Posted: 03 Sep 2018 10:53 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-09-04 12:53


ซีรีส์บทสัมภาษณ์ 'Thailand Unsettled' ชุดนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างประชาไทและ New Mandala ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยวิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก Coral Bell มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมไทยหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560

โดยตอนแรกนี้ เราจะเริ่มกันที่ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาบทบาทของกองทัพและ กอ.รมน. ต่อการเมืองไทย จะมาอธิบายและคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเธอออกตัวเป็นเรื่องยากที่จะประเมินได้อย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวงทองค่อนข้างมั่นใจคือบทบาทของกองทัพและ กอ.รมน. ในการควบคุมและบ่อนเซาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะยังคงดำเนินต่อไป และที่มั่นใจยิ่งกว่าคือระบอบการปกครองของไทยภายหลังการเลือกตั้ง ไม่ใช่ระบอบที่เรียกว่า 'ประชาธิปไตย' แน่นอน

ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับแปลภาษาอังกฤษได้ที่ New Mandala


ความอ่อนแอของภาคประชาชนและสื่อมวลชนส่งผลให้รัฐบาลทหารสามารถอยู่ในอำนาจได้นานกว่าที่เคยเป็นมา

หลังการเลือกตั้งการเมืองไทยจะมีลักษณะ Military Guarded Authoritarianism ทหารจะยังมีอำนาจปกป้องระบอบที่ตนเองสร้างขึ้น แต่จะไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพราะต้องแบ่งอำนาจกับนักการเมือง
หลังการเลือกตั้งกองทัพและชนชั้นนำจารีตนิยมสามารถใช้กลไก กอ.รมน. ในการบ่อนเซาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้

เพราะภาคประชาสังคมที่อ่อนแอ


กับคำถามที่ค้างคาใจผู้คนในสังคมไทยที่ว่า เหตุใดคณะรัฐประหารชุดนี้จึงอยู่ได้นานกว่าการรัฐประหาร 2 ครั้งก่อน (ปี 2534 และปี 2549) พวงทองยังคงยืนยันในคำตอบเดิมที่เคยอธิบาย การอยู่นานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นดอกผลจากความอ่อนแอของภาคประชาชนและการแตกแยกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ทำให้ประชาชนในแต่ละฝ่ายสามารถถูกระดมขึ้นมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของอีกฝ่ายได้ง่าย โดยภาคประชาชนในที่นี้ พวงทองหมายถึงเอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชน และโดยเฉพาะสื่อมวลชน ซึ่งไม่ว่า คสช. จะทำอะไรที่เป็นปัญหา ก็จะยังเห็นสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งให้การสนับสนุนและปกป้องตลอดเวลา มวลชนที่ติดตามสื่อนั้นๆ ก็จะถูกโน้มน้าวให้สนับสนุนรัฐบาลทหารด้วย อีกด้านหนึ่งนักการเมืองก็มีส่วนปลุกปั่นให้เกิดสถานการณ์รัฐประหารด้วย

ภาวะเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถ้าย้อนกลับไปดูกรณี 14 ตุลาคม 2516 กรณีพฤษภาคม 2535 ภาคประชาชน พรรคการเมือง สื่อมวลชน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการต่อต้านทหาร แต่สิ่งที่เห็นตอนนี้คือฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังมีสื่อมวลชนคอยสนับสนุน สร้างความชอบธรรมให้ตลอดเวลา

“ข้อสำคัญคือเอ็นจีโอหรือภาคประชาสังคมกลุ่มใหญ่ที่สุดในสังคมไทย กลุ่มตระกูล ส. คุณจะเห็นคนอย่างหมอประเวศ วะสี ยังไปร่วมโครงการประชารัฐ ไทยนิยม นี่คือภาคประชาสังคมที่ใหญ่มากๆ ก็ยังให้การสนับสนุนและเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหารอยู่ ขณะนี้เรามีรัฐบาลทหารที่ห่วยที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย แต่ถ้าประชาชนอ่อนแอก็ยากที่จะต่อต้านและทำให้เขาลงจากอำนาจได้

“กรณี คสช. ดิฉันคิดว่าเขาวางแผนมาอย่างดีตั้งแต่วันที่ประกาศกฎอัยการศึก สยบการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงทุกจุด ทุกจังหวัด ทันทีที่ประกาศรัฐประหาร ดิฉันคิดว่ามีทหารเคลื่อนเข้าไปในหมู่บ้านสยบคนเสื้อแดง คนเสื้อแดงที่ถนนอักษะก็ถูกสยบหมด ผู้นำก็ถูกคุมตัวไว้หมด เขามีบทเรียนว่าจะทำอย่างไรให้ขบวนการเสื้อแดงไม่สามารถก่อตัวขึ้นมาได้อีก เพราะเขาเริ่มเห็นแล้วว่าถ้าปล่อยให้มีการรวมตัวกัน อันตรายสำหรับพวกเขา พวกเขาพยายามวางพื้นฐานที่จะเป็นโครงสร้างทางอำนาจของเขา ที่จะทำให้เขามีอำนาจอยู่ได้ยาวนาน และถึงแม้ว่าหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ต่อให้เราไม่มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากกองทัพ แต่อำนาจที่เขาสถาปนาผ่านกลไกทางรัฐธรรมนูญทั้งหลายก็จะยังอยู่ที่จะทำให้เขามีอำนาจอยู่ได้”

การเลือกตั้งในพม่า-มาเลเซีย มีบริบทแตกต่างจากไทย

เหลียวออกไปดูประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกและทางใต้ที่ใช้การเลือกตั้งผลักดันทหารและพรรคการเมืองที่ครองอำนาจยาวนานออกจากอำนาจ หากนำปรากฏการณ์นี้มาจับกับสังคมไทยจะช่วยขยายภาพการเมืองไทยหรือไม่

พวงทองเห็นว่าปรากฏการณ์ที่ประชาชนไทยจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้เกิดรัฐประหารและต่อต้านการเลือกตั้งมีความแตกต่างจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในมาเลเซียและพม่า

“ต้องเข้าใจว่าการเมืองของสามประเทศนี้มีประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน ในกรณีพม่าเห็นชัดเจนว่ารัฐบาลทหารอยู่มายาวนาน ก่อนที่จะเปิดให้มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลพลเรือนในปี 2554 ก็มีการลุกฮือประท้วงของประชาชนอยู่หลายครั้ง มันชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่ในพม่าไม่ต้องการรัฐบาลทหารอีกแล้ว หลังจากอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารมาตั้งแต่ปี 1962 หรือปี 2505 เขาเห็นเลยว่ามันมีแต่ความล้มเหลว ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง ไม่สามารถแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยได้ ขณะที่ของเราไม่ใช่ เราสลับกันระหว่างการเป็นรัฐบาลทหารกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

“กรณีมาเลเซีย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการที่คนหันไปเลือกพรรคฝ่ายค้านเดิมที่นำโดยมหาเธร์ โมฮัมหมัด เพราะคนทนไม่ไหวแล้วกับการคอร์รัปชั่นของพรรคอัมโน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การนำของนาจิบ ราซัก แต่ถามว่าเขารังเกียจการเป็นผู้นำของอัมโนในฐานะพรรคที่เป็นตัวแทนคนมาเลย์หรือไม่ ดิฉันไม่ค่อยแน่ใจ เพราะจริงๆ มหาเธร์เป็นตัวแทนที่คนมาเลย์สนับสนุนมาตลอด แต่ปฏิกิริยาที่มีต่ออัมโนเป็นเรื่องการคอร์รัปชั่น แล้วเขาก็อยู่กับอัมโนมาตั้งแต่ก่อนที่มาเลเซียจะได้รับเอกราชที่สมบูรณ์จากอังกฤษด้วยซ้ำไป อัมโนเป็นพรรคที่เป็นรัฐบาลมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 1957 แล้วยิ่งนับวันอัมโนก็ไม่ดีขึ้น แม้ว่าผลการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ก็อยู่ในภาวะที่ถดถอยมาโดยตลอด แต่ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถสรุปบทเรียนได้ นี่จึงถือเป็นการให้บทเรียนกับกลุ่มการเมืองสองกลุ่มคือในพม่าและมาเลเซียที่บริหารประเทศมายาวนาน แล้วก็ไม่สนใจความรู้สึกและความต้องการของประชาชน”

ในกรณีไทย พวงทองแสดงทัศนะว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นเพราะประชาชนหมดศรัทธากับระบอบการเมืองแบบรัฐสภาและนักการเมือง ซึ่งมีสาเหตุ 2 ประการ หนึ่งคือตัวนักการเมืองที่ไม่อินังขังขอบกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาชนและปัญหาคอร์รัปชั่น และสองคือในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีกระบวนการทำลายความชอบธรรมของระบบการเมืองแบบรัฐสภา ที่มองว่าผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่มีคุณภาพ ซึ่งหลายๆ อย่างเป็นการสร้างของกลุ่มที่ต้องการเข้ามาควบคุมระบบการเมือง

Military Guarded Authoritarianism


ประเด็นต่อมาคือหลังการเลือกตั้งที่ (อาจ) จะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า จะเรียกระบอบการปกครองของไทยว่าอะไร พวงทองกล่าวถึงแนคิดของประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้นิยามระบอบที่เป็นอยู่นี้ว่า Military Guided Authoritarianism ระบอบอำนาจนิยมที่มีทหารเป็นผู้นำ แต่พวงทองเสนอคำว่า Military Guarded Authoritarianism หมายถึงจากการที่ทหารเป็นผู้สั่งหันซ้ายหันขวา เมื่อเป็นระบบ Guardian ทหารอาจไม่สามารถชี้นิ้วได้ทุกอย่าง กล่าวคือถ้าหลังเลือกตั้ง ทหารไม่สามารถส่งคนของตัวเองเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่เป็นผู้นำพลเรือนที่เป็นที่ยอมรับของทหาร กองทัพจะไม่สามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ข้อสำคัญคือเมื่อเข้าสู่ระบบรัฐสภา อำนาจของทหารที่คิดว่าจะคุมนักการเมืองได้เบ็ดเสร็จจะเบาลง อำนาจต่อรองของนักการเมืองจะมากขึ้น ดังนั้น ถ้าเป็นรัฐบาลพลเรือนหลังการเลือกตั้งก็น่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า Military Guarded Authoritarianism ซึ่งทหารจะปกป้องระบอบนี้ อำนาจในการรัฐประหารจะยังอยู่กับกองทัพ ยังได้ในสิ่งที่ต้องการ เพียงแต่จะไม่ง่ายอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้

“แต่ไม่มีทางและไม่สามารถเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้เลยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560”

ความน่าจะเป็นหลังเลือกตั้ง


ถามว่าดีลการเมืองระหว่างทหารและนักการเมืองจะประสบความสำเร็จหรือไม่ พวงทองประเมินว่าจากการเลือกตั้งสองสามครั้งหลัง พรรคของทักษิณ ชินวัตรก็ยังกลับมาได้อีก อันเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลทักษิณในอดีตที่ผูกใจคนได้นาน จะเห็นว่าชาวบ้านเลือกเพราะนโยบายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน ดังนั้น สิ่งที่ คสช. ร่วมมือกับพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อซื้อใจชาวบ้านด้วยโครงการทางเศรษฐกิจ มันคือการอัดฉีดเงินเข้าสู่ท้องถิ่นด้วยเงินของรัฐบาล

“ถามว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ดิฉันคิดว่ามันไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เมื่อไปถามชาวบ้านที่มีประสบการณ์จากโครงการประชารัฐ คูปองรายเดือน 300 บาท ชาวบ้านที่ดิฉันไปเจอบ่นทุกคนว่าคนที่ได้ประโยชน์คือบริษัทใหญ่ ชาวบ้านก็เห็นว่าในที่สุดแล้วคนที่กินรวบคือบริษัทใหญ่ๆ ที่เข้าไปร่วมมือกับ คสช. ตัวเขาเองบอกว่าไม่ได้ช่วยอะไรเขาสักเท่าไหร่ 300 บาท ยังผูกใจคนไม่ได้ แต่แน่นอนว่าพรรคการเมืองที่ คสช. ไปลงทุนช่วยเหลือ ต้องชอบแน่ เพราะเขาไม่ต้องลงทุนอะไร แต่กลับมีโครงการเหล่านี้ไปช่วยหาเสียง

“ดิฉันคิดว่าเสียงของเพื่อไทยคงลดลง แต่คงไม่ถึงขนาดว่าจะทำให้เพื่อไทยพ่ายแพ้เป็นพรรคเสียงส่วนน้อย แล้วถ้าผลออกมาว่าเพื่อไทยยังชนะอยู่ ดิฉันคิดว่าสิ่งที่นักวิชาการ คนชั้นกลาง ที่ต่อต้านคนเสื้อแดง ดูถูกคนต่างจังหวัด ต้องเปลี่ยนทัศนะเสียทีว่าคนเหล่านี้ยอมแลกเสียงตัวเองเพื่อผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ สิ่งที่ คสช. พยายามทำผ่านโครงการประชารัฐก็หวังซื้อเสียงเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าเขายังไม่เลือก แสดงว่าเขาเห็นว่านโยบายระดับชาติสำคัญกว่าโครงการเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณอัดฉีดเข้าไปในหมู่บ้าน”
อย่างไรก็ตาม พวงทองเห็นว่าโอกาสที่เพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเป็นเรื่องยาก ด้วยระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบมาป้องกันไม่ให้เพื่อไทยได้เสียงแบบถล่มทลาย ขณะที่พรรคการเมืองขนาดเล็กที่เคยร่วมมือกับเพื่อไทยก็คงประเมินแล้วว่าต่อให้เป็นรัฐบาลก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ต้องเผชิญกับการสกัดกั้นสารพัดเช่นที่รัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรประสบ ยังไม่นับว่าอาจมีวิธีอื่นๆ อีกที่จะเล่นงานนักการเมืองที่ไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ดังนั้น โอกาสที่พรรคการเมืองขนาดเล็กอื่นๆ จะร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยก็เป็นเรื่องลำบาก

บทบาทของ กอ.รมน. หลังเลือกตั้ง

ย้อนกลับมาที่งานศึกษาของพวงทองในประเด็นบทบาทของ กอ.รมน. ซึ่งจะยังมีอยู่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง มันเป็นผลจาก พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่ออกในสมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ทำให้ กอ.รมน. ดำรงอยู่เป็นองค์กรถาวรที่มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติรองรับ และยังทำให้กลไก กอ.รมน. หรือกลไกของกองทัพยังมีอำนาจเข้าไปใช้ประโยชน์จากหน่วยราชการทั้งหมดได้ โดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉิน กอ.รมน. มีอำนาจสั่งการ ประสานงาน หน่วยราชการทั้งหมดได้ด้วยการอ้างว่าเป็นความมั่นคงภายใน ซึ่งมีการตีความที่กว้างมากจนไม่มีขอบเขต

ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ภารกิจของ กอ.รมน. มีอยู่ 4 ประการหลักๆ

1.กดปราบควบคุมและสยบการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนฝ่ายตรงข้าม

2.จัดตั้งระดมมวลชนของตนเองขึ้นผ่านกลไกการอบรม การศึกษา วิทยุ สื่อมวลชน ทั้งกลุ่มอนุรักษนิยมและแม้กระทั่งมวลชนอิสระ

3.การเข้าไปมีบทบาทในการควบคุมชีวิตทางการเมืองของประชาชนในทุกระดับ ทั้งในเมืองและชนบท

“รัฐไทยไม่เชื่อการปล่อยให้ประชาชนเป็นพลเมืองอิสระ แต่มองว่าประชาชนต้องเป็นพลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเจตนารมย์หรืออุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐ”

4.การให้อำนาจทหารเหนือหน่วยงานราชการทั้งหลาย

“กอ.รมน. ได้รับงบประมาณจากสำนักงบประมาณโดยตรงและเพิ่มขึ้นทุกปี นี่คือมรดกที่สำคัญของกองทัพที่จะทิ้งให้อยู่กับสังคมไทยในระยะยาว ฉะนั้น ถ้าจะปฏิรูปกองทัพ คุณหลีกเลี่ยงที่จะไม่พิจารณาบทบาทของ กอ.รมน. ไม่ได้ ซึ่งบทบาทของมันแทรกซึมไปทุกหน่วยงานราชการ

“สรุปคือหลังการเลือกตั้งกองทัพและชนชั้นนำจารีตนิยมสามารถใช้กลไก กอ.รมน. ในการบ่อนเซาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ทั้งในแง่การโน้มน้าวระดมมวลชนออกมาต่อต้านหรือในทางอุดมการณ์”


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.