Posted: 14 Aug 2017 04:59 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ยังไม่สรุปใครเป็นผู้นำพรรคต่อไป ระบบไพรมารีโหวตต้องรับฟังความเห็นมากกว่านี้ กรธ.ยกเลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียวสร้างความยุ่งยาก ส่อเจตนาทำพรรคการเมืองอ่อนแอ โครงการจำนำข้าว ยืนยันทำเพื่อคนส่วนใหญ่ ส่วนการปรองดองต้องเริ่มจากการไม่สองมาตรฐาน


14 ส.ค.2560 เว็บไซต์มติชน รายงานว่า ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) แสดงทัศนะทางการเมือง 7 ประเด็น ได้แก่

1. การเปลี่ยนแปลงในพรรค การมีหัวหน้าพรรคคนใหม่ และความขัดแย้งภายในพรรค โดยระบุว่า เป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองที่มีความเห็นแตกต่างกันได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งใหญ่โตใดๆ พรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันทางการเมือง ความเป็นพรรคการเมืองนั้นสมาชิกต้องปฏิบัติตามข้อบังคับพรรค ไม่ใช่ตามการชี้นำของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และแน่นอน การเลือกผู้นำพรรคก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับพรรค ที่สำคัญมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ส่วนกรณีที่มีคำถามให้ยืนยันว่าพรรคจะไม่มีผู้นำที่มาจากตระกูลชินวัตรนั้น ต้องเรียนว่าพรรคมีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีประสบการณ์บริหารประเทศ และมีความรู้ความสามารถที่หลากหลายจำนวนมาก ดังนั้นจึงเร็วเกินไปที่จะบอกว่าพรรคจะเลือกใครมาเป็นผู้นำพรรค เรายังมีเวลาเพียงพอที่ไม่ต้องรีบตัดสินใจใดๆ เพราะสถานการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

2. พรรคไม่ได้กังวลต่อกระบวนการไพรมารีโหวต เพราะเราเป็นพรรคการเมืองลำดับต้นๆ ของประเทศที่ริเริ่มคิดเรื่องนี้มาก่อนเป็นสิบกว่าปีที่แล้ว ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยมีความเข้าใจในเรื่องไพรมารีโหวตและการเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการช่วยคิดและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในพรรคอย่างเต็มที่ ไม่ใช่การดำเนินการอย่างที่ผู้ออกกฎหมายปัจจุบันกำลังคิดและจัดทำอยู่ ซึ่งเชื่อได้ว่ากลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบันบันไม่ได้คิดอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจแบบลงลึก และยังขาดรายละเอียดอีกมาก ซึ่งการผลักดันเรื่องไพรมารีโหวตโดยขาดความเข้าใจเช่นนี้จะกลายเป็นเหตุที่ทำให้สังคมเกิดความแตกแยกและสถาบันการเมืองเกิดความอ่อนแอ และอยากเสนอให้ผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายอย่าเร่งรีบจนไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดความเสียหายแก่ประเทศ และไม่ควรคำนึงถึงแต่ความต้องการของตนแต่ฝ่ายเดียว หากท่านปรารถนาจะให้ระบบไพรมารีโหวตมาใช้ในการเมืองไทย ควรเพิ่มความอดทนและให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนได้เรียนรู้เพื่อจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงพัฒนาการและความเป็นจริงของสังคมไทยด้วย

3. ระบบเลือกตั้งตามแนวทางของ กรธ. โดยเฉพาะความพยายามผลักดันให้เกิดการยกเลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในความพยายามให้เกิดความสับสนวุ่นวายในการเลือกตั้งเพื่อให้พรรคการเมืองและสถาบันทางการเมืองอ่อนแอ ถอดถอย ยากต่อการบริหาร ยากต่อการทำงานแก้ไขปัญหาของประชาชน และส่งผลให้เกิดความสับสนในการเลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าคณะผู้ร่างมีเจตนาเพื่อเปิดช่องทางสู่การมีนายกฯ คนนอกเข้ามาเป็นรัฐบาล และสะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจต่อไปใช่หรือไม่

“ผมเห็นว่าผู้มีอำนาจควรจะสร้างกฎกติกาการเลือกตั้งให้ง่ายต่อการปฏิบัติให้มาที่สุด เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน มิใช่เพื่อทำให้เกิดข้อยุ่งยาก และสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นกับประชาชนเช่นที่กำลังเกิดในปัจจุบัน กติกาที่เขียนมา เช่น บัตรเลือกตั้งใบเดียว ระบบจัดสรรปันส่วน ค่าสมาชิกพรรค ไพรมารีโหวต และการยกเลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ถือเป็นการส่อเจตนาอย่างชัดเจนเพื่อให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ และมุ่งสืบทอดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มตนเท่านั้น”

4. ความท้าทายในการเลือกตั้งครั้งหน้า นโยบายที่เคยใช้หาเสียงจะยังสามารถนำมาใช้ได้เช่นในอดีตหรือไม่ การเมืองที่จะเกิดขึ้นควรจะต้องมุ่งเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นแม้ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ก็ต้องเป็นสิ่งที่สะท้อนเจตนารมณ์และการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด และให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ที่สุด และที่สำคัญจะต้องมีส่วนเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ พรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่า เราจะใช้ความพยายามอย่างที่สุดที่จะมุ่งเดินหน้า สร้างงานการเมืองที่สร้างสรรค์เพื่อทำหน้าที่สำคัญคือ การรับฟังและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญที่พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยพึงกระทำ ทั้งนี้หากกฎกติกาที่คณะผู้มีอำนาจในปัจจุบันได้ออกแบบไว้นั้นเกิดสร้างปัญหาและเป็นอุปสรรคสำคัญ ก็ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกๆ คนที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไขเพื่อมิให้ประเทศติดอยู่ในวิกฤตและกับดักที่ถูกสร้างขึ้น

5. อนาคตของพรรคเพื่อไทยภายหลังวันตัดสินคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรามั่นใจว่าสิ่งที่ผู้นำพรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการมาตลอดในเรื่องนโยบายจำนำข้าว ล้วนเป็นไปด้วยความสุจริตและเป็นการดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดและเป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อสภา และถือเป็นการดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2555-2558 ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และที่สำคัญกฎหมายมีสภาพบังคับและกำหนดให้ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์และครม.ต้องปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข น.ส.ยิ่งลักษณ์และครม.ทั้งคณะก็ได้ใช้ความพยายามและความระมัดระวังอย่างเต็มที่ในการดูแลเพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวเกิดประโยชน์สูงสุดต่อครอบครัวเกษตรกร และผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ

“พรรคกล้ายืนยันและเชื่อมั่นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มิได้ทำสิ่งใดผิดตามที่ถูกกล่าวหา เรามั่นใจในความบริสุทธิ์และความตั้งใจจริงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเชื่อว่าผลแห่งความมุ่งมั่นทำงาน และคุณงามความดีที่ท่านได้ทำสั่งสมมาจะปกปักรักษาให้ท่านพ้นภัยในครั้งนี้ พรรคมีความเป็นสถาบันการเมือง มีประวัติศาสตร์ และผ่านการทำงานปฏิรูปและพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยมานานนับสิบๆ ปี หากผลจากการทำงานที่มุ่งมั่นให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะทำให้พรรคเราได้รับความเสียหาย เราก็ยังเชื่อมั่นว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นใจเรา จะโอบอุ้มคุ้มครองเรา และจะให้โอกาสพรรคการเมืองของเราอยู่เคียงข้างพวกเขาตลอดไป”

6. การออกแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยล่าสุด ที่ขอให้รัฐบาลยุติการคุกคามและการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน จะไม่ส่งผลดีต่อการปรองดองและจะยิ่งส่งผลเสียต่อภาพพจน์ของประเทศ และยังอาจนำไปสู่การไม่ได้รับความสนับสนุนและไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาคมโลกอีกด้วย

7. พรรคเพื่อไทยเชื่อว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความยุติธรรมเป็นพื้นฐาน ตราบใดที่คนในสังคมยังรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมหรือยังมีลักษณะความเป็นสองมาตรฐาน การปรองดองก็ยากจะประสบความสำเร็จ หน้าที่ของผู้นำโดยเฉพาะรัฐบาลต้องเป็นแบบอย่างในการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นและต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถได้รับความยุติธรรมต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน พรรคเพื่อไทยได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่ากระบวนการปรองดองที่จะเกิดขึ้นต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรม หากแต่ต้องมุ่งมั่นไปสู่กระบวนการที่จะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายอย่างเสมอภาค

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.