Posted: 14 Aug 2017 05:49 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


ปมจุฬาฯ ตั้ง กก.สอบสวน หลังเหตุพิธีถวายสัตย์ฯ เนติวิทย์เผย 'นอม ชอมสกี้' ส่งจดหมายให้กำลังใจ ระบุ 25 นี้ 'ตนและเพื่อนสภานิสิต' จะถูกสอบสวนและลงโทษทางวินัย ขณะที่นักวิชาการกว่า 100 คน ชี้พิธีกรรมประดิษฐ์ราว 20 ปี แนะจุฬาฯ เปิดใจให้กว้าง


14 ส.ค. 2560 จากกรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งกรรมการสอบสวน เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และประธานสภานิสิตจุฬาฯ พร้อมด้วยเพื่อนสภานิสิตจุฬาฯ อีก 7 คน จากเหตุการณ์พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ และกรณีสถานที่ราชการในการจัดประชุมโดยไม่รับอนุญาต จากการที่ตนทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของผู้ค้าสวนหลวงสแควร์ นั้น

ล่าสุดวันนี้ (14 ส.ค.60) เนติวิทย์ โพสต์ภาพจดหมายจาก ศาสตราจารย์ นอม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) นักภาษาศาสตร์และนักวิชาการจากสหรัฐฯ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยจดหมายดังกล่าวเป็นการให้กำลังใจ รายละเอียดว่า ได้ทราบข่าวอย่างหดหู่เกี่ยวกับการปฏิบัติอย่างน่ารังเกียจซึ่งคุณ(เนติวิทย์)ตกเป็นเหยื่อ และการคุกคามต่อคุณอย่างรุนแรง จากการที่คุณ ยืดหยัดเพื่อความยุติธรรมและสิทธิขั้นพื้นฐาน ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผู้คนอย่างคุณคือคนที่จะถางทางประเทศไปสู่อนาคตที่สดใสได้ ตนหวังและเชื่อว่า การกระทำอันอยุติธรรมต่อคุณจะสิ้นสุดไปโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะสามารถก้าวดำเนินต่อไปด้วยความพยายามอันน่าเคารพและกล้าหาญของคุณเพื่อนำประเทศให้ก้าวเดินต่อไป

เนติวิทย์ ระบุด้วยว่า วันที่ 25 ส.ค.นี้ ตนและเพื่อนสภานิสิตจุฬาฯ อีก7 คนจะถูกสอบสวนและลงโทษทางวินัยจากทางมหาวิทยาลัย เนื่องจากกรณีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และตนยังโดนข้อหาเพิ่มด้วยคือ การจัดรับฟังปัญหาผู้ค้าสวนหลวง

"ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่ส่งเข้ามาอย่างมากมายครับ นี่คือช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่เพราะกำลังใจทำให้ไม่เคยย่อท้อที่จะฝ่าฟันไปให้ได้ ถ้าไม่มีตรงนี้ ประชาธิปไตยเสรีภาพก็ไม่มี เมื่อตอนบ่ายนี่เองก็มีอาจารย์นักวิชาการทั่วประเทศ 128 คนลงนาม ต่อเรื่องนี้ ผมขอขอบคุณทุกท่าน" เนติวิทย์ โพสต์
นักวิชาการกว่า 100 คน ชี้พิธีกรรมประดิษฐ์ราว 20 ปี แนะจุฬาฯ เปิดใจให้กว้าง

วันเดียวกัน เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส.' เผยแพรแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว โดยมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 100 คน พร้อมชี้ว่าพิธีกรรมถวายสัตย์ฯ เป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อราว 20 ปีที่แล้วเท่านั้น นอกจากนี้เครือข่ายฯ ยังเรียกร้อง ให้ผู้บริหารจุฬาฯ เข้าใจและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก แนะนำด้วยว่าควรใช้โอกาสนี้สร้างปัญญาให้แก่คนในประชาคมและสังคม ด้วยการเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงอย่างมีสติเพื่อให้เห็นข้อดีข้อเสียของทั้งสองฝ่าย และแสวงหาแนวทางแก้ไขต่อไป ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการใช้อำนาจกับนิสิต
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ผู้บริหารจุฬาฯ นั้น มีอำนาจที่จะให้คุณให้โทษแก่สมาชิกของประชาคม แต่อำนาจนั้นพึงใช้อย่างยุติธรรมและชอบธรรม ประการสำคัญ ผู้บริหารจุฬาฯ ยังมีสถานะเป็น “ครูบาอาจารย์” ที่พึงมีใจเปิดกว้างต่อธรรมชาติอันแตกต่างหลากหลายและเร่าร้อนของคนรุ่นใหม่ หากผู้บริหารจุฬาฯ เห็นว่านิสิตทำไม่ถูก ก็พึงแก้ไขด้วยความปรารถนาดี ไม่ใช่มุ่งลงโทษหรือมุ่งขับไสพวกเขาออกไปจากประชาคม ประการสำคัญ การกระทำของนิสิตทั้ง 8 คนในกรณีนี้ ไม่ได้กระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หากแต่มุ่งผลักดันสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าดีต่อสังคมโดยรวม

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.