Posted: 22 Mar 2017 05:49 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ภาพจากองค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2559 องค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ขออนุญาตเรียกตนเองว่าปาตานีได้ไหมครับ” ซึ่งเป็นประเด็นสืบเนื่องจากกรณีนักศึกษาชูป้ายผ้าข้อความดังกล่าวในขบวนพาเหรดงานมหกรรมกีฬาจันทน์กะพ้อเกมส์เมื่อวันที่ 11 มี.ค.จนกลายเป็นประเด็นข่าวและสร้างการถกเถียงในวงกว้าง (อ่านที่นี่) การสานเสวนาครั้งนี้มี รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch เจ้าของวิทยานิพนธ์เรื่อง "การเมืองของถ้อยคำในชายแดนใต้/ปาตานี: การประกอบสร้าง 'สันติภาพ' ในความขัดแย้งชาติพันธุ์การเมือง” อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และฮาซัน สารีมา นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
รอมฎอน ปันจอร์ ฉายให้เห็นพัฒนาการของถ้อยคำการนิยามตนเองของนักกิจกรรมในพื้นที่ จากการใช้คำว่า SOUTH สู่การใช้คำว่า PATANI รอมฎอนให้ความเห็นว่าคำว่า ปาตานี เป็นคำใหม่หมายถึงใหม่ในรูปที่ถูกใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองรอบใหม่ ซึ่งกระแสการใช้คำว่าปาตานีเริ่มจากการรณรงค์ของกลุ่มนักศึกษานักกิจกรรมที่จัดงานงานเสวนา “สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่อย่างไร” หรือเป็นที่รู้จักกันในนามเวที สาตูปาตานี SATU PATANI นั้นคือจุดเริ่มต้นของการหยิบใช้คำว่า ปาตานี ในรอบใหม่ (อ่านที่นี่) รอมฎอนเน้นย้ำว่า ปาตานี เป็นคำที่สำคัญที่มีความเป็นมาและข้อถกเถียงจากอดีตสู่ปัจจุบัน เป็นการถกเถียงตั้งแต่ในพื้นที่ของนักกิจกรรมจนถึงบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ซึ่งมีการเถียงกันด้วยว่าจะเรียกพื้นที่ความขัดแย้งนี้ว่าอะไร ระหว่าง “จังหวัดชายแดนใต้” หรือ “ปาตานี”
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการตั้งคำถามของอาจารย์อันธิฌา ในทำนองว่าเราเคยมีบทเรียนจากการกดทับทางอัตลักษณ์วัฒนธรรม ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เองเคยมีการห้ามไปละหมาดประกอบศาสนกิจต่างๆ เป็นต้น การกดทับทางอัตลักษณ์เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่นำมาสู่การใช้ความรุนแรงในระยะต่อมา คำถามสำคัญสำหรับนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อประกอบสร้างอัตลักษณ์ปาตานีคือ เราจะอยู่ด้วยกันอย่างไรท่ามกลางอัตลักษณ์ที่หลากหลาย จะทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่ร่วมกันกับอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันได้โดยไม่ฆ่ากัน ปาตานีจะอยู่ร่วมกันกับอัตลักษณ์อื่นอย่างไร ภายในความเป็นปาตานีเองจะจัดการกับความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิต ค่านิยมที่แตกต่างกันอย่างไร และสำคัญที่สุดคือปาตานีจะอยู่ร่วมกันกับชาวโลกอย่างไร
“มันไม่ใช่ปัญหาเลยว่าคุณจะเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่าอะไร แต่มันจะเป็นปัญหา ก็ต่อเมื่อคุณคิดว่า คนอื่นคิดต่างจากคุณไม่ได้” อันธิฌากล่าว
แสดงความคิดเห็น