Posted: 05 Sep 2018 08:50 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-09-05 22:50


เวทีเสวนาคุยการเมือง เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยีของจีน คุยการเมือง-กฎหมายให้ไกลกว่าสีจิ้นผิง=จักรพรรดิ โอกาสไทยในตลาดจีนคือตอบโจทย์เศรษฐกิจ แก้ปัญหาที่แก้ไม่ได้ AI ที่ก้าวหน้าสะท้อนความหวาดกลัว-อำนาจการเมืองนำเศรษฐกิจ One Belt One Road จีนสะท้อนความฝันเรื่องจักรวรรดิ-พร้อมเฉิดฉายในเวทีโลก เข้าใจจีนผ่านความเชื่อมโยง ความซับซ้อน และความเจียมตัว

ซ้ายไปขวา: อาร์ม ตั้งนิรันดร อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ มาณพ เสงี่ยมบุตร วรศักดิ์ มหัทธโนบล ปกป้อง จันวิทย์

5 ส.ค. 2561 มีงานเสวนาวิชาการ “China 5.0: เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และกฎหมายในจีนยุคใหม่” จัดโดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ และสำนักพิมพ์ Bookscape จัดที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

เวทีเสวนามีวิทยากรรับเชิญได้แก่ ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ มาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายพัฒนาธุรกิจจีน ธุรกิจต่างประเทศ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ไอที Blognone อาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เขียนหนังสือ China 5.0: สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่ และแผนการใหญ่ AI ดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการอำนวยการสำนักพิมพ์ Bookscape

คุยการเมือง-กฎหมายจีนให้ไกลกว่าวาทกรรม ‘สีจิ้นผิง=จักรพรรดิ’

วรศักดิ์กล่าวว่า สมัยเติ้งเสี่ยวผิงได้วางรากฐานทางการเมืองไว้ค่อนข้างดี โดยสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมที่ทำให้จีนแทบพังในสมัยเหมาเจ๋อตุงผู้ครองอำนาจแบบไม่มีวาระดำรงตำแหน่ง เติ้งชี้ว่าการไม่จำกัดวาระตำแหน่งเกิดปัญหาทางการเมืองมากมายซึ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้ผู้นำรุ่นต่อมาเตรียมการไม่ทัน เติ้งจึงวางรากฐานใหม่และได้รับการยอมรับทั้งประเทศ ให้ต่อจากนั้นไปไม่มีใครครองอำนาจนาน แม้เป็นระบอบเผด็จการแต่ถ้าผู้นำเปลี่ยนกันไปอย่างน้อยก็ทำให้คนจีนรู้สึกว่าไม่มีใครใช้อำนาจตามอำเภอใจได้

แต่เมื่อมาถึงสมัยสีแล้วทำไมถึงเปลี่ยนให้ครองอำนาจได้แบบไม่มีวาระ ตอนที่ทราบข่าวเรื่องแก้รัฐธรรมนูญให้ไม่กำหนดวาระของประธานาธิบดีก็คิดถึงสาเหตุ ไม่ได้คิดว่าจีนตีบตันที่จะหาผู้นำต่อจากสี แต่ดูจากความเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วก็คิดว่าไม่ใช่ หรือว่าเป็นกิเลสทางการเมืองของสีเอง คือหวงอำนาจ ก็เร็วเกินไปที่จะพูดแบบนั้นเพราะที่ผ่านมาไม่เคยเห็นสีใช้อำนาจในทางลบ ไม่ได้ไปก่อปัญหาที่เหลวไหล

เมื่อศึกษาดูแล้วหลายสิบปีที่ผ่านหมาหลังยุคเติ้งปฏิรูปการเมือง ลักษณะของการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ยังกล่าวได้ว่าเป็นการเมืองแบบการนำแบบรวมหมู่โดยคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ การที่สีจะได้ผูกขาดอำนาจแบบนี้ต้องผ่านมติกรรมการกลางด้วย แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่คน 200 กว่าคนจะอยู่ใต้เท้าของสีที่อยากจะเถลิงอำนาจแต่ผู้เดียว เลยเหลือทางเลือกที่สี่ที่คิดว่ามีมูล คือมีแรงเสียดทานระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับทหารที่เขาว่ากันว่าทหารไม่ฟัง พคจ. ยุคหูจิ่นเทา ซึ่งตามหลัก พคจ. คือพรรคต้องใหญ่กว่ากองทัพ ถ้ากองทัพเริ่มไม่ฟังมันจะเกิดแรงเสียดทานและทำให้ พคจ. ด้อยความศักดิ์สิทธิ์ลง ที่ผ่านมาสมัยเหมาและเติ้งเป็นผู้นำที่มีอำนาจบารมี ผ่านสงครามปฏิวัติอย่างนองเลือด ขุนศึกยุคนั้นก็เห็นว่าทั้งสองแม้มีบุคลิกภาพพลเรือน แต่มีวิสัยทัศน์ทางการทหารสูงมาก จึงมีฐานะไม่ต่างจากจักรพรรดิที่ปรีชาสามารถในอดีตของจีน แต่ผู้นำตั้งแต่สมัยเจียงและหูนั้นไม่ใช่แบบนั้น แต่ถ้าหากสีจัดการกองทัพด้วยเหตุผลที่ไม่ใช่เรื่องแรงเสียดทานเช่นว่า เหตุผลในการต่ออายุแบบไม่มีวาระก็เหลือเหตุผลสุดท้าย คือทั้งกองทัพ พรรคและรัฐบาลเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกภาพว่านับจากนี้ไปตามโรดแมปที่ว่าจะต้องกินดีอยู่ดี เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เป็นประเทศสังคมนิยมทันสมัยมหาอำนาจนั้น จีนจะต้องมีอำนาจอธิปไตยที่สมบูรณ์เสียก่อน ทุกวันนี้ยังไม่สมบูรณ์ เพราะมีทั้งกรณีไต้หวัน ปัญหาทะเลจีนใต้ ตนคิดว่าการมีอำนาจแบบไม่มีวาระมีนัยสำคัญกับการจัดการเรื่องอำนาจอธิปไตย ถ้าเปลี่ยนผู้นำเป็นรุ่นๆ แบบมีวาระทำให้การบังคับบัญชาไม่ต่อเนื่อง เช่น ถ้าเกิดสงครามกับไต้หวันแล้วจีนอยู่ในช่วงเปลี่ยนผู้นำก็จะมีความสะดุด ทั้งนี้ การแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วงหลังๆ โดยเฉพาะเรือรบบรรทุกเครื่องบินที่จีนพยายามนำเสนอคิดว่าก็เป็นสัญญาณเรื่องการสถาปนาเอกราชดังว่า แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป

วรศักดิ์กล่าวว่า เรื่องที่คนอาจไม่รู้ก็คือ จีนมีการเลือกตั้งทางตรงแบบประชาธิปไตยในระดับล่างๆ ผู้ได้รับเลือกตั้งสมัยก่อนก็มักเป็นคนของพรรค แต่เดี๋ยวนี้มีแนวโน้มทีดีขึ้น คนที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคก็มีสิทธิได้รับเลือกจากความมีจิตอาสา เป็นคนเสียสละ หรือเป็นที่ยอมรับของชุมชน สมัยนี้มีคนแบบนี้ในสภาประชาชนมากขึ้น

อาร์มได้เสริมมุมมองทางกฎหมายอีกว่า คำถามที่นักกฎหมายถามคือทำไมสีถึงเลือกแก้ไขรัฐธรรมนูญกำจัดวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ทั้งที่ตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในจีนคือเลขาธิการ พคจ. ซึ่งไม่ได้จำกัดวาระอยู่แล้ว แต่คิดว่าเป็นเพราะสีให้ความสำคัญกับกฎหมาย ทั้งนี้ นัยของกฎหมายในบริบทจีนก็เป็นคนละแบบกับตะวันตก ตะวันตกมี Rule of Law หรือหลักนิติรัฐที่เป็นการปกครองตามกรอบของกฎหมาย แต่ในบริบทจีนมีนักวิชาการบอกว่าเป็น Rule by Law คือกฎหมายเป็นเครื่องมือทำให้นโยบายหรือยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนไป

การที่สีแก้รัฐธรรมนูญนั้นมีนัยสำคัญมากไปกว่าการเป็นผู้นำได้ตลอดกาล แต่หมายถึงใครก็ตามที่ขึ้นมาหลังสีก็สามารถใช้รัฐธรรมนูญนี้ได้เช่นกัน ทั้งนี้ มีอีกเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือการใส่คำว่าพรรคคอมมิวนิสต์ลงไปในมาตราทางการ ซึ่งแต่เดิมเคยอยู่แต่ในอารัมภบท สีต้องการให้ชัดเจนไปเลยว่า พคจ. จะกลับมานำทุกอย่าง การปฏิรูปของสีจึงสวนทางกับที่คนคาดการไว้ที่คิดว่า พคจ. จะอยู่ฉากหลังแล้วให้รัฐบาลนำ แต่สีนำกลไก พคจ. กลับมาด้วยเชื่อว่าจะเป็นตัวเชื่อมโยงกับส่วนต่างๆ การปราบคอร์รัปชันเมื่อห้าปีก่อนก็ใช้กลไกวินัยพรรคปราบซึ่งทำได้เร็วมาก ไม่ต้องผ่านขั้นตอนกฎหมายทางการ สีเอาอันนี้เข้ามาเป็นอีกองค์กรหนึ่งของรัฐธรรมนูญ คือองค์กรปราบปรามคอร์รัปชัน มีสถานะเท่า ครม. ศาล อัยการ และมีความพยายามทำให้เป็นระบบทางการ

ในด้านกฎหมายกับเศรษฐกิจ จีนได้ปฏิรูปและให้ความสำคัญตลอดไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและศาลให้ทำงานได้เร็วขึ้น ผู้พิพากษามีคุณภาพมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในศาล ซึ่งในด้านหนึ่งก็เป็นการปิดกั้นเสรีภาพ แต่เรื่องที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ เช่นเรื่องกรรมสิทธิ์หรือสัญญาก็ก้าวหน้าไปตลอด นอกจากนั้น จีนยังมีบทบาทในองค์กรการค้าและการเงินระหว่างประเทศอย่างองค์การการค้าโลก (WTO) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แถมยังมีการตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) และมีแผนในการสร้างศาลเฉพาะในกรณีความขัดแย้งจากโครงการ Belt and Road ด้วย ซึ่งมีนัยสำคัญกับการสร้างระเบียบข้อกฎหมายระหว่างประเทศออกมาจากระบบที่สหรัฐฯ สร้างไว้ผ่าน WTO และ IMF

โอกาสไทยในตลาดจีนคือตอบโจทย์เศรษฐกิจ-แก้ปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้

มาณพกล่าวว่า ทุกวันนี้ไม่มีผู้นำทางธุรกิจคนไหนในโลกไม่สนใจสิ่งที่เกิดในจีน เพราะต่อไปจีนก็คงจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลก มักมีคำพูดว่าตลาดหุ้นจีนเป็นตลาดที่นโยบายนำ ต่างจากตลาดหุ้นที่อื่นๆ พบว่าระบบเศรษฐกิจจีนที่นโยบายนำ ระบบพรรคอยู่เหนือกว่าระบบบริหาร แต่ละมณฑลก็จะมีผู้ว่าการจากฝ่ายบริหาร และมีเลขาธิการพรรคที่เป็นตัวแทนจากพรรค ถ้าเทียบกับบริษัทคงเทียบได้กับซีอีโอกับประธานบริษัทตามลำดับ สายบังคับบัญชาเช่นนั้นไล่มาตั้งแต่มณฑล เมือง หมู่บ้าน ระบบแบบนี้ทำให้นโยบายพรรคคอมมิวนิสต์แทรกซึมไปทุกหัวระแหงของจีนอย่างไม่น่าเชื่อ เอกชนที่ไม่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจก็ต้องคิดแบบอิงกับแผนปฏิรูปและแผนห้าปีของพรรคอย่างไม่น่าเชื่อ ของไทยเองมีแผนที่ทำโดยสภาพัฒน์ แต่ก็ยังไม่เคยเห็นเอกชนไหนวางแผนธุรกิจตามแผน

ถ้าถอยไปก่อนที่สีจิ้นผิงจะขึ้นมานั้น การพัฒนาจีนเน้นการลงทุน สร้างโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตอนนี้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแผ่วลง อัตราเติบโตน้อยกว่าสมัยก่อน สิ่งที่มาแทนคือการบริโภคและภาคการบริการซึ่งไทยอาจมีส่วนเข้าไปสอดรับได้มากกว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในภาพกว้างนั้นถือว่าไทยกับจีนมีความสัมพันธ์ที่ดี แต่การลงทุนโดยตรงจากจีนมายังไทยยังถือว่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น สวนทางกับการค้าของไทยที่ไปจีนที่คิดเป็นสัดส่วนแล้วเทียบเป็นร้อยละ 20 ของทั้งอาเซียนจึงคิดว่ามีโอกาสทางการค้ากับจีนอยู่อีกมาก

20 ปีที่ผ่านมาจีนมีการเติบโตที่เร็วมาก อัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เติบโตไม่เคยต่ำกว่าร้อยละ 6 แม้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าการเติบโตจะค่อยๆ แผ่วลง ในปี 2573 อาจจะโตอยู่ประมาณร้อยละ 5.5-6 โอกาสที่เศรษฐกิจจะทรุดรุนแรงแบบ Hard landing คิดว่ามีน้อย

มาณพกล่าวว่า จีนมักเน้นการพัฒนา มุ่งคิดค้นสิ่งใหม่ๆ แต่ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะดีหมด ยังมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น มลภาวะ การบริการ การสาธารณสุข จำนวนโรงพยาบาลไม่เพียงพอกับความต้องการ ความปลอดภัยด้านอาหารและยา ล่าสุดมีข่าววัคซีนปลอม เรื่องแบบนี้ก็จะมีข่าวเป็นระยะๆ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยและธุรกิจไทยมีโอกาสเข้าไปเจาะตลาดจีนผ่านการจับหรือแก้ปัญหาเหล่านี้ โอกาสทางธุรกิจของไทยอีกอย่างคือการสอดรับกับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนแบบใหม่ที่เน้นเรื่องการบริโภคมากขึ้น ตอนนี้จีดีพีต่อหัวของจีนแซงไทยไปแล้ว คือ 9,000 เหรียญต่อคน ทำให้คนจีนมีกำลังการใช้สอยมากขึ้น ต้องการสินค้ามีคุณภาพมากขึ้น และนิยมสินค้านำเข้า ถ้าไทยไปอยู่ในกระแสตรงนี้ได้ก็เป็นโอกาสมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัยทางอาหาร ลดมลภาวะ การเสริมความงาม เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสกับธุรกิจไทยทั้งสิ้น บวกกับขณะนี้จีนมีแรงจูงใจในการมาลงทุนในไทยเพราะต้องการหนีการกีดกันทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และอียู รวมถึงเห็นศักยภาพทางตลาดของไทยและอาเซียน โดยอาจใช้ไทยเป็นฐานที่มั่นในการกระจายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วอาเซียน ตั้งแต่ช่วงปี 2557-2560 การลงทุนของจีนกระจายไปในหลายภาคส่วนมากขึ้นจากเดิมที่เน้นลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก

AI ที่ก้าวหน้าสะท้อนความหวาดกลัว-อำนาจการเมืองนำเศรษฐกิจ

อิสริยะกล่าวในประเด็นความเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีในจีนและความสัมพันธ์กับรัฐบาล โดยระบุว่า ตอนนี้ตลาดออนไลน์ของจีนขยายตัวมาถึงไทย และผู้เล่นตัวใหญ่ๆ ทั้งอะลีบาบา เทนเซนต์ ต่างก็มาหมด และแข่งขันกันผ่านตัวแทนการค้าในประเทศไทยในแบบสงครามตัวแทน

เนื่องจากรัฐบาลจีนต้องการเซนเซอร์ข้อมูลทำให้บริษัทผู้ให้บริการไอทีจากประเทศตะวันตกเข้ามาในจีนไม่ได้ บริษัทในจีนจึงมีโอกาสเติบโต และด้วยประชากรหลักพันล้าน ทำให้อะลีบาบา เทนเซนต์ โตขึ้นด้วยตลาดในประเทศล้วนๆ ตลาดออนไลน์ของจีนกำลังโตในลักษณะที่นักศึกษาจีนที่ไปศึกษาที่สหรัฐฯ เลือกกลับไปทำงานที่จีนในสายงานไอทีหรือเปิดธุรกิจสตาร์ตอัพเพราะว่าอยู่จีนแล้วรวยกว่า

เมื่อพูดถึง AI ที่จีนให้ความสำคัญ อิสสริยะกล่าวว่า กว่า AI จะมาแทนคนก็ไกลมาก ใช้เวลาอย่างน้อย 30-50 ปี ที่เราพูดกันเยอะๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าคือลักษณะของ Automation คือทำให้ทุกอย่างเป็นอัตโนมัติ จุดต่างของ AI จีนคือฐานคิดเรื่องความกลัวอะไรบางอย่างทำให้ผลผลิตของ AI ออกมาเป็นการคุมเข้มกับประชาชน เป็นเทคโนโลยีสอดส่องทั้งลายมือ ใบหน้า ถ้าเดินเข้า ตม. จีนจะเห็นกล้องประมาณ 5-10 ตัวเรียงเป็นแถบ รัฐบาลเองก็สนับสนุนให้คนทำงานไอทีทำโครงการเพื่อเก็บข้อมูลประชาชน ในขณะที่เมื่อกูเกิลจับมือกับเพนทากอนทำโครงการลักษณะเช่นนั้นทำให้พนักงานพากันลาออกเพื่อประท้วง

ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Blognone และ Brand inside กล่าวว่า AI ต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมหาศาลจึงจะสามารถทำงานได้ บริษัทจีนที่มีข้อมูลมากขนาดนั้นก็มีเพียงสามบริษัท BAT ก็คือ Baidu (ไป่ตู้) Alibaba (อะลีบาบา) และ Tencent (เทนเซ็นต์) สามบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ที่เพิ่งเติบโตขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาและครอบครองทุกสิ่งทุกอย่าง ก่อนนี้ทั้งสามให้ความร่วมมือกับรัฐบาลตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเซ็นเซอร์หรืออะไรต่อมิอะไร แจ็ค หม่า เจ้าของอะลีบาบานั้นเป็นประหนึ่งทูตการค้าของจีนที่พูดเรื่องของรัฐในนามเอกชน แต่รัฐบาลก็ไม่อยากให้บริษัทเอกชนมีอำนาจมาก และรัฐบาลก็ยังมีอำนาจในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจอยู่ สะท้อนจากเมื่อไม่นานมานี้ที่เทนเซนต์ถูกรัฐบาลจีนแบนเกมบางตัวที่มีแผนจะวางขาย ทำให้กำไรตก

One Belt One Road จีนสะท้อนความฝันเรื่องจักรวรรดิ-พร้อมเฉิดฉายในเวทีโลก

ต่อประเด็นแนวคิด One Belt One Road (OBOR) หรือ Belt Road Initiative (BRI) ที่เป็นโครงการที่จีนจะลงทุนสร้างเส้นทางเชื่อมต่อจากจีนทั้งทางบกและทางทะเลไปยังพื้นที่ต่างๆ ในโลกนั้น วรศักดิ์มองว่าเป็นท่าทีของการสร้าง ‘จักรวรรดิ’ จีนขึ้นมาผ่านอิทธิพลทางกิจการพลเรือน ทั้งยังกล่าวว่า OBOR เป็นโครงการที่ได้รับการประชาสัมพันธ์ให้ชาวโลกรู้มากที่สุดของจีนเมื่อเทียบกับนโยบายที่ผ่านมา ในยุคสีมีการเสนอให้งบ ให้ทุนสนับสนุนในการจัดสัมมนาเกี่ยวกับ OBOR ตนเคยประสานงานกับคนที่เมืองจีนจะจัดเสวนาเรื่องความสัมพันธ์ไทย-จีน พอไปถึงกลายเป็นการเสวนา OBOR กับความสัมพันธ์ไทย-จีน ตนไม่ได้เตรียมมาแต่ทางนั้นก็บอกว่าถ้าไม่ทำแบบนี้จะไม่ได้งบจากพรรค

ด้านมาณพกล่าวว่า BRI นั้นเป็นกรอบแนวคิดที่จะทำให้ธุรกิจจีน และราชการ มีปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศมากขึ้น ธุรกิจจีนใดๆ ที่ทำงานต่างประเทศที่มีคำว่า Belt and Road ก็จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้น เป็นกรอบแนวคิดเรื่องการค้า การเมือง วัฒนธรรมเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน ตอนนี้ทุกมณฑล รัฐบาลท้องถิ่นมีการจัดทำตัวชี้วัดเกี่ยวกับ BRI ด้วย มีการสนับสนุนให้คนในมณฑลออกไปทำธุรกิจมากขึ้น แนวคิด BRI เป็นแนวคิดที่ที่ร้อยเรียงนโยบายต่างๆ ที่จีนเคยมีมาบ้างแล้ว ทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานหรืออื่นๆ ซึ่งสะท้อนความมั่นใจของจีนในการออกสู่โลกภายนอก ทั้งนี้ ในไทยและหลายๆ ที่ก็มีแรงต้านในการปกป้องตลาดของตัวเอง จีนเองพยายามออกมาตอบโต้ว่านโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องชนะกันทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่การเอาเปรียบ สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือกรอบของ BRI ว่าคืออะไรเพื่อหาโอกาสเอาตัวเองไปสอดคล้องกับสิ่งที่จีนสนับสนุน

เข้าใจจีนผ่านความเชื่อมโยง ความซับซ้อน และความเจียมตัว

อาร์มกล่าวว่า มีความสนใจเรื่องจีนเมื่อช่วงปี 2547-2553 สมัยที่จีนยังไม่ใช่ยุคดิจิตัล กลับไปจีนทีไรก็ตกใจทุกครั้งเพราะว่าจีนเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ที่ตั้งชื่อหนังสือว่า China 5.0 มีสามความหมายหลักดังนี้
เชิงการเมือง เป็นการเมืองภายใต้ผู้นำรุ่นที่ห้า นับจากเหมาเจ๋อตุง-เติ้งเสี่ยวผิง-เจียงเจ๋อหมิน-หูจิ่นเทา-สีจิ้นผิง
เชิงเศรษฐกิจ สีจิ้งผิงเรียกว่าเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งต่างไปจากสมัยปฏิรูปเศรษฐกิจของเติ้งเสี่ยวผิง
นัยว่าจีนกำลังก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี 5.0 ในจีนตอนนี้เรื่องฮิตที่สุดคือ AI ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าจีนไปอย่างมาก

อาร์มกล่าวต่อไปว่า สมัยเรียนอยู่ที่ที่สหรัฐฯ อาจารย์ที่สนใจเรื่องจีนบอกว่าการมองและเข้าใจจีนต้องมองผ่านแว่นที่เรียกว่า CCH ย่อมาจาก;

Connection: เข้าใจความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ ถ้าไม่เข้าใจการเปลี่ยนผ่านทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ก็ไม่สามารถเรียนกฎหมายจีนได้ จะต้องเข้าใจบริบทของจีนหลายๆ ด้าน

Complexity: ความซับซ้อนของจีน เช่น จะบอกว่าเศรษฐกิจจีนนำโดยรัฐก็ถูก นำโดยเอกชนก็ถูก การเมืองเผด็จการก็ถูก แต่ก็มีหลายมิติที่ซับซ้อนมากและไม่สามารถฟันธงไปด้านใดด้านหนึ่งได้ง่ายๆ

Humility: ความถ่อมตัว เจียมตัว ฝรั่งที่ศึกษาเมืองจีนบางทีมองจีนด้วยสายตาหยิ่งผยอง พยายามสอนจีน แต่ก่อนที่จะเปลี่ยนใคร สอนใคร เราต้องทำความเข้าใจเขาก่อน จะไม่ดีกับใครเลยถ้าเข้าหาจีนด้วยมุมมองที่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเหนือกว่า

สีจิ้นผิงตัดสินใจที่จะรวบอำนาจการเมืองเข้าสู่ส่วนกลาง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจยุคใหม่ สีบอกว่าจีนเผชิญความจัดแย้งใหม่ อันเดิมคือความต้องการของประชาชนต่อการบริโภคสินค้าแต่สินค้าไม่พอ ในตอนนี้ความขัดแย้งใหม่คือความต้องการบริโภคสินค้าคุณภาพ และการพัฒนาของจีนที่ยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตอนนี้จึงปรับเป็นการสร้างสินค้าคุณภาพและผลิตนวัตกรรม
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.