Posted: 22 Mar 2017 04:42 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
เวทีสัมมนา กระท่อม-กัญชา ถกประเด็นด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ผู้ร่วมสัมมนาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เห็นพ้องแก้ไขสถานะกระท่อม-กัญชาในกฎหมาย รัฐต้องเอื้อให้มีการวิจัยอย่างจริงจัง วอนสังคมไทยลดมายาคติกัญชารักษามะเร็ง ในแง่สังคมควรดูเสรีกัญชาในสหรัฐฯ เป็นตัวอย่าง
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2560 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดให้มีงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “กระท่อมกัญชา ข้อเท็จจริงสำหรับประชาชน” โดยมี อ.ภก. คณิต สุวรรณบริรักษ์ รศ.ภก. ธงชัย สุขเศวต จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ภญ. นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี จากศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชฯ จุฬาฯ และไพศาล ลิ้มสถิตย์ จากศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากร
ฟลอร์คำถามโต้ประเด็นกัญชาในการแพทย์ หนุนเพิ่มวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้ ดูตัวอย่างสหรัฐฯ เสรีกัญชาเป็นตัวอย่างด้านสังคม
งานสัมมนาวิชาการเป็นที่สนใจจากหลายภาคส่วน ทั้งบุคลากรจากสายงานสุขภาพ ผู้ป่วยมะเร็งที่มีควาสนใจเกี่ยวกับการนำกัญชามาใช้ผสมผสานกับการรักษาสมัยใหม่ และบุคคลทั่วไปจำนวนไม่น้อย มีการแบ่งปันความเห็นจากหลากหลายแง่มุม โดยประเด็นที่เห็นต้องกันนั้นคือการให้นำกัญชามาวิจัยทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น ไปจนถึงการให้มีการวิจัยในมนุษย์ในไทย อย่างไรเสีย การกำหนดนโยบายควรมองในภาพรวมต่อบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองด้วย ควรเข้าใจว่าการวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ แต่ข้อบังคับ กฎหมาย รวมไปถึงกลไกการดำเนินคดียาเสพติดก็เป็นข้อปัญหาที่ควรจะต้องพิจารณา
ผู้ป่วยมะเร็งที่เข้าร่วมสัมมนา ได้ให้ความเห็นว่า การใช้กัญชาเพื่อประกอบการรักษามะเร็งนั้นไม่ควรจะรอกฎหมาย ประเด็นกัญชาในเมืองไทยนั้นมีนัยยะแอบแฝงทางการเศรษฐกิจการเมืองอยู่ มีผู้ป่วยมะเร็งที่พร้อมใจเข้ารับการวิจัยในมนุษย์อยู่จำนวนมาก และสนับสนุนให้ทำการวิจัยกับมนุษย์ให้เร็วที่สุด
ผู้เข้าร่วมงานสัมมนารายหนึ่งใช้นามว่า เพชร แพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้กล่าวว่า ตนกังวลต่อความเชื่อที่ว่า กัญชารักษามะเร็ง เนื่องจากเป็นคำกล่าวที่เกินจริง และการพูดคุยควรอยู่บนพื้นฐานการชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสียซึ่งการทำงานวิจัยนั้นเป็นทางออกเดียวต่อการค้นหาคำตอบดังกล่าว เบื้องต้น ไทยควรจะดูตัวอย่างจากสหรัฐฯ ที่มีการเปิดเสรีกัญชาในมลรัฐโคโลราโดมาสี่ปีแล้ว ทั้งนี้ยังได้สนับสนุนให้มีการผลักดันให้เกิดการวิจัยอย่างเต็มที่ทั้งในห้องทดลองและกับตัวมนุษย์ แต่ต้องเข้มงวดกับเรื่องของกฎ ข้อบังคับในการใช้กัญชา
“สิ่งที่วงนี้ขาดไปคือไม่ได้เอาโมเดลสหรัฐฯ ที่ใช้กัญชาถูกกฎหมาย แต่ไม่มีการหยิบเอามา เอามาแต่การทดลองในระดับหลอดทดลอง ถ้าไม่พูดว่าเป็นกัญชา แต่เป็นยา x ทำการทดลองกับสัตว์ทดลองแล้วได้ประโยชน์ แล้วจะเอามาใช้กับคนได้ 9 เปอร์เซนต์จะลองมั้ย มันเป็นการรับรู้สื่อของสังคมที่อาจจะนำไปแปลต่อได้ ปัจจุบัน ยาที่มีใช้บรรเทาปวด คลื่นไส้อาเจียน ในผู้ป่วยมะเร็งที่ราคาไม่แพงมีประสิทธิภาพไม่ด้อยกว่ากัญชา และมีการทดลองแล้วแต่ในเวทีสัมมนาไม่มีใครกล่าวถึง ในอเมริกาเก็บบันทึกหมดว่ามีเด็กเรียนไม่จบกี่คน คนออกจากงานกี่คน ปัจจุบัน เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีในโคโลราโดมีการเข้าถึงกัญชามากที่สุดในสหรัฐฯ แล้วเราอยากจะให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นในบ้านเราหรือเปล่า...เรื่องกฎ ข้อบังคับจะต้องเข้มกว่านี้”
“สิ่งที่ผมกังวลคือความเชื่อที่ว่า กัญชารักษามะเร็งได้ มีคนไข้หลายคนที่เชื่อ ถ้าในผู้ป่วยระยะสุดท้ายมันสมเหตุสมผล แต่ในระยะเริ่มต้นที่มีโอกาสรักษาหาย แต่กลับไปใช้กัญชา สิทธิ์ในการเลือกใช้ยามันมี แต่ต้องมีบนพื้นฐานข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่ใช่ข้อมูลด้านเดียว งานวิจัยจะเป็นตัวคำตอบว่าต้องใช้ในปริมาณเท่าไหร่ถึงจะพอเหมาะพอดี เราทิ้งงานวิจัยไม่ได้”
“เรามีเคสที่ใช้แล้วมันไม่ยุบครับ แต่ถ้าใช้บรรเทาอาการ ผมสนับสนุนให้ใช้เต็มที่ แต่อย่าบอกว่าใช้กัญชาเพื่อรักษามะเร็ง แม้แต่หมอที่ออกมาเขียนหนังสือ ณ ปัจจุบันก็อยู่ในกระบวนการสอบสวนทางจริยธรรม เพราะการอ้างอิงเหล่านี้มันเกินจริง ก็คงต้องหาจุดสมดุลระหว่างกัน หมอก็อยากให้คนไข้หาย แต่ก็ต้องพิจารณาผลข้างเคียง หรืออาจารย์จะบอกว่ากัญชาไม่มีผลข้างเคียง ทุกอย่างมีข้อดีและเสีย”
กระท่อม-กัญชา อยู่คู่แพทย์ไทยมานานนม นัก กม. ตั้งข้อเปรียบเทียบต่างประเทศ ชี้ ของไทยควรแก้ไข
คณิต ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้กระท่อมและกัญชาว่า มีการใช้ประโยชน์จากกระท่อมมาอย่างยาวนานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยมีการใช้ผ่านกรรมวิธีต่างๆ เช่น คั่ว ปิ้ง เพื่อลดสารที่เป็นพิษ รวมไปถึงใช้เป็นส่วนผสมในยาแผนโบราณหลายตำรับเพื่อใช้ในการระงับปวด คลายกล้ามเนื้อ แก้ท้องเสีย ลดการไอ ส่วนกัญชานั้นมีการใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์ ศาสนาและเพื่อความรื่นเริงตลอดมาในหน้าประวัติศาสตร์โลก เนื่องจากมีสรรพคุณที่ให้ผลด้านจิตประสาท ในไทยมีบันทึกการใช้ในยาถึง 56 ตำรับเพื่อใช้แก้อาการปวดท้อง พิษไข้และใช้ปรุงอาหาร ในขณะเดียวกันก็มีการนำกัญชาและกัญชงที่มีเส้นใยดี มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทน้อย มาใช้เป็นส่วนผสมในการทำวัสดุก่อสร้าง ชุดเกราะ เป็นต้น
ไพศาล อธิบายความเป็นมาทางกฎหมายว่า การบรรจุกระท่อม เป็นยาเสพติดผิดกฎหมายมีผลบังคับใช้ภายใต้ พ.ร.บ. พืชกะท่อม พ.ศ. 2486 ให้ผู้เสพพืชกระท่อมมีความผิดอาญา ยกเว้นผู้ที่ใช้ประกอบโรคศิลปะและงานวิทยาศาสตร์ เหตุผลที่เกิด พ.ร.บ. ดังกล่าวเนื่องจากรัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีจากฝิ่นที่ตนจัดสรรให้มีการบริโภคอย่างถูกกฎหมาย การเข้ามาของกระท่อมในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจช่วงสงครามโลกครั้งที่สองทำให้รัฐบาลสมัยนั้นสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลเนื่องจากประชาชนหันไปบริโภคกระท่อมที่มีราคาถูกกว่าฝิ่น สำหรับกัญชานั้น เริ่มมี พ.ร.บ. บัญญัติให้เป็นยาเสพติดผิดกฎหมายใน พ.ศ. 2477 โดยห้ามการผลิตและซื้อขาย ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ร่วมกับพืชกระท่อม ใน พ.ร.บ. ยาเสพติด พ.ศ. 2522
ไพศาลได้ยกตัวอย่างการตีความกฎหมายเกี่ยวกับกระท่อมในต่างประเทศว่า ในสหรัฐฯ นั้นมีเพียง 5 มลรัฐที่ควบคุมการเสพและจำหน่าย ออสเตรเลียอนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาและวิจัย มาเลเซียบรรจุกระท่อมไว้ใน พ.ร.บ. สิ่งมีพิษ (Poison Act) มีการควบคุมการนำเข้า - ส่งออก การบริโภคและการจัดจำหน่าย การมีต้นกระท่อมไม่ใช่ความผิดในมาเลเซีย และในนิวซีแลนด์ก็บรรจุกระท่อมไว้ในกฎหมายระดับเดียวกันกับบุหรี่
วิทยากรจากศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ยาเสพติด พ.ศ. 2522 ที่ระบุว่ากระท่อมเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายว่า ขาดเหตุผลทางวิชาการมารองรับ ทำลายภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย สิ้นเปลืองงบประมาณและกำลังคนในการดำเนินคดี รวมไปถึงทำให้เกิดตราบาปกับผู้ถูกดำเนินคดีจากกระท่อม และได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เยาวชนที่เคี้ยวกระท่อมถูกทางเจ้าหน้าที่จับไปเข้าค่ายสำหรับผู้ติดยาเสพติด แต่พอออกมาแล้วกลับติดยาเสพติดประเภทอื่นเพิ่มมาด้วย
ไพศาล เสนอว่าควรจะมี พ.ร.บ. เกี่ยวกับพืชกระท่อมและกัญชาต่างหาก เนื่องจากเป็นกรณีที่ต้องมีระบบการควบคุมแบบใหม่เพราะกระท่อมและกัญชาไม่ได้เป็นสารสังเคราะห์เหมือนกับยาเสพติดประเภทอื่น ควรให้มีการส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาและวิจัย อนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ สุขภาพ ไม่ใช้บทลงโทษอาญาแก่ผู้เสพ ผู้ค้ารายย่อย จัดระบบขึ้นทะเบียนผู้ปลูก โดยให้มีการปลูกจำนวนไม่มาก ใช้มาตรการทางภาษี และการจัดการกันเองภายในชุมชน รวมถึงปรับปรุงกระบวนการการขอใช้กระท่อมและกัญชาในการวิจัย เนื่องจากในปัจจุบันมีกระบวนการที่ใช้เวลายาวนานเกินไปในการขออนุญาต และยังไม่มีการอนุญาตให้ใช้วิจัยกับมนุษย์ ซึ่งถือเป็นความผิดทางอาญาที่เข้าข่ายการเสพ และยุยงให้เสพ
แสดงความคิดเห็น