Posted: 22 Mar 2018 03:59 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
มาร์ค ซักเกอเบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กออกมาขอโทษและแจงมาตรการป้องกันเหตุในอนาคต หลังข้อมูลชาวอเมริกัน 50 ล้านคนรั่วไหลเพราะแอพพลิเคชั่นบนเฟซบุ๊ก แล้วถูกนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลวิเคราะห์จริตฐานเสียงในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นำไปสู่การสาดโคลนฮิลลารี คลินตัน และการเถลิงอำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์
เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาอย่างเป็นทางการ เมื่อมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กออกมายอมรับว่าข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกันจำนวน 50 ล้านคนรั่วไหลจากเฟซบุ๊ก เหตุเพราะบริษัทให้คำปรึกษาเรื่องการเมือง ‘เคมบริดจ์ อนาไลติกา (Cambridge Analytica - CA) ’นำข้อมูลที่เก็บได้จากเฟซบุ๊กออกไปใช้ทั้งๆ ที่เฟซบุ๊กบอกให้ลบข้อมูลดังกล่าวไปแล้ว
การรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กมีผลกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด สำนักข่าวเดอะออบเซอร์เวอร์รายงานว่า CA ในฐานะที่ปรึกษาหลักของทีมโดนัลด์ ทรัมป์ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เก็บข้อมูลของคนจำนวนหลายล้านคนผ่านเฟซบุ๊กไปใช้ออกแบบแคมเปญหาเสียงที่สามารถจำแนกประเภทของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง เพื่อจะทำการหาเสียงในแบบที่เฉพาะเจาะจง ตรงตามจริตของบุคคล
สำนักข่าวแชนแนลโฟร์ ได้ทำข่าวสืบสวนสอบสวน โดยปลอมตัวเป็นผู้สนใจทำแคมเปญเลือกตั้งในประเทศศรีลังกา เพื่อเข้าไปคุยกับประธานบริหารของ CA อเล็กซานเดอร์ นิกซ์ และได้ข้อมูลว่า CA เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง จัดตั้งองค์กรหุ่นเชิดเพื่อกระจายข่าวสารสู่โซเชียลมีเดีย เพื่อไม่ให้ตรวจสอบย้อนกลับมาได้ และยังมีส่วนร่วมกับการโฆษณาโจมตี ฮิลลารี คลินตัน ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตในธีม “เอาชนะฮิลลารีจอมขี้โกง (Defeat Crooked Hilary)”
ล่าสุด มาร์ค ได้ออกมาขอโทษสำหรับข้อมูลที่รั่วไหลออกไป โดยระบุว่าเจ้าตัวพร้อมที่จะให้การต่อหน้ารัฐสภาสหรัฐฯ หรือคองเกรส รวมถึงไม่คัดค้านที่จะให้เฟซบุ๊กยอมรับข้อบังคับเพิ่มเติม ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กยังได้โพสท์ผ่านบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยยอมรับว่าข้อมูลรั่วไหลจริง และไล่ไทม์ไลน์เหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานถึง 1,400 ล้านบัญชีต่อวัน
มาร์ค ร่ายไทม์ไลน์เหตุการณ์ไว้ดังนี้
ปี 2550 เฟซบุ๊กเปิดให้ผู้ใช้งานใส่ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเพื่อนของผู้ใช้งาน เนื่องจากต้องการให้เฟซบุ๊กอยู่ในฐานะของสังคมอีกแบบที่จะประกอบด้วยปฏิทินที่จะมีวันเกิดของเพื่อนผู้ใช้งานโชว์อยู่ แผนที่จะระบุที่อยู่และภาพของเพื่อนด้วย และอนุญาตให้แอพฯ ต่างๆ เก็บข้อมูลเหล่านั้นจากผู้ใช้งานแอพฯได้
ในปี 2556 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นามว่า อเล็กซานแดร์ โคแกน สร้างแอพพลิเคชั่นทำนายบุคลิก (Personality quiz app) ที่มีผู้ใช้งานแอพฯ ดังกล่าวราว 3 แสนคน
เดอะการ์เดียน ให้ข้อมูลว่าแอพฯ ที่โคแกนสร้างชื่อ thisisyourdigitallife เป็นแอพทำนายบุคลิกภาพโดยใช้มูลทางจิตวิทยา แอพฯ ดังกล่าวใช้การล็อกอินผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก โดยมีสิทธิที่จะได้ข้อมูลต่างๆ จากผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก (ที่สมัครใจให้ข้อมูล) เช่น สิ่งที่แชร์, ไลค์, ข้อมูลของเพื่อนๆ
ด้วยอานิสงค์จากการที่เฟซบุ๊กอนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถแชร์ข้อมูลต่างๆ ได้ตั้งแต่ปี 2007 และการที่ผู้ใช้ 3 แสนคนแชร์ข้อมูลของเพื่อนให้โคแกนเข้าถึงได้ ก็ทำให้โคแกนสามารถเข้าถึงข้อมูลของคนได้มากกว่าสิบล้านคน
ปี 2557 เฟซบุ๊กตัดสินใจจำกัดการเข้าถึงข้อมูลของแอพฯ ต่างๆ แอพฯ ชนิดของที่โคแกนประดิษฐ์ขึ้นมาก็ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของเพื่อนผู้ใช้งานได้นอกเสียจากเพื่อนผู้ใช้งานจะอนุญาตให้ข้อมูล นอกจากนั้น เหล่าผู้พัฒนาแอพฯ ต่างๆ ต้องขออนุญาตเฟซบุ๊กก่อนในกรณีที่ต้องการขอข้อมูลที่สำคัญจากตัวผู้ใช้
ปี 2558 เฟซบุ๊กทราบข่าวจากนักข่าวของเดอะการ์เดียนว่า โคแกนได้แชร์ข้อมูลจากแอพฯ ของเขากับ CA พฤติการณ์ดังกล่าวขัดกับนโยบายของเฟซบุ๊กเรื่องการแชร์ข้อมูลโดยไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูล เฟซบุ๊กจึงได้แบนแอพฯ ของโคแกน ทั้งยังได้เรียกร้องให้โคแกนและ CA ออกมายืนยันอย่างเป็นทางการว่าพวกเขาลบข้อมูลที่ได้มาอย่างไม่เหมาะสมแล้ว ซึ่งทั้งสองก็ได้ยืนยันว่าลบข้อมูลแล้ว
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เฟซบุ๊กทราบข่าวจากนิวยอร์คไทม์ เดอะการ์เดียนและแชนแนลโฟร์ ว่า CA อาจจะไม่ได้ลบข้อมูลที่พวกเขาเคยรับรองว่าลบไปแล้ว เฟซบุ๊กจึงได้แบนการเข้าถึงการบริการจากเฟซบุ๊กทุกรูปแบบของ CA
ทั้งนี้ CA ได้ยืนยันว่าพวกเขาลบข้อมูลดังกล่าวไปแล้ว และยินยอมให้มีการตรวจสอบโดยบริษัทที่ทางเฟซบุ๊กจ้างมา
มาร์ค กล่าวเพิ่มเติมว่าการรั่วไหลของข้อมูลครั้งนี้เกิดการทำผิดสัญญาระหว่างโคแกน CA และเฟซบุ๊ก แต่เฟซบุ๊กเองก็ผิดสัญญากับผู้ใช้งานในเรื่องการแชร์ข้อมูลกับเฟซบุ๊กด้วยเนื่องจากทางเฟซบุ๊กมีหน้าที่ต้องป้องกันข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กต้องแก้ไข และจะดำเนินการดังต่อไปนี้
หนึ่ง ทางเฟซบุ๊กจะตรวจสอบแอพฯ ทั้งหมดที่เคยเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากก่อนที่จะเปลี่ยนนโยบายในปี 2557 ตรวจสอบแอพฯ ที่น่าสงสัย แบนผู้พัฒนาแอพฯ บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กที่ไม่ยอมรับการตรวจสอบ รวมถึงคนที่นำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด และจะแจ้งข่าวให้เจ้าของข้อมูลทราบ มาตรการนี้จะถูกนำไปใช้กับเจ้าของข้อมูลที่รั่วไหลไปในเหตุการณ์ที่เกิดจาก CA ด้วย
สอง จำกัดการเข้าถึงข้อมูลของผู้พัฒนาแอพฯ มากกว่าเดิม เช่น ลบข้อมูลของผู้ใช้งานที่ไม่ได้เข้ามาใช้แอพฯ นานกว่า 3 เดือน ให้ผู้ใช้งานเข้าใช้แอพฯ โดยให้ข้อมูลแค่ชื่อ ภาพ และอีเมล์ ให้ผู้พัฒนาแอพฯ เซ็นสัญญาหากต้องการเข้าถึงโพสท์หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ
สาม จะมีเครื่องมือใหม่เพื่อให้ผู้ใช้งานทำความเข้าใจอย่างง่ายๆ ว่าผู้ใช้งานได้ให้แอพฯ ไหนเข้าถึงข้อมูลได้แล้วบ้าง รวมถึงทำให้ผู้ใช้งานสามารถถอนสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของแอพฯ ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันเครื่องมือนี้มีอยู่แล้วในแถบการตั้งค่าเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่เฟซบุ๊กจะนำมาอยู่ด้านบนของนิวส์ฟีดเพื่อให้เห็นได้ง่ายขึ้น
มาร์คยังระบุว่า ตัวเขามีความตั้งใจจริงในการปกป้องสังคมออนไลน์นี้ เขาไม่สามารถกลับไปแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ว่าเขาและทีมงานจะเรียนรู้จากบทเรียนนี้เพื่อทำให้แพลตฟอร์มและสังคมออนไลน์นี้ปลอดภัยขึ้นสำหรับการใช้งานของทุกคน
แปลและเรียบเรียงจาก
Mark Zuckerberg apologises for Facebook's 'mistakes' over Cambridge Analytica, The Guardian, Mar. 22, 2017
Exposed: Undercover secrets of Trump’s data firm, Channel 4, Mar. 20, 2017
Revealed: 50 million Facebook profiles harvested for Cambridge Analytica in major data breach, The Guardian, Mar. 17, 2017
แสดงความคิดเห็น