Posted: 11 Aug 2017 02:22 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซต์ประชาไท)

“เชคสเปียร์ต้องตาย” ยังถูกแบน ศาลปกครองกลางตัดสินยกฟ้องคำร้องของผกก.และผู้สร้างฯ ชี้ เนื้อหาหลายฉากคล้ายเหตุการณ์รุนแรงในไทย สร้างความแตกแยก ด้านผกก.และผู้สร้างฯยัน เดินหน้ายื่นอุทธรณ์ต่อ


ภาพจากภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย

11 ส.ค. มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่ศาลปกครอง ถนนเเจ้งวัฒนะ ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่1321/2555 ที่มานิต ศรีวานิชภูมิ และสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ “เชคสเปียร์ต้องตาย” (Shakespeare must die) ได้เข้ายื่นฟ้องคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์คณะที่ 3 เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ 2 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติและคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ที่ห้ามฉาย จัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” ในราชอาณาจักร และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากเงินทุนที่ใช้ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,530,388.55 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ผกก.และผู้สร้างฯ ยื่นคำฟ้องระบุ เนื้อหาภาพยนตร์ไม่ก่อให้เกิดการแตกสามัคคี พร้อมเรียกร้องค่าเสียหาย

คำฟ้องระบุว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ไม่อนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” ซึ่งแปลจากบทประพันธ์โดยกวีเอกของโลก วิลเลียม เชคสเปียร์ เรื่อง “โศกนาฎกรรมแม็คเบ็ธ” หรือ The Tragedy of Macbeth ให้เผยแพร่ในประเทศไทย โดยอ้างว่ามีเนื้อหาก่อให้เกิดความแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ 2552 ข้อ 7 (3) นั้น เห็นว่าไม่ได้เป็นไปตามข้อจำกัดในหลักการของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 บัญญัติไว้

และหากจะอะลุ้มอล่วยให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือเพื่อศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ข้อเท็จจริงสังคมไทยมีการเข่นฆ่าประชาชนเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และกรณีสงครามยาเสพติดที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 คน ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นความรุนแรงของสังคมไทยที่มิอาจลืมเลือน หรือปกปิดไว้ได้ โดยคนไทยสมควรเรียนรู้ร่วมกันเพื่อร่วมมือกันมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ดังนั้นภาพยนตร์ “เชคสเปียร์ต้องตาย” จึงมิได้มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความแตกสามัคคีคนในชาติตามที่อ้าง

“เนื้อหาสาระของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีตอนใดตอนหนี่งที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามที่อ้าง เพราะเนื้อหาสาระของภาพยนตร์ดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยอย่างซื่อตรงต่อต้นฉบับละครเรื่อง “โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ” อันเป็นบทประพันธ์ของวิลเลียม เชคสเปียร์ กวีเอกของโลก โดยมีการดัดแปลงเพื่อให้เป็นภาษาของภาพยนตร์และเข้ากับริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทยเท่านั้น การที่อ้างว่าไม่ให้ภาพยนตร์นี้ฉายก็เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐนั้น คำว่า “รัฐ” ย่อมหมายถึงรัฐชาติ ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใด ดังนั้น การกระหายเลือด การมักใหญ่ใฝ่สูง การงมงายในไสยศาสตร์ของตัวละครในภาพยนตร์ที่สถาปนาตนเองเป็นราชา ซึ่งเหมือนกับผู้นำประเทศต่างๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงของสังคม ย่อมมิได้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงเกียรติภูมิของประเทศแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใดมิได้หมายถึงประเทศชาติด้วย”

ท้ายคำฟ้องยังระบุว่าด้วย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในค่าตอบแทนส่วนตัวในกระบวนการผลิตภาพยนตร์จนเสร็จสิ้นอีก 2,250,000 บาท รวมถึงความเสียหายต่อชื่อเสียงค่าเสียหายจากการขาดโอกาสในการร่วมทุนสร้างภาพยนตร์กับบุคคลอื่น แต่การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งสองไม่ได้มีเจตจำนงในการแสวงหากำไรในการสร้างจึงไม่ติดใจที่จะเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากผู้ถูกฟ้องคดี
ศาลยกฟ้อง ชี้ เนื้อหาหลายฉากคล้ายเหตุการณ์รุนแรงในไทย สร้างความแตกแยก ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย

ศาลพิเคราะห์เเล้วเห็นว่าการพิจารณาภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งว่าจะเป็นสาเหตุของการเเตกความสามัคคีของคนในชาติหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาสาระสำคัญทั้งเเนวความคิดเเละเเก่นสารของเรื่องที่มุ่งเน้นของภาพยนต์ กรณีไม่อาจนำเสนอส่วนใดส่วนหนึ่งมาพิจารณาได้ จะต้องพิจารณาเนื้อหาสาระสำคัญทั้งเรื่อง

จากการพิจารณาบทคัดย่อประกอบกับรับชมผ่านซีดีรับฟังได้ว่า ภาพยนต์ดังกล่าวมีเนื้อหา เกี่ยวกับเรื่องราวตำนานเเห่งการเมืองเเละไสยศาสตร์ที่ได้เเรงบันดาลใจเเละบทเกือบทั้งหมดมาจากต้นฉบับละคร โศกนาฎกรรมเเม็คเบ็ธ ของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ เเละดัดเเปลงเพื่อเข้ากับบริบทวัฒนธรรมไทย เป็นเรื่องระหว่างการเเสดงในโรงละครกับเหตุการณ์โลกภายนอกของประเทศสมมุติเเห่งหนึ่ง ซึ่งเนื้อหาในโรงละครเป็นเรื่องของขุนพลกระหายเลือด มักใหญ่ใฝ่สูง งมงายไสยศาสตร์ ผู้สถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์โดยการฆาตกรรม ซึ่งมีชื่อเรียก “ท่านผู้นำ” โดยหลังจากเรื่องภายในโรงละครจบลง ในโลกภายนอกมีกลุ่มคนที่คลั่งไคล้ท่านผู้นำ ที่มีการเเสดงละครล้อเลียนท่านผู้นำได้วิ่งกรู ทำร้ายนักเเสดง ผู้กำกับละคร เเล้วลากไปด้านหน้าโรงละคร จับเเขวนคอทุบตีด้วยเก้าอี้เหล็กพับ ท่ามกลางกลุ่มคนที่ส่งเสียงเชียร์

เมื่อพิจารณาภาพยนตร์ดังกล่าว เเม้ผู้ฟ้องคดีจะกล่าวว่าประเทศในละครเป็นประเทศสมมุติก็ตาม เเต่มีเนื้อหาหลายฉากคล้ายกับเหตุการณ์ความรุนเเรงในประเทศไทยมิใช่ประเทศสมมุติตามที่กล่าวอ้าง

ซึ่งผู้ถูกฟ้องที่2เห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวคล้ายกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อันเป็นฉากที่ก่อให้เกิดความเเตกเเยกความสามัคคีคนในชาติ เป็นฉากที่มีผู้ชายเสื้อดำโพกผ้าเเดงถือท่อนไม้ทำรายคนดู จับผู้กำกับละครเเขวนคอ เห็นว่าเเม้จะมีภาพยนต์หลายเรื่องนำประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีตที่มีความขัดเเย้งมาสร้างก็ตาม เเต่ประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีตดังกล่าวเกิดขึ้นมาเเล้วเป็นเวลานานหลายร้อยปีจนไม่อาจสืบสาวราวเรื่องว่าบุคคลดังกล่าวมีความสัมพันธ์เป็นญาติพี่น้องกันหรือไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดความเคียดเเค้นชิงชัง ต่างจากภาพยนตร์ผู้ฟ้องคดีทั้งสองที่ได้มีการนำเหตุการณ์ 6 ตุลาคมซึ่งเป็นเหตุการณ์ร่วมสมัยมาเป็นส่วนหนึ่งภาพยนต์มีความยาวฉากนี้ 2 นาทีเศษย่อมสร้างความไม่พอใจเกิดขึ้นเเก่ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตหรือผู้ร่วมเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความรู้สึกเคียดเเค้นชิงชังอันอาจเป็นชวนสร้างความเเตกเเยกคนในชาติได้ ประกอบกับเมื่อมีการประชุมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 ผู้ถูกฟ้องคดีได้เเจ้งให้เเก้ไขบทในฉากดังกล่าว เเต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองยืนยันจะใช้บทเดิม ทั้งที่สามารถดำเนินเเก้ไขได้โดยมิได้ส่งผลกระทบต่อเนื้อหาสำคัญของเรื่อง รวมถึงเเนวคิดด้านมืดด้านสว่างของมนุษย์ บาปบุญคุณโทษผลกรรม เเละการต่อสู้ระหว่างอธรรมกับธรรมมะในจิตใจคน

การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ไม่อนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีนำภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตายออกเผยเเพร่ราชอาณาจักรจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เเละเมื่อวินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งที่ชอบ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ให้ยกอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนประเด็นความเสียหายทางละเมิดเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องทั้งสองชอบด้วยกฎหมายการกระทำย่อมไม่เป็นการละเมิดจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายเเก่ผู้ฟ้องคดีเเต่อย่างใด พิพากษายกฟ้อง
ผู้สร้างฯ ยันเดินหน้ายื่นอุทธรณ์ต่อ ชี้ ในยูทูปยังมีภาพเหตุการณ์ดังกล่าว แจง กรรมการสิทธิชี้ถูกละเมิด

หลังอ่านคำพิพากษา มานิตกล่าวว่าจะนำคำพิพากษาไปเพื่อพิจารณาในการยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไปเพราะการที่บอกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคมเป็นประเด็น หากลองไปเปิดในยูทูปดูจะพบเรื่องราวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวนี่เเสดงว่า กสทช.บกพร่องในหน้าที่

ขณะที่.สมานรัชฎ์ ยืนยันว่าเป็นกรณีเลือกปฏิบัติ โดยหนังเรื่องนี้ไปฉายในต่างประเทศเเละได้รางวัลรวมถึงการวิจารณ์ที่ดี มีข้อเท็จจริงเนื้อเรื่องดังกล่าวในเเบบเรียนก็มี เรื่องนี้ตนเคยไปร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชน ซึ่งชี้ว่าตนถูกละเมิดสิทธิ เเละบอกว่าควรมีการเเก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ภาพยนตร์ใหม่

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.