Posted: 06 Jul 2018 11:01 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
จากกรณีที่ชาวเน็ตและผู้ให้บริการข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตอย่างวิกิพีเดียประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ออนไลน์ฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางสภายุโรปลงมติคัดค้านมาตรา 13 ของกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว โดยผู้วิพากษ์วิจารณ์บอกว่ามันเป็นมาตราที่เป็นอันตรายต่ออินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและเสรี
สื่อ Wired รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 ระบุว่าสภายุโรปลงมติคัดค้านมาตรา 13 ของร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ออนไลน์ฉบับใหม่ หลังจากมีการประท้วงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเป็นภัยต่ออินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและเสรี สภายุโรปลงมติคัดค้านมาตราดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 318 ต่อ 278 โหวต โดยมี 31 เสียงที่งดออกเสียง
การโหวตคัดค้านมาตราดังกล่าวทำให้ร่าง กม. ถูกส่งกลับไปในกระบวนการร่างใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ของอียูจะมีการนำมาถกเถียงอภิปรายอีกครั้งในเดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้ทำให้กลุ่มผู้แทนฯ มีเวลาในการหารือและปรับปรุงร่างกฎหมายนี้ต่อไป
หนึ่งใน ส.ส. ยุโรปที่ต่อต้านกฎหมายใหม่นี้คือ จูเลีย เรดา สมาชิกสภายุโรปจากพรรคโจรสลัด (Pirate Party) เธอระบุถึงเรื่องการลงมติคัดค้านมาตรา 13 ผ่านทวิตเตอร์ว่าถือเป็น "ความสำเร็จครั้งใหญ่ การประท้วงของพวกคุณได้ผล!"
ร่างกฎหมายมาตราดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ผลักภาระให้กับเว็บไซต์ต่างๆ มากเกินไปในการตรวจเช็คเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ที่ต่อต้านในเรื่องนี้มีทั้ง พอล แมคคาร์ทนีย์ อดีตสมาชิกวงดนตรีบีทเทิลและผู้คิดค้นระบบเวิร์ลไวด์เว็บ ทิม เบอร์เนอร์ลี
สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงอังกฤษ (BPI) แถลงถึงเรื่องการโหวตคัดค้านในครั้งนี้ว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายในการ "อธิบายว่ามาตรการที่เสนอมานี้จะให้ผลประโยชน์ไม่ใช่เพียงต่อความคิดสร้างสรรค์ของชาวยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและภาคส่วนเทคโนโลยีด้วย" แต่มูลนิธิโมซิลลาเจ้าของเบราเซอร์ Firefox ชื่นชมการโหวตคัดต้านในครั้งนี้ว่า กม. ลิขสิทธิ์อียูจะบีบให้บริษัทอินเทอร์เน็ตต้องกรองเว็บตัวเองและทำให้เกิดการเก็บภาษีการวางลิงค์ออนไลน์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
สื่อ Wired ระบุว่าการลงมติในครั้งนี้แต่ละกลุ่มก็มีการพยายามวื่งเต้นในแบบของตัวเอง ขณะที่ฝ่ายเจ้าของลิขสิทธิ์อ้างว่าควรจะมีกฎหมายที่บังคับใช้กับระบบตลาดในอียู แต่สำหรัยคนจำนวนมากมองว่าร่างกม.ฉบับนี้ยังคงคลุมเครือมากเกินไปและมีการบังคับใช้ตีขลุมกว้างเกินไปโดยที่ไม่มีความเข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตทำงานอย่างไร
ในจดหมายเปิดผนึกต่อต้านกม.นี้จากผู้นำไอที 70 ราย รวมถึงเบอร์เนอร์-ลี เตือนว่าร่างกม.นี้จะเป็น "ภัยร้ายแรง" ต่ออนาคตของอินเทอร์เน็ต โดยที่นอกจากกม.มาตรา 13 ที่ระบุให้บังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์จริงจังมากขึ้นแล้ว อีกมาตราหนึ่งคือมาตรา 11 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเรื่องการบังคับให้ต้องจ่ายเงินถ้าหากมีการแชร์ลิงค์ด้วย ทำให้ถึงแม้ว่ามาตรใหม่นี้จะอ้างเจตนาว่าต้องการอัพเดทกฎหมายลิขสิทธิ์ให้เข้ากับเทคโนโลยีปัจจุบัน แต่บางส่วนของกม.นี้ก็ใช้การจริงไม่ได้ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการใช้ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือการแสดงออกสร้างสรรค์ต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ตด้วย
เรียบเรียงจาก
The EU's dodgy Article 13 copyright directive has been rejected, Wired, 05-07-2018
https://www.wired.co.uk/article/article-13-eu-copyright-directive-memes
แสดงความคิดเห็น