Posted: 13 Aug 2017 05:20 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้พบกับ ศิริพจน์ เหล่ามาเจริญ และชานันท์ ยอดหงษ์ แนะนำบทความ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ปราบเงี้ยว พ.ศ.2445: กึ่งอาณานิคม การใช้กำลังทหาร และความเป็นชาย” ของปรีดี หงษ์สต้น ที่ตีพิมพ์ในวารสารประวัติศาสตร์ (มศว) เมื่อปี 2559 (อ่านบทความ)

ทั้งนี้ในช่วงทศวรรษที่ 2440 ซึ่งเป็นช่วงที่สยามขยายอำนาจสู่ภูมิภาคผ่านการตั้งมณฑลเทศาภิบาล ส่งข้าราชการจากส่วนกลางเข้าแทนที่ ลดอำนาจเจ้าประเทศราช และเก็บภาษีเข้าสู่ส่วนกลาง ส่งผลให้เกิดการต่อต้านจากท้องถิ่น ในกรณีของภาคเหนือเกิดกบฏเมืองแพร่หรือกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ นำโดย พะกาหม่อง และสล่าโปชาย เมื่อ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 ก่อนที่รัฐบาลสยามจะส่งกำลังจากมณฑลนครสวรรค์และพิษณุโลกเข้าปราบ รวมทั้งส่งกำลังส่วนกลางนำโดยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เข้ามาเสริมด้วย ในโอกาสนี้รัฐบาลสยามถือโอกาสกระชับอำนาจ โดยยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่ จัดระเบียบราชการ จัดการเกณฑ์ทหาร ทำทะเบียนราษฎร์ จัดการศึกษาแบบส่วนกลาง ตั้งศาลยุติธรรรม จัดระเบียบการเก็บภาษี ฯลฯ

ในงานของปรีดี หงษ์สต้น ยังนำเสนอบันทึกการเดินทัพที่เขียนในรูปของบทร้อยกรอง "นิราศเมืองหลวงพระบาง และรายงานปราบเงี้ยว" (อ่านบทร้อยกรอง) โดย ร้อยเอกหลวงทวยหาญรักษา (เพิ่ม) เลขาธิการของกองทัพที่นำโดยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ที่ครอบคลุมการเดินทัพจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2445 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมของกองทัพสยาม และมุมมองความเป็นชายอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะแง่มุมของทหารสยามที่ร่วมทัพและมุมมองต่อคนท้องถิ่น การแสดงออกถึงความต้องการทางเพศและการปฏิบัติทางเพศภาวะต่อสตรีท้องถิ่น มีการเปรียบเปรยอุปมาดั่งเป็นการ “เจาะ” เกสรลาว ซึ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนอีกด้านของการใช้อำนาจโดยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม



ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.