Posted: 01 Sep 2018 02:08 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-09-01 16:08


อนินท์ญา ขันขาว

พหุวัฒนธรรม (MULTICULTURAL) คือ การอยู่รวมกลุ่มของคนที่มีความหลากหลายทางด้านต่างๆ เช่น ภาษา ศาสนา การแต่งกาย หรือสิ่งที่มีความหลาหลายมาผสมกลมกลืนกัน แต่อาจจะไม่กลมกลืนกันสักทีเดียว ซึ่งพหุวัฒนธรรมถูกนำมาเปรียบเทียบเป็นสิ่งต่างๆเพื่อให้เกิดภาพอย่างชัดเจน เช่น มีการเปรียบเทียบว่าเป็น พิซซ่า ที่มีการผสมโดยใช้ส่วนผสมต่างๆ และทำให้เกิดความรู้สึกว่าสิ่งนี้ คือ พิซซ่า หรือในแคนาดา มีการเปรียบเทียบว่าคือ สลัด ที่มีการผสมกันของผัก ที่หลากสีหลากรสชาติ และถูกมองว่าสิ่งนี้คือสลัด หากลองพิจารณาอย่างประเทศไทย พื้นที่ภาคใต้มีการเรียกชุมชนบางชุมชนว่า “ชุมชนไข่แดง” ซึ่งผู้เขียนคิดว่าการเปรียบเทียบลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับการเปรียบเทียบของชาติตะวันตก


ชุมชนไข่แดง ในที่นี้คือ พื้นที่ภาคใต้บางหมู่บ้านมีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่เปรียบเสมือนไข่ขาวที่มีมากกว่าไข่แดง ส่วนไข่แดงนั้นเปรียบเสมือน ชาวพุทธ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างกลมกลืม หากไม่มองในประเด็นความรุนแรงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในคำเปรียบเทียบดังกล่าวนี้คือ ทั้งไข่แดงและไข่ขาวมีการรวมกันและถูกมองอย่างกลมกลืมว่า คือ ไข่ แต่หากมองในความรุนแรงนั้น การที่มีการผลิตซ้ำ ว่า ภาคใต้ทะเลาะกันทางศาสนา ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นนี้เป็นปัจจัยที่น้อยมาก และสื่อที่นำเสนอก็อาจจะไม่เสนอข้อมูลในพื้นที่ที่เป็นความจริงแต่ต้องเชื่อฟังคำสั่งรัฐบาลหรือทหารมากกว่า ทำให้คนนอกพื้นที่เกิดภาพลบกับพื้นที่ภาคใต้ และปัจจุบันพูดถึงภาคใต้คนก็นึกถึงระเบิด ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วความเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้และคนท้องถิ่นมีความแตกต่างจากสื่อมากจากการได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสจริง แท้จริงแล้วความหลากหลายทางวัฒนธรรมสามารถที่จะรวมกันได้เป็นหนึ่งเดียวแม้ว่าจะไม่กลมกลืนแต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการยอมรับ รับฟัง เคารพ และไม่ตัดสินว่าใครแตกต่าง หรือไม่ดูถูกเหยียดหยามว่าคนนั้นต่ำ ด้อยกว่าตน

ทั้งนี้อัตลักษณ์จึงมีความสำคัญในการที่ปัจเจกมีความสำคัญกับสังคม กำหนดบทบาทหน้าที่และคุณค่า ซึ่งมีการใช้สัญลักษณ์(Symbols) โดยการแสดงออกซึ่งความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องในมิติภายใน มีการแบ่ง อัตลักษณ์ทางสังคมออกเป็นสองระดับ คือ อัตลักษณ์บุคคล(Personal identity) และอัตลักษณ์ทางสังคม(Social identity) ทั้งนี้อัตลักษณ์ สามารถแสดงออกมา ทั้งสิ่งที่เป็นตัวเองและสิ่งที่ถูกคนอื่นมอง อธิบายง่ายๆ คือสิ่งนี้ คือตัวเรา แบบของเรา ส่วนสิ่งที่คนอื่นมองหรือตัดสินเรามาอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ถือเป็นลักษณะส่วนบุคคล (Personality) เช่นเดียวกัน อัตลักษณ์ทางสังคมของแต่พื้นที่มีความแตกต่างกัน


ประเด็นที่น่าสนใจนอกจากการที่ทุกสังคมมีความหลากหลายวัฒนธรรม สิ่งที่ในสื่อตะวันตกได้จัดทำนั้นบางอย่างที่เกินจริงในอดีต กลายเป็นจริงแล้วในปัจจุบัน และจะสมจริงมากกกว่านี้ในอนาคต โดยเฉพาะหุ่นยนต์สมัยใหม่ที่ความเสมือนจริงมากยิ่งขึ้น และเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในนามของ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) คือการสร้างสิ่งไม่มีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นจากวิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรม และศาสตร์อื่นๆให้เหมือนสิ่งมีชีวิตจริงๆ ที่ปัจจุบันปี 2018 มีความก้าวหน้าจนรู้สึกว่า ล้ำหน้าและน่ากลัวในขณะเดียวกัน อาทิ Sophia the Robot ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ถูกออกแบบให้มีการแสดงหน้าตาได้หลายอารมณ์และโต้ตอบได้ ทั้งนี้ยังเป็นหุ่นยนต์ที่ได้รับสัญชาติ ซาอุดิอาระเบีย และได้รับสัมภาษณ์ ผ่านรายการโทรทัศน์ แต่แน่นอนว่า ถูกนิยามว่าเป็นหุ่นยนต์ ไม่ใช่คน ซึ่งตรงนี้เป็นการสะท้อนสังคมเช่นกัน ขนาดมนุษย์ด้วยกันเองยังคงมีการเหยียด และดูถูกกัน และเลือกที่จะไม่ยอมรับในคนบางกลุ่มเช่นกัน หากอนาคต มีหุ่นยนต์มากขึ้นจริงๆ สังคมจะเป็นเช่นไร

นอกจากนี้มีเรื่องของ การพ้นความเป็นมนุษย์ (Transhumanism) หากใช้คำว่าพ้นมนุษย์อาจจะดูรุนแรงไป transhumanism มีความน่าสนใจและหวาดเสียวในขณะเดียวกัน คือ มีการคิดค้นการฝังบางสิ่งที่ล้ำหน้า ลงในร่างกายเพื่อใช้ควบคุมสิ่งต่างในชีวิตประจำวันเพื่อความสะดวกรวดเร็วและแก้ปัญหา เช่นฝังอุปกรณ์ลงในร่างกาย(Cybernatics) เพื่อแก้ไขปัญหาการลืมกุญแจ ซึ่งเกิดขึ้นจริงแล้ว ส่วนตัวมองว่าในความเป็นจริงต้องขนาดนี้หรือไม่ แต่หากมองอีกมุมมันสะท้อนให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์และสมองของมนุษย์ถูกพัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้น จากสิ่งที่เคยเป็นจินตนาการอาจเป็นไปไม่ได้แต่ก็เป็นไปได้แล้ว ถือว่ามนุษย์ประสบความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง

เมื่อถึงวันที่เราไม่สามารถแยกออกได้ว่าใครเป็นมนุษย์จริงหรือไม่ก็น่าคิดว่า อนาคตที่เราอาจจะยังมีชีวิตอยู่ หรือไม่มีชีวิตอยู่แล้วนั้น แนวคิดพหุวัฒนธรรมในยุคนั้นจะมีลักษณะเช่นไร เพราะว่าขนาดมนุษย์ด้วยกันเองยังไม่มีความเท่าเทียมกันในทุกเรื่อง พหุวัฒนธรรมในหลายๆพื้นที่ยังคงมีปัญหา ถามว่าในโลกแห่งอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น คนกับสิ่งประดิษฐ์ใหม่ และ Transhuman จะอยู่ร่วมกันอย่างไรอย่างสันติสุข และเกิดปัญหาน้อยที่สุดได้หรือไม่


อ้างอิง
1.ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสังคมวิทยา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. งานเสวนา MUITI ED TALKS ว่าด้วยความคิดและทิศทางพหุวัฒนธรรมศึกษาในโลกศตวรรษที่ 21 บรรยาย โดย 1.รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล 2. อ.ดร.ภักดีกุล รัตนา 3. อ.ดร.ออมสิน จตุพร
3.พุทธในหมู่มุสลิม: ความอยู่รอดของชุมชนไข่แดง สมอุษา บัวพันธ์ และ FT Media & Friend

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.