Posted: 06 Jul 2018 10:53 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
ภาพการเรียกร้องของกลุ่มพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี เมื่อเดือน พ.ค. 2561 (ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์)
สืบเนื่องจากกรณีที่กลุ่มพยาบาลของโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ได้ลงนามร้องทุกข์ขอให้โรงพยาบาลพิจารณาการทำงานของหัวหน้าพยาบาลรายหนึ่ง ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2560 ต่อมาพยาบาลระดับหัวหน้าตึก รองหัวหน้า พยาบาลอาวุโส ลงนามร้องทุกข์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2561 และเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2561 กลุ่มพยาบาลวิชาชีพของโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ประมาณ 50 คน ได้ออกมาประท้วงหน้าโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี
โดยในวันที่ 9 พ.ค. 2561 นั้นกลุ่มพยาบาลที่ออกมาเรียกร้องได้ระบุว่าในระหว่างการถูกร้องทุกข์ก็ยังคงมีการบริหารงานโดยขาดหลักธรรมาภิบาล ทั้งยังมีพฤติกรรมก้าวร้าว เสียงดัง ลุแก่อำนาจ ข่มขู่ คุกคามผู้ร้องทุกข์ เกิดความขัดแย้งเป็นวงกว้างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการ 3 คณะแต่กลุ่มพยาบาลไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงใจและล่าช้า โดยกลุ่มผู้เรียกร้องยืนยันว่าไม่ต้องการหัวหน้าพยาบาลรายนี้อยากให้ย้ายออกไปนอกพื้นที่ให้การสอบสวนดำเนินไปอย่างโปร่งใส (อ่านรายละเอียดการเรียกร้องวันที่ 9 พ.ค. 2561: พยาบาลอุดรฯครึ่งร้อย ฮือไล่หัวหน้า ชี้ ลุแก่อำนาจ ออกคำสั่งนอก กม. มาสายโทษไล่ออก, มติชนออนไลน์, 9/5/2561)
ล่าสุดในช่วงต้นเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมากลุ่มพยาบาลที่ออกมาเรียกร้องได้ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันปัญหาที่กลุ่มพยาบาลได้ออกมาร้องเรียนนั้นยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา แม้จะได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง แต่ก็จะมีการสอบเรื่อง 'การให้ข่าวสารของทางราชการ' ซึ่งยกมาตาม 'ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้ข่าวสารและบริการของทางราชการ พ.ศ. 2529' กับกลุ่มพยาบาลที่ออกมาร้องเรียนด้วย โดยมีการระบุว่าการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มพยาบาลเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมานั้นได้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับทางราชการ โดยการบันทึกวีดีทัศน์หรือบันทึกเสียงที่เป็นข่าวหรือข้อเท็จจริงในทางราชการหรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับทางราชการของโรงพยาบาลอุดรธานี ซึ่งมิได้รับอนุญาตในการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวออกสู่สาธารณะจากผู้มีอำนาจในส่วนราชการนั้นๆ อาจจะทำให้เกิดความเสียหายและเกิดความเข้าใจผิดหรือทัศนคติที่ไม่ดีต่อทางราชการได้ เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2561
ต่อมากลุ่มพยาบาลที่ออกมาเรียกร้องได้ทำหนังสือเรื่อง ขอความคุ้มครอง ถึงผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2561 โดยระบุว่าสืบเนื่องจากการร้องทุกข์ หัวหน้าพยาบาล และคณะกรรมการบริหารฝ่ายการพยาบาล และ ผู้อำนวยการโรง พยาบาลอุดรธานี ของกลุ่มข้าราชการพยาบาลผู้ร้องทุกข์ เรื่องการบริหารงานโดยขาดหลักธรรมาภิบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ตามประเด็นการร้องทุกข์ กลุ่มผู้ร้องทุกข์ใคร่ขอความคุ้มครอง ตาม ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน เล่มที่ 126 ตอนพิเศษ 162 ง. ราชกิจจานุเบกษา หน้า 83 ลงวันที่ 5 พ.ย. 2552 ข้อ 16 (2) ขอให้คุ้มครองข้าราชการกลุ่มผู้ร้องทุกข์ มิให้ถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม กับกลุ่มข้าราชการพยาบาลผู้ร้องทุกข์ โดยไม่ให้ผู้บริหารและคณะกรรมการบริหารและผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี ดังกล่าวมีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการออกคำสั่ง แต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนเงินเดือน แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หรือคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยหรือดำเนินการใดๆ ที่เป็นผลร้ายหรือกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของกลุ่มข้าราชการพยาบาลที่ร้องทุกข์
[right-side]
แสดงความคิดเห็น