Posted: 18 Mar 2018 02:02 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สุรพศ ทวีศักดิ์

รายงานของประชาไทเรื่อง “เปิดวิสัยทัศน์ธนาธรและเพื่อนต่อการแก้ปัญหา 3 จว.ชายแดนใต้” โดยทวีพร คุ้มเมธา เกริ่นนำว่า “เปิดแนวคิดแยกรัฐจากศาสนาของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และวิสัยทัศน์เพื่อนในพรรคอนาคตใหม่ที่กล้าพูดว่า ข้อเสนอของหะยีสุหรงนั้น ‘น่าจะเป็นไปได้’ ในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้”

อะไรคือแนวคิดแยกรัฐจากศาสนาของธนาธร รายงายดังกว่าโควทความเห็นของธนาธรว่า

“รัฐไทยไม่ควรจะอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ เพราะมันทำให้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้แก้กันไม่จบ ผู้คนที่อยู่ใน 3 จังหวัด แง่หนึ่งก็เหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง เพราะไม่มีที่ยืนเท่าเทียมกับคนในศาสนาพุทธ ผมคิดว่ารัฐควรถอยตัวเองออกมาจากเรื่องศาสนา ไม่ควรอุปถัมภ์ศาสนาอะไรเลย”

ขณะเดียวกันรายงานดังกล่าวก็อ้างการให้สัมภาษณ์ของคุณเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ แกนนำพรรคสำคัญคนหนึ่งว่า “ข้อเสนอของหะยีสุหรงในเรื่องการกระจายอำนาจก็น่าจะเป็นไปได้แทบทุกข้อเลย และก็น่าจะนำหลักการกระจายอำนาจเดียวกันนี้ไปใช้ในจังหวัดอื่นๆ ด้วย ...”

ข้อเสนอของหะยีสุหรงที่รายงานพูดถึง คือ 1. สิทธิในการปกครองตนเองของชาวปัตตานี ยะลา และนราธิวาสด้วยผู้นำที่เป็นคนพื้นที่และมาจากการเลือกตั้งของคนในพื้นที่ 2. ข้าราชการในพื้นที่อย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ต้องเป็นมุสลิม 3. ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการ 4. ให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา 5. ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลศาสนาแยกออกไปจากศาลจังหวัด 6. ภาษีที่เก็บได้ในพื้นที่ให้ใช้ในพื้นที่เท่านั้น 7.ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติการศาสนาอิสลาม

ก่อนอื่นผมต้องบอกก่อนว่า หากการกระทำใดๆ ของรัฐไทยด้วยเหตุผลทางศาสนาหรือทางอื่นใดที่เป็นเหตุให้ชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้เป็นประชากรชั้นสอง หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนหะยีสุหรงด้วยการตั้งข้อหากบฏนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ควรยอมรับ

แต่อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริงแล้วรัฐไทยปัจจุบันที่ยังไม่ได้เป็น “รัฐโลกวิสัย” (secular state) นั้น ไม่ได้อุปถัมภ์เฉพาะพุทธศาสนาเท่านั้น แต่อุปถัมภ์ทุกศาสนาที่รัฐรับรอง อำนาจศาสนาในโครงสร้างของรัฐก็มีทั้งพุทธและอิสลาม เช่นพุทธมีตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และตำแหน่งพระราชาคณะอื่นๆ มุสลิมมีตำแหน่งจุฬาราชมนตรี และตำแหน่งคณะกรรมการอื่นๆ รัฐออกกฎหมายเฉพาะบางอย่างสำหรับคณะสงฆ์ และสำหรับชาวมุสลิม และให้งบประมาณสนับสนุนเช่นกัน

ที่อธิบายนี้เป็นเพียงพูดถึง “ข้อเท็จจริง” ไม่ใช่สิ่งที่ผมเห็นด้วย เพราะผมเสนอเรื่องแยกศาสนากับรัฐ

ประเด็นคือ ข้อเสนอของคุณธนาธรที่ว่า “รัฐควรถอยตัวเองออกมาจากเรื่องศาสนา ไม่ควรอุปถัมภ์ศาสนาอะไรเลย” สอดคล้องกับหลักการแยกศาสนากับรัฐ (separation of church and state) ของรัฐโลกวิสัย คือแยกเรื่องของรัฐเป็นเรื่องสาธารณะ เรื่องศาสนา,ความเชื่อ,ความไม่เชื่อเป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือเรื่องส่วนตัว เมื่อแยกเช่นนี้รัฐจึงไม่แสดงความเชื่อทางศาสนา เช่นไม่ใช้หลักความเชื่อของศาสนาใดๆ มาเป็นหลักการหรืออุดมการณ์ในการปกครอง การบัญญัติกฎหมาย ไม่อ้างความเชื่อ หลักคำสอนของศาสนาใดๆ ในทางการเมืองการปกครอง ไม่สอนศาสนาหรือโปรโมทความเชื่อศาสนาในโรงเรียน ไม่ใช้สัญลักษณ์ทางศาสนาในโรงเรียน สถานที่ราชการ ไม่เลือกรับหรือไม่รับคนเข้ารับราชการเพราะเหตุผลทางศาสนา กระทั่งไม่ระบุศาสนาในการกรอกเอกสารทางราชการ เป็นต้น

การแยกรัฐกับศาสนาดังกล่าว อยู่บนพื้นฐานของแนวคิดโลกวิสัย (secularism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่นำหลักการของเสรีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมาปฏิบัติกับ (treat) ความหลากหลายทางศาสนา, ความเชื่อ และวัฒนธรรม บนพื้นฐานของการเคารพความเสมอภาค (equality) และความยุติธรรม (fairness) ต่อประชาชนทุกศาสนา ทุกความเชื่อ และคนที่ไม่เชื่อหรือไม่นับถือศาสนา โดยถือว่าเรื่องศาสนา เรื่องความเชื่อ ไม่เชื่อ เป็นเรื่องเสรีภาพทางความคิดเห็น (freedom of conscience) ของปัจเจกบุคคล ขณะเดียวแนวคิดโลกวิสัยก็ให้หลักประกันเสรีภาพทางศาสนา ควบคู่กับเสรีภาพในการพูดหรือเสรีภาพในการแสดงออกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐโลกวิสัยจึงต้องเป็นกลางทางศาสนา, ให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา, ไม่อุปถัมภ์, ไม่ให้สิทธิพิเศษแก่ศาสนาใดๆ และไม่ต่อต้านศาสนาหรือความเชื่อ ความไม่เชื่อใดๆ

ปัญหาคือ ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่จะเอาอย่างไร ถ้ายืนยันการแยกรัฐกับศาสนาหรือ secular state ก็ต้องยึดตามความเห็นคุณธนาธร คือรัฐต้องไม่อุปถัมภ์ศาสนาใดๆ แต่ถ้าเอาตามข้อเสนอของหะยีสุหรงเรื่องข้าราชการ 3 จังหวัดภาคใต้ต้องเป็นมุสลิมอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ มีกฎหมายทางศาสนา และศาลศาสนา นี่ย่อมเป็นการกระจายอำนาจที่ขัดกับหลักการของ secular state ที่ให้สิทธิพิเศษด้วยเหตุผลทางศาสนาแก่ใครหรือคนกลุ่มใดไม่ได้

ปัญหาที่ตามมาของการกระจายอำนาจบนฐานของการให้สิทธิพิเศษแก่คนบางกลุ่มด้วยเหตุผลทางศาสนา ก็คือปัญหาแบบเดียวกันที่คุณบอกว่าคนพุทธไทยส่วนใหญ่มีสิทธิพิเศษมากกว่าชาวมุสลิม เพราะถ้าคุณบอกว่าชาวมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้คือประชากรชั้นสองเมื่อเทียบระดับประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ คนในพื้นที่ 3 จังหวัดที่เป็นพุทธ, คริสต์ และคนไม่นับถือศาสนาเขาก็อ้างได้เช่นกันว่าเขาคือประชากรชั้นสองในพื้นที่ตรงนั้น ดังนั้นการกระจายอำนาจบนฐานของการให้สิทธิพิเศษทางศาสนามันจึงทั้งขัดหลักการพื้นฐานของ secular state และทั้งไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องประชากรชั้นสองได้เลย

ยกตัวอย่างเช่น หากมีกฎหมายศาสนาและศาลศาสนา คนไม่นับถือศาสนาที่เปิดห้องเรียนเพศวิถีในปัตตานีจะกลายเป็น “ประชากรชั้นสอง” ที่ต้องขึ้นศาลศาสนาไหม มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพของพวกเขาอย่างไร เพราะตามหลักการของ secular state คนนับถือศาสนาและคนไม่นับถือศาสนา หรือมีความเชื่อในปรัชญาอื่นๆ ต้องมีสิทธิในเสรีภาพที่จะแสดงออกซึ่ง “อัตลักษณ์” (identity) ของตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

ยิ่งกว่านั้น การกระจายอำนาจด้วยเหตุผลเรื่องให้สิทธิพิเศษทางศาสนา ย่อมมีคำถามสำคัญว่า อำนาจที่ว่ากระจายออกไปนั้นจะตกอยู่ในมือของคนกลุ่มใด ในกลุ่มทางศาสนา หรือกลุ่มผู้นำศาสนาเป็นหลักหรือเปล่า แต่โดยหลักการแล้วการกระจายอำนาจที่แท้จริง คนทุกศาสนา คนไม่นับถือศาสนาต้องมีสิทธิแบ่งปันอำนาจภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรมและไม่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุผลทางศาสนาไม่ใช่หรือ

ทั้งหมดนี้ ผมเพียงต้องการแลกเปลี่ยนกับความเห็นของผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งผมสนับสนุนในเรื่องอุดมการณ์ “สร้างประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจ” รวมทั้งสนับสนุนแนวคิดเรื่องแยกศาสนากับรัฐด้วย โดยผมตระหนักดีว่าความเห็นคุณธนาธรและคุณเปรมปพัทธเป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคล ยังไม่ใช่นโยบายพรรค แต่คิดว่าเป็นความเห็นสำคัญที่เราควรร่วมกันถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.