Posted: 01 Mar 2018 08:57 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ฮาร่า ชินทาโร

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 62 ที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมการเสวนาสาธารณะเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพที่จัดโดยองค์กร PerMas ณ ห้องประชุมในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก่อนอื่นผมขอชื่นชมผู้จัดเสวนาที่มีวิทยากรและผู้เข้าร่วมจากหลายฝ่าย และขอบคุณวิทยากรทุกท่านสำหรับอาหารสมองอันมีค่ามาก และเจ้าของสถานที่ที่อำนวยความสะดวกในการจัดเวทีครั้งนี้


สำหรับบทความชิ้นนี้ เนื่องจากมีนักข่าวหลายท่านเข้ามาร่วมงานและจะมีรายงานข่าวจากบรรดานักข่าวเหล่านี้ ผมขอนำเสนอความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพที่ผมได้จากการเข้าร่วมฟังเวทีครั้งนี้ สำหรับท่านใดที่สนใจเนื้อหาการเสวนา กรุณาดูคลิปจากลิงค์ต่อไปนี้ ข่าวสามมิติ และการบันทึกเสวนาทั้งหมดโดยคุณ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

1. ณ ตอนนี้ กระบวนการสันติภาพอยู่ตรงไหน

ประเด็นนี้คือประเด็นที่ต้องมีความกระจ่างให้มากขึ้น เพราะคำถามหลายคำถามเกิดจากความไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ มีผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งยื่นคำถามว่า การที่คณะพูดคุยจากทั้งสองฝ่ายเผยแพร่แผนการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยเป็นการยั่วยุให้ฝ่ายขบวนการ B.R.N. ใช้ความรุนแรงมากขึ้นหรือเปล่า สำหรับคำถามนี้ เราก็ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ เนื่องจากฝ่ายขบวนการก็ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อการใช้ความรุนแรงแม้แต่ครั้งเดียว เรื่องนี้อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุก็เป็นไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็จำเป็นต้องมองภาพรวมในบริบทที่กว้างกว่านี้ โดยเฉพาะปฏิบัติการในพื้นที่ความขัดแย้งโดยฝ่ายความมั่นคงที่ใช้วิธีการเข้มงวด เช่น การปิดล้อม การควบคุมตัวคนจำนวนมากและการกดดันต่อนักปกป้องสิทธิ รวมไปถึงการดำเนินโครงการพาคนกลับบ้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ฝ่ายขบวนการเลือกที่จะใช้ความรุนแรงมากขึ้น และเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการใช้ความรุนแรงที่สร้างความเสียหายมากกว่า นอกเหนือจากนี้ ดังเช่น พล.ต. สิทธิ ตระกูลวงศ์ อธิบายในเสวนาว่า การใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นในเมื่อมีการพูดคุยและไม่มีการพูดคุยด้วย

ในตรงนี้ เราก็ควรทราบว่า การที่มีกระบวนการสันติภาพก็ไม่นำไปสู่การยุติใช้ความรุนแรงทันที แต่จากกรณีของกระบวนการสันติภาพในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก หลังจากมีกระบวนการสันติภาพแล้ว การใช้ความรุนแรงก็มีแนวโน้มที่จะมากขึ้น เพราะการแสดงอำนาจจะเกี่ยวข้องกับอำนาจต่อรองโดยตรง การลดการใช้ความรุนแรงหรือการหยุดยิงมักจะเกิดขึ้นหลังจากกระบวนการสันติภาพเข้ามาถึงระดับการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน

มีวิทยากรท่านหนึ่งอธิบายว่า กระบวนการสันติภาพปัจจุบันนี้เป็นกระบวนการสันติภาพจอมปลอม สำหรับความเห็นนี้ ถ้าหากว่า กระบวนการสันติภาพอยู่ในระดับการเจรจาสันติภาพ ก็แน่นอนว่ามันเป็นกระบวนการจอมปลอม แต่ในความเป็นจริงนี่คือการะบวนการพูดคุยสันติภาพที่มีเป้าหมายหลักคือการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน (mutual trust building) ซึ่งยังไม่ถึงระดับการเจรจา แต่เป็นการสร้างพื้นฐานสำหรับการเจรจาสันติภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (อันไกลหรือใกล้นั้นผมไม่ทราบ)

กระบวนการสันติภาพเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาอันยาวนานพอสมควร ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการปลูกต้นไม้จากต้นกล้าและเลี้ยงต้นไม้นั้นจนถึงมันจะเติบโต ออกดอกและออกผล ต้นไม้ต้องเผชิญหน้ากับศัตรูพืช กระบวนการสันติภาพก็ต้องเจอกับพวกตัวป่วน ดังนั้น คำวิจารณ์ที่ว่า กระบวนการสันติภาพปาตานีไม่มีความหมายหรือไม่ได้ผลอะไรนั้นคือคำวิจารณ์ที่ไม่ค่อยตรงเป้าหมาย และจริง ๆ แล้วมีผลดีที่เกิดจากการที่มีกระบวนการสันติภาพด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลดีจากกระบวนการสันติภาพไม่ได้เกิดขึ้นบนโต๊ะพูดคุย แต่การที่มีกระบวนการพูดคุยก็ส่งผลต่อการเปิดพื้นที่สาธารณะ อย่างเช่นเสวนาครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดพื้นที่จากการพูดคุย มีบางประเด็นที่น่าสังเกต เช่น หัวข้อเสวนามีคำว่า “ปาตานี” ซึ่งฝ่ายทางการยังไม่ยอมรับ แต่ก็ยังมีวิทยากรจากคณะพูดคุยก็คือ เลขาธิการคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายรัฐบาลไทย (Party A) พล.ต.สิทธิ นั่งเอง และในเวทีครั้งนี้ และนอกจากคำว่า ปาตานี คำศัพท์ต่าง ๆ ที่มีความอ่อนไหวค่อนข้างสูงก็ปรากฏในวงเสวนา เช่น รัฐไทย (ซึ่งเมื่อผมใช้คำนี้ในเวทีอื่น ผมก็เคยได้รับการคัดค้านจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ต่ำกว่าสองครั้ง) ภาวะสงคราม สิทธิกำหนดชะตากรรมด้วยตนเอง (right to self-determination) และเอกราช ผมสงสัยว่า ถ้ามีการเสวนาลักษณะเช่นนี้ในพื้นที่อื่น น่าจะถูกฝ่ายความมั่นคงจับตา หรือไม่ก็อาจจะถูกสั่งปิดก็ได้ แต่ในพื้นที่แห่งนี้ ยังสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นได้ โดยเฉพาะหลังจากมีการเปิดพื้นที่สาธารณะมากขึ้นตามกระบวนการสันติภาพ ถึงแม้ว่า ระดับการเปิดพื้นที่ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจสำหรับกลุ่มบางกลุ่ม

แม้ว่าไม่มีความคืบหน้าที่สมกับความคาดหวังของสังคมทั่วไปในกระบวนการพูดคุยก็ตาม แต่ผมยังมองว่า กรอบการพูดคุยมีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของเจตจำนงจากทั้งสองฝ่ายว่า ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้หรือปาตานีต้องมาจากสันติวิธี ไม่ใช่มาจากยุทธวิธี แต่ในเมื่อโต๊ะพูดคุยที่ได้รับคำวิจารณ์หลากหลายประเภทถูกล้มแล้ว ก็หมายความว่า เจตจำนงดังกล่าวก็ถูกทอดทิ้ง และสถานการณ์ในพื้นที่ก็อาจจะแย่ลงกว่านี้อีก

อย่างไรก็ตาม กลไกกระบวนการสันติภาพยังมีจุดอ่อนและข้อเสียหลายอย่าง และเพื่อนำไปสู่กระบวนการสันติภาพที่มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น จำเป็นต้องพยายามเพื่อแก้ไขจุดอ่อนหลายจุดเหล่านี้ สิ่งที่สำคัญคือ กระบวนการสันติภาพไม่มีรูปแบบอันตายตัว และไม่มี “คู่มือ (guidebook)” หรือ “คำแนะนำ (guidance)” ที่เป็นทางการจากองค์กรนานาชาติด้วย ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ สหภาพยุโรป อาเซียน หรือโอไอซีก็ตาม ดังนั้น รูปแบบของกลไกกระบวนการสันติภาพก็ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของคู่กรณีและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนในพื้นที่ด้วย การรักษากระบวนการสันติภาพไม่ได้หมายความว่า เราจำเป็นต้องยึดถือโครงสร้างกระบวนการสันติภาพปัจจุบันซึ่งมีกลุ่มมาราปาตานี (MARA Patani) เป็นตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างและประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก กรอบนี้ก็สามารถเปลี่ยนได้ถ้าตามขั้นตอนที่จำเป็น ถึงแม้ว่ามีการลงนามอย่างเป็นทางการในฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพก็ตาม ความไม่พอใจต่อกลไกและกรอบกระบวนการพูดคุยสันติภาพปัจจุบันไม่ควรนำไปสู่การปฏิเสธกระบวนการสันติภาพโดยล้มโต๊ะพูดคุย

2. Party B

ตั้งแต่กระบวนการสันติภาพรอบที่แล้วระหว่างคณะพูดคุยรัฐบาลที่นำกโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร กับองค์กร BRN ที่นำโดย อุสตาซ ฮัสซัน ตอยิบ ไม่เคยขาดคำถามเกี่ยวกับความเป็นตัวจริงของฝ่ายขบวนการจนถึงบัดนี้ และมาราปาตานีก็เป็นเป้าหมายของข้อสงสัยลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะมีคำถามมากมายเกี่ยวกับบรรดา “สมาชิก” ของ BRN ที่อยู่ในมาราปาตานี บางคนบอกว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่สมาชิกของ BRN ซึ่งความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะถ้าพวกเขากระทำเช่นนี้ พวกเขาเองก็น่าจะไม่ปลอดภัย บางคนบอกว่า พวกเขาเป็นอดีตสมาชิก เพราะในฐานะเป็นองค์กรลับ BRN ไม่ยอมรับความเป็นสมาชิกของคนที่แสดงตัวต่อสาธารณะและคนเหล่านี้ก็หลุดจากความเป็นสมาชิกของ BRN ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งใน “ทฤษฎีคิดไปเอง”

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ณ ตอนนี้ มีส่วนหนึ่งของ BRN ที่เข้าร่วมมาราปาตานี (ซึ่งน่าจะเป็นส่วนน้อย) และอีกส่วนหนึ่ง (น่าจะเป็นส่วนใหญ่และฝ่ายที่มีความรับผิดชอบต่อการใช้ความรุนแรงในพื้นที่) ที่ไม่เข้าร่วม และฝ่ายนี้ก็ส่งสารต่าง ๆ ผ่านการสัมภาษณ์ให้แก่นักข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ การปล่อยคลิป Youtube โดยมีนาย Abdulkarim Khalid เป็นโฆษก หรือการออกแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษร (ซึ่งบางส่วนก็เป็นของปลอมเช่นกัน) ถึงแม้ว่าในสารเหล่านี้ BRN ที่ไม่เข้าร่วมมาราปาตานีให้คำวิจารณ์อย่างแรงต่อกระบวนการสันติภาพ แต่ไม่เคยระบุชื่อของมาราปาตานี และไม่เคยปฏิเสธความเป็นสมาชิกของคน BRN ที่เข้าร่วมมาราปาตานีด้วย

ตามข้อมูลต่างๆ ดูเหมือนว่า BRN ที่ไม่เข้าร่วมมาราปาตานีก็เห็นด้วยกับสันติวิธีโดยหลักการ แต่ไม่พอใจอย่างยิ่งกับกลไกและกรอบของกระบวนการพูดคุยสันติภาพในปัจจุบัน เช่น หน้าที่และท่าที่ของผู้อำนวยความสะดวก การที่ฝ่ายรัฐบาลไทยไม่ยอมรับข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ไม่มีผู้สังเกตการณ์จากสังคมนานาชาติ ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ ผมคิดว่า สมาชิก BRN ที่อยู่ในมาราปาตานีเป็นสมาชิก (ไม่ใช่อดีตสมาชิก) ขององค์กรจริง แต่เข้าร่วมมาราปาตานีในฐานะเป็นสมาชิกเท่านั้น โดยไม่ได้เป็นตัวแทนขององค์กรและไม่ได้นำนโยบายจากองค์กรด้วย ซึ่งเป็นความแตกต่างจากสมาชิกขององค์กรอื่นๆ ที่ได้เข้าร่วมมาราปาตานี อย่างไรก็ตาม สมาชิกของ BRN ในมาราปาตานีเหล่านี้ก็ยังสามารถสื่อสารกับกลุ่ม BRN ที่ (ยัง) ไม่เข้าร่วมมาราปาตานี และ BRN ก็ยังไม่เคยปฏิเสธความเป็นสมาชิกของคนเหล่านี้

จริง ๆ แล้วแนวคิดที่จะจัดตั้งมาราปาตานีก็มาจากฝ่าย BRN เองที่นำโดยอดีตเลขาธิการในขณะนั้น (ที่ถูกยิงตายก่อนการเปิดตัวของมาราปาตานี) และหลังจากมีข้อตกลงภายใน มีการชี้แจงต่อองค์กรอื่นๆ และองค์กรอื่นๆ ก็แสดงความเห็นชอบ และในสุดท้ายก็ได้มาราปาตานีที่มีอยู่ในรูปแบบปัจจุบันนี้ ถ้าหากว่า สมาชิก BRN ที่อยู่ในมาราปาตานีเป็นตัวปลอมทั้งนั้น องค์กรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น BIPP, PULO (แรกๆ มีสามปีกที่เข้าร่วม แต่ภายหลังกลุ่ม PULO P4 ที่นำโดยนาย Samsudin Khan ถอนตัว) หรือ GMIP ก็ไม่น่าจะให้ความรวมมือตั้งแต่แรก

ดังนั้น สมาชิก BRN ที่เข้าร่วมมาราปาตานีก็มีความเป็นตัวจริงในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ไม่แน่ชัดก็คือ สมาชิกเหล่านี้สามารถควบคุมกองกำลังในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน โจทย์ใหญ่สำหรับกระบวนการสันติภาพปาตานีคือ ทำอย่างไรให้ฝ่ายที่มีความรับผิดชอบต่อการใช้ความรุนแรงในพื้นที่มีส่วนร่วม

3. ความเป็นประชาธิปไตย

หนึ่งในจุดอ่อนสำหรับกระบวนการสันติภาพปัจจุบันก็คือ ประชาชนในพื้นที่แทบจะไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการ ณ ตอนนี้ ทั้งสองฝ่ายอ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีกลไกใดๆ ที่นำเสียงของประชาชนในพื้นที่ขึ้นมาบนโต๊ะพูดคุย ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในประเด็นหลักของเสวนาครั้งนี้ และวิทยากรทุกท่านก็นำเสนอความเห็นที่น่าสนใจ วิทยากรท่านหนึ่งกลัวว่า ในพื้นที่แห่งนี้มีคนมลายูจำนวนหนึ่งที่ต้องการเอกราช แต่เลือกที่จะไม่ใช้ความรุนแรง ข้อเสนอจากวิทยากรอีกท่านหนึ่งก็คือ การที่พ่นสีและเขียนว่า “Patani Merdeka (ปาตานีเอกราช)” นั่นคือความเห็นของคนพ่นสี แต่อ้างว่าเป็นเสียงของประชาชนทั้งหมดไม่ได้ ถ้าหากว่า นี่คือความต้องการของคนในพื้นที่จริง ก็ต้องนำเสนอมาเป็นความเห็นของประชาชน ไม่ใช่ความเห็นของผู้พ่นสีคนเดียว (แต่ท่านก็กล่าวว่าวิธีการที่จะทำแบบนี้ต้องเป็นอย่างไรคือโจทย์ที่ต้องเป็นการบ้านต่อไป)

ถ้าฝ่ายรัฐบาลต้องการจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานี ก็ต้องจริงจังในการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในโครงสร้างอำนาจและการปกครอง ถึงแม้ว่าประเทศไทยยังไม่เคยมีประชาธิปไตยเต็มใบ แต่กระบวนการประชาธิปไตย (ซึ่งไม่ใช่แค่การเลือกตั้งอย่างเดียว) เป็นวิธีการที่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดีกว่าการใช้อำนาจหรือแนวทางอำนาจนิยม ซึ่งสามารถกดดันผู้ที่มีความเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาลในระยะเวลาหนึ่งอย่างเดียว

การที่สามารถจัดเวทีเสวนาแบบนี้มีนัยยะที่ดี แต่การพูดคุยในพื้นที่ก็ยังถูกจำกัดในเรื่องสถานที่ (ส่วนมากจัดในเมือง) และผู้เข้าร่วม (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวและนักศึกษา) ณ ตอนนี้ ฝ่ายขบวนการยังใช้ยุทธวิธีในการต่อสู้ แต่ถ้าหากว่า ผู้ที่มีความเห็นที่แตกต่างไปจากรัฐมีโอกาสนำเสนอความเห็นของตนในเวทีสาธารณะโดยไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย อาจจะสามารถเปลี่ยนแนวคิดของคนเหล่านี้ได้ด้วย ดังนั้น การส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยเป็นหนึ่งในตัวกำหนดความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพ และความเป็นประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีในทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาลไทยและฝ่ายขบวนการ

4. การมีส่วนร่วมของสตรี

ถึงแม้ว่าผมชื่นชมเวทีครั้งนี้ แต่มีเรื่องหนึ่งที่น่าผิดหวังตั้งแต่ผมเห็นโปสเตอร์โฆษณาของงานในโซเซียลมีเดีย คือ ไม่มีวิทยากรผู้หญิง ถึงแม้ว่าในพื้นที่แห่งนี้มีเวทีลักษณะนี้มีมากมาย แต่การที่เวทีเช่นนี้มีแต่วิทยากรผู้ชายกลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในเวทีอื่น นักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวว่า ความถี่ของการจัดเวทีไม่สมดุลกับคุณภาพของเวที และหนึ่งในสาเหตุก็คงจะเป็นการที่เวทีเหล่านี้ครอบงำโดยเพศชาย ถ้ามีวิทยากรผู้หญิงก็อาจมีแค่คนเดียว และเวทีที่มีวิทยากรทั้งหมดหรือส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงนั้นคือเวทีที่จัดโดยองค์กรผู้หญิงเท่านั้น เคยมีเวทีที่มีหัวข้อเกี่ยวกับผู้หญิงแต่วิทยากรเป็นผู้ชายหมด

แม้ว่าสำหรับเวทีที่มีวิทยากรเป็นผู้หญิง เราก็ยังอาศัยวิธีคิดที่ไม่สมควร เช่น ถ้าอยากจัดเวทีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ผู้จัดมักจะหาวิทยากรที่เป็นทนายความ นักกฎหมาย นักปกป้องสิทธิ (ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผู้ชาย) และผู้หญิงสักคน แต่ถ้าเราต้องการจะส่งเสริมความมีส่วนร่วมชองผู้หญิง เราก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้ และต้องคิดว่า เราจะหาวิทยากรที่เป็นทนายความ (ที่อาจจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง) นักกฎหมาย (ที่อาจจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง) นักปกป้องสิทธิ (ที่อาจจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง) ฯลฯ แทนที่จะให้โควตาพิเศษกับผู้หญิง

ในคณะพูดคุยก็เช่นเดียวกัน ณ ตอนนี้ คณะพูดคุยจากทั้งสองฝ่ายก็ยังมีแต่ผู้ชาย แต่ในเรื่องนี้ ฝ่ายรัฐบาลไทยมีความก้าวหน้ามากกว่ามาราปาตานีเพราะในทีมเทคนิคของฝ่ายรัฐบาลไทย มีข้าราชการที่เป็นผู้หญิงด้วย ส่วนฝ่ายมาราปาตานี เท่าที่ผมทราบ ยังไม่มีผู้หญิงที่มีบทบาทอย่างเป็นทางการในกลไก แม้ว่าบรรดาศรีภรรยาของสมาชิกมาราปาตานีอาจจะมีอำนาจเหนือกว่าสามีของพวกเธอในครอบครัวก็ตาม ดังนั้น เพื่อส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยของกระบวนการสันติภาพ แต่ละฝ่ายก็จำเป็นต้องพยายามจะให้พื้นที่กับครึ่งหนึ่งของประชากรโลก คือ ผู้หญิง

สรุป

กระบวนการสันติภาพปาตานียังมีจุดอ่อนต่าง ๆ และคู่กรณีทั้งสองฝ่ายก็ต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้ แต่สังคมทั่วไป โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ก็ต้องเข้าใจถึงลักษณะของกระบวนการสันติภาพ ผมมองว่า กระบวนการสันติภาพในปัจจุบัน ถึงแม้ว่ายังไม่สามารถบรรลุสำเร็จผลใดๆ แต่ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะเป็นสัญลักษณ์แห่งเจตจำนงจากทั้งสองฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี และสิ่งที่รับรองการเปิดพื้นที่สาธารณะในพื้นที่ด้วย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.