Posted: 08 Jul 2018 09:11 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

ใครคิดว่าในปัจจุบันมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาแบบเดิมๆ เช่น โรงเรียน วิทยาลัย (College) ยังจำเป็นต่อชีวิตหรือสำคัญการศึกษาอยู่บ้าง?

น่าจะมีคนที่ตอบว่า แท้จริงแล้วสถาบันการศึกษาในระบบแบบนี้อาจไร้ความสำคัญหรือได้สูญเสียความสำคัญลงไปในราวๆ สองทศวรรษที่ผ่านมาแล้ว จากปรากฏการณ์ปฏิวัติเทคโนโลยีการสื่อสารที่เกิดขึ้นที่ซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเผอิญผมมีโอกาสใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของที่นั่นในช่วงเวลาดังกล่าว

แม้เราไม่อาจกล่าวถึงบุคคลเยี่ยงสตีฟ จ้อบบ์ (แอพเปิ้ล) ว่าเป็นบุคคลผู้มีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลง และเป็นผู้รังสรรค์นวัตกรรมทั้งหมดก็ตาม แต่คุณูปการของจ้อบบ์ ก็มีมหาศาลต่อความเปลี่ยนแปลงเชิงการปฏิวัติวัฒนธรรมการสื่อสารบนโลกใบนี้ หากเป็นเพราะเขามิเพียงย่อโลกทั้งหมดลงในสมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์มือถือแค่เครื่องเดียว นี่คือมหัศจรรย์แห่งเทคโนโลยีจริงๆ เพราะนับแต่นั้นสมาร์ทโฟนที่ว่า ได้กลายเป็นปัจจัยที่ห้าหรือปัจจัยที่หกที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน (ปัจจัยที่ห้านั้นว่ากันว่าคือรถยนต์หรือยานพาหนะใดๆ ก็ตาม)

สาเหตุดังกล่าวทำให้มองกันว่าโครงสร้างใดๆ ทุกด้านของสังคมต้องเปลี่ยนไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางการศึกษาหรือทางวัฒนธรรมที่จะต้องเปลี่ยนตามลักษณะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร

โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษา หลังจากเว็บไซท์ยาฮูและกูเกิลได้ปลดล๊อกการรับรู้ ค้นหาข้อมูลที่มีอยู่อย่างท่วมท้นทั่วโลก เพื่อการเอนกประสงค์ ในนามของ search engine นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิวัติในวงการการศึกษาโลกที่มีจุดเริ่มต้นมาจากสหรัฐอเมริกาและทำให้ทิศทางหรือแนวทางการศึกษาของโลกต้องเปลี่ยนไปอย่างแทบสิ้นเชิง เนื่องจากเกิดการย้ายห้องเรียนไปไว้นอกโรงเรียน สามารถวางห้องเรียนเหล่านั้นไว้ได้ทุกๆ ที่

ในเอเชีย เราจะเห็นนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จทางด้านการตลาดไอที อย่าง แจ๊ค หม่า เดินสายโปรโมทไอเดีย “โรงเรียนอยู่ทุกๆ ที่ ทุกๆ แห่ง” (world academy) หลายต่อหลายครั้ง ที่แสดงให้เห็นว่า โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ที่อยู่ในระบบเวลานี้นั้น ล้าสมัย งี่เงาไร้สาระเพียงใด สอนหรือผลิตคนผิดทาง ไม่ตรงกับกระแสโลกอย่างไร ผลาญเวลา ผลาญทรัพยากรมหาศาลอย่างไรบ้าง

ประเด็นนี้สามารถสาวไปถึงคุณภาพของอาจารย์หรือครูผู้สอนในสถาบันการศึกษาต่างๆ จำนวนมากว่า อ่อนด้อย ไร้มาตรฐาน เกรดต่ำเพียงใด เพราะผู้สอนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในบริบทของกระแสสังคมปัจจุบัน ทำโครงการการเรียนการสอนหรือแม้แต่โครงการวิจัย กันแบบลูบหน้าปะจมูกแทบทั้งสิ้น

ผมได้ยินอาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ บอกว่า โครงการดีลด้านการศึกษากับสถาบันการศึกษาต่างประเทศของไทยส่วนหนึ่งนั้น กระทำเพื่อเอาหน้าเอาตา เอาไปอวดโชว์ผู้ปกครองในเมืองไทยทำนองต้มตุ๋นอย่างไรบ้าง ทั้งๆ ที่ผู้บริหารหรือผู้สอนในมหาวิทยาลัยของไทยมีทักษะแม้แต่เรื่องการสื่อสารน้อยมาก

ไม่ได้หมายความว่าผู้บริหารหรืออาจารย์ตามสถาบันอุดมศึกษาของไทยพูดภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่องนะครับ แต่เขาบอกผมว่า ประเด็นข้อบกพร่องของผู้สอนหรือผู้บริหารเหล่านี้ ไม่เข้าใจบริบทวัฒนธรรมทางการศึกษาของประเทศที่ไปดีลด้วย ประเภทนึกจะดีลก็ดีลเลยซึ่งไม่น่าจะใช่ มุ่งเน้นการสร้างภาพลักษณ์ทางการศึกษามากกว่าการมุ่งเนื้อหาที่คู่พันธะสัญญาพึ่งจะได้ เช่น การเปิดสาขาของมหาวิทยาลัยไทยในต่างประเทศที่ชอบนำมาอ้างกัน แท้จริงแล้วเป็นที่ยอมรับของทางการของประเทศนั้นๆ แค่ไหน หรือไม่ หรือเป็นแค่มหาวิทยาลัยห้องแถวที่คนไทยชอบกล่าวดูถูกกัน เรื่องนี้ยังไม่มีการพิสูจน์อะไรมากมาย เป็นแต่ข้ออ้างผลงานของผู้บริหารของมหาวิทยาลัยไทยบางแห่งในเวลานี้อยู่เสมอ แน่นอนว่าประเทศที่สถาบันการศึกษาไทยเข้าไปดีลเปิดสาขา ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่คนส่วนใหญ่ไม่แยแสต่อวุฒิบัตรทางการศึกษาอะไรมากนัก เขาสอนโดยเน้นเนื้อหา (หลักสูตร) ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่าเนื้อหาที่ไม่จำเป็น ไม่เน้นการเรียนเพื่ออวดวุฒิการศึกษาแบบของไทย เรียนจบออกมา สามารถนำมาใช้ทำงานหรือใช้ในชีวิตประจำวันได้ นี้จึงต่างกับการเรียนการสอนของไทย ที่เรียนมุ่งเอาแต่ดีกรี (วุฒิบัตร/ปริญญา) แต่จบออกมาทำอะไรไม่เป็น เอาวุฒิบัตรหรือปริญญาไว้อวดชาวบ้านในฎีกาผ้าป่าหรือทอดกฐิน

และก็ดูเหมือนอาจารย์ผู้สอนก็เป็นอย่างว่าเสียด้วย เพราะประยุกต์ความรู้ให้เข้ากับบริบทหรือกระแสของสังคมไม่ค่อยจะได้ ผมได้ข่าวว่ามีอาจารย์บางมหาวิทยาลัยของไทยวิ่งหนีสื่ออยู่ประจำ ไม่กล้าสู้หน้าสื่อ เพราะกลัวที่จะตอบคำถามที่เกี่ยวเนื่องกับกระแส หรือเหตุการณ์สังคมปัจจุบัน ไม่กล้าที่จะแสดงความเห็น ไม่กล้าแสดงจุดยืนให้สังคมประจักษ์ ความรู้ที่มีก็เหลวเป๋ว เพราะไร้ประโยชน์ประยุกต์ใช้จริงในชีวิตประจำวันไม่ได้

นี่เป็นเรื่องน่าสมเพทเวทนา ของระบบการศึกษาไทยในระดับอุดมศึกษาใช่หรือไม่ อย่างนี้มหาวิทยาลัย ควรเป็นที่ไว้วางใจของพ่อแม่ผู้ปกครองหรือไม่?

สรุปแล้วประเด็นปัญหาการศึกษานั้น เราคงไปโทษเด็กอย่างเดียวไม่ได้ คงต้องโทษผู้ใหญ่คือผู้สอนด้วย เพราะผู้สอนในสถาบันการศึกษาไทยไร้คุณภาพ เกรดต่ำ ที่รับกันเข้าไปทำหน้าที่สอนก็เด็กเส้นเสียมาก ดังเป็นที่รู้ๆ กันดีในบรรดาคณาจารย์ด้วยกัน ใช่หรือไม่?

ขอบอกจากประสบการณ์อันน้อยนิดในโลกตะวันตกของผมว่า โลก 4.0 นั้น สถาบันการศึกษาในระดับสูงขึ้นไปจากระดับประถมศึกษามีความสำคัญน้อยลงไปทุกขณะและอาจถึงขั้นปลาสนาการ เพราะความรู้หาได้จากอากาศธาตุ หาได้ทุกที่ ถ้าเด็กมีฐานที่สำคัญคือ อ่านออกเขียนได้ เพียงเท่านี้ บทบาทของครูอาจารย์ก็ต้องเปลี่ยนครั้งใหญ่ไม่ใช่ทำตัวเป็นฮีโร่ตัวจอมปลอมอย่างที่ระบบวัฒนธรรมการศึกษาไทยเป็นกันในปัจจุบัน

ไม่แปลกหรอกครับ ถ้าเราไปดูการศึกษาของฟินแลนด์ ประเทศครองแชมป์ PISA แทบตลอดกาล เขาระดมทุกอย่างใส่ลงในการศึกษาระดับปฐมวัยแทบทั้งหมด

ครูสอนอนุบาลของฟินแลนด์ ถึงเงินเดือนมากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยครับ เพราะเขามองว่า การศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยนั้น กำลังเสื่อมค่าลงทุกขณะ ผลาญทรัพยากรมหาศาล แต่ได้ผลลัพธ์กลับมาไม่คุ้ม พูดง่ายๆ ลงทุนไม่คุ้มได้ อันนี้คนละเรื่องกับงานวิจัยนะครับ
เพียงแค่นี้มหาวิทยาลัยก็ไร้ค่าเต็มทีในโลกปัจจุบัน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.