมศึกษาขึ้นในประเทศสยาม แต่แนวคิดนี้ถูกคัดค้านอย่างหนัก เพราะเสนาบดีอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแบบเดิม ก็ผลิตข้าราชการได้อยู่แล้ว ไม่ต้องตั้งมหาวิทยาลัยให้สิ้นเปลือง แต่ในที่สุดโครงการนี้ก็บรรลุผล เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯให้การสนับสนุน
เป้าหมายในขั้นแรกของมหาวิทยาลัย คือ การผลิตข้าราชการที่มีความรู้ใหม่มารองรับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และผลิตแพทย์สู่โรงพยาบาลของราชการ ดังนั้น ผู้ที่เข้าศึกษาในระยะแรก จึงเป็นกุลบุตรที่เป็นบุตรขุนนางและคหบดีและยังมีจำนวนไม่มากนัก ดังมีหลักฐานว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระยะแรกก่อตั้งนั้น มี 4 คณะ คือ คณะแพทยศาสตร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ การสอนในขั้นแรกรับนักเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 เข้าเรียน จัดเป็นขั้นประกาศนียบัตร และในรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ.2460 นั้นมีมีผู้จบการศึกษา 45 คน เป็นชายทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นประกาศนียบัตรแพทย์ 37 คน รัฐประศาสนศาสน์ 6 คน และวิศวกรรม 2 คน
ต่อมา เมื่อ พ.ศ.2466 มีการปรับปรุงการสอนคณะแพทยศาสตร์ขึ้นเป็นชั้นปริญญาตรี และเปลี่ยนคุณสมบัติผู้เข้าเรียนเป็นผู้ที่สอบได้มัธยมปีที่ 8 แพทย์ศาสตร์บัณฑิตจบรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ.2471 จำนวน 18 คน และเมื่อ พ.ศ.2472 ได้มีการเพิ่มการสอนในระดับประกาศนียบัตรครูมัธยมอักษรศาสตร์เรียน 2 ปี โดยมีนักเรียนรุ่นแรก 16 คน แต่กล่าวโดยรวมแล้ว ในระยะแรกของมหาวิทยาลัย อัตราการจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังน้อยมาก คือไม่เกิน 70 คนต่อปี
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อย ก็ตื่นเต้นกับสถานการณ์นี้ด้วย เช่น อุบล คุวานเสน นิสิตอักษรศาสตร์ได้เล่าว่า เธอและเพื่อนกลุ่มหนึ่ง ได้ขึ้นรถไปดูการปฏิวัติที่ลานพระบรมรูปทางม้า เห็นรถถังและทหารเต็มไปหมด เลยรู้สึกกลัวจึงกลับมาห้องเรียนตามเดิม ส่วน ผอบ วิโรจน์เพ็ชร ซึ่งจบการศึกษาแล้ว ขณะนั้น รับราชการเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครู เพ็ชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ถนนเพชรบุรี ก็ได้เดินจากโรงเรียนไปดูเหตุการณ์ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเช่นกัน
ปรากฏว่าการปฏิวัติครั้งนี้ ได้นำมาซึ่งกระแสความตื่นตัวในเรื่องสิทธิของราษฎรที่จะเรียกร้องในสิ่งที่ตนเองต้องการ ในกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็คือ การที่นิสิตได้ประท้วงเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยยกระดับการศึกษาของคณะอื่นจากประกาศนียบัตร เป็นปริญญาตรีเช่นเดียวกับคณะแพทย์ศาสตร์ ในที่สุด รัฐบาลคณะราษฎรก็ได้ปรับหลักสูตรยกระดับการศึกษาคณะอื่นเป็นขั้นอนุปริญญาและในทีสุดเป็นขั้นปริญญาตรี โดยเริ่มจากปีการศึกษา 2476 ซึ่งจะทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลายเป็นแหล่งผลิตปัญญาชนที่จะมีบทบาทในการให้ความรู้ทางวิชาการเพิ่มมากขึ้น
พ.ศ.2479 พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม(แปลก ขีตตะสังคะ) รัฐมนตรีกลาโหม ได้เข้ารับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย ขณะที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) รับตำแหน่งผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมาตั้งแต่ พ.ศ.2477 ซึ่งในสมัยนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้นำคณะราษฎรได้ให้ความสำคัญแก่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างมาก
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2481 พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เริ่มมีเปลี่ยนแปลง เช่น การกำหนดให้มีเครื่องแบบนิสิตให้สอดคล้องกับนโยบายวัฒนธรรม แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2482 รัฐบาลคณะราษฎรได้ผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่บริเวณตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จากถนนพระราม 1 ถึงถนนพระราม 4 เนื้อที่ 1196 ไร่ 32 ตารางวา ให้เป็นทรัพย์สินเพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งหมด เพราะแต่เดิมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯยกที่ดินแปลงนี้ไว้ในบัญชีเลี้ยงชีพของบาทบริจาริกาของพระองค์ ดังนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงต้องจ่ายค่าเช่าให้ทรัพย์สินส่วนมหากษัตริย์โดยตลอด และผลจากกฎหมายยกที่ดินฉบับนี้ ทำให้จุฬาลงกรณ์ฯได้ครอบครองที่ดินอันมีค่า และกลายเป็นแหล่งสร้างทรัพย์สินอันมหาศาลให้กับมหาวิทยาลัยต่อมา
นิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มเข้ามีบทบาทางการเมืองครั้งแรก หลังจากที่รัฐบาล พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม เคลื่อนไหวชาตินิยม โดยเรียกร้องดินแดนมณฑลบูรพาคืนจากฝรั่งเศส เริ่มเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2483 นิสิตจุฬาลงกรณ์ฯได้จัดการเดินขบวนใหญ่จากมหาวิทยาลัยไปถึงกระทรวงกลาโหม เพื่อสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งการเรียกร้องนี้ต่อมาบรรลุผล เพราะใน พ.ศ.2484 รัฐบาลไทยได้ดินแดนคืนมาจากฝรั่งเศส 4 จังหวัด แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง รัฐบาลไทยต้องคืนดินแดนเหล่านี้ให้ฝรั่งเศส
หลังจากฝ่ายทหารยึดอำนาจเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2490 คณะรัฐประหารต้องการจะลดบทบาทด้านสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงเปิดคณะรัฐศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ.2491 ที่น่าสนใจคือ การย้อนยุคเป้าหมายการศึกษา เพราะในขณะที่เป้าหมายการศึกษาสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อยู่ที่การมุ่งสร้างความรู้ในเรื่องประชาธิปไตยให้แก่สังคม ซึ่งจะเป็นข้าราชการในระบบใหม่ แต่เป้าหมายของคณะรัฐศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ยังย้อนยุคกลับไปสู่เป้าหมายแบบเดิม คือ การผลิตข้าราชการให้กับกระทรวงมหาดไทย จึงได้มีการนำข้าราชการจากกระทรวงมหาดไทย มีเป็นอาจารย์พิเศษหลายคน และมีข้อตกลงให้บัณฑิตที่จบคณะรัฐศาสตร์ 3 รุ่นแรก จำนวนรุ่นละ 60 คน กระทรวงมหาดไทยจะรับเป็นปลัดอำเภอทั้งหมด ดังนั้น นิสิต 3 รุ่นนี้ จึงเป็นนิสิตชายหมด ไม่มีนิสิตหญิงเลย
นี่เป็นเรื่องเล่าพอหอมปากหอมคอของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมัยแรก ฉบับหน้าจะมาเล่าต่อเรื่องจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับขบวนการนักศึกษาครับ
เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 608 วันที่ 18 มีนาคม 2560
แสดงความคิดเห็น