Posted: 10 Aug 2017 10:08 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซต์ประชาไท)

วงเสวนา "เซ็กส์แฟร์ๆ เพราะเราแคร์" แอดมินเพจ Thaiconsent ชี้ทุกขั้นตอนของเพศสัมพันธ์ต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย เซ็กส์ไม่ใช่แค่รู้วิธีป้องกันแล้วจบ - เสนอเปิดพื้นที่พูดคุยเรื่อง consent พูดถึงเพศสัมพันธ์ในเชิง meaning มากกว่า performance


เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ จัดงานเสวนา "เซ็กส์แฟร์ๆ เพราะเราแคร์" ถึงเวลาสังคมไทยต้องเข้าใจ Sexual Consent ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยหนึ่งในวิทยากร คือ วิภาพรรณ วงษ์สว่าง แอดมินเพจ Thaiconsent*

อ่านรายละเอียดของ sexual consent ได้ที่ ถก ‘เซ็กส์แฟร์ๆ’: ‘ถ้า Yes นาทีนี้ นาทีต่อไป No ก็คือ No’

ต้อง consent ในทุกขั้นตอน


วิภาพรรณแบ่งขั้นตอนในการมีเพศสัมพันธ์ ออกเป็น 4 ขั้น ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะต้องได้รับการ consent หรือการได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย เริ่มจากการ หนึ่ง การจูบ สอง การเริ่มสัมผัสอวัยวะที่ปกติคนจะไม่อนุญาตให้จับ เช่น หน้าอก สะโพก สาม การกระตุ้นให้เกิดการถึงจุดสุดยอด เช่น ใช้มือ ใช้ปาก การสอดใส่

หลักเกณฑ์การได้รับการยินยอมนี้ใช้ได้กับทุกประเภทของการมีเพศสัมพันธ์ไม่เว้นแม้แต่เซ็กส์แบบ BDSM

supporter ควรเอื้อให้เหยื่อเข้าถึงมืออาชีพ เมื่อเรื่องลงโซเชียลจะยากเกินควบคุม

วิภาพรรณกล่าวว่าในเรื่องการละเมิดทุกเพศทุกวัยมีโอกาสเป็นผู้ถูกกระทำ ยิ่งเกิดกับผู้ชายยิ่งพูดยากกว่าผู้หญิง และประเด็นสำคัญคือ เมื่อเกิดการละเมิด คนที่ผู้ถูกกระทำจะพึ่งพาคือ supporter คือ เพื่อนหรือคนที่ไว้ใจ แต่คนเหล่านั้นก็ไม่ได้ฟังก์ชั่นทุกคน ไม่มีความรู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องกลับมาพิจารณาตัวเองว่าในชีวิตประจำวันเราส่งเสริมมุกตลกเหยียดเพศไหม เราได้เอื้อให้เกิดสิ่งนี้รึเปล่า เช่นการพูดว่า “มึงพาเขาไปกินเหล้า เดี๋ยวกูเตรียมห้องให้”

งานวิจัยในอเมริกาบอกว่า ครึ่งหนึ่งของเหตุละเมิด ก่อนเกิดเหตุถ้ามีคนนอกไปช่วยเหลือมันจะป้องกันได้

แต่เมื่อเกิดเหตุแล้ว supporter ก็ควรเอื้อให้เขาเข้าถึงมืออาชีพ เช่น ศูนย์พึ่งได้ (โครงการของกระทวงสาธารณะสุข) นักจิตวิทยา นักสิทธิทางด้านเพศ ฯลฯ มืออาชีพจะตัดสินให้เขาได้รับความเป็นธรรมเอง

supporter ไม่มีความรู้ อาจไม่จำเป็นต้องช่วยเขาทุกขั้นตอน การใช้สังคมหรือโซเชียลช่วยกดดัน เช่น ในหลายเคสอยากช่วยเพื่อนแต่ไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรม เรื่องราวมันอาจบานปลายใหญ่โต มีคนมุงมากมาย

เนื่องจากเมื่อเรื่องลงโซเชียลแล้ว จะมีคนมาเชียร์ฝ่ายเสียหาย มีคนให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีคนตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม มีคนเรียกร้องให้เอาเรื่องมาแจกแจงทั้งสองฝ่าย ซึ่งไม่เป็นผลดีกับทั้งเหยื่อและคู่กรณี ดังนั้นคนมุงควรมีสติในการมุง เราควบคุมเหยื่อและฝูงชนไม่ได้ แต่เราควบคุมตัวเองได้ เหยื่อบางคนแค่อยากเห็นการรู้สึกผิด ไม่ได้ต้องการแจ้งความ หรือต้องใช้เวลา ต้องรอให้เขาพร้อม

การเคลื่อนไหวในกระบวนการยุติธรรมทางเพศก็คือการทำให้คนคนหนึ่งเปลี่ยนจาก victim เป็น fighter ซึ่งจะเป็นแบบนั้นได้โรงเรียนก็ต้องมีหลักสูตรที่สอนเรื่อง consent นี้ ถ้าในสถาบันการศึกษายังมีกิจกรรมให้น้องผู้ชายถอดเสื้อ แล้วให้ลูบไล้ ดังนั้นเราจะไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร

เปิดพื้นที่คุยเรื่อง consent เน้น meaning มากกว่า performance

วิภาพรรณเสนอเรื่องหลักการในการสื่อสาร คือ หนึ่ง ต้องทำงานกับความรู้สึกผิดให้ได้ก่อน ทุกคนเคยผิดพลาด จะดึงคนพวกนี้มาสู่กระบวนการได้อย่างไร เปลี่ยนความรู้สึกผิดเป็นความเต็มใจที่จะทำให้สังคมดีขึ้นอย่างไร

สอง ทำให้เกิดความมั่นใจในทางเพศ คนที่ใช้อำนาจในความสัมพันธ์คือคนที่ไม่มั่นใจ เช่น ถ้าไม่กินเหล้าก็จะไม่ได้สาว ควรมีวิธีคิดเปลี่ยนเป็น “ฉันไมได้ ฉันก็ไม่เป็นไร ฉันไม่ได้แย่”

สังเกตว่าคอลัมน์ในนิตยสารส่วนใหญ่จะสอนเรื่องเซ็กส์แต่ในเชิง performance คือ การแสดงออกให้เกิดความประทับใจ ทำอย่างไรให้เขาชอบ ทำท่าไหน แบบไหน วิธีไหน ซึ่งมันอาจเป็นการพูดเพื่อกดทับให้คนเกิดความมั่นใจน้อยลง เพื่อที่เขาจะได้ขายของเสริมความมั่นใจแก่เรา แต่ไม่มีเรื่อง meaning เช่น ความหมายของเซ็กส์ หรือความหมายของเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ต้องได้รับความยินยอม ดังนั้นเรื่องของการมีเซ็กส์แบบเข้าใจกันและมีความหมายต้องถูกพูดถึงมากกว่านี้

สาม สังคมและเพื่อนๆ ควรตั้งใจฟังเรื่องเซ็กส์อย่างลึกซึ้ง มีหลายเคสที่ส่งเรื่องเข้ามาในเพจแล้วบอกว่าเรื่องนี้ไม่เคยบอกพ่อแม่ เพื่อน หรือแฟน ทำให้เห็นว่าพื้นที่เรื่องเซ็กส์ที่จริงจังยังไม่มากพอในสังคมเรา ต้องมีการ support เรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก ในเมืองนอกเด็กบอกได้ว่าไม่อยากให้หอมแก้ม ในขณะที่ไทยเรายังมีรูปที่นายกฯ หอมแก้มเด็ก

ดังนั้นเซ็กส์ไมใช่แค่รู้วิธีป้องกันแล้วจบ แต่มีเรื่องราวอย่างอื่นที่มากกว่านั้น และสังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติที่ว่าคนเมาเหล้า เมายา แต่งตัวไม่มิดชิดจะเป็น object ให้ใครทำอะไรก็ได้

และสุดท้ายวิภาพรรณตั้งข้อสังเกตว่า ผู้หญิงถูกละเมิดมีองค์กรที่พร้อมช่วย LGBT ถูกละเมิดก็มีองค์กรเฉพาะ แต่ขณะที่ผู้ชายถูกละเมิด ไม่มีใครช่วย เพราะผู้ชายพูดยากกว่าผู้หญิง


ที่มาของ Thaiconsent

เพจ Thaiconsent เปิดตัว 1-2 เดือนที่ผ่านมา แต่มียอดฟอลโลวกว่า 30,000 คน โดยเพจเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเขียนมาเล่าประสบการณ์ทางเพศแบบไม่ต้องบอกชื่อ

วิภาพรรณเล่าถึงที่มาของโครงการว่า เริ่มจากเพื่อนถูกแอบถ่ายในห้องน้ำ แต่เพื่อนให้เขาเข้าห้องมาเอง เธอพาเพื่อนไปแจ้งความแล้วพบว่าขั้นตอนง่าย แต่ถูกทำให้ยากโดยเพื่อนและคนในสังคม เพราะเพื่อนส่วนใหญ่จะบอกว่าก็เปิดโอกาสให้เขาเข้ามาในห้องเอง จึงเป็นที่มาของโครงการเกี่ยวกับเรื่อง sexual consent แต่เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเรียน จึงยังไม่ได้ทำอย่างเต็มที่

ต่อมาเมื่อเริ่มโครงการได้ 2 ปี มีเพื่อนมาเล่าประสบการณ์ของเรื่องทำนองนี้ถึง 7 คน ซึ่งไม่ใช่จำนวนที่น้อย เธอจึงเริ่มทำเพจเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากหลากหลายเพศ การเปิดให้คนส่งเรื่องโดยไม่บอกชื่อ ซึ่งเธอมองว่าแม้อาจเป็นเรื่องไม่จริง แต่ได้อินไซต์ ได้ความลึกของเรื่องที่เล่า

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.