Posted: 11 Aug 2017 07:32 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซต์ประชาไท)

อดีตรองเลขาธิการ สนนท. ชี้ปมทหารยิงนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เห็นปัญหาโครงสร้างพ้นผิด แถมถูกกั้นด้วยเส้นบางๆ ผลิตวัฒนธรรมเกลียดฝ่ายตรงข้าม เเยกความรับผิดชอบเชิงสถาบัน เห็นความขัดแย้งที่หล่อเลี้ยงความมั่นคงของกองทัพ เห็นคุณค่านักศึกษากับสถานะอื่นที่ไม่เท่ากัน


ภาพผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี นำตัวทหารพรานคนดังกล่าวแถลงขอโทษสำนึกผิดผ่านสื่อมวลชนไปยังสังคม

11 ส.ค. 2560 หลังเกิดเหตุทหารพราน ยศสิบเอก สังกัดกองร้อยทหารพราน รับผิดชอบในเขตพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ใช้อาวุธปืนพกสั้น CZ ขนาด 9 มม.ยิงนักศึกษาหญิง ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี บริเวณหอพักหญิงในพื้นที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา วันต่อมา(9 ส.ค.60) ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี นำตัวทหารพรานคนดังกล่าวแถลงขอโทษสำนึกผิดผ่านสื่อมวลชนไปยังสังคม อ้างเพราะเครียดและเมาจนทำให้ปืนลั่น แต่ในพื้นที่กลับเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากผู้เสียหายทีย้ำต่อสื่อมวลชนและสังคมโซเชียลมีเดียว่าขณะเกิดเหตุทหารพรานดังกล่าว “ไม่ได้เมา ยืนยันไม่ได้เมา” (อ่านต่อ)

ล่าสุด (10 ส.ค.60) ฮากิม พงติกอ อดีตรองเลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)และ นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสตั้งคำถามบนเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะชื่อ Hakim Pongtigor ต่อกรณีดังกล่าว โดยพาดหัวเรื่องว่า “เห็นอะไรบ้างจากกระสุนเมา 3 นัดที่เกือบโดนเป้าที่เป็นนักกิจกรรมนักศึกษา” โดยระบุว่า เห็นปัญหาโครงสร้างที่เอื้อกับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคง เห็นปัญหาโครงสร้างที่ยังคงผลิตซ้ำวัฒนธรรมเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม ความเห็นต่าง จากการสร้างชาติของรัฐจักรวรรดิ เห็นปัญหาความอ่อนเเอเชิงโครงสร้างในการคุมขอบเขตปฏิบัติการทางอาวุธ ในขณะที่ความผิดพลาดและความตั้งใจถูกกั้นด้วยเส้นบางๆ

"เห็นวัฒนธรรมการโยนความผิดพลาดเชิงปัจเจกอย่างเดียวเพื่อเเยกความรับผิดชอบเชิงสถาบัน ไม่มีการขอโทษเอาผิดใดๆ เชิงสถาบัน ในภาวะสงครามความขัดแย้งที่ขัดกันด้วยอาวุธ ความพยายามเเก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยนโยบายการทหาร ไมมีใครสามารถได้รับการการันตีถึงความปลอดภัย เห็นปัญหาสังคมที่ให้ความชอบธรรมกองทัพปราบปรามความเห็นต่าง เห็นความขัดแย้งที่หล่อเลี้ยงความมั่นคงของกองทัพ เห็นสังคมที่พร้อมจะเข้าใจปฏิบัติการทางอาวุธใดๆเพื่อการปกป้องคุณค่าชาตินิยมรัฐจักรวรรดิ"

อดีตรองเลขาธิการ สนนท. โพสต์ด้วยว่า ความเป็นไปได้ที่จะเกิดวัฒนธรรมการตอบโต้ที่รุนเเรง การเหยียด ความเจ็บปวดเกลียดชังที่ให้พื้นที่ต่อการเเสดงออกที่ขาดมนุษยธรรม ของผู้ถูกกดขี่ รวมทั้งยังขาดกลไกกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมในภาวะสงคราม เห็นคุณค่าของนักศึกษากับสถานะอื่นๆ ในพื้นที่สาธารณะที่ไม่เท่ากัน ความขัดเเย้งที่ยืดเยื้อ ซึมลึก จาก Collective Victim Vood ของชนชาติสังคมการเมืองร่วมของผู้ถูกกดขี่


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.