Posted: 03 Sep 2018 06:18 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-09-04 08:18


นิธิ เอียวศรีวงศ์

จะนิยามรัฐไทยว่าอะไรดี “อำนาจที่ผูกขาดความรุนแรงอันถูกกฎหมายไว้แต่ผู้เดียว” อย่างที่ Max Weber เสนอกระนั้นหรือ อาจารย์ Tyrell Haberkorn บอกว่าไม่ใช่หรอก รัฐไทยคืออำนาจที่ใช้ความรุนแรงอันผิดกฎหมาย แล้วก็ลอยนวลตลอดมาตั้งแต่ 2475 ถึงปัจจุบันต่างหาก (In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand)

ท่านรู้ดีว่า พูดอย่างนี้ก็เท่ากับกำลังพูดว่าการลอยนวลเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบสร้างรัฐไทย (state formation) หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐนั้นประกอบสร้างขึ้นจากกลุ่มคนและสถาบันอะไรบ้าง และสัมพันธ์เชื่อมโยงเชิงอำนาจต่อกันอย่างไร การลอยนวลเป็นสถาบันสำคัญที่เชื่อมโยงอำนาจหลักๆ ให้ดำรงอยู่ในนามของรัฐไทยได้นั่นเอง

ผมจึงขอเรียกรัฐไทยว่า “รัฐลอยนวล” ซึ่งทำให้แตกต่างจาก “รัฐพันลึก”, “รัฐราชการ”, “รัฐอำนาจนิยม”, “รัฐทุนนิยม” ฯลฯ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ Haberkorn ด้วยว่า “รัฐลอยนวล” นั้น ไม่ได้เป็นลักษณะที่จำกัดอยู่ที่รัฐไทยเพียงรัฐเดียว แต่ยังเป็นลักษณะของรัฐอื่นอีกหลายรัฐทั่วโลก (โดยเฉพาะรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

ความรุนแรงที่ผิดกฎหมายทั้งหลายนั้น ล้วนทำขึ้นในนามของรัฐ อัศวินตำรวจที่ไปรัดคอนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามคณะรัฐประหารจนตาย แล้วโยนทิ้งแม่น้ำนั้น อาจไม่รู้จักนักการเมืองคนนั้นเป็นส่วนตัวด้วยซ้ำ แต่เพื่อรักษาอำนาจของคณะรัฐประหารซึ่งแม้ว่าไร้ความชอบธรรมตามกฎหมาย แต่ก็ยึดอำนาจรัฐมาได้แล้ว และคือรัฐนั้นเองจึงจำเป็นต้องทำตาม “หน้าที่”

ดังนั้น เมื่อทำแล้วจึงลอยนวล ที่น่าสนใจก็คือไม่ได้ลอยนวลเฉพาะในระหว่าง 10 ปีที่คณะรัฐประหารยังมีอำนาจอยู่เท่านั้น แม้หลังจากนั้นเมื่อสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แย่งอำนาจของเผ่า ศรียานนท์ และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม มาได้แล้ว คดีละเมิดประชาชนของคณะรัฐประหารทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมทรมาน, อุ้มหาย, สังหารโหด, หรือจับกุมคุมขังโดยไม่ส่งฟ้องศาล ฯลฯ ผู้กระทำก็ล้วน “ลอยนวล” ทั้งสิ้น อาจมีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์กันสักวันสองวัน หรือสัปดาห์สองสัปดาห์ แล้วในที่สุดคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสืบสวนสอบสวน ก็จะส่งรายงานไปเข้าลิ้นชักของผู้ใหญ่

ถ้ารายงานนั้นเผยแพร่ได้ก็เป็นการสรุปว่า น่าเสียดายโว้ย ทำอะไรไม่ได้เสียแล้ว

บางกรณีคณะกรรมการสอบเสร็จแล้ว รัฐบาลกลับบอกว่าเปิดเผยไม่ได้ก็มี เช่นกรณีทหารตำรวจและอาสาสมัครรักษาดินแดนเผาหมู่บ้านนาทราย จังหวัดหนองคาย ราบเป็นหน้ากลอง ชาวบ้านสูญเสียทรัพย์สินทั้งหมด และที่สำคัญคือข้าวซึ่งเพิ่งเก็บเกี่ยวได้ไม่นาน มีคนเสียชีวิตอีกสามคนด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบ ทั้งๆ ที่ช่วงซึ่งเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดกฎหมาย ถูกเปิดขึ้นมาโดยองค์กรนักศึกษาองค์กรหนึ่งในช่วงหลัง 14 ตุลา ในที่สุดรัฐบาล “ประชาธิปไตย” ทั้งหมดในช่วงสามปีนั้น ก็ตัดสินว่าเรื่องนี้ต้องปล่อยให้ “ลอยนวล” ไปดีกว่า ส่วนการเยียวยาช่วยเหลือเหยื่อก็ยอมรับและทำไปเท่าที่จะทำได้

“ลอยนวล” ในรัฐไทยจึงไม่ใช่เครื่องมือสำหรับรักษาอำนาจเผด็จการ เพราะยังมีอีกหลายกรณีที่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ก็ช่วยรักษาการ “ลอยนวล” ไว้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการประกอบสร้างรัฐไทย

ม.17 ซึ่งเป็นเครื่องมือให้สฤษดิ์-ถนอม-ประภาสละเมิดชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างลอยนวลตลอดเวลานั้น ถูกรักษาไว้ในรัฐธรรมนูญและธรรมนูญสืบมาอีกนาน หลายคนคงไม่ทันนึกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ซึ่งเป็นฐานอำนาจทางกฎหมายของนายกฯเกรียงศักดิ์, เปรม, และชาติชาย ก็มี ม.200 ซึ่งให้อำนาจนายกฯ เหมือน ม.17 ของสฤษดิ์เช่นกัน และตลอดเวลานั้นเรามีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญไม่ขาด

อำนาจของ คสช.ในการจับคนชูสามนิ้ว, กินแซนด์วิช, อ่านหนังสือ, และคนที่ คสช.ไม่ไว้วางใจไปเก็บไว้ 7 วันหรือนานกว่านั้น มาจาก พ.ร.บ.กฎอัยการศึกซึ่งออกครั้งแรกตั้งแต่ ร.6 และได้ผ่านรัฐบาล “ประชาธิปไตย” มาไม่รู้จะกี่รัฐบาลแล้ว โดยไม่ถูกแก้ไขเพื่อประกันสิทธิมนุษยชนของประชาชนเลย อีกทั้งการใช้อำนาจจากกฎหมายนี้เพื่อละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างเกินหรือผิดกฎหมาย ก็ไม่เคยถูกนำมาไต่สวนลงโทษ ผู้ละเมิดทุกคนก็ยัง “ลอยนวล” มาโดยสวัสดิภาพ เพราะต่างก็ทำในนามของรัฐทั้งสิ้น

(การจับกุมกับการคุกคามเป็นคนละเรื่อง กฎหมายอนุญาตให้จับกุม แต่ไม่อนุญาตให้ทรมานหรือคุกคามครอบครัว)

ประเทศไทยไม่ได้ทรงอำนาจยิ่งใหญ่เหมือนเยอรมนีภายใต้ฮิตเลอร์, จีนคอมมิวนิสต์, หรือสหภาพโซเวียต เราจึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องแต่งหน้าให้พอไปวัดไปวาได้เบื้องหน้าสหประชาชาติ, มหาอำนาจตะวันตก, และกระแสสิทธิมนุษยชน ซึ่งกระจายไปทั่วโลกนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา รวมทั้งแรงกดดันที่ไม่แรงนักของคนภายในเองด้วย จะรักษาอำนาจขององค์ประกอบของรัฐท่ามกลางบรรยากาศแห่งสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชนของโลกอย่างไร โดยไม่กระทบต่อหน้าที่แต่งไว้แล้วนี้ ก็ “ลอยนวล” สิครับ

กฎหมายและแบบปฏิบัติที่เทียบได้กับ “นานาอารยประเทศ” ไทยก็มีไม่ต่างกัน แต่จะบังคับใช้กับใครและอย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตรงการบังคับใช้นี่แหละ ที่ต้องทำอย่าง “ลอยนวล” เพื่อรักษาการประกอบสร้างรัฐเอาไว้ให้คงเดิม รัฐลอยนวลคือรัฐที่ต้องรักษาให้หน้าสวยไว้ แต่ตัวกลวง จึงต้องเอาชุดไทยสวมทับไว้

(บางคนชอบพูดว่า ต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นแบบไทยๆ คือจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจตามความเป็นจริงของสังคมไทย ผมฟังแล้วก็อดคิดไม่ได้ทุกทีว่า “มึงไม่กล้าหรอก”)

หลักการลอยนวลของรัฐนั้น ต้องทำในนามของรัฐหรือประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ด้วยเหตุดังนั้นชาตินิยมจึงมีความสำคัญอย่างมากในรัฐไทย แต่ต้องเป็นชาตินิยมที่ทำให้เกิดการลอยนวลได้สะดวก ไม่ใช่ชาตินิยมที่ปล่อยให้ประชาชนเป็นใหญ่

นี่เป็นข้อบังคับที่ดูไม่น่าจะยากอะไรของรัฐลอยนวล เพราะรัฐเป็นผู้ให้ความหมายแก่สิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชนเอง อย่าลืมว่าไทยเป็นหนึ่งใน 48 ประเทศทั่วโลก ที่ลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์กรสหประชาชาติเป็นกลุ่มแรก จนเรามีวันฉลองสิทธิมนุษยชนทุกปีมาตั้งแต่ พ.ศ.2492 แต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีก็อธิบายว่า คอมมิวนิสต์คือผู้ทำลายสิทธิมนุษยชน

ฉะนั้น เราจึงต้องต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ทุกวิถีทาง เพื่อรักษารัฐไทยเอาไว้ให้เป็นผู้อำนวยสิทธิมนุษยชนต่อไป

แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะองค์ประกอบของการประกอบสร้างรัฐไทยไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ มีคนหน้าใหม่โผล่เข้ามาในความสัมพันธ์เชิงอำนาจอยู่เรื่อยๆ หลังนโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ กลุ่มทุนขยายตัวจากลูกกะจ๊อกของนักการเมืองมาเป็นกลุ่มอิสระในตัวเอง กลุ่มทุนเล่นเกม “ลอยนวล” ได้เก่งไม่แพ้กลุ่มอื่น เขาสามารถละเมิดสิทธิสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนได้อย่างลอยนวลเสมอมา เพราะการกดขี่เอารัดเอาเปรียบประชาชนของเขา ทำไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของรัฐ การปล่อยน้ำเสียลงทางน้ำสาธารณะจึงทำในนามของรัฐ ไม่ต่างจากการจับคอมมิวนิสต์ไปเผาในถังแดง


ปัญหามาอยู่ที่ว่า นับวันกลุ่มทุนมักใช้หลักการ “ลอยนวล” เพื่อประโยชน์ส่วนตัวอย่างโจ่งแจ้งเกินไป เช่น ขับรถชนตำรวจแล้วลากไปร้อยเมตร, อารมณ์เสียจึงขับเบนซ์ชนคนรอรถเมล์, หรือล่าเสือดำ ฯลฯ ไม่มีทางจะอ้างประโยชน์ของรัฐได้เลย แม้กระนั้นก็มีทีท่าว่าจะอาศัยหลักการ “ลอยนวล” หลุดรอดจากความผิดไปได้ โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร สร้างความอึดอัดให้แก่องค์ประกอบสร้างส่วนอื่นของรัฐโดยไม่จำเป็น

รัฐลอยนวลจึงถูกอำนาจในองค์ประกอบสร้างของรัฐเองบ่อนทำลายลงไปมากขึ้น และบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้ไม่จำกัดแต่เฉพาะในกลุ่มทุน แต่ซับซ้อนมากขึ้นจนแยกระหว่างคนที่ควรลอยนวลและไม่ควรลอยนวลได้ยาก ผมจะยกตัวอย่างกรณีสังหารหมู่ใน พ.ศ.2553 ในภายหน้า

โดยไม่ต้องอธิบายให้มากความ ก็เห็นนะครับว่า รัฐลอยนวลแบ่งคนออกเป็นสองประเภท คือคนที่อยู่ในองค์ประกอบสร้างของรัฐ กับประชาชนทั่วไป ซึ่งสมัยก่อนไม่ได้จัดองค์กรเป็นกลุ่มก้อนนัก จึงยากที่จะเผยอขึ้นไปเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสร้างของรัฐ แต่ปัจจุบัน รู้จักการจัดองค์กรดีขึ้น แม้กระนั้นก็ยังไม่พอจะแทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบสร้างของรัฐได้อย่างมั่นคงนัก ในสภาวะเช่นนี้แหละ ที่รัฐดำรงอำนาจอยู่ได้ด้วยการ “ลอยนวล”

และโดยไม่อธิบายให้มากความเหมือนกัน กลไกรัฐทุกส่วนย่อมถูกใช้กับคนสองกลุ่มนี้แตกต่างกัน ตราบเท่าที่คนกลุ่มข้างบนสามารถอ้างได้ว่ากระทำในนามของรัฐ การกระทำของเขาก็ลอยนวลได้เสมอ ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆ ในขณะที่คนกลุ่มข้างล่างย่อมเป็นไปตรงกันข้าม และเป็นเหยื่อของการกระทำของคนข้างบน ผมขอย้ำว่ากลไกรัฐทุกส่วนจริงๆ ไม่มีส่วนไหนหรอกที่ถือว่า “พึ่งได้” เพราะทุกส่วนล้วนมีบทบาทในการรักษาให้รัฐลอยนวลต่อไปได้ทั้งนั้น

ผมคิดว่า รัฐลอยนวลใช้เป็นตัวแบบในการอธิบายรัฐไทยได้ดีกว่ารัฐพันลึก เพราะรัฐพันลึกใช้ได้ดีกับรัฐที่องค์ประกอบสร้างของรัฐอยู่ตัวมานานพอสมควรแล้ว รัฐธรรมนูญ, กฎหมาย, แบบปฏิบัติประชาธิปไตย ล้วนลงตัวแล้ว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ “หน้าสวย” ของรัฐพันลึกมีผลลงมาถึงร่างกายซึ่งไม่กลวงด้วย จะรักษาอภิสิทธิ์ขององค์ประกอบสร้างของรัฐอย่างไรได้นอกจากดำดิ่งลงไปที่ก้นบึ้งเพื่อให้มองไม่เห็น สร้างรัฐที่คุมอำนาจสูงสุดไว้ข้างล่างเป็นรัฐพันลึก

นั่นคือเหตุผลที่หลังการอภิปรายเรื่องรัฐพันลึกไทย ผู้ฟังบางคนจึงอุทานว่านั่นมันรัฐพันตื้นนี่หว่า กล่าวคือมองเห็นได้ถนัดตาทั้งนั้น ผิดกับรัฐลอยนวล ที่การลอยนวลนั้นมักทำกันอย่างโจ่งแจ้ง กลไกรัฐทุกส่วนต่างออกมาประสานสอดรับการลอยนวลนั้นอย่างไม่ปิดบังอำพรางใดๆ (จนบางครั้งทำให้ประชาชนหน้าชาไปเลย) อาจารย์ Haberkorn อธิบายว่าเพื่อเป็น “บทเรียน” (pedagogical) ซึ่งก็คงใช่บางส่วน

แต่ผมคิดว่าที่สำคัญกว่าก็เพราะมันเป็นวิถีปกติของการประกอบสร้างรัฐลอยนวลต่างหาก รัฐลอยนวลก็ต้องลอยนวลให้เห็นสิครับ ไม่อย่างนั้นรัฐจะมีอำนาจอยู่ได้อย่างไร

การสังหารหมู่ประชาชนในเมษายน-พฤษภาคม 2553 กระทำกันกลางเมือง ซ้ำแทบจะมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ ปรากฏการณ์อย่างนี้ไม่ได้เกิดในรัฐลอยนวลไทยเป็นครั้งแรก แต่เกิดมาหลายครั้งแล้ว หากทว่าทุกครั้งก็จะรีบออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาทันที กฎหมายลอยนวลเช่นนี้ดำรงความศักดิ์สิทธิ์มาได้แม้ภายใต้รัฐบาล “ประชาธิปไตย” ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า ประชาธิปไตยหรือเผด็จการไม่เกี่ยว แต่รัฐต้องรักษาหลักการลอยนวลไว้ต่างหาก

ด้วยเหตุใดก็ตามที่ทำให้รัฐบาลซึ่งสั่งการสังหารหมู่ไม่ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นผลให้รัฐบาลนั้นตกที่นั่งลำบาก เท่าๆ กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากนั้นก็ตกที่นั่งลำบากเหมือนกัน เพราะทุกฝ่ายที่เข้าถึงอำนาจรัฐได้ย่อมรู้ดีว่า เรื่องนี้ต้องลอยนวล เพราะหากไม่ลอยนวลความสัมพันธ์เชิงอำนาจขององค์ประกอบสร้างของรัฐจะสั่นคลอนไปทุกส่วน และความเป็นรัฐลอยนวลก็จะไม่มั่นคงอีกต่อไป

แค่นักการเมืองสองสามคนที่จะต้องติดคุกนั้นเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้านักการเมืองติดคุกเพราะเรื่องนี้ได้ ทหารอีกจำนวนมากที่ปฏิบัติการสังหารหมู่ในครั้งนั้นก็ต้องติดคุกด้วย คราวนี้เรื่องเริ่มจะไม่เล็กเสียแล้ว ไม่ใช่เพราะนักการเมืองหรือทหารติดคุกไม่ได้ แต่ทั้งนักการเมืองและทหารต่างอ้างว่าการสังหารหมู่ในวันนั้น เป็นการกระทำเพื่อปกป้องรัฐ (ทำในนามของรัฐ) ให้ไม่ต้องจำนนต่ออันธพาลทางการเมือง ตรงตามหลักการลอยนวลของรัฐทุกอย่าง

หากการกระทำของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในกลไกของรัฐ ทั้งกระทำในนามของรัฐด้วย จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อกฎหมายและประชาชน รัฐลอยนวลก็พังลงทั้งหมด

ในขณะที่คดีดำเนินไปอย่างย้อนยอก สร้างความอึดอัดแก่กลไกของรัฐทุกส่วน ก็เกิดการรัฐประหารของกองทัพขึ้น ผู้เข้ามามีส่วนแบ่งอำนาจ (อย่างออกหน้า) ทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด ต่างมีส่วนต้องรับผิดชอบมากหรือน้อยกับการสังหารหมู่ทั้งสิ้น และในภาวะไม่ปกตินี้ คดีก็ถูกนำไปสู่ภาวะลอยนวลจนได้ แม้อย่างอุจาดไปบ้าง แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า ลอยนวลกลางแดดหรือความอุจาดเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของรัฐลอยนวล

กรณีสังหารหมู่ 2553 นั้นน่าสนใจเป็นพิเศษ แม้ในที่สุดลงเอยที่การลอยนวลเหมือนเคย แต่ย้อนกลับไปไล่ดูตั้งแต่ต้นก่อนที่จะถึงจุดลอยนวล จะเห็นความแตกต่างจากการละเมิดประชาชนที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด มันไม่เรียบง่ายเหมือนแถลงการณ์ฉบับเดียวจากกระทรวงมหาดไทย หรือทำเนียบรัฐบาล แล้วก็ลอยนวลได้

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่าเพราะมันสะท้อนพลวัตภายในของรัฐลอยนวล คือความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในการประกอบสร้างของรัฐไทย และทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีอยู่เดิมไม่อาจดำรงอยู่อย่างตายตัวเช่นนั้นได้ และด้วยเหตุดังนั้นองค์ประกอบสร้างหลายส่วนจึงขยับขยายอำนาจของตนไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ก่อนที่รัฐลอยนวลจะถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบไปมากกว่านี้



ที่มา: www.matichon.co.th/article/news_1112676

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.