Posted: 22 Mar 2018 04:18 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

"ผมกำลังจะบอกกับบรรดานักศึกษาที่เรียนอยู่ตอนนี้ว่า อย่าได้รีบตัดสินใจไปก่อนว่าเราถือธรรมะ ถือความยุติธรรม และด้วยเหตุดังกล่าว เราจึงถูกตลอดเวลา นี่คือประเด็น นิติปรัชญาจะบอกกับเราว่า เราพึงระวังก่อนที่เราจะตัดสินบางอย่าง เพราะเมื่อเราบอกว่าเราเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้ว เท่ากับเราผลักคนอื่นเป็นคนไม่ดีเลยทันที และนี่คือปัญหาใหญ่ของสังคมไทยเวลานี้"


เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา’ ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยวรเจตน์ได้กล่าวถึงเนื้อหาของหนังสือและสถานการณ์ในปัจจุบันของสังคมไทย

‘ประชาไท’ ถ่ายทอดเนื้อหาการบรรยายทั้งหมดออกมาดังนี้ (เนื่องจากเนื้อหาการบรรยายมีความยาวมาก ทางประชาไทจึงแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ตอน)

..............

ขอเล่าถึงวัตถุประสงค์ของงานนี้ เพราะโดยปกติเวลาที่ผมพูดกับสาธารณะ ผมมักจะออกมาในนามของคณะนิติราษฎร์ ล่าสุดที่ผมมีโอกาสพูดกับสาธารณะคือก่อนมีการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานี้ งานที่ออกมาในวันนี้เป็นผลพวงจากการลาปฏิบัติราชการ 1 ปี ในปีการศึกษา 2559 ผมได้ลาเพื่อเพิ่มพูนความรู้และเขียนหนังสือ เมื่อผลงานเสร็จแล้ว ทางคณะนิติศาสตร์ก็เห็นว่าน่าจะได้มีการจัดให้สาธารณะได้รับรู้ว่าอาจารย์ของคณะไปทำอะไรมา จึงเป็นเหตุให้เกิดงานวันนี้ขึ้น

หนังสือที่เป็นผลพวงของการลาครั้งนี้ไม่ได้พิมพ์โดยคณะนิติศาสตร์ แต่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์น้องใหม่ในเครือสำนักพิมพ์อ่าน คือสำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือที่พิมพ์เป็นประเดิมสำหรับสำนักแห่งนี้

โดยเหตุที่วันนี้ผมมีโอกาสพูดกับสาธารณะและมีการถ่ายทอดไปผ่านทางเฟสบุ๊คของคณะนิติศาสตร์และคนอื่นๆ ประเด็นที่ผมจะพูดในวันนี้คงไม่ได้อยู่ในหนังสืออย่างเดียว ผมตั้งใจจะพูดถึงเนื้อหาบางส่วนในหนังสือที่ผมคิดว่าสำคัญ พูดถึงโครงสร้างของหนังสือ พูดว่านิติปรัชญาคืออะไร และผมจะใช้โอกาสนี้พูดถึงปัญหาการศึกษานิติปรัชญาในประเทศไทยในทัศนะของผม และประเด็นที่สำคัญที่สุดจะอยู่ในตอนท้ายคือเรื่องนิติปรัชญากับรัฐประหารและเสนอทัศนะบางประการของความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับรัฐประหาร บทบาทของศาลกับการรัฐประหาร และผู้ร้ายตัวจริงที่ทำให้ระบบกฎหมายไทยยอมรับรัฐประหาร

นิติปรัชญาคืออะไร


ผมเริ่มต้นจากหนังสือ ถ้าท่านดูสารบัญ จะเห็นว่าหนังสือใช้ชื่อว่า ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา ปกติแล้วตำรานิติปรัชญาในประเทศไทยจะใช้ชื่อสั้นๆ ว่านิติปรัชญา แต่ผมเรียกว่าประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา นิติปรัชญาคืออะไร สำหรับคนที่เรียนในทางปรัชญาคงทราบว่าวิชาปรัชญาเป็นวิชาที่ตั้งคำถามต่อพื้นฐานของชีวิต เช่น ชีวิตคืออะไร หรืออาจถามว่าโลกที่เราสัมผัสอยู่มีจริงหรือไม่ หรือมีโลกอื่นๆ อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์เหล่านี้อยู่อีก แล้วก็พยายามครุ่นคิดตรึกตรองเพื่อค้นหาคำตอบ เป็นกิจกรรมทางปัญญาอย่างหนึ่ง ความคิดของมนุษย์เมื่อผ่านพ้นยุคตำนานความเชื่อก็เป็นเรื่องในทางปรัชญา คือพยายามครุ่นคิดตรึกตรองต่อปัญหารากฐานของมนุษย์อย่างมีเหตุมีผล

วิชานิติปรัชญาเป็นการตั้งคำถามพื้นฐานในทางกฎหมาย อันเป็นคำถามที่โดยปกติแล้ว ผู้ที่เรียนกฎหมายไม่ถามหรือไม่เป็นประเด็น เช่น คำถามว่ากฎหมายคืออะไร กฎหมายต้องสัมพันธ์กับศีลธรรมและความยุติธรรมหรือไม่ อันนี้เป็นประเด็นหลักๆ ของนิติปรัชญา คือการตั้งคำถามพื้นฐานต่อกฎหมาย แล้วตอบคำถามโดยวิธีการทางปรัชญา

สำนักกฎหมายธรรมชาติและสำนักกฎหมายบ้านเมือง

คำตอบที่มีต่อคำถามข้างต้นมีมากมายหลายประการ ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ความคิดของมนุษยชาติต่อเรื่องเหล่านี้ เราจะเห็นว่ามีคำตอบหลักๆ อยู่ 2 คำตอบ คำตอบแรกคือคำตอบที่มองว่ากฎหมายเป็นหลักเกณฑ์บางอย่างที่กำหนดความประพฤติและต้องมีความสัมพันธ์กับศีลธรรมและความยุติธรรม อีกคำตอบหนึ่งคือตอบว่ากฎหมายมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับคนในสังคม มีประสิทธิภาพที่จะทำให้คนปฏิบัติตาม โดยการให้นิยามความหมายของกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องเอาความยุติธรรมหรือศีลธรรมเข้ามาอยู่ในคำนิยามด้วยว่ากฎหมายคืออะไร แน่นอนมีคำตอบที่เป็นสาขาของเรื่องเหล่านี้อีกมากมาย แต่หลักๆ มีอยู่ 2 คำตอบ

คนที่ถือตามแนวทางคำตอบแรกเชื่อว่า กฎหมายต้องมีความเชื่อมโยงกับศีลธรรมหรือความยุติธรรม ถ้าไม่เชื่อมโยงแล้วไม่ถือว่าเป็นกฎหมายหรือใช้ไม่ได้ แนวคิดนี้มีพัฒนาการมาตั้งแต่อดีตและมีอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน เรียกว่า กฎหมายธรรมชาติ (Natural Law School) หรือนักกฎหมายธรรมชาติ ส่วนอีกฝ่ายที่มองว่าการบอกว่ากฎหมายคืออะไร ต้องไม่เอาเรื่องความยุติธรรมหรือศีลธรรมเข้าไปอยู่ในนิยามของกฎหมาย พวกหลังนี้เรียกว่า พวกปฏิฐานนิยมทางกฎหมายหรือพวกกฎหมายบ้านเมือง ในภาษาอังกฤษคือ Legal Positivism

โดยความรู้สึกทั่วไป ท่านคงรู้สึกว่าคำตอบแรกน่าจะถูกกว่า คือกฎหมายต้องเชื่อมโยงกับความยุติธรรม ศีลธรรม เรารู้สึกธรรมดาในแง่สำนึกของบุคคล แต่ถ้าเราไปศึกษาดูในรายละเอียดอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบว่ามันอาจไม่เป็นแบบนั้นก็ได้

จุดเด่นของแนวคิดกฎหมายธรรมชาติ มองว่าความยุติธรรมผนวกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกฎหมาย ดังนั้น กฎเกณฑ์ใดที่ไม่สอดคล้องกับความยุติธรรมก็ไม่เป็นกฎหมาย ในขณะที่จุดอ่อนของสำนักนี้อยู่ที่ว่า อะไรคือความยุติธรรม มันเห็นแตกต่างได้ในหลายแนวทาง ปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนบางเรื่องว่าอะไรคือความยุติธรรม คนมองความยุติธรรมหลากหลายมาก จึงไม่เหมาะที่จะบอกว่ากฎหมายคืออะไรโดยการเชื่อมโยงความยุติธรรมเข้าไป เพราะจะทำให้เกิดความไม่ชัดเจนแน่นอน กฎหมายเป็นสิ่งที่ต้องการความชัดเจนแน่นอนในการใช้บังคับ ซึ่งพวกที่บอกว่ากฎหมายไม่สัมพันธ์กับความยุติธรรมและศีลธรรม ในทางการให้คำนิยามจะเน้นไปที่ความมั่นคงแน่นอน คือการบอกว่าอะไรเป็นกฎหมาย คุณต้องมีเกณฑ์ที่ชัด เพื่อคนจะได้รู้ว่าเป็นหรือไม่เป็นกฎหมาย ถ้าใช้เกณฑ์ยุติธรรม บางทีมันเบลอ ไม่ชัดเจน


"ผมกำลังจะบอกกับบรรดานักศึกษาที่เรียนอยู่ตอนนี้ว่า อย่าได้รีบตัดสินใจไปก่อนว่าเราถือธรรมะ ถือความยุติธรรม และด้วยเหตุดังกล่าว เราจึงถูกตลอดเวลา นี่คือประเด็น นิติปรัชญาจะบอกกับเราว่า เราพึงระวังก่อนที่เราจะตัดสินบางอย่าง เพราะเมื่อเราบอกว่าเราเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้ว เท่ากับเราผลักคนอื่นเป็นคนไม่ดีเลยทันที และนี่คือปัญหาใหญ่ของสังคมไทยเวลานี้"

จุดแข็งของฝ่ายหลังอยู่ที่ว่า พยายามคิดถึงนิยามของกฎหมายให้มีความชัดเจน เพื่อให้เกิดความมั่นคงในสิทธิหน้าที่ของบุคคล แต่มีจุดอ่อนคือเวลาที่ความคิดแบบนี้ต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์บางอย่างที่มีความไม่ยุติธรรมอย่างมาก เช่นกฎเกณฑ์ของเผด็จการ แล้วไม่มีการอธิบายเชื่อมโยงกับศีลธรรม ความยุติธรรมเลย อาจทำให้เกิดกฎหมายที่กดขี่บุคคลได้เหมือนกัน

แต่ผมจะบอกเบื้องต้นว่า อย่าคิดว่าคนที่มีความคิดแบบกฎหมายบ้านเมืองเป็นคนชั่ว เป็นคนละประเด็นกัน เขาเพียงแต่กำลังบอกว่ากฎหมายคืออะไร ให้มีความชัดเจนในทางวิชาการ ให้เป็นเกณฑ์ที่จับต้องได้ ส่วนว่าเมื่อเป็นกฎหมายแล้ว ต้องทำตามกฎหมายหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งสำหรับฝ่ายหลัง

ความคิดระหว่าง 2 สำนักนี้ เอาเข้าจริง อาจไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ฝ่ายแรกเอาความยุติธรรมหรือศีลธรรมเข้าไปอยู่ในนิยามของกฎหมายเลย ขณะที่ฝ่ายหลังบอกว่าเวลานิยามว่ากฎหมายคืออะไร ไม่ต้องเอาความยุติธรรมหรือศีลธรรมเข้าไปใส่ แต่ตอนจะปฏิบัติกฎหมายต่างหากที่เป็นเรื่องมโนธรรมสำนึกหรือความรู้สึกทางศีลธรรมของแต่ละคนที่ต้องตัดสินใจเป็นปัจเจกบุคคลเอง ตรงนี้สำคัญมาก และเป็นประเด็นหลักที่ผมเสนอเอาไว้ในเรื่องนิติปรัชญาในประเทศไทยด้วย

จากยุคโบราณถึงศตวรรษที่ 20

ในส่วนของเนื้อหา ผมใช้การอธิบายทางประวัติศาสตร์ความคิด เริ่มต้นจากความคิดแรกสุดหรือที่ค้นได้แรกสุดว่าการถกเถียงว่ากฎหมายคืออะไร เกิดขึ้นที่ไหนก่อน ในหนังสือจะเริ่มต้นที่กรีกโบราณก่อน ผมรู้สึกว่าคำอธิบายในสมัยกรีกโบราณที่เป็นตำนาน คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักกฎหมายก็สามารถอ่านเข้าใจได้ เพราะมีลักษณะเป็นเรื่องเล่า ซึ่งแปลก เพราะความคิดว่ากฎหมายคืออะไร เริ่มจากนักประพันธ์ก่อน ไม่ใช่เรื่องของนักกฎหมาย เขาพูดตามจินตนาการว่ากฎหมายคืออะไร

สำหรับยุคโบราณสุด กฎหมายคืออะไรบางอย่างที่มาจากสรวงสรรค์ เป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกพันมนุษย์ให้ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งมีความน่าสนใจอยู่ แต่ในยุคแรกก็เกิดปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างกฎหมายที่มนุษย์เขียนขึ้นเองกับกฎหมายที่มาจากเทพเจ้าแล้ว เป็นปัญหาหลักว่านอกเหนือจากกฎหมายที่มนุษย์เขียนขึ้นแล้ว ยังมีกฎหมายอื่นในธรรมชาติอีกหรือเปล่า ซึ่งอยู่เหนือกว่าหรือสูงส่งกว่ากฎหมายของมนุษย์ ถ้าพูดแบบสถานการณ์ปัจจุบัน นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ที่ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) กำหนดขึ้นแล้วถือเป็นกฎหมาย ยังมีกฎหมายอื่นอีกหรือเปล่าที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ที่ คสช. กำหนดขึ้น ประเด็นแบบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว

หลังจากนั้นก็เป็นพัฒนาการของความคิด ผ่านสมัยกลางที่เป็นกฎหมายของพระเจ้าองค์เดียวกับกฎหมายของมนุษย์ มาถึงในสมัยใหม่ซึ่งเป็นเรื่องการอำนวยการปกครอง การเกิดขึ้นของกฎหมายจากฐานของผู้ที่ได้รับอำนาจการปกครองรัฐโดยสัญญาประชาคม เรื่อยมาจนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 20 หนังสือเล่มนี้ไม่ได้อ้างตนว่าการอธิบายประวัติศาสตร์ความคิดนี้สมบูรณ์แล้ว มีนักคิดจำนวนหนึ่งที่ผมละไว้ เนื่องจากจะทำให้หนังสือหนาเกินไปและทำให้ต้นทุนการพิมพ์สูงขึ้น บางส่วนก็เป็นเรื่องของเวลาที่ต้องพิมพ์ให้เสร็จในเดือนนี้เพื่อใช้ประกอบการศึกษา

ถ้าท่านสังเกตดู มันมีเกร็ดอะไรบางอย่างอยู่ บางส่วนผมเอาไว้ในเชิงอรรถ ซึ่งไม่ได้แปลว่าไม่สำคัญ มีบางเชิงอรรถมีความสำคัญ แต่มันมีลักษณะเป็นรายละเอียดบางอย่างที่จะใส่ไว้ในเนื้อหาก็จะหนาไป จึงนำไปไว้ในเชิงอรรถ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางความคิดในการตีความคัมภีร์ไบเบิ้ลของนักบุญออกัสติน ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการไล่ล่าพวกนอกรีตหรือไม่เชื่อพระเจ้าแบบศาสนาคริสต์ เราจะเห็นว่าการตีความคำบางคำที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ มันส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเลยทีเดียว ดังนั้น คนที่เรียนกฎหมายต้องรู้ว่า กฎหมายมันเป็นตัวบท จึงต้องมีความรับผิดชอบสูงมากในการให้ความหมายของภาษาในกฎหมายว่าคืออะไร ไม่ใช่ว่าไปแบบมั่วๆ เพราะจะส่งผลอย่างมากในทางปฏิบัติอย่างที่ผู้ตีความอาจจะคาดไม่ถึง ดังที่เกิดขึ้นกับนักบุญออกัสตินในช่วงยุคกลางตอนต้น

อีกเรื่องหนึ่ง ผมเขียนถึงประวัตินักคิดเอาไว้ด้วย ไม่ได้เขียนแต่ความคิดอย่างเดียว บางคนพลิกอ่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมผมเขียนว่านักคิดคนนี้มีลูกนอกสมรส อย่างเช่นมาร์กซ์ก็มีลูกนอกสมรส หรือเฮเกิลมีความสัมพันธ์กับภรรยาเจ้าของหอพักสมัยที่เขาอยู่ในเมืองเมืองหนึ่ง มันเกี่ยวอะไร ทำไมถึงเขียน หรือทำไมเขียนถึงฮิวโก โกรเชียส ที่ถูกขังไว้ในปราสาทแห่งหนึ่งหลบอยู่ในลังหนังสือ แล้วลี้ภัยไปปารีส ทำไมจึงเขียนเรื่องเหล่านี้

คำตอบก็คือเราจะเข้าใจความคิดของนักคิดแต่ละคนได้ เราต้องเข้าใจบริบทแวดล้อมชีวิตของเขา ผมต้องการสื่อว่าความคิดต่างๆ เกิดขึ้นจากมนุษย์ เป็นคนสามัญที่สามารถทำถูกและผิดในทางส่วนตัวได้เหมือนกัน ไม่ได้เป็นเทพเจ้าสูงส่งจากที่ไหน แต่สามารถสร้างความคิดที่ส่งผลต่อพัฒนาการในทางกฎหมายได้

อีกอันหนึ่ง บริบททางประวัติศาสตร์จะช่วยให้เราวิเคราะห์ความคิดของนักคิดแต่ละคนได้ว่า ทำไมจึงคิดแบบนั้น นักคิดบางคนจะมีความคิดเชื่อมโยงกัน เช่น ความคิดของมาร์กซ์ เรื่องวัตถุนิยมประวัติศาสตร์กับกฎหมายก็สัมพันธ์กับความคิดของเฮเกิล ผมก็ต้องเขียนถึงเฮเกิลเพื่อให้เห็นว่ามีการคิดกลับทางกัน เราคงรู้ว่าความคิดแบบมาร์กซ์มีอิทธิพลสำคัญต่อวิธีคิดของคนจำนวนมาก ในบางช่วงมีอิทธิพลอย่างสูงในอดีตสหภาพโซเวียต ทำให้เราเห็นบริบททางความคิดที่สัมพันธ์กับกฎหมาย บริบททางอำนาจที่เกิดขึ้นจริง เพราะกฎหมายไม่ได้ล่องลอยอยู่โดยไม่สัมพันธ์กับข้อเท็จจริงในสังคม

เท่าที่ผมดู มันจะเริ่มยากขึ้นในช่วงบทท้ายๆ โดยเฉพาะความคิดในช่วงศตวรรษที่ 20 เหตุเพราะในอดีตปัญหาว่ากฎหมายคืออะไร ต้องสัมพันธ์กับความยุติธรรมหรือเปล่า มีกฎหมายธรรมชาติหรือไม่ มันเป็นเรื่องของนักปรัชญา จนกระทั่งประมาณ 200 กว่าปี นักนิติศาสตร์เข้าไปร่วมวงและพยายามอธิบายในแง่มุมทางปรัชญาของกฎหมายมากขึ้น เมื่อนักนิติศาสตร์เข้าไป ความคิดพื้นฐานของวิชานิติศาสตร์มันก็เข้าไปด้วย บางอย่างจะดูซับซ้อนนิดหน่อย แต่ประเด็นหลักที่ผมต้องการแสดงให้เห็นคือวิธีการให้เหตุผล

มนุษย์มีศักยภาพในการให้เหตุผล

ผมรู้สึกว่าสังคมไทยในช่วง 12 ปีมานี้มีปัญหาเวลาที่ต้องถกเถียงหรือมีความเห็นต่างกันในเรื่องต่างๆ ประเด็นที่ผมสังเกตคือวิธีให้เหตุผล บางอย่างถ้าเห็นไม่ตรงกัน มันกลายเป็นศัตรูกันไปเลย ซึ่งความจริงไม่ควรเป็นแบบนั้น และการโต้แย้งบางอย่างไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของเหตุผล แต่ตั้งอยู่บนฐานของข้อกล่าวหา ซึ่งมีข้อเสีย มันทำให้สมองของผู้กล่าวหาฝ่อลง

อันนี้พูดถึงคุณภาพของสื่อโดยรวมด้วย โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ เวลาคุณต้องอธิบายความคิดบางอย่างต้องใช้เหตุใช้ผล ไม่ใช่การกล่าวหา เพราะฉะนั้นหลายเรื่องที่เขียนในเล่ม เราดูวิธีการให้เหตุผลของเขา เราจะเห็นว่ามนุษย์มีศักยภาพในการให้เหตุผล มีนักคิดหลายคนในเล่มที่ผมก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่เขามีความพยายามในการให้เหตุผล ตัวอย่างอยู่ในสมัยกลางที่พูดถึงพระเจ้าในศาสนาคริสต์ คนที่ไม่นับถือพระเจ้าก็จะถามว่าเขียนทำไม แต่ในการเขียนนิติปรัชญา ผมเข้าไปศึกษาเรื่องนี้และยอมรับว่าเป็นพาร์ทที่เขียนยากมาก


"วิชาการที่ส่งเสริมความงอกงามทางปัญญา เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา มันจะค่อยๆ ตายลง วิชากฎหมายก็จะเรียนเฉพาะคณะนิติศาสตร์ซึ่งเอาไปทำมาหากิน คนก็จะไม่เห็นบริบทอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ การเรียนวิชาทางความคิดจึงสำคัญ แม้ไม่ได้มีผลโดยตรง แต่มีผลมากๆ ต่อวิธีคิด วิธีการให้เหตุผล"

แต่ที่ผมทึ่งคือความพยายามในการให้เหตุผลของนักคิดเหล่านี้ ต่อให้เราไม่เชื่อหรือเห็นต่าง แต่เราสามารถเห็นได้ว่าเขาพยายามใช้สติปัญญาในการให้เหตุผลของเขามากที่สุด แล้วเหตุผลบางอย่างสามารถนำมาปรับคิดกับเรื่องอื่นๆ ได้ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้รู้จักคิดในทางปรัชญา ใช้เหตุผลในการตอบปัญหาต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักกฎหมาย เหตุผลเพราะว่าคนที่เรียนกฎหมายจะอยู่กับตัวบท เมื่อเรียนจบแล้วจะมีอำนาจในการตีความ ชี้ถูก ชี้ผิด ถ้าความคิดคับแคบ ไม่รู้ว่าโลกนี้มีความคิดอะไรอยู่อีกบ้าง เรียนแต่ตัวบทแล้วตีความไปตามการอ่าน ไม่เห็นบริบททั้งหมด อันตรายก็จะเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไป

ทำไมต้องเรียนนิติปรัชญา

บางคนอาจถามว่า เรียนนิติปรัชญาทำไมที่พูดถึงลำดับชั้นต่างๆ ของกฎหมาย กฎหมายนิรันดร กฎหมายธรรมชาติ กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ มันมีความสัมพันธ์อะไรกับยุคสมัยเรา แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความคิดเรื่องลำดับชั้นของกฎหมายมันอยู่ในกฎหมายบ้านเมือง มีรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ มีกฎกระทรวง มันเป็นความคิดที่มีที่มา

ถามว่าแล้วมันทำให้ทนายความชนะคดีหรือไม่ เวลาขึ้นศาลอ้างอะไควนัส ศาลอาจจะไม่รู้จักก็ได้ อาจจะไม่มีผลในทางปฏิบัติ นี่คือความยาก วิชานิติศาสตร์เรียนเพื่อส่งคนเข้าทำอาชีพทางกฎหมาย ดำรงชีพด้วยอาชีพทางกฎหมาย บางคนอาจคิดว่าอะไรที่เขาไม่สามารถทำมาหากินได้ เขาไม่สนใจ ผมว่าความคิดนี้เป็นความคิดที่ผิด มหาวิทยาลัยไม่ควรสนับสนุนแบบนั้น แต่ผมกังวลว่ามหาวิทยาลัยกำลังไปในทิศทางนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ

วิชาการที่ส่งเสริมความงอกงามทางปัญญา เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา มันจะค่อยๆ ตายลง วิชากฎหมายก็จะเรียนเฉพาะคณะนิติศาสตร์ซึ่งเอาไปทำมาหากิน คนก็จะไม่เห็นบริบทอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ การเรียนวิชาทางความคิดจึงสำคัญ แม้ไม่ได้มีผลโดยตรง แต่มีผลมากๆ ต่อวิธีคิด วิธีการให้เหตุผล อันนี้จากประสบการณ์ส่วนตัว เวลาต้องการให้เหตุผลอะไรบางอย่าง การมีความรู้เรื่องพวกนี้อยู่บ้าง อาจทำให้เรามองเห็นแง่มุมบางอย่างที่คนอื่นอาจไม่ได้มอง

ผลพวงจากรัฐประหาร 2557


ปัญหาของการเรียนนิติปรัชญาในบ้านเรา เป็นประเด็นที่สร้างความลำบากใจแก่ผมที่สุดในการพูดวันนี้ เรื่องนี้มาจากประสบการณ์ของผมตอนบรรยายวิชานิติปรัชญา ในช่วงก่อนปี 2549 ก็สอนไปตามปกติธรรมดา นิติปรัชญาเป็นงานเสริมของผมมากกว่า เพราะงานหลักของผมคือการสอนและการพัฒนาความรู้ทางกฎหมายมหาชน แต่ผมชอบวิชานี้ด้วยใจรัก หลังจากปี 2549 มา ผมพบความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในนักศึกษาที่เข้าเรียนวิชานิติปรัชญากับผม

นักศึกษาจำนวนหนึ่งเรียนนิติปรัชญาแบบดูว่า ฝั่งนี้เป็นฝั่งธรรมะ ฝั่งนี้เป็นฝั่งอธรรม พอนานไปเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองทวีมากขึ้น ก็เรียนนิติปรัชญาแบบสีนี้ดี เป็นฝ่ายธรรมะ สีนี้เลว เป็นฝ่ายอธรรม นี่เป็นพัฒนาการในช่วงหลังปี 2549 แล้วมาพีคมากๆ ช่วงปี 2552-2555 ผมพบว่าลูกศิษย์จำนวนหนึ่งเวลาตั้งคำถาม เป็นการถามแบบเร่งเร้าให้ผมตอบว่าผมเชื่อในความยุติธรรมหรือไม่ เพื่อจะดูว่าผมอยู่ฝั่งไหน แล้วเมื่อผมตอบว่าเรื่องนี้มีความคิดที่ตอบได้หลายแบบ ตอบคำเดียวไม่ได้ ก็รู้สึกไม่พอใจ เหตุการณ์นี้ทำให้ผมรู้สึกว่าต้องเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา และมันยังเป็นผลพวงจากรัฐประหารปี 2557 ผมจะต้องทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการพูดถึงประเด็นนิติปรัชญา

แต่เผอิญหนังสือเล่มนี้เป็นประวัติศาสตร์ความคิดและหนักไปทางตะวันตก เหตุเพราะว่าความคิดแบบตะวันออกต้องทำเป็นอีกวาระหนึ่ง ไม่สามารถรวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ได้ ความคิดเรื่องธรรมาธิปไตยของพุทธทาสภิกขุ เรื่องนิติศาสตร์แนวพุทธของ ป.อ.ปยุตโต ผมมีความเห็นบางอย่างต่อแนวคิดเหล่านี้ แต่ยังไม่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้

แต่ที่แสดงให้ปรากฏคือสิ่งที่ผมคิดว่าเร่งด่วนกว่าและต้องพูดออกไป ผมอาจจะอ้างอิงมากนิดหนึ่ง เพราะนี่อาจจะเป็นเรื่องเดียวในหนังสือเล่มนี้ที่สัมพันธ์กับวงการวิชาการกฎหมายไทยและนิติปรัชญาโดยตรง อยู่ในหน้า 398-410 อันนี้เป็นทัศนะของผมเกี่ยวกับการเรียนนิติปรัชญาในไทย ปัญหาที่ผมประสบจากการเป็นผู้บรรยาย

ผมรู้สึกว่าคนที่เรียนกฎหมายและเป็นนักกฎหมาย ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ให้ชัด มันเป็นผลเสียต่อวงวิชาการกฎหมายระยะยาว ผมไม่คิดว่าผมจะประสบความสำเร็จในช่วงชีวิตของผม เพราะความคิดบางเรื่องมันฝังรากลึกมาก การที่เราทำอะไรบางอย่าง เราอาจต้องรู้ว่าในช่วงชีวิตเราอาจไม่สัมฤทธิ์ผล แต่ไม่ใช่สาเหตุให้เราละทิ้งการทำสิ่งนั้น หากเราเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ผมกำลังจะบอกว่าไม่ต้องสนใจ ให้ลงมือทำ บางอย่างอาจจะสำเร็จเมื่อเราตายไปแล้วหลายสิบปีก็ได้ ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าความคิดบางคนกว่าจะได้รับการยอมรับก็เมื่อเขาตายไปแล้ว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในประวัติศาสตร์ความคิดของโลก ซึ่งไม่เป็นปัญหาเลยสำหรับผม แต่ปัญหาคือเราต้องทำหรือไม่ และผมคิดว่าผมทำ แต่ในส่วนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผมคิดว่าผมจะทันเห็นในชีวิตของผม ผมไม่เคยสิ้นหวังในเรื่องเหล่านี้ และในเรื่องทางกฎหมายผมก็ไม่เคยสิ้นหวังนะ ผมถือว่าเมื่อผมทำไปแล้ว มันดำรงอยู่แล้ว

อย่างความคิดเรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหาร มันดำรงอยู่แล้วในบ้านเรา รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย เรื่องที่ทำไปแล้วคือเรื่องที่ทำไปแล้ว และเราต้องยืนอยู่กับเรื่องนั้น มันจะสำเร็จหรือไม่เป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องในอนาคต แล้วทั้งหมดเป็นเรื่องข้อเสนอ ไม่ใช่เอาปืนไปจ่อบอกว่าต้องคิดเหมือนผม มันเป็นประเด็นที่อยู่ในสังคมแล้วก็ถกเถียงกัน สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ก็เหมือนกัน

ปัญหานิติปรัชญาในประเทศไทย

ปัญหานิติปรัชญาในประเทศไทย ผมเสนอในหนังสือผม ใครจะถกเถียง ยินดี ไม่มีปัญหา ผมอาจจะเห็นบางประเด็นไม่ครบก็ได้ ประเด็นคือในบ้านเรามีแนวความคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยที่พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์หรือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ เข้ามาและสอนวิชากฎหมาย กรมหลวงราชบุรีฯ ขณะที่เรียนที่อังกฤษนั้น แนวความคิดแบบปฏิฐานนิยมทางกฎหมายหรือนักกฎหมายบ้านเมืองกำลังเฟื่องฟูอยู่ในอังกฤษ คนที่เป็นผู้นำความคิดคือจอห์น ออสติน ซึ่งรับแนวคิดมาจากเจเรอมี่ แบนแธม เจ้าของความคิดอรรถประโยชน์นิยม ซึ่งสิ่งนี้มามีอิทธิพลในกฎหมายไทยที่สอนว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ เวลาที่รัฐประหารสำเร็จแล้ว กฎเกณฑ์ของรัฐประหารจึงมีผล หลายคนก็ชี้นิ้วไปที่ความคิดแบบนี้

กรมหลวงราชบุรีฯ เมื่อกลับมาเมืองไทย ท่านก็มีอิทธิพลสูงในวงการกฎหมาย ในภายหลังท่านถูกยกเป็นพระบิดาแห่งกฎหมายไทย เรื่องนี้มีคนแย้งอยู่ ท่านอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เขียนเรื่องนี้ออกมา ซึ่งผมก็เห็นคล้อยไปด้วย พระองค์เจ้ารพีฯ น่าจะเป็นบิดาของระบบศาลยุติธรรมไทยมากกว่า

ประเด็นที่พระองค์เจ้ารพีฯ เขียนในหนังสือของท่านก็เอามาจากจอห์น ออสติน ที่บอกว่ากฎหมายคือสิ่งที่ผู้ปกครองแผ่นดินสั่งแก่ราษฎร กฎหมายเป็นคนละเรื่องกับความยุติธรรมและศีลธรรม ศีลธรรมมีบ่อเกิดได้หลายแห่ง แต่กฎหมายเกิดขึ้นได้ที่เดียวคือจากผู้มีอำนาจปกครองสั่งเท่านั้น นี่คือความคิดหลัก

ในตอนที่มีการนำวิชานิติปรัชญาเข้ามาสอนในประเทศไทย ท่านที่บุกเบิกคือท่านศาสตราจารย์ ปรีดี เกษมทรัพย์ ซึ่งเริ่มต้นที่นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์แห่งนี้ ในบริบทช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ตุลาคม 2519 อาจารย์ปรีดีเห็นว่าคำสอนแบบนี้เป็นคำสอนของนักกฎหมายที่ไม่สนใจเรื่องอะไรนอกจากอำนาจ แล้วก็เห็นว่าคำสอนแบบนี้ เวลาที่รัฐประหารสำเร็จ นักกฎหมายก็จะเข้าไปทำงานรับใช้คณะรัฐประหาร ศาลก็จะตัดสินคดีตาม ผมเข้าใจในบริบทที่เกิดนิติปรัชญาขึ้นและเข้าใจที่อาจารย์ปรีดีพยายามเสนอประเด็นนี้ ความเห็นนี้มีอิทธิพลสูงในวงการกฎหมายไทย ผลที่ตามมาคือแนวคิดแบบกฎหมายบ้านเมืองถูกมองว่าชั่วร้าย ขณะที่กฎหมายธรรมชาติดูถูกต้องกว่า ดูดีกว่า

ปัญหานี้ตอนที่ผมเรียนหนังสืออยู่ก็ไม่ได้ตระหนัก ผมก็เห็นตามท่านอาจารย์สอนมา ทุกวันนี้เรายังตำหนิประณามความคิดแบบนี้ว่าทำให้รัฐประหารสำเร็จ แล้วเกิดการรับใช้รัฐประหาร ศาลเองก็ยอมรับ ทำให้เหมือนกับกฎหมายกับคณะรัฐประหารเป็นอันเดียวกันและบังคับใช้ได้

ภายหลังที่ผมคิดตรึกตรองเรื่องนี้มากขึ้น หลังศึกษาความคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายธรรมชาติมากขึ้น รวมทั้งเหตุการณ์รัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุด รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมือง ผมพบว่าความคิดนี้มีข้ออ่อนอย่างสำคัญ และไม่เป็นธรรมกับความคิดกฎหมายบ้านเมืองสักเท่าไหร่ ทำไมล่ะ ถ้าเราบอกว่ากฎหมายเป็นเรื่องความยุติธรรมแล้ว มันก็ดีสิ ทำให้มีการต้านรัฐประหารมากขึ้นเพราะเป็นการได้อำนาจมาโดยไม่ถูกต้อง

แต่ท่านลองสังเกตดู รัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุด นักกฎหมายจำนวนหนึ่งที่สมาทานกฎหมายธรรมชาติ ที่เชื่อเรื่องธรรม คุณธรรมต่างๆ ทำไมเวลาเกิดการรัฐประหารจึงไม่มีปฏิกิริยาใดๆ แปลว่าต้องมีอะไรบางอย่างที่เป็นปัญหาในความคิดแบบนี้

ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า ความคิดของกฎหมายบ้านเมืองเพียงแต่บอกว่าอะไรเป็นกฎหมายให้ดูจากข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงที่บ่งบอกว่าสิ่งใดเป็นกฎหมายหรือไม่ ความคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมืองก็เถียงกันเองเป็นหลากหลายแนวทาง บางคนให้ดูจากว่าใครเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ถ้าคนนั้นสั่ง มันก็เป็นกฎหมาย นี่เป็นความคิดแบบจอห์น ออสติน บางคนบอกว่าไม่ใช่ ให้ดูว่าสิ่งที่ถูกสั่งมีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง หมายความว่าเกิดการต่อต้านจากใครหรือไม่ ต่อให้เขาได้อำนาจมาโดยไม่ถูกต้องชอบธรรม แต่ถ้าสามารถยึดอำนาจสำเร็จ เกิดความสงบขึ้น แล้วบรรดาการสั่งการต่างๆ มีประสิทธิภาพ มันก็เป็นกฎหมาย อันนี้เป็นประเด็นในเชิงข้อเท็จจริง ไม่ใช่ประเด็นในเชิงคุณค่า

นักกฎหมายกับจุดยืนทางมโนธรรมสำนึกส่วนบุคคล

ทีนี้ เวลาที่มีใครมองแบบนี้ ถ้าเราจะถาม เราควรถามว่าอะไร สำหรับเขาสิ่งนี้เป็นกฎหมาย สำหรับผม ประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นหรือไม่เป็นกฎหมายแล้ว คุณจะบอกว่าเป็นกฎหมายไม่เป็นไร ถ้าคุณเชื่อและมีเหตุผลว่ามันคือกฎหมาย แต่ปัญหาคือว่าแล้วตัวคุณทำตามหรือเปล่า คนทั่วไปรู้สึกว่าถ้าเป็นกฎหมาย ต้องทำตาม แต่ประเด็นคือถ้ากฎเกณฑ์ที่ออกมาขัดแย้งกับมโนธรรมสำนึกในใจเรา เราก็เชื่อแบบสำนักกฎหมายบ้านเมือง เราจะทำตามหรือไม่ แต่ละคนอาจจะตอบหลายอย่าง บางคนบอกไม่ทำ ต่อให้เป็นกฎหมายก็ไม่ทำ เขาอาจจะบอกว่าการปฏิบัติตามหรือไม่นั้น ตอนนี้ในทางปฏิบัติปัญหาไม่ใช่กฎหมายคืออะไร ไม่ใช่ปัญหาเรื่องความเป็นนักกฎหมาย แต่เขาอาจจะเลยไปกว่านั้นว่านี่คือปัญหาเรื่องความเป็นคน

ปัญหาที่ว่ากฎหมายคืออะไร พวกสำนักกฎหมายบ้านเมืองมีเกณฑ์แน่นอนประการหนึ่ง แต่เมื่อเป็นแล้ว คุณจะตัดสินใจอย่างไร ทำหรือไม่ทำ มันเป็นเรื่องมโนธรรมสำนึก เป็นเรื่องความรู้สึกทางศีลธรรมของคุณเอง สำนักกฎหมายบ้านเมืองไม่ได้บอกว่า เมื่อเป็นกฎหมายแล้วทุกคนต้องทำตามหมด เขาแค่บอกว่ามันเป็นกฎหมาย เพียงแต่ตอนจะทำตามหรือไม่ทำตาม มันเป็นเรื่องมโนธรรมสำนึกหรือจุดยืนทางศีลธรรมของแต่ละบุคคล

ถามว่าตรงนี้สำคัญอย่างไร มันจะสำคัญมากๆ เวลาที่นักกฎหมายมีปฏิกิริยากับคำสั่ง ประเด็นคือสำนักกฎหมายบ้านเมืองอธิบายแบบนี้ จึงทำให้ในที่สุดถูกตำหนิประณาม โดยบอกว่าสำหรับคนที่เชื่อว่ากฎหมายคือความยุติธรรมหรือศีลธรรมเป็นคนดี คนที่เชื่อว่ากฎหมายแยกขาดจากความยุติธรรมเป็นคนเลว ซึ่งผิด คนที่เชื่อว่ากฎหมายแยกจากศีลธรรมและความยุติธรรม เขาเพียงแต่บอกว่าอะไรเป็นกฎหมาย ส่วนถ้ามันเป็นแล้วจะทำหรือไม่ทำตามเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ที่สอนกันคือใครก็ตามที่เชื่อในความคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมือง เมื่อเกิดการรัฐประหารแล้ว ก็จะไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะเข้าไปรับใช้รัฐประหาร เพราะคุณเชื่อว่าคำสั่งรัฐประหารเป็นกฎหมาย คือเอาสองเรื่องนี้ผนวกเป็นเรื่องเดียว คือนักกฎหมายบางคนอาจจะมองว่าคำสั่งรัฐประหารเป็นกฎหมายก็ได้ แต่ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่คุณจะรับใช้รัฐประหาร คำตอบคือไม่จำเป็น

เพราะมโนสำนึกของคุณอาจจะบอกว่ากฎเกณฑ์นี้ไม่ถูกต้องในทางศีลธรรม ชั้นแรก เขาแยกกฎหมายกับศีลธรรมออกจากกันว่าอะไรเป็นกฎหมายหรือไม่ ให้ดูจากความคิดทางกฎหมายอย่างเดียว แต่พอมาถึงชั้นว่าจะต้องทำตามหรือไม่ พวกฝ่ายนักกฎหมายบ้านเมืองบอกว่ามันตอบจากจุดยืนทางวิชาการไม่ได้แล้ว แต่ต้องตอบจากจุดยืนทางศีลธรรมของแต่ละคน เพราะฉะนั้นการที่เราประณามว่าคนที่เชื่อแบบสำนักกฎหมายบ้านเมืองต้องรับใช้รัฐประหารเสมอจึงไม่ถูก เขาอาจจะเชื่อก็ได้ แต่เขาไม่เอา


"มันจะสำคัญมากๆ เวลาที่นักกฎหมายมีปฏิกิริยากับคำสั่ง ประเด็นคือสำนักกฎหมายบ้านเมืองอธิบายแบบนี้ จึงทำให้ในที่สุดถูกตำหนิประณาม โดยบอกว่าสำหรับคนที่เชื่อว่ากฎหมายคือความยุติธรรมหรือศีลธรรมเป็นคนดี คนที่เชื่อว่ากฎหมายแยกขาดจากความยุติธรรมเป็นคนเลว ซึ่งผิด คนที่เชื่อว่ากฎหมายแยกจากศีลธรรมและความยุติธรรม เขาเพียงแต่บอกว่าอะไรเป็นกฎหมาย ส่วนถ้ามันเป็นแล้วจะทำหรือไม่ทำตามเป็นอีกเรื่องหนึ่ง"

แต่บ้านเราเป็นแบบนี้ สุดท้ายแนวคิดนี้จึงเป็นผู้ร้ายในระบบกฎหมายไทย คล้ายๆ กับบอกว่าเวลาศาลปฏิบัติไปตามคำสั่งคณะรัฐประหาร ก็คือศาลเชื่อตามแนวคิดแบบจอห์น ออสติน หรือพระองค์เจ้ารพีฯ ที่บอกว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ นี่คือกระแสหลักในนิติปรัชญาในบ้านเรา

วันนี้ผมกำลังจะบอกว่า ไม่ใช่ มันเป็นสองประเด็นที่แยกขาดจากกัน ศาลอาจจะเชื่อว่าคำสั่งรัฐประหารคือกฎหมาย แต่เขาบอกว่ารับไม่ได้ ทำยังไง เขาก็อาจลาออก เขาไม่สามารถใช้บังคับกฎเกณฑ์นี้ได้ ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีคนคิดแบบนี้ เป็นไปได้ครับ ในอีกด้านหนึ่ง มีความพยายามอธิบายว่า วิธีคิดที่แยกกฎหมายและศีลธรรม ความยุติธรรมออกจากกัน ดูแต่กฎหมายอย่างเดียว ในทางกลับกัน มันเป็นวิธีคิดที่ทำให้กฎหมายตกเป็นรองศีลธรรมตลอดกาล เพราะศีลธรรมและความยุติธรรมไม่เข้าไปอยู่ในการบอกว่าอะไรคือกฎหมาย เท่ากับตอนที่บอกว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นกฎหมาย ไม่ได้ใช้คุณค่าตัวเองไปตัดสิน กฎหมายนั้นจึงตกอยู่ภายใต้การวิจารณ์ของศีลธรรมและความยุติธรรมได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเชื่อว่าศีลธรรมอยู่ในกฎหมายแล้ว ก็แปลว่ากฎหมายอาจจะไม่ถูกวิจารณ์จากหลักคิดในทางศีลธรรมได้ เพราะมันอยู่ในนั้นเสียแล้ว

ที่ผมพูดมาทั้งหมด อย่าเพิ่งตัดสินว่าผมเป็นฝ่ายสำนักกฎหมายบ้านเมือง ไม่ง่ายแบบนั้น นิติปรัชญาไม่ง่ายแบบนั้น ความคิดของคนบางทีมีเงื่อนแง่ที่ซับซ้อนไปกว่านั้น

เราอาจบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเรากลับไปเชื่อแบบกฎหมายธรรมชาติดีกว่าหรือไม่ ถ้าเอาศีลธรรมไปเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายเสียเลย คำตอบคือมันไม่ง่ายแบบนั้นอีกเหมือนกัน เพราะบางทีมันมีความไม่แน่นอนอยู่ ศีลธรรมในแต่ละศาสนามีความต่างกันอยู่ มันไม่ได้เป็นเนื้อเดียว ใครที่เรียนจริยศาสตร์จะรู้ว่าการตัดสินการกระทำหนึ่ง มันยากมาก ขึ้นกับว่าคุณจะใช้หลักคิดไหนเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัย

ผมกำลังจะบอกกับบรรดานักศึกษาที่เรียนอยู่ตอนนี้ว่า อย่าได้รีบตัดสินใจไปก่อนว่าเราถือธรรมะ ถือความยุติธรรม และด้วยเหตุดังกล่าว เราจึงถูกตลอดเวลา นี่คือประเด็น นิติปรัชญาจะบอกกับเราว่า เราพึงระวังก่อนที่เราจะตัดสินบางอย่าง เพราะเมื่อเราบอกว่าเราเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้ว เท่ากับเราผลักคนอื่นเป็นคนไม่ดีเลยทันที และนี่คือปัญหาใหญ่ของสังคมไทยเวลานี้

เนติบริกรรัฐประหาร เวลาที่เขาไปทำงานให้กับคณะรัฐประหาร เพราะเขามีจุดยืนแบบนักกฎหมายบ้านเมืองหรือเปล่า ลองไปถามดู อาจจะมีบางคนเป็นแบบนั้น บางคนอาจจะไม่มีจุดยืนอะไรเลย ซึ่งผมคิดว่าส่วนใหญ่ไม่มีจุดยืนอะไรเลย เพราะถ้ามีจุดยืน คุณต้องคิดอะไรบางอย่าง ต่อให้คุณมีจุดยืนแบบสำนักกฎหมายบ้านเมืองก็ตาม คุณอาจจะบอกว่ามันเป็นกฎหมายในทัศนะของคุณ ใช่ แต่ตอนที่คุณต้องเข้าไปทำงาน คุณต้องคิดมากกว่านี้ มันเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

บรรดานักกฎหมายสำนักกฎหมายบ้านเมืองทั้งหลายเท่าที่ผมค้นพบประวัติ ส่วนใหญ่เขาเชื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย ในทางกลับกัน พวกที่อ้างตนว่านับถือกฎหมายธรรมชาติ ที่เชื่อว่ามีความถูกต้องดีงามในธรรมชาติ เราเป็นผู้ทรงคุณธรรม พวกนี้ต่างหากที่อาจจะน่ากลัวกว่า เพราะเขาหยิบเสื้อคลุมคุณธรรม เสื้อคลุมคนดีมาสวม ความถูกต้องมาอยู่กับเราแล้ว เราประกาศว่าเป็นพวกกฎหมายธรรมชาติซึ่งเชื่อในธรรมะ แต่ถามว่ามันง่ายแบบนั้นหรือเปล่า มันไม่ง่ายแบบนั้น คือผมไม่ได้ปฏิเสธเรื่องคนดีหรือคนมีศีลธรรม ผมว่ามีจริง คนที่เป็นคนดีมีศีลธรรม มีหลักการบางอย่างที่เขาใช้อยู่ แต่ผมอยากจะบอกว่าเราอย่าใช้คำนี้แบบเฝือๆ อย่าคิดว่าคนคนหนึ่งที่ต่อต้านอีกคนหนึ่งที่เป็นคนเลวแล้วจะทำให้เขาเป็นคนดีโดยอัตโนมัติ ไม่จริงเลย อาจจะเลวยิ่งกว่าก็ได้

แต่การบอกว่าใครเป็นคนเลว บางทีเป็นแค่เครื่องแสดงออกว่าตนเองเป็นคนดีกว่าคนอื่น ทำนองเดียวกัน นิติปรัชญามักมีลักษณะแบบนี้ พอบอกว่าเป็นฝ่ายสำนักกฎหมายธรรมชาติ มันคล้ายกับว่าเราเป็นคนดี เพราะฉะนั้นพวกสำนักกฎหมายบ้านเมืองเป็นคนเลว ไม่จริง ผมแค่จะบอกว่า เราจะถือคติแนวคิดสำนักกฎหมายแบบไหน ไม่เป็นปัญหาเลย และผมใจกว้างมากๆ นักศึกษาจะคิดแบบไหน แล้วแต่แต่ละคน เพราะในรายละเอียดมันมีจุดเด่น จุดด้อยแตกต่างกัน

เพียงแต่ว่าสุดท้าย เมื่อคุณต้องบังคับการบางอย่างในความเป็นนักกฎหมายที่คุณมีความเป็นคนอยู่ในนั้น คุณต้องบอกว่าอันนี้คุณทำและอันนี้คุณไม่ทำ อันนี้ไม่เกี่ยวกับนิติปรัชญา มันเป็นจุดยืนในทางมโนธรรมสำนึกของแต่ละคน ผมกำลังจะบอกว่าการที่บ้านเราชี้นิ้วอย่างยาวนานว่า คำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์เป็นกฎหมายทำให้รัฐประหารเจริญงอกงามในประเทศไทยอาจจะไม่ใช่แบบนั้น

แล้วอะไรที่เราควรจะชี้นิ้วไป ถ้าเราบอกว่าไม่ใช้ความคิดทางนิติปรัชญาที่ก่อเรื่องนี้ขึ้นมา เรื่องนี้มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง คือนิติปรัชญาในประเทศที่มีการรัฐประหารกับประเทศที่ไม่มีการรัฐประหาร มันต่างกัน ถ้าเราดูตำรานิติปรัชญาในโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ อเมริกา อังกฤษ จะไม่ค่อยมีการถกเถียงเรื่องพวกนี้ เพราะว่าประเทศเขาไม่มีรัฐประหาร เขาก็ไปพูดเรื่องอื่น บางสำนักบอกว่ากฎหมายก็คือสิ่งที่ผู้พิพากษาตัดสิน พวกสัจจะนิยม

แต่ถ้าคุณไม่เชื่อแบบนี้ เขาเป็นคนเลวหรือคนไม่ดีหรือเปล่า ไม่ใช่ เขาเพียงแต่บอกข้อเท็จจริงว่า สิ่งที่เป็นกฎหมายคือสิ่งที่ผู้พิพากษาตัดสิน ส่วนจุดยืนทางศีลธรรมของเขาเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.